ภาพจาก: https://www.playblog.it/maid-miniserie-netflix-ispirata-al-bestseller-autobiografico/
Maid ซีรีส์เรื่องล่าสุดจาก Netflix ซีรีส์น้ำดีที่ผู้เขียนดูจบแล้วประทับใจจนต้องจับเข้าลิสต์หนึ่งในซีรีส์ที่ชอบที่สุดตลอดกาล และซีรีส์ที่ดีที่สุดสำหรับดิฉันประจำปีนี้เลย ว่าด้วยเรื่องของแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ประสบกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จึงตัดสินใจหนีออกมาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่กับลูกสาว แต่สำหรับคนที่โดดเดี่ยวและไร้ที่พึ่ง มันช่างยากเย็นเกินกว่าจะตั้งหลักได้ง่าย ๆ ศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบกับภัยความรุนแรงในครอบครัวจึงเป็นปลายทางที่ตัวละครต้องเลือกเดินเข้าไป และเริ่มอาชีพใหม่กับการเป็นแม่บ้าน ที่งานหนักพอ ๆ กับการเป็นแม่คน และได้ผลตอบแทนน้อยเหมือนกัน
ซีรีส์นำเสนอความอัปยศของชีวิตคน ๆ หนึ่งได้อย่างบัดซบ ชีวิตคนมันตกนรกได้ขนาดนี้เลยแหละ เราเองก็เคยมีวันแย่ ๆ ในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ผ่านไปหน่อยก็จะพบกับวันดี ๆ ได้ แต่วันแสนสุขนั้น ไม่ได้ผ่านเข้ามาเร็วอย่างที่เราหวังไว้เสมอไป บางครั้งอาจรอนานแค่ไม่กี่สัปดาห์ เดือน ปี หรือมากกว่าหนึ่งปี บางคนพบกับวันแสนสุขในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตด้วยซ้ำไป
ฉากเริ่มต้นของซีรีส์เปิดมาด้วยการขับรถพาลูกสาวหนีจากสามีที่ติดเหล้า อย่างไร้หนทางและที่พึ่งที่ไว้ใจได้ ก่อนจะได้รับคำแนะนำให้ไปจบลงที่ศูนย์พักพิงสำหรับผู้หญิงที่พบปัญหาความรุนแรงจากครอบครัว จุดนี้เองทำให้ดิฉันหยุดคิดไปพักหนึ่งว่า เอ้อ ถ้าตัวละครตัวนี้ดันมาเกิดเป็นคนไทย ถือสัญชาติไทย และมีศาสนาพุทธตราประทับอยู่ในบัตรประชาชนเนี่ย หากเกิดเหตุความรุนแรงใด ๆ จากสามีจนต้องหอบลูกหนีออกจากบ้านกลางดึก และหากปลายทางที่เหมาะสมเป็นศูนย์พักพิง ประเทศนี้มีศูนย์พักพิงเพียงพอที่จะรองรับผู้ประสบภัยความรุนแรงเหล่านี้หรือไม่?
เมื่อได้ลองเสิร์ชหาข้อมูลดูคร่าว ๆ ก็พบว่าสถานที่แบบนั้น มีอยู่น้อยมากจนน่าตกใจ น้อยกว่าร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมง และเจอทุก ๆ 500 เมตร แต่ศูนย์เหล่านี้กลับมีจำนวนอยู่น้อยกว่าที่คิด แหล่งข่าวที่นำเสนอ ก็นำเสนอแต่เพียงมูลนิธิเด่น ๆ หรือมีชื่อเสียง เช่น
- มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี
- มูลนิธิเพื่อนหญิง
- มูลนิธิผู้หญิง
- บ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี
- มูลนิธิพิทักษ์สตรี
- เครือข่ายผู้หญิงชุมชนแออัด สมาคมเพื่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้หญิง
ทั้งที่จริงแล้ว ศูนย์ความช่วยเหลือเหล่านี้ควรจะต้องมีกระจายอย่างครอบคลุมเสียด้วยซ้ำไป ทว่าส่วนใหญ่มักมีสำนักงานตั้งอยู่เฉพาะแค่ในกรุงเทพฯเมืองฟ้า ซึ่งถ้าเหยื่อเป็นคนจังหวัดยะลา ก็คงจะต้องเดินทางข้ามวันข้ามคืนเพื่อมาขอความช่วยเหลือกับศูนย์พักพิงที่ไว้ใจได้ เพราะเมื่อเป็นต่างจังหวัด ทุกอย่างมันมักจะเข้าถึงได้น้อยกว่าในเมืองอยู่เสมอ ในฐานะที่อยู่ต่างจังหวัดมาสิบกว่าปี ก็ต้องบอกเลยว่า แทบไม่รู้เลยว่าในจังหวัดบ้านเกิดตัวเองมีศูนย์แบบนี้อยู่ด้วยไหม หรือหากมี ก็มักจะอยู่แต่ในตัวจังหวัด ไม่ได้กระจายสู่อำเภอ ตำบล ท้องถิ่น หรือชุมชนอย่างทั่วถึง ทั้ง ๆ ที่ปัญหาความรุนแรงไม่ได้จำเพาะว่าจะต้องเกิดกับคนเมืองเท่านั้นสักหน่อย
ภาพจาก: https://sea.mashable.com/entertainment/17721/netflixs-maid-is-a-moving-memorable-masterpiece
เพราะการมีอยู่ของแหล่งพักพิงที่น้อยเกินไปเช่นนี้ จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งหรือเปล่าที่ทำให้ผู้หญิงซึ่งประสบกับความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจในบ้านเราเลือกที่จะทนอยู่กับความรุนแรงนั้น มากกว่าที่จะก้าวออกมา หรือไปขอความช่วยเหลือ เพราะถ้าไปมูลนิธิดัง ๆ ก็ไม่วายจะถูกสื่อเข้ามาสัมภาษณ์ทำข่าวดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองให้ประชาชนเข้ามาร่วมสังฆกรรมคอมเมนต์และแสดงความเห็นใจ แม้ว่าเจ้าตัวจะต้องการเพียงที่พักใจให้พร้อมเพื่อจะเริ่มต้นใหม่อย่างเงียบ ๆ เท่านั้น
อาจมีบางคนบอกว่า แล้วทำไมไม่กลับไปบ้านล่ะ บ้านพ่อ บ้านแม่ก็ได้ โดยส่วนตัวแล้วดิฉันมองว่า ครอบครัวในสังคมไทยส่วนมากมักไม่ค่อยเปิดรับปัญหาของกันและกัน หรือเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น คำถามที่ควรเน้นกลับไม่ใช่คำถามที่ว่า เป็นยังไงบ้าง แต่มักจะเน้นไปที่ แล้วไปทำอย่างนั้นทำไม หรือ เป็นอะไรกันมาอีกล่ะ ท้ายที่สุดเหยื่อที่หนีจากผู้ล่า กลับต้องมาเจอผู้ล่าที่ชื่อว่าครอบครัวผู้ให้กำเนิดเสียนี่ ดังนั้นบุคคลที่สามจึงอาจจะเหมาะกับการทำหน้าที่เป็นตัวกลางของปัญหานี้มากที่สุด ที่จะช่วยทั้งรักษาความลับ ปกปิดตัวตน และช่วยในการเยียวยาจิตใจของเหยื่อได้ เพราะอย่างในซีรีส์ เมื่อเข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิงแล้ว ก็จะห้ามคนนอกเข้าเยี่ยม ห้ามเปิดเผยว่าพักอยู่ที่ไหน เพื่อความปลอดภัยของเหยื่อ (แต่ยังสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารติดต่อกับคนภายนอกได้ตลอด) แต่ถ้าเหยื่อเป็นคนไทยแล้วหนีกลับบ้านพ่อบ้านแม่ สามีตัวดีจะตามไม่ถูกเชียวหรือคะ? หรือหากเป็นแบบนั้น ท้ายที่สุดก็ไม่วายถูกกล่อมจากคนรอบข้างให้เห็นแก่ลูก เห็นแก่ครอบครัว อดทนเข้าไว้ ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวอาจจะอดทนมามากเกินกว่าจะอดทนต่อไปได้แล้วด้วยซ้ำไป
มากไปกว่านั้น ความรุนแรงในครอบครัวสำหรับบ้านเราอาจจะจำกัดวงแคบไว้ที่การทำร้ายร่างกาย มีรอยบาดแผลให้เห็น แต่ถ้าลงลึกไปที่ความรุนแรงทางอารมณ์ การข่มขู่ ก็ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าอกเข้าใจเหยื่อมากหรือน้อยเพียงใด เพราะลึกลงไปในความสัมพันธ์แล้ว ความเจ็บปวดอาจไม่ได้เกิดการจากตบตีให้เลือดตกยางออกแค่เพียงอย่างเดียว แต่การข่มขู่ ตะคอก เสียดสี หรือการกระทำใดที่ส่งผลทางอารมณ์ ก็สร้างบาดแผลทางจิตใจไม่น้อยไปกว่ารอยฟกช้ำที่ขึ้นเป็นจ้ำตามเนื้อตัวเลยสักนิด เพียงรอยจ้ำนั้นกำลังเจ็บปวดอยู่ข้างในต่างหาก
ซึ่งก็นับว่าโชคดีที่ตัวละครในเรื่องดันถือสัญชาติอเมริกัน ที่มีระบบรัฐสวัสดิการรองรับ และให้การช่วยเหลือกับเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างครอบคลุม เจ้าหน้าที่ก็เข้าถึงปัญหาอย่างลึกซึ้ง และเสนอแนวทางแก้ไขได้อย่างเห็นอกเห็นใจเหยื่อ เพราะถ้าหล่อนถือสัญชาติไทย หล่อนอาจจะต้องวนเวียนอยู่กับความรุนแรงนั้นไม่รู้จักจบจักสิ้นอย่างเดียวดายและไร้ที่พึ่ง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in