เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ (คณะ) ราษฎร By ศรัญญู เทพสงเคราะห์
  • รีวิวเว้ย (437) เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ปฏิวัติ) 2475 หลายคนคงคิดถึงเรื่องราวของการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) และรวมไปถึงเรื่องราวต่าง ๆ มากมายในทางประวัติศาสตร์ นับย้อนไปสัก 10-15 ปีก่อน ตอนที่เราอยู่ชั้นมัธยม เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แทบจะมิถูกพูดถึง หรือไม่เคยถูกให้ความสำคัญ ขยายความ หรือแม้กระทั่งหยิบเอามาสอนในห้องเรียนเลยแม้แต่น้อย ที่น่าแปลกใจไปกว่านั้นคือเวลาล่วงผ่านมา 15 ปี เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กลับกลายเป็นกระแสที่สังคมให้ความสนใจและหันกลับมาศึกษาเรื่องราวของช่วงเวลาดังกล่าวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการหายไปของ "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ (หมุดคณะราษฏร)" ตรงลานพระบรมรูปทรงม้าหายไปและกลับกลายมีหมุด "ไพร่ฟ้าหน้าใส" เข้ามาอยู่แทนที่ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนเริ่มกลับมาสนใจใน 2475 อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อไม่นานมานี้อีกหนึ่งชิ้นส่วนความทรงจำของคณะราษฎรชิ้นสำคัญจู่ ๆ ก็หายไปจากพื้นที่บางเขนอย่าง "อนุสาวรีย์ปราบกบฎ" ก็ยิ่งทำให้เรื่องราวของ 2475 และประวัติศาสตร์การเมืองทั้งช่วงเวลาดังกล่าว ภายหลัง ก่อนหน้า ต่างได้รับความสนใจยิ่งขึ้นจากคนหลายกลุ่ม โดยดูได้จากหนังสือ สารคดี และงานวิชาการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวถูกผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมาก
    หนังสือ : ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ (คณะ) ราษฎร
    โดย : ศรัญญู เทพสงเคราะห์
    จำนวน : 408 หน้า
    ราคา : 390 บาท

    "ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ (คณะ) ราษฎร" เป็นหนึ่งในผลงานที่ถูกสร้างขึ้นในฐานะของงานวิชาการ ที่ตอบโจทย์ของคำถามในเรื่องของ "คณะราษฎร" และ "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475" อีกคราหนึ่งในแง่มุมที่น่าสนใจที่แตกต่างออกไปจากงานหลาย ๆ ชิ้นที่ถูกสร้างขึ้นแล้วก่อนหน้า

    ทั้งเรื่องของการลบภาพมายาคติที่ว่า "คนต่างจังหวัดมิได้สนใจและมิได้เข้าใจต่อการเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงการปดครอง 2475" ซึ่งในหนังสือ "ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ (คณะ) ราษฎร" ได้แสดงข้อมูลอีกด้านหนึ่งให้เห็นว่า แท้จริงแล้วคนในต่างจังหวัดในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นมิใช่น้อย ทั้งจากการสร้างอนุสาวรีย์ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ที่ในหลาย ๆ พื้นที่ในหลาย ๆ ภูมิภาคการก่อสร้างเกิดขึ้นเองจากความมุ่งมาดคาดหมายของราษฎรในพื้นที่ และยังรวมไปถึงการผูกโยงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้ากับกลอนลำของหมอลำ จนเกิดเป็น "กลอนลำรัฐธรรมนูญ" ที่ว่าด้วยเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

    "ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ (คณะ) ราษฎร" ช่วยแสดงให้เราเห็นถึงความเอาใจใส่ของราษฎรในช่วงเวลาดังกล่าว ต่อการเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

    นอกจากนี้ "ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ (คณะ) ราษฎร" ยังได้บอกเล่าเรื่องราวของการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ของความทรงจำในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลัง 2475 กระทั่งปัจจุบัน การประชันทางอำนาจดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทั้งเรื่องของการช่วงชิงที่มาของรัฐธรรมนูญว่าแท้จริงแล้วเกิดขึ้นจาก "การพระราชทาน, การต่อสู้ช่วงชิงให้ได้มา, หรือเกิดจากการยินยอมพร้อมใจของทั้ง 2 ฝ่าย" และรวมไปถึงในหนังสือยังบอกเล่าเรื่องราวของ "อนุสาวรีย์ปรากบฎ" เอาไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งเรื่องของการเกิดขึ้น การรักษา และการหายไป (ถูกทำลาย) เพื่อลบล้างความทรงจำบางประการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

    รวมไปถึง "ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ (คณะ) ราษฎร" ยังได้บอกเล่าเรื่องราวของการช่วงชิงพื้นที่เพื่อสร้างความทรงจำในเรื่องของ ร.7 กับการ "พระราชทานรัฐธรรมนูญ" เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ หากอยากรู้ว่าน่าสนใจเพียงใด แนะนำว่าลองหาอ่านดูแล้วเราจะเข้าใจว่าเหตุใดการเมืองไทย ถึงได้เดินไปในแนวทางนี้ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การเมืองไทยเคยเป็น หากแต่มันเป็นมาตลอดนับตั้งแต่ครั้งกระโน่น เนิ่นนานเสียยิ่งกว่าการเกิดขึ้นของชาติไทย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in