รีวิวเว้ย (844) ในชีวิตของนักเรียนรัฐศาสตร์ การเรียนเรื่องปรัชญาการเมือง ประวัติความคิดทางการเมือง หรือวิชาอื่น ๆ ในชั้นเรียกมักจะมีนักคิด นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงเรียงนามแปลก ๆ ปรากฎขึ้นมาเป็นระยะ ในแทบทุกวิชาที่ลงเรียน หรือแม้กระทั่งการไปลงเรียนวิชานอกคณะในหลายครั้งก็เจอชื่อของนักคิด นักปรัชญา และรากฐานวิธีการศึกษาที่พวกเขาได้สร้างเอาไว้ตามติดเป็นเงาไปเกือบทุกที่ หลายปีผ่านหลังจากใช้ชีวิตในห้องเรียน และหลังจากที่เรียนจบมาแล้วเราก็ยังพบว่าในหลายครั้งนักคิด นักปรัชญา และแนวทางการศึกษาของพวกเขายังคงปรากฎอยู่บ่อยครั้ง บ้างในข่าว บ้างในหนังสือ หรือที่จะปรากฎชัดที่สุดในช่วงนี้ก็ในสถานการณ์ทางการเมือง (ไทย) ที่ในหลายครั้ง หลังจากตามอ่านข่าว ดูข่าว หรือฟังการวิเคราะห์ข่าว ชื่อเสียง หน้าตา และแนวคิดของนักคิดบางคนที่เคยเรียนในอดีตก็ลอยตามเนื้อหาของข่าวเหล่านั้นมาติด ๆ แต่ด้วยวิชาปรัชญาและประวัติความคิดไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจ และแน่นอนว่าเมื่อกาลเวลาผ่านมาหลายปี เราอาจจะพอจำได้แค่แนวคิดหลักของพวกเขาเหล่านั้น แต่ลึกลงไปในรายละเอียดของวิธีคิดและปฏิสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดต่าง ๆ คืนกลับให้กับอาจารย์ที่สอนตอนมหาลัยเกือบหมดแล้ว หลายครั้งที่ชื่อเสียง ใบหน้า และแนวคิดของเขาเหล่านั้นปรากฎขึ้น เราก็นึกต่อไม่ออกว่านอกจากแนวคิดสำคัญเหล่านั้นแล้วรายละเอียดของแนวคิดเป็นเช่นไรกัน ไม่แน่ว่าถ้าเราพอจำรายละเอียดมันได้บ้าง เราอาจจะอ่านหรือทำความเข้าในปรากฎการณ์ตรงหน้าได้ดีขึ้นกว่าเดิม
หนังสือ : นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง (พิมพ์ครั้งที่ 5)
โดย : ส. ศิวรักษ์
จำนวน : 224 หน้า
ราคา : 220 บาท
หนังสือ "นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง" ที่รวบรวมเอา 16 นักปรัชญาการเมืองฝรั่งคนสำคัญ ที่ถ้าใครเรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ก็จะปรากฏชื่อของพวกเขาในวิชาเรียนอยู่บ่อย ๆ และตลอดระยะเวลาที่เรียนในชั้นเรียกผลงาน แนวคิด และวิธีวิทยาที่พวกเขาเหล่านี้สร้างขึ้นก็จะถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการแสวงหาคำตอบในชั้นเรียน ซึ่งมันก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถหยิบเอามาใช้นอกห้องเรียนได้เช่นกัน หากเราไม่ส่งคืนผู้สอนตั้งแต่ตอนจบคาบเรียน
หนังสือ "นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง" ถูกเขียนขึ้นครั้งแรกเมื่อ 40 กว่าปีก่อน โดยฉบับปัจจุบัน (2564) คือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 เมื่ออ่านจนจบแล้วเราพบว่าเนื้อหา แนวความคิด และกรอบทฤษฎีของนักปรัชญาฝรั่งทั้ง 16 ท่าน ที่ถูกเขียนถึงใน "นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง" ช่วยให้เราย้อนกลับมาคิดถึงความรู้ที่เคยส่งคืนครูในสมัยมหาลัยได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็อาจจะแปลกและแตกต่างไปบ้างในเรื่องของการใช้ภาษา หรือการแปลความหมายของแนวคิด ทฤษฎีบางตัวที่เป็นภาษาที่เราอาจจะไม่คุ้นหูนัก ด้วยความที่หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นเมื่อนานมาแล้ว
แต่เสน่ห์อย่างหนึ่งของการอ่านงานปรัชญา หรือนักคิดนักปรัชญา กาลเวลาไม่ได้ทำให้ความสำคัญและคุณค่าของเนื้อหา แนวคิด วิธีการ ที่นักปรัชญาแต่ละท่านนำเสนอไว้เปลี่ยนแปลงไป หรือลดคุณค่าของแนวคิดเหล่านั้นลง หากแต่เมื่อกลับมาอ่านแนวคิดของแต่ละท่านอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่ต่างออกไป เรากลับมองเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านมุมมองที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด และเราเชื่อว่ามันเป็นการมองโลกที่ต่างออกไปจากช่วงเวลาที่ยังเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป
ความสนุกประการสำคัญของ "นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง" คือการเขียนของ ส.ศิวรักษ์ ที่โดยปกติก็จะเป็นการเขียนงานแบบกึ่งวิพากษ์ให้เห็นข้อเด่นและข้ออ่อนของงานแต่ละชิ้น หรือแนวคิดแต่ละอย่างไปด้วยในที นั่นยิ่งทำให้การอ่านงาน "นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง" เราจะได้เห็นทั้งข้อเด่นและข้ออ่อนของนักปรัชญาแต่ละคน อีกทั้งยังได้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ของแนวคิด ข้อขัดแย้ง และข้อคิดเห็นของนักคิดหลายคนที่ปรากฏใน "นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง" ถูกเขียนอยู่ในลักษณะของการวิพากษ์ระหว่างกัน ซึ่งสำหรับคนที่มีพื้นฐาน หรือเคยอ่านงานของนักคิดเหล่านี้มาแล้ว และเกือบจะลืมไปแล้ว "นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง" จะช่วยให้เราเข้าใจแนวคิดได้อีกครั้งและเห็นถึงความสัมพันธ์ของแนวคิดระหว่างนักคิดหลาย ๆ คนที่เราอาจจะหลงลืมหรือละเลยไปในสมัยที่เรียนในห้องเรียน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in