เมื่อพูดถึงลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์ เราต่างคงนึกถึงสระบัวของโมเนต์, ห้องเรียนบัลเลต์ของเอ็ดการ์, สตรีเปลือยของมาเนต์ หรืออาจเป็นลวดลายจากราตรีประดับดาราของแวนโก๊ะ ศิลปะในลัทธิประทับใจนั้นมีเรื่องราวของการต่อสู้กว่าจะได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนาน จนปัจจุบัน หนึ่งในผลงานเหล่านั้นคงกลายเป็นงานศิลปะชิ้นโปรดของใครต่อใคร แต่ท่ามกลางความสามารถอันประจักษ์สายตาของเหล่าสุภาพบุรุษ ยังมีเพชรน้ำงามอีกหนึ่งเม็ดที่ไม่ควรมองข้าม —แบร์ธ โมริโซ (Berthe Morisot) ศิลปินหญิงผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะหนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้บุกเบิกลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์
Study, The Water’s Edge (1864)
one of her works at salon
เกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลาง, แม้ไม่อาจเข้ารับการศึกษาจากสถาบันวิจิตรศิลป์อย่างเป็นทางการได้ โมริโซในวัยเยาว์ตัดสินใจมุ่งมั่นแน่วแน่ต่อเส้นทางอนาคต เธอเรียนรู้ศิลปะภายใต้การแนะนำของคามิล โคโรต์ (Jean-Baptiste-Camille Corot) ความสามารถของโมริโซพาให้ผลงานของเธอถูกรับเลือกไปจัดแสดงที่ Salon ตั้งแต่ปี 1864 - 1873 ก่อนจะผันตัวไปเข้ากับกลุ่มศิลปินอิสระผู้ให้กำเนิดศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์
หนึ่งในบุคคลซึ่งมีอิทธิพลต่อการผันเปลี่ยนและพัฒนาสไตล์ผลงานของโมริโซคือ เอดัวร์ มาเนต์ (Édouard Manet) อีกหนึ่งจิตรกรในลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์ ทั้งสองอยู่ในสถานะเพื่อนที่ดีต่อกัน แม้จะมีการตั้งแง่ถึงความสัมพันธ์ที่อาจลึกซึ้งกว่านั้น ท้ายที่สุดเธอก็แต่งงานกับน้องชายของเขา ยูจีน มาเนต์ (Eugène Manet)
Edouard Manet — The Balcony (1868)
ผู้หญิงซึ่งนั่งอยู่ในภาพวาดของมาเนต์นั้นคือโมริโซ
Edouard Manet — Portrait de Berthe Morisot étendue (1873)
โมริโซเป็นนางแบบให้แก่มาเนต์อีกหลายต่อหลายครั้ง
— Art Style
The Cradle (1872)
พี่สาวของโมริโซ, เอ็ดม่า กับลูกสาว
ภาพวาดของโมริโซมีตัวละครเอกเป็นสุภาพสตรี บันทึกชีวิตประจำวันธรรมดา ๆ ของเด็ก ผู้หญิง และครอบครัวเอาไว้ด้วยฝีแปรงที่รวดเร็ว บ้างเป็นภาพช่วงเวลาส่วนตัว บ้างเป็นภาพเรื่องราวที่ไม่เคยถูกสนใจจากสายตาของศิลปินอื่น เสมือนกำลังกู่ตะโกนถึงการมีตัวตนอยู่ของเหล่าสตรี ในยุคซึ่งบทบาทของพวกเธอยังคงถูกกีดกันและไม่มีการกล่าวถึง
In the Dining Room, Housemaid (1886)
The Psyche mirror (1876)
Eugène Manet on the Isle of Wight (1875)
นอกจากสามีของเธอเอง ผลงานของโมริโซไม่เคยมีภาพของบุรุษอยู่เลย
Woman at Her Toilette (1880)
กระนั้น เพศสภาพของโมริโซเองก็ยังคงเป็นตราประทับภาพจำ — "บอบบาง" "อ่อนหวาน" "เปี่ยมความน่าดึงดูดของสตรี" คือคำที่ศิลปินยุคนั้นใช้อธิบายผลงานของเธอ ไม่มีมุมมองอื่นใดไปมากกว่านั้น แม้กระทั่งมาเนต์เองยังเคยกล่าวว่า "ผลงานของโมริโซนั้นพิเศษนัก, น่าเสียดายที่เธอไม่ใช่ผู้ชาย"
โมริโซเสียชีวิตในปี 1895 ด้วยวัย 54 ปี เธอยังคงถ่ายทอดความมุ่งมั่นไว้ในภาพวาดจนบั้นปลายชีวิต ส่งต่อผ่านยุคสมัยมาจวบจนวันนี้ ผลงานและตัวตนของเธอควรค่าต่อการจดจำในฐานะ "ศิลปิน" คนหนึ่ง ไม่ใช่เพียงอ่อนหวาน แต่ยังกล้าหาญที่จะยึดมั่นในจุดยืนของตนเอง ต่อหน้ากำแพงสูงที่ชื่อว่าสังคมชายเป็นใหญ่
————————————————————
source :
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตรงนี้นะคะ ??♀️ หากบทความมีข้อผิดพลาดตรงไหนสามารถท้วงติงได้เลยค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in