เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
สิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ By โสภารัตน์ จารุสมบัติ
  • รีวิวเว้ย (1095) ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน หากใครยังจำหรือเคยดูสารคดีเรื่อง "An Inconvenient Truth" (2006) เราอาจจะพอจำได้ว่าสารคดีเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องราวของ "โลก" ที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมที่ช่วงนั้นมีการพูดกันถึงเรื่องของ "โลกร้อน" และหลังจากนั้นมาเราจะมีโอกาสได้พบเห็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่นำพามาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์ แน่นอนว่าผลกระทบเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็เกิดมาจากการกระทำของมนุษย์เองนั่นแหละ โดยเฉพาะการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลโดยตรงต่อเรื่องของ "สิ่งแวดล้อม" ที่หลายคนพูดกันอย่างติดตลกว่า "โลกกำลังเอาคืนมนุษย์" ซึ่งถ้าลองคิดดี ๆ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องตลกเลยสักนิด เพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมันเป็นปัญหาที่สั่งสมมาเนิ่นนาน การแก้ไขก็ไม่ใช่ว่ามหาอำนาจองค์ใดจะทำได้แต่เพียงผู้เดียว มิหนำซ้ำผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและจากสิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไม่สนใจเขตแดนของรัฐ (Non-Bordesley) ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งก็นำพาความงุนงงมาพร้อมกับหายนะ ที่รัฐแต่ละแห่งก็ไม่รู้ว่าจะรับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างไรดี อาทิ ปัญหาหมอกควันที่ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเผชิญรวมกัน หรืออย่างกรณีของเรือบรรทุกน้ำมันหรือแท่นขุดเจาะเกิดความเสียหายและปล่อยน้ำมันไหลลงทะเล ขอบเขตความเสียหาเหล่านี้ยากเกินจะคาดเดา และยากเกินกว่าที่จะมีใครรับมือปัญหาดังกล่าวได้โดยลำพัง
    หนังสือ : สิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
    โดย : โสภารัตน์ จารุสมบัติ
    จำนวน : 334 หน้า

    หนังสือ "สิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" ถูกเขียนขึ้นบนโจทย์สำคัญ 2 ประการ คือ (1) ทำไมสิ่งแวดล้อมต้องการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (?) และ (2) ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม (?) ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาที่ใครจะจัดการมันได้ลำพัง และมันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยสนใจเส้นเขตแดนสมมติ นั่นทำให้ปัญหาในเรื่องของสิ่งแวดล้อม กลายมาเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการศึกษาเรื่องของ "การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม"

    "สิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" พยายามพาผู้อ่านไปแสวงหาคำตอบ ที่มา พัฒนาการ แนวทาง เครื่องมือ ทฤษฎีทางวิชาการ อีกทั้งปัจจัยความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม และ "สิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" ได้ชี้ชวนให้เรามองให้เห็นถึงความสำคัญในปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่หลาย ๆ คนอาจจะละเลยและมองว่ามันไม่ใช่ปัญหาสำคัญและอะไร กระทั่งบางคนไม่มองมันในฐานะของ "ปัญหาทางการเมือง" เสียด้วยซ้ำไปแถมยังตั้งคำถามกลับมาหน้าตาเฉยว่า "สิ่งแวดล้อมเกี่ยวอะไรกับการเมือง" หรือ "การเมืองเกี่ยวอะไรกับสิ่งแวดล้อม"

    เนื้อหาของ "สิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ดังนี้

    บทนำ

    บทที่ 1 กระบวนทัศน์ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
    - จุดเริ่มต้นและพัฒนาการของประเด็นสิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
    - ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
    - จุดมุ่งเน้นของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสิ่งแวดล้อม

    บทที่ 2 ทฤษฎีและแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
    -ทฤษฎีสีเขียว (Green Theory)
    - แนวคิดเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศสีเขียว (Green International Political Economy)
    - แนวคิดการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (International Environmental Governance) แนวคิดการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน (Trans boundary Environmental Governance)

    บทที่ 3 ระบอบระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม
    - โครงสร้างระบอบระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม
    - วิวัฒนาการของระบอบระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม
    - ทิศทางของระบอบระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

    บทที่ 4 ตัวแสดงต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
    - รัฐชาติและการเมืองระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อม
    - องค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐกลุ่มกิจกรรมและการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
    - บรรษัทข้ามชาติและภาคธุรกิจ
    - กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environmental Facility)

    บทที่ 5 ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม
    - พัฒนาการของความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่กระแสเศรษฐกิจสีเขียว
    - เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN กับสิ่งแวดล้อม
    - ลักษณะของความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม
    - ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (Multilateral Environmental Agreements: MEAS)
    - การเจรจาความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม (International Environmental Negotiation)

    บทที่ 6 เศรษฐกิจระหว่างประเทศกับแนวทางการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโร
    - ความสัมพันธ์ระหว่างการค้าระหว่างประเทศกับสิ่งแวดล้อม
    - แกตต์และองค์การการค้าโลกกับมาตรการสิ่งแวดล้อม
    - มาตรการทางเศรษฐศาสตร์กับการจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ

    บทที่ 7 ความท้าทายและทิศทางของการระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม
    - ความท้าทายต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
    - ทิศทางความร่วมมือระดับพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม

    เมื่ออ่าน "สิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" จบลง คำพูดหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวของเรา คือ เสียจากเด็กหญิงคนหนึ่งที่พูดว่า

    "คุณกล้าดียังไงขโมยความฝันและวัยเด็กของฉันไปผู้คนกำลังล้มตายระบบนิเวศกำลังพัง แต่คุณกลับพูด แต่เรื่องเงินคุณกล้าดียังไง" ... "ปี 2078 ฉันจะอายุ 75 ปีถ้าฉันมีลูกหลานพวกเขาคงถามฉันถึงพวกคุณว่าพวกคุณไม่ทําอะไรเลยหรอในเวลาที่ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลง?" (เกรต้า ธันเบิร์ก)

    เสียงที่ตั้งคำถามถึงความสำคัญในเรื่องของ "สิ่งแวดล้อม" เรื่องที่มหาอำนาจ ผู้มีอำนาจและผู้ใหญ่ละเลย มองข้าม และไม่ให้ความสำคัญกับมันอย่างที่ควร "สิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" กำลังยำเตือนคำพูดของเกรต้า ธันเบิร์ก ผ่านมุมมองทางวิชาการที่ถูกถ่ายทอดลงในหนังสือ "สิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ"

    นอกจากนี้เราในฐานะของคนอ่านและเขียนรีวิว เราตั้งใจที่จะเขียนรีวิวหนังสือเล่มนี้ให้เสร็จก่อนวันที่ 1 กันยายน 2565 (31 ส.ค. 65) เพื่อเป็นการย้ำเตือนกับทุกคนว่าในไทยเองเมืองหลายสิบปีก่อน (2533) ก็มีนักสิ่งแวดล้อมอย่าง "สืบ นาคะเสถียร" ที่เอาชีวิตและลมหายใจของตัวเองเข้าแลกเพื่อส่งเสียงพูดแทน "สัตว์ป่า" เหมือนที่ครั้งหนึ่งสืบเคยพูดบนเวทีงานสัมมนาว่า "ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in