เชื่อว่าในหลายๆเกมที่เพื่อนๆเล่น มักจะมีคอสตูม หรือสกิน (skin) สวย ๆ ที่เป็นแฟชั่นหลากหลายแนวให้เพื่อน ๆ ได้เลือกใช้ให้เข้ากับตัวเอง หรือเลือกซื้อตามความชอบของตัวเอง ซึ่งตัวเราเองก็เป็นผู้เล่นเกมคนนึง ที่ชื่นชอบในการซื้อสะสมสกินในเกม ROV (Realm of Valor) ซึ่งถือเป็นเกมดังที่มีสกิน สวยๆ แพงๆ มากมายที่หลาย ๆ คนลงเงินไปกับมันมาก แม้เกมจะเป็นเกมฟรี ที่มีฮีโร่ให้เล่นฟรีหลายตัวก็ตาม แต่ผู้เล่นบางคนก็ยังยอมที่จะเติมเงินเข้าเกมมาไม่เพียงแต่ซื้อฮีโร่เพิ่มเติม แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือซื้อสกิน ทั้งๆ ที่ถ้าหากไม่ใส่สกินก็ยังสามารถเล่นเกมได้เพราะไม่ได้มีผลต่อความแรงโจมตี หรือเป็นการเสริมให้ตัวละครเก่งขึ้นแต่อย่างใด แล้วอย่างนี้ทำไมคนถึงยังซื้อสกิน? แม้แต่ผู้เล่นสายฟรีบางคน บางครั้งเห็นสกินสวยๆ ลดราคาก็ยังอดห้ามใจตัวเองซื้อมาครอบครองไม่ได้
เลยเกิดเป็นความสนใจที่อยากจะมาทำประเด็นเรื่อง สกินสำคัญไฉน: ทำไมคนถึงต้องซื้อสกิน? โดยเราจะยกตัวอย่างหลัก ๆ ที่เห็นได้ชัดมา 3 ข้อ
1. เหตุผลด้านสุนทรียศาสตร์ (aesthetics): สกินคือแฟชั่น
ก่อนอื่นเลย ต้องบอกว่าสกินนับว่าเป็นแฟชั่นในเกม และแฟชั่นคือสิ่งสวยงาม ซึ่งเวลาคนเรามองสิ่งสวยงามบางครั้งมันอดไม่ได้ที่จะเกิดแรงกระตุ้นหรือเกิดแรงจูงใจที่ทำให้คนรู้สึกอยากมีไว้ครอบครอง ซึ่งสกินที่สวยๆ ก็สามารถดึงดูดใจให้คนซื้อได้ สำหรับบางคนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสกินจะมองว่า ตัวเขาไม่ได้ใส่เองเลยไม่จำเป็นต้องซื้อ เล่นเท่าที่มีก็ได้ แต่บางคนเขารู้สึกว่า ตัวละครที่เขาจะเล่นเป็นผู้สวมใส่ในสิ่งที่เขาเป็นคนซื้อ อีกทั้งเขาชอบตัวละครนั้นและเขาก็เล่นตัวละครนั้นบ่อย ๆ ซึ่งทำให้เขาโอเคที่จะเสียเงินเพื่อให้ตัวละครตัวเองดูดี ซึ่งก็อาจจะทำให้เขารู้สึกเติมเต็มและอิ่มเอม หรือก็เป็นไปได้ที่บางคนโยงตัวเองเข้ากับตัวละครในเกม ทำให้รู้สึกว่า นั่นคือเขา ซื้อมาก็คุ้มนั่นแหละเพราะเหมือนเขาได้ใส่ แม้ความจริงแล้วจะเป็นแค่แบบเสมือนจริง
การคิดแบบนี้เป็นเพราะจริง ๆ แล้วสกินยังนับว่าเป็น ตัวตนสำรอง (alternate identity) เพราะการซื้อสกินในเกมส่วนนึงมาจากการที่ตัวผู้เล่นอาจจะไม่สามารถแต่งตัวจัดเต็มแบบสกินในเกมได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัดทั้งทางด้านร่างกาย หน้าที่การงาน หรือวัฒนธรรม การได้ซื้อสกินมาใส่แม้จะแค่ในเกม ถือว่าเป็นการทดแทนและช่วยเติมเต็มความต้องการและความชอบได้ เกมเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งที่มอบพื้นที่ให้ผู้เล่นสามารถแต่งตัวได้ตามใจโดยไม่ได้ยึดโยงไปกับเพศ ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีเพศชายก็สามารถเลือกใส่สกินที่เป็นเดรสสีชมพูน่ารักให้แก่ตัวละครเกมผู้หญิงที่ตนเลือกเล่นได้ โดยไม่ถูกมองว่า “ไม่สมควร” ถ้าเทียบกับในชีวิตประจำวันที่บางครั้งสังคมยังไม่ยอมเปิดรับให้ผู้ชายใส่กระโปรงได้
โลกของเกม นับเป็นจักรวาลที่แยกออกมา (alternate universe) นับว่าคล้ายวัฒนธรรมแต่งตัวและแต่งหน้าเลียนแบบสตรี (Drag) และ วัฒนธรรมบอล (Ballroom) ที่นับว่าเป็นพื้นที่ของเควียร์ (queer space) หรือเป็นเหมือนพื้นที่อีกพื้นที่หนึ่งให้คนได้แต่งตัวได้ตามใจโดยไม่ถูกมองว่าแปลกเพราะไม่ได้อิงกับการแต่งตัวตามกระแสหลัก (mainstream)
นี่จึงอาจจะเป็นการตอบคำถามได้ว่า ทำไมสกินในเกมถึงเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมของเควียร์ (queer) ได้ด้วยเช่นกัน
2. สกินสร้างความโดดเด่นและความแตกต่างที่ก่อให้เกิดความความภูมิใจบางอย่าง
เคยไหมที่บางทีเราเจอคนแต่งตัวเหมือนกันกับเราข้างนอก แล้วเรารู้สึกเขิน ๆ โดยเฉพาะหากอีกฝ่ายใส่แล้วเรารู้สึกว่าอีกฝ่ายเขาดูดีกว่า นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่คนมีฐานะหลายคนเลือกที่จะตัดชุดกับทางแบรนด์ดังที่มีจำนวนน้อย ๆ และไม่ได้มีรูปแบบทั่วไปที่สามารถพบเจอได้ตามท้องตลาด ซึ่งในเกม บางเกมผู้เล่นอาจจะพบความบังเอิญที่ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเลือกตัวละครเหมือนกัน ซึ่งถ้าไม่ได้ใส่สกิน ผู้เล่นก็จะไม่โดดเด่น เพื่อนร่วมทีมอาจจะแยกยากด้วยซ้ำ ถ้าไม่ดูแถบว่าฝั่งไหนคือพวกตัวเองฝั่งไหนเป็นฝั่งศัตรู
นอกจากนี้บางครั้งเมื่อผู้เล่นพบเจอกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามที่เล่นตัวละครเดียวกัน อาจจะทำให้ผู้เล่นรู้สึกหวั่นไหวแล้ว ฉุกคิดและกังวลว่าอีกฝ่ายจะเก่งกว่าตนหรือไม่ แต่หากว่าผู้เล่นดันใส่สกินสวย ๆ แต่อีกฝ่ายไม่ได้ใส่ ผู้เล่นก็อาจจะรู้สึกดีขึ้นหน่อย เพราะอย่างน้อยตัวละครก็สวยกว่า ในทางกลับกันผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามก็อาจจะเสียความมั่นใจเพราะตนไม่ได้ใส่สกินหรือสกินไม่สวยเท่าหรือแพงเท่าอีกฝ่ายได้เช่นกัน ความคิดเช่นนี้นับว่าเป็นกระบวนการคิดเชิงเทิดทูน (Halo Effect) ที่คนมักจะมองสิ่งที่สวยและดูดีในเชิงบวกไว้ก่อนแล้วว่าสิ่งนั้นต้องดีแน่ ๆ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะเป็นในแง่ตรงข้าม ทั้งหมดทั้งมวลนี้เลยก่อให้เกิดคำพูดตลกๆไว้จิกกัดกันในเกมเล่น ๆ ในตอนที่พบผู้เล่นที่ใส่สกินสวยงามราคาแพงแต่ดันเล่นแย่ว่า “Have skin but no skill หรือ สกิลไม่มีเลย สกินสวยซะเปล่า ”
แต่อย่างไรก็ตาม การที่ไม่ได้ใส่หรือซื้อสกินที่ออกมาใหม่ในเกม ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้เล่นไม่ได้รู้สึกสนใจ หรือคิดว่าแฟชั่นไม่ได้จำเป็นอะไรต่อการเล่นของเขาขนาดนั้น ก็เหมือนในชีวิตจริงที่บางครั้ง มีแฟชั่นคอลเลคชั่นใหม่ๆออกมาแล้ว บางคนก็ไม่ได้รู้สึกว่าตนต้องตามแฟชั่น แต่คิดว่าก็ใส่เท่าที่มีแล้วกัน
Veres: Kimono Skin สุ่มราคาประมาณ 4000 คูปอง
3. สกินบอกฐานะ เป็นการเพิ่มบารมีแก่ผู้เล่น โดยในเกมที่จะยกตัวอย่างมาก็คือเกม ROV ที่มีสกินมากมาย แบบที่วางขายทั่วไปก็จะเป็นหลักร้อยถึงหลักพันต้นๆ แต่เกมนี้มักจะมีสกินระดับสูงออกใหม่ที่ไม่ใช่ว่ามีเงินก็ซื้อได้เลย แต่ยังต้องใช้ดวงในการสุ่ม ซึ่งยากมากๆ ทำให้หลายๆคนถอดใจเนื่องจากไม่รู้มันจะไปจบที่กี่บาท ผู้เล่นบางคนจึงมักจะโวยกับทางเกมอยู่ตลอดว่า อยากให้กำหนดราคาขายมาเลยว่าเท่าไหร่ จะได้ตัดสินใจได้ว่าตัวเองซื้อไหวไหม ดีกว่าไปสุ่มด้วยจำนวนเงินที่ไม่รู้จะไปจบที่เท่าไหร่ แต่แน่นอนว่าการสุ่มคือการตลาดอย่างนึง เป็นการขายให้แก่ผู้เล่นที่สามารถซื้อไหว อาจแลกมาด้วยเงินที่มากหน่อย แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความรู้สึก “พิเศษ” ทำให้บางคนอดใจไม่ไหวที่จะเป็นคนส่วนน้อยที่สามารถครอบครองสกินสวย ๆ เหนือผู้เล่นคนอื่น ๆ ซึ่งเรามองว่าการตลาดแบบนี้คล้ายกับกลยุทธ์ที่แบรนด์ใหญ่หรือแบรนด์เนมอย่าง Hermès ใช้ในการดึงดูดลูกค้า ที่ว่า ไม่ใช่แค่รวยก็สามารถซื้อกระเป๋าเบอร์กิ้น(Birkin)ชื่อดังที่ใครๆก็อยากได้ได้ แต่ต้องทำยอดก่อน โดยการซื้ออย่างอื่นก่อนที่จะได้กระเป๋า ซึ่งแบบนี้มันเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้านั้นหรือของสกินนั้นนั่นเอง
กล่าวโดยสรุปคือแม้สกินในเกมจะไม่ได้มีผลต่อความเก่งของทั้งตัวผู้เล่นและตัวละครในเกม แต่ผู้เล่นจำนวนมากก็ยังเลือกซื้อสกินอยู่ดี นั่นเพราะสกินที่จับจ่ายใช้สอยในเกม ไม่เพียงแต่มีผลต่อความรู้สึกของผู้เล่น แต่ยังทั้งก่อให้เกิดความรู้สึกเติมเต็ม ความภูมิใจ และยังสร้างบารมีให้กับผู้เล่นอีกด้วย สกินในเกมยังเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้แต่งตัวตามที่ชอบและตามที่โดนใจโดยไม่ต้องคิดมาก หรือถูกยึดติดกับกรอบอะไรมากเท่าการแต่งกายในชีวิตประจำวันทั่วไป และไม่ว่าเพศไหนก็สามารถเลือกใช้สกินที่เป็นแฟชั่นสวยงามได้ไม่จำกัดเพศ โดยไม่ถูกตัดสินจากสายตาของคนอื่น
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in