เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว By ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
  • รีวิวเว้ย (1020) ยังจำกันได้ไหมว่าตอนเด็กโดนทำโทษที่โรียนเรียนอย่างไรกันบ้าง (?) การถูกตีดูจะเป็นเรื่องมาตรฐานของโรงเรียนแทบทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการตีมือ ตีขา ตีก้น หรือหนักหน่อยก็อาจจะเป็นการตีหัว การถูกหยิกตามที่ต่าง ๆ ของร่างกาย การถูกเคาะหัวด้วยแปรงลบกระดาน การถูกทำโทษด้วยการวิ่งรอบสนาม ลุกนั่ง ยืนตากแดดหน้าเสาธง และอีกสารพัดรูปแบบของการลงโทษที่เกิดขึ้นในโรงเรียน นี่ยังไม่นับรวมการยึดของของนักเรียนที่ครูเห็นว่าผิดระเบียบ อย่างตัวเราเองเคยถูกครูยึด "กล้วยไข่" ใช่กล้วยไข่จากจังหวัดกำแพงเพชรที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่า "จะยึดกล้วยไข่" ไปทำเชี่ยอะไรกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลของการลงโทษ ลงทัณฑ์และการยึดของ การกระทำเหล่านี้ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าครูมักจบลงที่จ้อแก้ต่างว่า "ทำไปเพราะรักอยากให้พวกเธอได้ดี" เอาเข้าจริงถ้าการตี การลงโทษ การโดนแรงลบกระดานฟาดหัวคือการทำเพราะ "รัก" และอยากให้ "ได้ดี" ในฐานนะของคนเคยเป็นนักเรียน พวกเราก็รักและอยากให้ "ครูได้ดี" เช่นเดียวกัน
    หนังสือ : เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย
    โดย : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
    จำนวน : 355 หน้า

    หนังสือ "เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย" ว่าด้วยเรื่องของประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ของการใช้อำนาจและความรุนแรงใน "โรงเรียน" เพื่อใช้ในการควบคุมผู้เรียนให้ตรงตามแบบมาตรฐานที่เหล่าผู้มีอำนาจต้องการและกำหนดไว้ โดยการใช้ความรุนแรงและอำนาจดังกล่าวผู้ใช้ในนามของ "ความรัก" และ "ความหวังดี" ที่สมัยเราเป็นเด็ก มักมีโอกาสได้ยิน ได้พบเจอ หรือได้เผชิญกับตัวเองอยู่หลายหนหลายครั้งที่ครูหรือผู้มีอำนาจเหล่านี้มักจะพูดว่า "ที่ทำลงไปเพราะอยากให้พวกเธอได้ดี" ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการตี การลงโทษ หรือรูปแบบของการใช้อำนาจแปลก ๆ ของพวกเขาเหล่านั้น อาจจะไม่ได้ช่วยให้ใครได้ดี นอกจากตัวพวกเขาเองที่ได้ "แสดงออก" ให้ทุกคนเห็นซึ่ง "อำนาจ" ที่พวกเขามี และปัญหาลักษณะนี้ได้กลายมาเป็นรากฐานของสิ่งที่ถูกเรียกว่า "การใช้ความรุนแรงเพราะความรัก" ซึ่งฟังแล้วรู้สึกทะแม่ง ๆ แปลก ๆ

    หนังสือ "เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย" บอกเล่าเรื่องราวของ "วินัยและการลงทัณฑ์ ผ่านสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า "ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรม" เพื่อเป็นการขยายความของคำดังกล่าให้เข้าใจยิ่งขึ้น เลยขอตัดเอาข้อความบางส่วนของผู้เขียนมาอธิบายถึงตัวของคำดังกล่าวน่าจะเป็นการดีกว่า

    "ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรมมีลักษณะคล้ายกัน ตรงที่ระเบียบวินัยที่ใช้ควบคุมนักเรียนนั้น เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมด้วยวัฒนธรรมอย่างเหนียวแน่นมากกว่าแนวคิดสากลที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชนใด ๆ แนวคิดนี้ได้สร้างความชอบธรรมให้แก่ปฏิบัติการต่อเรือนร่าง และพื้นที่ที่ส่งผลต่อนักเรียนในโรงเรียน สิ่งนี้ได้ก่อตัวขึ้นมาบนอารมณ์และเหตุผลของรัฐและสังคมไทยมาอย่างช้าก็หลังปฏิวัติสยาม 2475 จากความต้องการเป็นประเทศมหาอำนาจ โดยตั้งต้นมาจากระเบียบวินัยแบบทหารนิยมที่สัมพันธ์กับการควบคุมเรือนร่างการเเต่งกาย..." (น. 7)

    "เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย" พาเราย้อนกลับไปทำความเข้าใจที่มาที่ไปของ "ความรุนแรงทางวัฒนธรรม" โดยที่เนื้อหาของ "เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย" แบ่งออกเป็น 7 บทดังนี้

    (1) เริ่มต้นเพื่อย้อนกลับไปท่องอดีต

    (2) อารมณ์กับเหตุผล สองด้านของเหรียญที่ใช้ควบคุมนักเรียน

    (3) เครื่องแบบและทรงผม พื้นที่ส่วนตัวที่หนักหัวรัฐและสังคมไทย

    (4) โรงเรียน + โรงงาน กับการผลิตความเป็นไทยด้วยระเบียบวินัยและพิธีกรรม

    (5) โรงเรียน + เรือนจำ กับการลงทัณฑ์และการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน

    (6) ฟางเส้นสุดท้าย เมื่อถูกละเมิดถึงจุดหนึ่งย่อมนำไปสู่การลุกขึ้นสู้

    (7) บทไม่สรุป การเดินทางเพื่อส่งไม้ต่อ การต่อสู้ในโรงเรียนที่ยังไม่จบ

    โดยเนื้อหาในแต่ละบทของ "เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย" คือการสะท้อนให้เป็นภาพของความแปลกประหลาดของระบบโรงเรียนและสังคมไทย ที่หลายคนดูยินดีและรับได้กับการใช้ความรุนแรงที่กระทบต่อสิทธิ เนื้อตัว ร่างกาย โดยหลายสิบปีเหตุการณ์ความรุนแรงทางวัฒนธรรมเหล่านี้ผ่านเลยไปโดยที่หลายคนไม่สนใจและละเลย กระทั่งเมื่อมีกลุ่มนักเรียนที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม การตั้งคำถามของเด็ก ๆ ทำให้ระบบความรุนแรงถูกสั่นคลอนและเหล่าผู้หวงแหนในการผูกขาดการใช้ความรุนแรงย่อมต้องออกมาต่อต้านอย่างสุดตัวเพื่อรักษาความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงดังกล่าวเอาไว้

    ความน่าสนใจประการสำคัญของ "เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย" มิได้ถูกจำกัดอยู่แค่เนื้อหาหรืองานที่ถูกศึกษาในแต่ละบทของหนังสือเท่านั้น หากแต่เนื้อหาในบทต่อ ๆ ไปที่จะเกิดขึ้นหลังจากบทที่ 7 "เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย" ช่วยย้ำเตือนกับเราว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดต่างหากเล่าที่น่าสนใจ และสมควรที่จะร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนให้ "ความรุนแรงทางวัฒนธรรม" หมดหายไปจากสังคมแห่งนี้เสียที

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in