เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
เกมกับการสร้างความเป็นพลเมือง By วศิน ปั้นทอง และคณะ
  • รีวิวเว้ย (935) "เกม" ในสายตาของใครหลายคน (โดยเฉพาะผู้ใหญ่) มักจะเป็นสิ่ง "ไม่มีสาระ" และมุ่งเน้นแค่เรื่องของ "ความสนุก" ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการให้ความหมายของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำหนดความหมายของคำอย่างราชบัณฑิต คำส่าเกม (2555) ก็ยังมีความหมายจำกัดแคบอยู่แค่ในเรื่องของ "การแข่งขัน" และ "ความสนุก" เท่านั้น ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว เกมเป็นได้มากกว่าแค่เรื่องของการแข่งขันและความสนุก เพราะเกมหลาย ๆ เกมก็ส่งเสริมทักษะอื่น ๆ ให้กับผู้เล่น อาทิ การสื่อสาร ภาษาอังกฤษ การวางแผน การตัดสินใจ การบริหารจัดการ และอื่น ๆ ยิ่งในปัจจุบันกระบวนการของเกมได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อการ "ออกแบบกระบวนการเรียนรู้" และเกมได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของการเรียน การสอน ในลักษณะของกระบวนการ Play and Learn ทำให้ในทุกวันนี้เกมไม่ใช่แค่เรื่องของความสนุกแต่ไม่มีสาระดังแค่ก่อน หากในปัจจุบันเกมได้ขยายขอบเขตความเป็นไปได้ไปสู่ "เกมเพื่อการเรียนรู้" โดยที่อยู่ภายใต้วิธีคิดแบบเอาความสนุกสร้างให้เกิดสาระผ่าน "การเรียนและเล่น"
    หนังสือ : เกมกับการสร้างความเป็นพลเมือง: บทเรียนจากมูลนิธิฟริดิช เนามัน (ประเทศไทย)
    โดย : วศิน ปั้นทอง, ชัยธวัช สีผ่องใส, ธีรพัฒน์ อังศุชวาล
    จำนวน : 150 หน้า

    หนังสือ "เกมกับการสร้างความเป็นพลเมือง: บทเรียนจากมูลนิธิฟริดิช เนามัน (ประเทศไทย)" เป็นหนังสือที่เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า "เกมเป็นมากกว่าแค่เรื่องสนุกที่ไม่มีสาระจริงหรือ (?)" เพราะหลายปีที่ผ่านมามูลนิธิฟริดิช เนามัน (ประเทศไทย) ได้พัฒนาเกมต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้ในกระบวนการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมเกม ซึ่งเกมต่าง ๆ เหล่านั้นต่างก็ได้รับผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจทั้งในเรื่องของความสนุกและสาระการเรียนรู้

    เกมต่าง ๆ ของมูลนิธิฯ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้ถูกนำไปต่อยอดในกิจกรรมหลายหลายรูปแบบทั้งในห้องเรียนของนักเรียนระดับประถมและมัธยม ห้องเรียนของนักเรียนตำรวจ ห้องเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และตามกิจกรรมกับกลุ่มชมรมต่าง ๆ มากมาย ด้วยเหตุนี้หนังสือ "เกมกับการสร้างความเป็นพลเมือง: บทเรียนจากมูลนิธิฟริดิช เนามัน (ประเทศไทย)" จึงถูกเขียนขึ้นเพื่อทบทวนคำตอบของคำถามต่าง ๆ ทั้งเรื่องของ ความหมายของเกมที่เปลี่ยนแปลงไป เกมกับการเรียนรู้และการสร้างพลเมืองไปด้วยกันได้อย่างไร และเกมต่าง ๆ ของมูลนิธิฟริดิช เนามัน (ประเทศไทย) ที่ได้ถูกนำไปใช้ในบริบทและสถานการณ์ต่าง ๆ มีผลตอบรับ หรือข้อคิดเห็นจากประสบการณ์ของผู้เล่นเป็นอย่างไร และในส่วนท้ายคือการมองหาความหวังในสังคมไทยว่าเกมจะเข้ามามีส่วนขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมในภาพกว้างได้หรือไม่และอย่างไร

    โดยเนื้อหาของ "เกมกับการสร้างความเป็นพลเมือง: บทเรียนจากมูลนิธิฟริดิช เนามัน (ประเทศไทย)" แบ่งออกเป็น 4 บท ขนาดกระชับให้ผู้อ่านได้ติดตาม ดังต่อไปนี้

    บทที่ 1 ว่าด้วยเกมนำเสนอแนวคิดและหลักการเกี่ยวกับเกม การเรียนรู้ผ่านเกม และเกมมิฟิเคชัน ผู้อ่านจะได้รับความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของเกมและความสัมพันธ์ที่เกมมีต่อการส่งเสริมการเรียนรู้และการสร้างความเป็นพลเมือง

    บทที่ 2 การเรียนรู้ผ่านเกมในสังคมไทยกับมูลนิธิฟริดิช เนามัน (ประเทศไทย)  นำเสนอพื้นหลังของความพยายามในการนำเกมมาใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในประเทศไทยโดยเฉพาะผ่านบทบาทและเกมของมูลนิธิฯ ผู้อ่านจะได้รายละเอียดและบทเรียนเกี่ยวกับเกมจำนวนสี่เกมที่มูลนิธิพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่ายและใช้งานขับเคลื่อนสังคมอย่างต่อเนื่อง

    บทที่ 3 ผู้นำเล่นเกม (Play Coach)  นำเสนอถึงความสำคัญและบทบาทของผู้นำเกมหรือกระบวนกรเกมอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้ผ่านเกมที่ทำให้เกมคิดไตร่ตรองแตกต่างจากเกมทั่วไป ผู้อ่านจะได้รับทราบแนวทางการเตรียมพร้อมและข้อควรระวังสำหรับการเป็นผู้นำเล่นเกม

    บทที่ 4 สรุปและข้อเสนอแนะ สรุปเนื้อหาสำคัญของหนังสือผู้อ่านจะได้คิดถึงบทเรียนที่สำคัญของการเรียนรู้ผ่านเกมและเกมคลิปไตร่ตรองที่พัฒนาโดยมูลนิธิตลอดจนทิศทางในอนาคตของการขับเคลื่อนสังคมผ่านเกม

    เมื่ออ่านหนังาอเล่มนี้จบลง (และในฐานของหนึ่งมนผู้เขียนหนังสือเล่มนี้) เราพบว่า แท้จริงแล้ว "เกม" มีความสามารถและศักยภาพที่มากพอจะเปลี่ยนแปลงกระบวนการในการเรียนรู้ของสังคมหนึ่ง ๆ ได้เป็นอย่างดี และมีคนทำให้เห็นแล้วว่าสิ่งเหล่านี้ทำได้และไม่ใช่เรื่องที่เกินกำลัง และในฐานะของทั้งผู้อ่านและผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เราหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคต เด็กนักเรียน นักศึกษาและประชาชน รวมถึงผู้ใหญ่ (สูงวัย) ทุกกลุ่ม ทุกคน จะมีโอกาสได้ตั้งวงเล่นเกมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิด ความเห็นของตัวเอง ผ่านเกมเกมเดียวกัน โดยที่ไม่ต้องกังวลในเรื่องของอายุ คุณวุฒิ และวัยวุฒิ หากแต่ให้กติกาของเกมและกระบวนการในการเล่มเกม คือ เครื่องมือในการสร้างบทสนทนาของคนทุกกลุ่มไปพร้อมกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in