เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
The Friendly WindMister Tok
#รีวิว งานไตรภาคสุดเท่ของ “อลิศ คริสตัน” : บอกมาเลยนะ-หุ่นไล่กา-ท้าทาย



  • ขึ้นชื่อว่ายุค 90s คือยุคที่วงการเพลงไทยเริ่มสยายปีก เฟื่องฟู และเริ่มต้นค้นหาตัวตนที่ชัดเจนกว่ายุค 80s (ที่น้าเน็กบอกว่าเป็นยุคสีสันและสุขนิยม แต่เริ่มเก่าไปแล้ว…มั้งนะ)


    ปรากฏการณ์ดาราออกเทป มือถือไมค์ไฟส่องหน้า เริ่มทำงานแล้วในตอนนั้น แค่ตัวเอ้ที่เป็นตำนานอย่างพี่ใหม่ พี่มาช่า พี่หนุ่ย พงษ์พัฒน์ บิลลี่ หรือแม้แต่เซ็กซี่สตาร์ในตำนานในตำนานอย่างฮันนี่-แสงระวี ก็เกินคุ้มแล้ว นับรวมดาราวัยรุ่นอย่าง เต๋า-มอส-นุ๊ก-อ้อม-นัท ยิ่งแล้วใหญ่เลย เพราะเด็กหน้าใหม่ในตอนนั้นก็มาตีตลาด Bubblegum Pop วัยรุ่นแบบกระจุย


    ดาราบางคนที่ออกเทปแล้วดังบ้าง-แป๊กบ้าง ก็บ่งบอกได้ชัดเจนที่สุดว่า “เล่นหนังและละครอย่างเดิมแหละดีแล้ว” ไม่ว่าจะเป็นนกชายนกหญิง (ที่ต่อให้อยู่ค่ายใหญ่ก็ไม่ช่วย แต่ชุดลูกผู้ชายก็เข้มจริงแหละ) นกจริยา (ขุมทองของช่อง 3 ที่นกจะดูแลเจ้าชายเอง) กวาง กมลชนก ปวีณา ชารีฟสกุล (ชอบชุดไม่ใช่ของเล่นที่สุดแล้ว เข้มอยู่นะ) เปิ้ล จารุณี (แจงแวงเพลงเดียวก็คุ้มแล้วสำหรับพจมานในตำนาน) หรือแม้แต่ที่ไม่น่าเชื่อ พีท ทองเจือ กับงานสุดไม่น่าจดจำอย่าง “ยั้งไม่อยู่” (ที่ชุดนี้ควรจะเป็นงานเดี่ยวของร็อกเกอร์มืออาชีพคนอื่นมากกว่า) แข่งวาสนาลำบากจริงเชียว


    แต่จะมีดาราอยู่คนหนึ่งที่มีชื่อเสียงในอดีต เมื่อจรดปากกาเซ็นสัญญากับค่ายเพลงเบอร์ต้น ๆ ในตอนนั้น ก็ได้ออกผลงานถึงสามอัลบั้ม และเป็นศิลปิน Hidden Gem ของหมู่ดาวจับไมค์ และเพลงออกมามีสไตล์มาก


    เธอคนนั้นคือ…อลิศ คริสตัน กับภาพลักษณ์ห้าว ๆ แบบ LGBTQ+ ที่ชัดเจนในตัวตนและน้ำเสียง ภายใต้ชายคานิธิทัศน์ ณ ชินเขต

    ผมเองจะไม่เจาะประวัติว่าเธอเป็นใครมาจากไหน และนี่คือที่มาของการรีวิวมหากาพย์ไตรภาค “บอกมาเลยนะ-หุ่นไล่กา-ท้าทาย” ของเธอคนนี้ครับ


    -


    บอกมาเลยนะ (2531)




    อัลบั้มชุดแรกในชีวิตของเธอคนนี้เป็นอัลบั้มในแนวเพลงป๊อปร็อก ภายใต้การวางแนวคิดภาพลักษณ์โดยคุณอาสมศักดิ์ อัมรินทร์ (ผู้บริหารนิธิทัศน์ตอนนั้น ในเวลาต่อมาไปทำค่าย Pro Mediamart ที่มีนิตยา บุญสูงเนิน เป็นนักร้องตัวขายของค่ายยุค 90s)


    ทำดนตรีโดยพรชัย วงษ์ชีพ (อดีตมือคีย์บอร์ดวงมิติ White Support) กับพี่น้องพลางกูร (อุกฤษณ์-อิทธิ) อัดสองห้องก็คือศรีสยาม (ฟังได้จากเสียงกลองโปรแกรม Korg DDD-1) และห้องแจม สตูดิโอ (กับเสียงกลอง Roland TR-707 อันเป็นเอกลักษณ์ของห้องนี้)


    เปิดหัวด้วยเพลงที่ชื่อเดียวกันของบั้ม “บอกมาเลยนะ” ที่เป็นการเปิดอกหัวใจในยามสับสนซึ่งกันและกัน ประสาคนที่เป็น LGBTQ+ ห้าว ๆ ตรงไปตรงมา กับภาษาที่หนักแน่นแต่นุ่มนวลจากกวีเพื่อชีวิต วิสา คัญทัพ


    ตามต่อด้วย “มันไม่จริง” (คำร้อง/ทำนอง : เทอดพล ไคร้วานิช) ดนตรีสไตล์หนังนักสืบ ที่บอกให้เราเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ต่อให้ข่าวลือเสีย ๆ หาย ๆ จากพวกปากหอยปากปูจะลั่นทุ่งแค่ไหนก็อย่าไปสนใจ “เพราะเธอคือคนดี ฉันจึงเห็นคุณค่าเสมอ ไม่ต้องให้รถเข็นผงซักฟอกแบบรายการนั้นก็รู้กันแล้ว”

    “ปลอบใจ” เพลงให้กำลังใจสุดซึ้งจากปลายปากกา อ.ชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร ที่ภาคดนตรีในช่วงกีตาร์โซโล่และทางลงเมโลดี้ตอนจบเพลงสวยงามมาก และเหมาะกับเป็นเพลงสบาย ๆ ฟังแล้วซึ้งใจเลย “คนเราอยู่ที่ใจ จะมีทุกข์เพียงใด ก็ต้องทำใจให้เป็น” และให้กำลังใจกันต่อแบบทรนงมั่น ๆ กับ “วันใหม่” ปลายปากกาอาเบื้มเทอดพลคนเดิม


    แล้วก็จบหน้าเอด้วย “จังหวะชีวิต” เพลงแบบยูโรบีท Hi-NRG ปลายปากกาอาวิสา คัญทัพ เช่นเคย เป็นเพลงดนตรีกับชีวิตที่สุดมันและบ่งบอกความเป็นตัวของอลิศได้ดีที่สุดในชุดนี้แล้ว


    เปิดหน้าบีด้วยเพลงหวานมันเหมือนกาแฟนม “ความจริงใจ” ปลายปากกา อ.ชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร (คนดีคนเดิม) ที่เป็นการเปิดอกและรักษาความสัมพันธ์ที่ไปต่อได้ทุกสถานการณ์ เหมือนท่อนที่ร้องว่า “หวังจะรักให้นาน ๆ หวานไม่หวานไม่เป็นไร รักไม่รักไม่เท่าไหร่ ความจริงใจนั้นสำคัญ”

    (ส่วนตัวแล้วเพลงนี้มัน meaningful กับผมมาก ๆ ในวันที่ประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม นับรวมเดือนมิถุนาที่เป็น Pride Month จนตลอดชีวิตเลย ใช่ครับ ความรักไม่มีพรหมแดน)


    “เพียงอยากรู้” เพลงจังหวะฟังก์ ๆ ปลายปากกาอาวิสา คัญทัพ เนื้อหาว่าด้วยการหยั่งเชิงคนที่เริ่มถูกใจ แต่จะดีจริงอย่างที่คิดไหม


    “ไหนว่าจะไม่” ปลายปากกา อ.ชัยรัตน์ เป็นเพลงจังหวะจิ๊กโก๋กลิ่นลูกกรุงนิด ๆ ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่หลอกลวง ตามต่อด้วย “สู้” เพลงให้กำลังใจสบาย ๆ ที่เป็นการผนึกกำลังระหว่าง อ.ชัยรัตน์ที่แต่งเพลงนี้กับอาอุกฤษณ์ พลางกูรที่ทำดนตรีให้ ทำนองไทย ๆ กลมกล่อมดี เหมือนเรากินขนมกล้วยเบรกแตกรสปาปริก้ามัน ๆ แกล้มน้ำอัญชัญมะนาวเลย


    และแล้วก็มาถึงเพลงปิดอัลบั้มอย่าง “รักตึ้น ๆ” ดนตรีโคตรยูโรบีทจัด และภาษาท่วงทำนองไทย ๆ มัน ๆ จากอาวิสา คัญทัพ (อีกแล้ว) เนื้อหาว่าด้วยความรักที่ใคร ๆ ก็อยากมี แต่รักตื้น ๆ รักเล่น ๆ ลองคบกัน มันย่อมสนุกกว่ารักนาน ๆ แต่หมดโปรแถมประสาทบริโภคอีก ไวป์เพลงนี้เหมือนเรากินมันฝรั่งกรอบรสกะเพราในตำนานแกล้มน้ำซ่าดำ ๆ มันส์หยดตึ๋งเลย



    ภาพรวมของอัลบั้มชุดนี้ถือว่าเป็นการเปิดตัวที่สวยงามของอลิศ และเป็นการรับไม้ต่อจากพี่ปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ ในลุคห้าว ๆ เข้ม ๆ และเป็นตัวของตัวเองมาก ถึงแม้ว่าชุดนี้จะเป็นดาราออกเทปที่คนร้อง ๆ ก็ร้องไปตามใบสั่งของทีมทำเพลง เหมือนจะธรรมดา แต่ไม่ธรรมดานะ…จะบอกให้


    -


    หุ่นไล่กา (2532)




    ปีต่อมา อลิศได้ไปต่อกับงานชุดที่ 2 หุ่นไล่กา คราวนี้น้าอู๊ด-พรชัย วงษ์ชีพเป็นโปรดิวเซอร์เต็มตัว (และทำดนตรีทุกเพลงในชุดนี้) อัดที่โฮมสตูดิโอยุคแรกของเมืองไทย วอยซ์ สตูดิโอ ของคุณนุภาพ สวันตรัจฉ์ (ผู้ล่วงลับเมื่อปีที่แล้ว เสาต้นแรกของห้องอัดในห้องนอนบ้าน) เปิดหัวด้วยเพลงชื่อเดียวกันกับอัลบั้ม “หุ่นไล่กา” ที่ว่าด้วยชีวิตคนเราไม่ใช่หุ่นนิ่ง ๆ ที่คอยให้ใครบงการจับซ้ายขวาตามสั่ง และเป็นตัวของตัวเองที่แท้จริง (ปลายปากกาอาวิสา คัญทัพ)


    ตามต่อด้วย “ฝันในจิตใจ (คำร้อง/ทำนอง : โคทาน โคทาน, ออมสิน แสงสันต์)” บทเพลงให้กำลังใจที่ทางเมโลดี้ง่าย ๆ แต่หนักแน่นนุ่มนวล ตรงกับคาแรกเตอร์ของอลิศจริง แล้วมาดิ้นสะท้านฟลอร์กันต่อกับ “จำเจ  (คำร้อง/ทำนอง : โคทาน โคทาน, ออมสิน แสงสันต์)” เพลงแนว Hi-NRG เพลงเต้นรำที่พาให้เราหลีกกับความจำเจกับชีวิตด้วยคำ ๆ เดียว “เสียงดนตรี” 


    “เก็บฝันวันใหม่ (คำร้อง : ออมสิน แสงสันต์ ทำนอง : พรชัย วงษ์ชีพ)” ถึงแม้ว่าดนตรีจะมัน ๆ สไตล์แดนซ์มิวสิค แต่ก็โดนวิจารณ์แกมแซวจากคุณอิสรภาพ พิจารณ์ ในนิตยสารสีสันฉบับที่ 8 เดือนกรกฎาคม 2532 (ปกน้าหว่องคาราวานสีฟ้า ๆ Duotone ช่วงชุด “คนไร้ราก”) ว่า…”เป็นการท่องอาขยานที่ไพเราะเป็นพิเศษ” 


    มันกันต่อกับ “ลองทำดู (คำร้อง/ทำนอง : เฮียเองจ้ะ)” ก็สนุกอยู่นะกับการลองมีความรักแบบ Puppy Love แต่ภาคดนตรีแอบเกินวัยนิดหน่อย


    “จริงจริงนะ  (คำร้อง : ชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร ทำนอง : พรชัย วงษ์ชีพ)”  นี่กะจะให้เต้นจนเมื่อยแข้งเมื่อยขาให้ได้เลยใช่ไหม แต่เนื้อหาก็ยังเป็นการเปิดอกว่า “จะสุขจะทุกข์ก็เรื่องของใครของมัน เรื่องของแกเลย” เป็นการคุยกันแบบเพศเดียวกันตรงไปตรงมา เพลงดีอยู่นะ  และแล้วก็ตัดเลี่ยนซักทีกับเพลงแนวนางฟ้าขาโจ๋อกหักอย่าง “เจ็บอีกไม่นาน (คำร้อง : ชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร ทำนอง : ลิโต้ เอ็ม ไอโค)” ที่รักเองเจ็บเอง และเข้าใจตัวเองเลย ไม่น่าถลำรักเขาสินะ (แอบกระซิบ เพลงนี้ภาษาสวยงามจริง)


    “หวั่นไหว (คำร้อง/ทำนอง : ออมสิน แสงสันต์)” อินโทรทำได้ออกมาล้ำด้วยเสียงซินธ์และกีตาร์ลีด ทางคอร์ดและเมโลดี้คือตัดเลี่ยนเพลงมัน ๆ ในชุดนี้ได้สมบูรณ์เลย กับเนื้อหาแนว “รักเองช้ำเอง (ระแวงเอง)” เพลงนี้คือสิ่งที่ดีงามของชุดสองของเธอเลย


    “จริงจังหน่อย (คำร้อง : โคทาน โคทาน, ออมสิน แสงสันต์  ทำนอง : พรชัย วงษ์ชีพ)” จังหวะ doo-wop แบบเทคโน เป็นเพลงให้กำลังใจที่เนื้อหาง่าย ๆ “มันอยู่ที่ใจ จริงจังและตั้งใจชีวิตหน่อย” และแล้วก็มาถึงเพลงปิดบั้มส่งคนกลับบ้านหลังจากดิ้นกันทั้งวันทั้งคือกับ “อยากให้เข้าใจ (คำร้อง : ออมสิน แสงสันต์  ทำนอง : พรชัย วงษ์ชีพ)” ที่เป็นเหมือนภาคต่อของเพลง “ปลอบใจ” ในชุดแรกของเธอ กับดนตรีที่สุขุมลุ่มนุ่มลึก ออกมาในแนวรักตัวเองและเข้าใจในความสัมพันธ์ที่สั่นคลอน ใด ๆ ในโลกล้วน “ปรับความเข้าใจ”


    ผมไม่แน่ใจว่าบั้มชุดนี้โดนอาถรรพ์ชุดสองหรือไม่ แต่ด้วยที่เพลงมัน ๆ ค่อนบั้มและเพลงช้าที่น้อยหน่อย เหมือนเรากินข้าวมันไก่สามเวลาตลอดวีค ใครจะไม่เลี่ยนไม่เบื่อล่ะ


    ถึงแม้เสียงวิจารณ์จะติชมตามเนื้อผ้า แต่เสียงร้องของอลิศทรงพลังขึ้น ดนตรีในชุดนี้ก็หนุนเอื้อให้หุ่นไล่กาตัวนี้มีชีวิตชีวาส่งท้ายยุค 80s และแล้วในที่สุด เธอก็ได้รางวัลสีสันอวอร์ดส์ครั้งที่ 2 สาขาศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยมมานอนกอดสำเร็จ และเป็นศิลปินนิธิทัศน์คนแรกที่ได้รางวัลนี้



    -


    และแล้วก็มาถึงการปิดไตรภาคกับอัลบั้มที่ทิ้งช่วงนานถึง 3 ปี…ท้าทาย (2535)




    เป็นที่(คนยุค 90s ตอนนั้น)รู้กันว่านิธิทัศน์ไปได้ดีกับอภิมหาเพลงหวานหยิบสิบซูเปอร์ฮิตตามตลาดต่างจังหวัดตั้งแต่ช่วงปี 2532-2533 จนสิ้นสุดทางค่าย แต่ปี 2535 ทางค่ายก็ขอมาแชร์ส่วนแบ่งการตลาดเพลง Bubblegum Pop วัยรุ่นอีกครั้งหลังจากลั่นทุ่งมานานโข


    โดยศิลปินที่มาเสริมทัพพี่โต้ชิริก (MVP ตัวขายของค่าย) ก็มีสองหนุ่มไฮดรา (ที่เป็นตำนานจนวันนี้) สามสาวแครอท (ไอ้เรามันเป็นแค่ Second Hand) 


    หรือแม้แต่ศิลปินชายเดี่ยวเดี่ยว “นิวแมน (สรวงสรรค์ เจริญสุข)” กับ Double Album ลับแล “ซ้าย Folk ขวา Pop” (ซึ่งส่วนตัวแล้วผมมองว่า…เขาคือพี่เจี๊ยบพิสุทธิ์เวอร์ชั่นนิธิทัศน์ โดยทีมทำเพลงก็เป็นทีมที่ทำเพลงฝั่งห้องอัดมิกซ์-แจมสตูดิโอในนาม “มิวสิค ดีไซน์” และในจำนวนนั้นมีพี่หนูมิเตอร์ วันชัย ปิ่นทอง กับพี่เอ-จิตติพล บัวเนียม PD คู่บุญทีของเสือในเวลาต่อมา นับรวมพี่อ๊อด เรนโบว์-ทวี ศรีประดิษฐ์ กับคนที่ใช้นามแฝงว่าอุ๋น อุดร กับ พร อยุธยา / งานชุดนี้ออกมาค่อนข้างดีพอตัดเลี่ยนเพลงหวานได้ แถมมีความเกษตรนวมินทร์นิด ๆ ถ้ามีเวลาจะมารีวิวอัลบั้มคู่นี้แน่ ๆ…กี่โมง)


    “อลิศ คริสตัน คือหนึ่งในนั้นที่มาเสริมทัพเพลงวัยรุ่นฝั่งชินเขตเช่นกัน” กับอัลบั้มที่จัดจ้านสุด ๆ กับโปรดิวเชอร์คู่บุญคนเดิมอย่างน้าอู๊ด-พรชัย วงษ์ชีพ ที่เปรี้ยวตั้งแต่การแต่งตัวที่ได้รับอิทธิวงจากวง Kriss Kross และแนวดนตรีที่มีลดความแข็งทื่อลง เพิ่มความสดใหม่มากขึ้น จนได้รับคำชื่นชมในมุมเพลงเล็ก ๆ จากหนังสือสีสันฉบับปกอลิศ คริสตัน (ปีที่ 5 ฉบับที่ 9 พ.ศ.2535) ว่า “สไตล์ปรับเข้าทางเต้นรำมากขึ้น และเนื้อดนตรีหนาแน่นมีชั้นเชิงใช้ได้”


    เนื่องจากว่าทีมแต่งเพลงได้เปลี่ยนแปลงแบบแทบจะยกเครื่อง และมีการปล่อยของจากคุณอลิศเอง ผมขอแบ่งเพลงจากชื่อคนแต่งในปกเทปครับ


    เปิดหัวด้วยเพลงแบบคนห้าว ๆ เข้ม ๆ เปิดอกอย่าง “เชิดใส่” เนื้อหาตรงไปตรงมากับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (อยากไปก็ไปฉบับ LGBTQ+ ไหมล่ะ) แล้วตามด้วย “ร้อน” น้าอู๊ดทำทำนอง เนื้อหาออกมาทำได้แบบทะลุปรอทแตก ชวนเต้นมัน ๆ เลย “เธอหายไปกับกาลเวลา” เพลงช้า ๆ ที่เล่าถึงความรักที่จบไปแล้ว แล้วก็มาสนุก ๆ กับเพลงรักมัน ๆ เนื้อหาสมองอตุลดอย่าง “ทำไม (ทอ-อำ-ทำ มอ-ไอ-ไม)” และ “ปวดหัว” ที่ว่ามาเล่าถึงถ้าจะมีรัก ไหวนะตอนเจอเรื่องปวดกบาล และเพลงร็อก ๆ อย่าง “โดดเดี่ยว” ที่ว่าด้วยการหนีความเหงาและต้องการคนที่รักเราจริง ๆ

    เพลงที่ว่ามาหมดข้างต้น มาจากปลายปากกาของ อ.กวาง-กันตภพ พรหมสุนทรสกุล (ผู้เคยฝากผลงานอมตะอย่าง “คิดถึงเธอแทบใจจะขาด” “รักเธอประเทศไทย” “หิ่งห้อยกับตะวัน” รวมถึงเพลงมัน ๆ ก่อนปิดยุค 2010s อย่าง “อยากกินตีนไก่” / ตอนนั้นใช้ชื่อจริงว่า “สมเกียรติ”) ซึ่งภาษาที่เขาเขียนออกมาเข้ากับตัวอลิศได้ชัดเจน จนอาขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา ยังเอ่ยปากชมเรื่องการสร้างเพลงในบทวิจารณ์อัลบั้มชุดนี้ในหนังสือสีสันมาแล้ว (ฉบับปีที่ 5 ฉบับที่ 10 พ.ศ.2535 ปกพี่ป้อมอัสนี)


    “ใจดำ” เพลงช้าที่ค่อนข้างบาดใจปลายปากกา อ.สมหวัง อนุศักดิ์เสถียร (คนแต่งเพลง “น้ำตาฟ้า” ให้สามโทนจนดังทั่วประเทศ) ที่เล่าถึงคนใจร้ายที่ล้อเล่นกับความรู้สึกความรักของเรา จนเราไม่อยากพบหน้ามันคนนั้นอีก


    ไฮไลท์ชุดนี้อยู่ที่การปล่อยของด้านการแต่งเพลงของคุณอลิศตั้ง 2 เพลง “ความรู้สึกตอนนี้” ที่เป็นอารมณ์คนเหงา และความรักที่ต้องแอบระแวงอย่าง “หลอกหรือไม่หลอก” ดนตรีนี่น้อง ๆ ทัชเท้าไฟเลย


    และแล้วก็ปิดอัลบั้มด้วยการ Self-cover งานชุดแรก “จังหวะชีวิต” ในจังหวะที่สะใจกว่าเดิม นุ่มนวลแต่สนุกเชียวนะ เป็นการสรุปเส้นทางดนตรีของเธอตลอด 3 ชุดที่ผ่านมาเลย




    แม้งานชุดที่ 3 นี้จะไม่ประสบความสำเร็จ (สวนทางกับคำชมจากนิตยสารหัวนั้น) แต่มุมมองของคนชอบเพลงเก่าอย่างผม “งานชุดนี้นอกจากจะเป็นงานของอลิศที่ผมชอบมากที่สุดในบรรดา 3 ชุดของเธอแล้ว ยังเป็นอัลบั้มดาราออกเทปที่ผมชอบอันดับต้น ๆ เลยแหละ”


    หากผมคิดเล่น ๆ ถ้างานสามชุดของเธอไปอยู่กับค่ายอื่น (สมมุติว่าเป็นอาร์เอสหรือคีตา) คงจะไปได้ไกลกว่านี้ บางครั้งตัดเลี่ยนศิลปินชายบางค่ายได้อย่างไม่น่าเชื่อชนิดไม่ทับไลน์เลย


    งานเพลงของอลิศ คริสตันคนนี้ เหมือนกับเรากินถั่วกรอบแก้วโอวัลตินคลุกงาซองใส ๆ ตามร้านชำหน้าโรงเรียน ที่อยู่ท่ามกลางชั้นวางขนมถุงพวกมันฝรั่งขนมข้าวโพดหรือถั่วอบกะทิ (ที่เหมือนตัวแทนศิลปินหญิงแนว Bubblegum Pop รุ่นราวคราวเดียวกันในเวลานั้น) แต่ถั่วกรอบแก้วสูตรนี้ไม่ธรรมดา แบบว่าเป็นขนมโฮมเมดที่หวานมันกรอบสะใจไม่เหมือนใครเลย


    -


    บทส่งท้าย


    ถึงแม้ว่าวันนี้ อลิศ คริสตัน จะลาวงการไปใช้ชีวิตเรียบง่ายและห่างไกลแสงสีมายาในวันวานไปแล้ว แต่ผลงานของเธอที่เป็น Hidden Gem อาจจะย้อนมาในเสี้ยวความทรงจำของเด็กยุค 90s ได้ไม่มากก็น้อยเลย โดยเฉพาะแนวเพลงล้ำ ๆ ที่ค่อนข้างมาก่อนกาล และเนื้อหาพลัง LGBTQ+ เข้ม ๆ ห้าว ๆ จริงใจ ๆ แบบนี้ หายากแล้วในศิลปินยุคนี้ (หรือว่ายุคนี้อาจจะมีนะ อย่าลืมว่าเรากำลังตามเพลง T-POP ยุคนี้อยู่นะนายต๊ก)




    ว่าแต่ถ้าผมฟังเพลงทั้งสามชุดของเธอลั่นบ้าน ผมจะโดนกระถางดอกไม้ลอยหน้าบ้านไหมครับ


    นายต๊ก

    4 เมษายน 2568


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in