เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Manual ReviewManualEyeko
REVIEW : Génitrix เมื่อผู้ตายกำชัย ใน 'มาตา'
  • มาตา หรือในชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า Génitrix โดยฟร็องซัว โมริยัค (François Mauriac) งานเขียนที่เล่าเรื่องอย่างแพรวพราว พาเราแหวกว่ายไปในมวลตัวหนังสือที่ผ่านการบรรยายและเปรียบเปรยอย่างขบคิดจนถึงแก่นถึงรส ถ่ายทอดทุกอรรถรสบาดใจเป็นภาษาไทยโดย วัลยา วิวัฒน์ศร ผู้แปล 


    ด้วยรูปเล่มสีเขียวขจีดูชุ่มชื่นนี้ ทำให้เราเองก็ไม่คิดว่าเนื้อหาของ 'มาตา' จะเต็มไปด้วยความเข้มข้น รุนแรง ผู้เขียนดำเนินเรื่องรวดเร็วฉับพลัน และชักจูงให้คนอ่านอย่างเราอยากพลิกหน้ากระดาษต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปจนแทบจะไม่ได้ตั้งตัว 


    ทุกหน้ากระดาษของมาตา แสดงนำโดยตัวบทที่เต็มไปด้วยการเชือดเฉือนเอาชนะกันระหว่างคน 3 คน คือแฟร์นองด์ กาเซอนาฟ ชายวัย 50 ที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างรัก เทิดทูนและบูชาโดยผู้เป็นแม่ เฟลิซิเต้ กาเซอนาฟ หญิงชราคุณนายของบ้านที่หยัดยืนเลี้ยงดูลูกรักด้วยตัวเองจน "สุดรักสุดบูชา" ของหล่อนล่วงเลยสู่วัย 50 ปี และลูกสะใภ้มหาภัยในสายตาของเฟลิซิเต้ มาตีลด์ กู๊สตุ๊ส


    จุดเด่นของ มาตา คือการเล่าถึงความบาดหมาง ขัดแย้ง แทบจะในทุกตัวอักษรระหว่างคนทั้งสาม ในม่านมิติของการเป็นสมาชิกครอบครัว การเล่าเรื่องความแตกร้าวที่ไม่ใช่แค่เรื่องของแม่ผัวลูกสะใภ้ธรรมดา แต่ซุ่มแฝงด้วยปัญหาในบริบทของสามีภรรยา ตลอดจนความบิดเบี้ยวในความสัมพันธ์ของแม่กับลูก 


    การต่อกรกันไปมาของคนทั้งสาม ที่เล่าผ่านตัวบทที่เร้าความรู้สึกจนคุกรุ่น ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องคือการมีคนตายเกิดขึ้น 


    เมื่อถูกหนังสือนวนิยายเล่มเล็กๆ เล่มนี้บ่มเพาะผ่าน127หน้ากระดาษ ทำให้เราตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวของตัวละคร การล่วงล้ำบทบาทและสถานะของคนหนึ่งต่ออีกคนหนึ่ง  การเล่าเรื่องราวเหล่านี้บนพื้นที่อย่างคฤหาสน์บ้านกาเซอนาฟ ที่บอกเล่าบรรยากาศอึดอัดภายในคฤหาสน์หลังใหญ่ที่เต็มไปด้วยความถมึงทึงของผู้คนที่อาศัยอยู่ ทุกบทที่ดำเนินไป ถูกถมเต็มด้วยความต้องการครอบครอง การแย่งชิงพื้นที่กัน ไม่ใช่แค่พื้นที่ในความสัมพันธ์ของคนในบ้าน แต่ยังมีการช่วงชิงพื้นที่ในตัวบท ช่องว่างระหว่างคนเป็นและคนตายท้ายที่สุดจึงหดแคบเข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน


    สิ่งสำคัญที่เราคิดว่ามันเป็นเสน่ห์ของเรื่องนี้ที่สุดคือ เราได้เฝ้าสังเกตบทบาทของคนตายและสิ่งที่เขาทอดทิ้งไว้ การเล่าเรื่องของโมริยัคในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ทำให้เรามองความตายเป็นเรื่องสามัญอีกต่อไป แต่ความตายกลายเป็นหมุดหมายของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ผู้ตายทิ้ง "พินัยกรรม"อันไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ผู้ตายเองก็ไม่ได้ตั้งใจให้เจตจำนงเช่นนี้ปรากฏรูปร่างขึ้น แต่พินัยกรรมฉบับนี้กำหนดชะตาชีวิตคนที่ยังอยู่ต่อให้ไปในทิศทางที่ผู้ตายต้องการ

     

    เมื่อสถานะของผู้ตายถูกสับเปลี่ยนขึ้นมามีบทบาทอย่างเต็มภูมิ การได้รับความสามารถพิเศษจากความตายในการเปลี่ยนจาก "การดำรงอยู่" ในหลักแหล่งพักพิงอาศัยอย่างที่มนุษย์จะอยู่ได้ กลายเป็น "การสิงสู่" อยู่ได้ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในสวน ในรูปภาพ หรือแม้แต่ในความทรงจำของตัวบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ การสิงสู่อยู่ในทุกที่นั้นกระทำยิ่งกว่าการเป็นภูติผีที่ตามหลอกหลอนคนที่ยังอยู่ แต่สภาวะสิงสู่ที่เกิดขึ้นบีบรัดให้ผู้ดำรงสถานะคนเป็นรับรู้ว่าความตายไม่ใช่บทจบ มิใช่เพีงต้องการต้อนให้คนอยู่รู้สึกสำนึกผิด แต่ทั้งหมดกลายเป็นกลอุบายที่คนตายเองก็ไม่ได้ตั้งใจทิ้งไว้ให้ทุกอย่างดำเนินมาจนถึงวาระนี้  อำนาจของผู้ตายที่กระทำต่อตัวบทในแต่ละบรรทัดซึ่งเล่าเรื่องคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้เกิดมิติเวลามโหฬารที่ผลักดันบทบาทให้คนตายได้โลดแล่นในหนังสือเล่มนี้จนกระทั่งบรรทัดสุดท้ายของหนังสือ

    ผู้เขียนสร้างซีนอารมณ์ได้สมจริง การปะทะ ต่อสู้กันของตัวละครตลอดเรื่องอย่างหลักแหลม รังสรรค์ความตายซึ่งเป็นอนุสรณ์ของความจริงบางอย่างที่ถูกเก็บงำเนิ่นนาน จนมีรูปมีร่างขึ้นมาทดแทนชีวิตที่สูญเสียไป คนตายผู้ได้ชัยชนะต่อคนเป็นโดยไม่ต้องจับอาวุธใดๆ คนเป็นจึงอยู่เสมือนคนตาย และคนที่ถูกกลบฝังกลับได้รับอิสรภาพในนวนิยายเล่มนี้อย่างสมบูรณ์ 



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in