เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ระเบียบของวาทกรรม By มิเชล ฟูโกต์ แปล ฐานิดา บุญวรรโณ
  • รีวิวเว้ย (1027) "ในทุก ๆ สังคม การผลิตวาทกรรมจะถูกควบคุม ในเวลาเดียวกันก็จะถูกคัดเลือกถูกจัดวาง และถูกเผยแพร่ซ้ำไปซ้ำมาโดยกระบวนการบางอย่างจำนวนหนึ่ง ที่มีหน้าที่ขจัดยับยั้งอำนาจและอันตรายต่าง ๆ มีหน้าที่ควบคุมเหตุการณ์ ที่ไม่คาดคิดและหลีกเลี่ยงความเป็นรูปธรรมอันรุนแรงและน่าเกรงกลัว"

    ถ้าให้ลองคิดไว ๆ ว่า "ความขัดแย้งทางการเมืองในไทยส่งผลต่ออะไรบ้าง" หลายคนอาจจะคิดถึงเรื่องต่าง ๆ มากมาย สำหรับเราแล้วเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของการเปลี่ยนความหมายของคำบางคำไปจนน่าสนใจว่ามันไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร อาทิ คำว่า "สลิ่ม" ที่ทุหวันนี้ร้านขนมหลายร้าน คนหลายคน เข้าใจไปว่า "สลิ่ม = ซ่า-หริ่ม" ซึ่งจริง ๆ มันเป็นการเข้าใจที่แปลก ๆ ไปสักหน่อย หรืออย่างอีกคำหนึ่งที่ถูกหยิบมาใช้จนนิยามของมันคลาดเคลื่อนอกไปไกลเหมือนรถไฟที่ไถลออกจากรางแล้วตกสะพานที่ทอดผ่านหน้าผาน้ำตก และรถไฟที่ตกจากสะพานก็ตกจากหน้าปาน้ำตกอีกทีนั่นคือคำว่า "วาทกรรม (Discours)" ที่ในทุกวันนี้เวลาได้ยินคนพูด สื่อเขียนถึง หรือกระทั่งคนเขียนถึงมันใน Facebook มันทำให้เราตั้งคำถามว่า สิ่งเหล่านั้นที่พวกเขายกมามันเรียกว่า "วาทกรรม (Discours)" ซึ่งสื่อความหมายแบบตอนที่เราเรียนมันมาหลายปี (แน่นอนว่าก็ยังไม่เข้าใจมันอยู่ดี) มันมีความหมายแบบที่ถูกยกมาใช้ในปัจจุบันจริง ๆ หรือ นอกจาก 2 คำนี้ ยังมีอีกหลายคำที่ถูกสร้างใหม่ ทำลาย และเปลี่ยนความหมายไปจากผลของการเมืองไทยในช่วงหลายสิบปีมานี้
    หนังสือ : ระเบียบของวาทกรรม
    โดย : มิเชล ฟูโกต์ แปล ฐานิดา บุญวรรโณ
    จำนวน : 168 หน้า

    "ระเบียบของวาทกรรม" หนังสือว่าด้วยเรื่องของ "วาทกรรม (Discours)" ของ "มิเชล ฟูโกต์" โดยหนังสือเล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ (1) บทนำ ที่ผู้แปล ฐานิดา บุญวรรโณ ได้ทดลองนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องของแนวคิด แนวทางของงานศึกษาของฟูโกต์ โดยในส่วนที่ 1 นี้เป็นคล้าย ๆ กับการปูพื้นฐานให้กับผู้อ่านก่อนที่จะก้าวเข้าสู่เนื้อหาในส่วนที่ 2 ที่เป็นส่วนของเนื้อหาการบรรยายของฟูโกต์ที่ College de France ซึ่งหากใครเคยได้ยิน หรือเคยอ่านงานที่หยิบเอาแนวคิดของฟูโกต์มาใช้ เราจะพบว่าหลายครั้งงานกลุ่มนี้อ่านยากและยากที่จะทำความเข้าใจ ซึ่งในส่วนแรกของ "ระเบียบของวาทกรรม" ผู้แปลพยายามสร้างความเข้าใจภาพร่วมในลักษณะของการปูพื้นฐานก่อนเข้าสู่เนื้อหาของการบรรยายในส่วนที่ 2

    ส่วนที่ (2) ของ "ระเบียบของวาทกรรม" เป็นการแปลเนื้อหาในส่วนที่ฟูโกต์บรรยายเปิด ว่าด้วยเรื่องของ "ระเบียบวาทกรรม หรือ L'ordre du discours"  ซึ่งเนื้อหาในส่วนที่ (2) นี้ เป็นการแปลผลงานตีพิมพ์จากการบรรยายของ "มิเซล ฟูโกต์" ที่ College de France เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1970 ซึ่งเป็นการบรรยายเปิดครั้งแรกของมิเซล ในตำแหน่งประจำวิชาประวัติศาสตร์ของระบบความคิด (chaire Histoire des systimes de pensee) เนื้อหาของการบรรยายมีความสำคัญต่อความเข้าใจแนวคิดเรื่อง วาทกรรม (Discours) ของฟูโกต์ เพราะอยู่ในช่วงที่ความคิดของเขาในเรื่องนี้ได้ตกผลึกเรียบร้อยแล้ว

    หลังจากที่อ่าน "ระเบียบของวาทกรรม" จบลง เราเองก็ยังไม่มั่นใจว่าเราเข้าใจเนื้อหาของ "ระเบียบของวาทกรรม" ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหลายปีที่เรียนในคณะรัฐศาสตร์ และหลายปีที่อ่านงานทางสังคมศาสตร์หลาย ๆ ชิ้น งานสายปรัชญาเป็นกลุ่มงานที่เราอ่านน้อยที่สุด เพราะโดยส่วนตัวอ่านงานกลุ่มนี้ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ และสำหรับ "ระเบียบของวาทกรรม" เมื่ออ่านจบลง เราคิดว่างานกลุ่มปรัชญาไม่ใช่ของง่าย แต่โดยภาพรวมหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เราเข้าใจ "ระเบียบวาทกรรม หรือ L'ordre du discours" ได้มากขึ้นจากเดิม

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in