ผู้เขียน: Beaut S.
*บทความนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์
หนังคัลท์สุดคลาสสิกจากปี 70s อย่าง ‘Suspiria’ กำกับโดยผู้กำกับชาวอิตาเลียนอย่าง Dario Argento บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวชื่อ ซูซี บานเนียน นักบัลเลต์จากอเมริกาผู้ที่เดินทางไปตามหาความฝันถึงเยอรมนีเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนสอนบัลเลต์อันเลื่องชื่อ ในขณะเดียวกัน เธอสัมผัสได้ถึงลางร้ายและเหตุการณ์แปลก ๆ ที่เธอต้องเผชิญในระหว่างที่เธออาศัยอยู่ในสถาบันแห่งนี้ ความใคร่รู้และการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดนำเธอไปสู่คำตอบที่น่าสะพรึงกลัว การดำเนินเรื่องของหนังพาผู้ชมร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมกับซูซี ท้ายที่สุดเราจึงได้รู้ว่าประวัติและชื่อเสียงอันยาวนานของสถาบันมาจากการสืบทอดอำนาจของแม่มดในหมู่ผู้บริหารโรงเรียน พิธีบวงสรวงและเหตุการณ์นองเลือดที่ซูซีได้ประสบพบเจอล้วนเกิดขึ้นเพื่อคงไว้ถึงการมีอยู่และประคองอำนาจของผู้คนที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันตลอดหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากมุมมองเรื่องแม่มด ในหลาย ๆ ฉาก หนังได้ผูกแนวความคิดที่มาก่อนกาลอย่างการร่วมมือกันของผู้หญิงและสร้างพลังอำนาจให้กับพวกเธอ (Women Empowerment) โดยตัดขาดอย่างสิ้นเชิงจากการช่วยเหลือของตัวละครชาย หากแต่ว่าข้อสังเกตเรื่องแม่มดและการสร้างทัศนคติใหม่ ๆ ต่อตัวละครหญิงในโลกภาพยนตร์จะสะท้อนให้เห็นถึงสังคมเราในความเป็นจริงอย่างไรบ้าง มาร่วมสำรวจไปพร้อมกัน
Suspiria นับเป็นผลงานหนังสยองขวัญที่สำคัญในการก้าวข้ามขนบเดิม ๆ เพื่อสร้างมิติให้ตัวละครหญิงซึ่งมักถูกฆาตรกรรมหรือแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอ หากพิจารณารันไทม์ของหนังตั้งแต่ต้นยันจบ ผู้ชมจะสังเกตได้ว่าตัวละครที่เป็นกุญแจหลักของเรื่องล้วนสวมบทบาทโดยผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นฮีโร่ (ซูซี) ตัวร้าย (ครูในโรงเรียนและแม่มด) หรือเหยื่อที่ถึงแก่ชีวิต โดยตัวละครผู้ชายแทบไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการขับเคลื่อนการดำเนินเรื่องในหนังเลย จุดนี้สร้างความแตกต่างให้กับหนังในแง่ของการทำลายขนบเก่าในโลกภาพยนตร์ที่มักนำเสนอผู้หญิงออกมาในมิติเดียวหรือวาดตัวละครหญิงให้มีฝีมือความสามารถด้อยกว่าตัวละครชาย หนังเผยให้เห็นถึงความตื้นลึกหนาบางของการเป็นมนุษย์ที่มีทั้งด้านดี ชั่วแข็งแกร่ง หรือเปราะบางผ่านตัวละครหญิงทั้งหมด ท้ายที่สุดการเลือกที่จะมอบความหลากหลายในบทบาทผ่านตัวละครหญิงทำให้เรามองย้อนกลับมายังความเป็นจริงได้ว่าผู้หญิงไม่จำเป็นที่จะต้องมีด้านเดียวเสมอไป หากแต่ว่ามีความซับซ้อนทางอารมณ์และนิสัยใจคอได้อย่างมนุษย์ทั่วไปที่เราพบเจอในสังคม
นอกเหนือจากนี้ หนังยังแสดงให้เห็นถึงความแน่นแฟ้นและมิตรภาพระหว่างตัวละครหญิงที่ช่วยเหลือกันเพื่อจุดประสงค์ในการเอาชีวิตรอด เราจะเห็นว่าในทุก ๆ ขณะที่ซูซีเริ่มเข้าใกล้ความลับที่ซุกซ่อนไว้ในสถาบันนี้ขึ้นอีกก้าว เธอนั้นได้รับรู้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเพื่อนของเธอ (แพท) ซึ่งเพื่อนของเธอก็ได้ทราบข้อมูลนี้จากเพื่อนคนก่อนที่เป็นผู้หญิงเช่นกัน การถ่ายทอดความรู้และเรื่องราวที่พวกเธอเคยรับรู้ให้กันและกันเพื่อที่อีกคนจะได้นำเป็นเสาะหาความลับต่อคลับคล้ายคลับคลากับสถานการณ์เวลาผู้หญิงให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกัน ไม่ได้แข่งขันหรือแก่งแย่งชิงดีกันเสมอไป
ปฎิเสธไม่ได้ว่าการที่ตัวละครแม่มดเริ่มขยับเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สยองขวัญ ความคิดเห็นของผู้ชมแตกออกเป็นหลายเสียง การออกล่าและทำลายชีวิตทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ในธรรมเนียมของแม่มดนั้น บ้างก็มองว่าเป็นการนำเสนอตัวละครหญิงที่ไม่ดีในเชิงศีลธรรมและลดทอนคุณค่าของผู้หญิงไปเป็นเพียงตัวแทนของสัญลักษณ์ความน่ากลัว บ้างก็มองว่าเป็นการคืนพลังและอำนาจให้กับผู้หญิงที่ถูกทำให้บิดเบี้ยวจากสภาพแวดล้อมสังคมชายเป็นใหญ่ อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของแม่มดในหนังมักถูกเล่าออกมาโดยสื่อความหมายว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกนอกคอกและควรที่จะถูก ‘ล่า’ ประนาม และกำจัดทิ้งให้สิ้นซากเพื่อหวนคืนสู่ความสงบเรียบร้อยในสังคม
ในการศึกษาวัฒนธรรมแม่มด นักวิชาการบางท่านลงความเห็นว่าแม่มดนั้นมักเป็นผู้หญิงที่ไม่มีโอกาสในการแสดงอำนาจและตัวตนในพื้นที่ที่ถูกครอบคลุมโดยผู้ชาย เช่น การต่อสู้ใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ หรือมีเสียงมีปากในชั้นศาล หนึ่งฉากสำคัญใน Suspiria ที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนของแม่มดในมุมมองของการครอบงำจากระบบชายเป็นใหญ่คือตอนที่ซูซีเดินทางไปซักไซร้ถึงเบื้องหลังของสถาบันจากผู้ชายคนหนึ่ง เขาให้คำบอกเล่ากับเธอว่าโรงเรียนสอนบัลเลต์ที่เธอกำลังศึกษาอยู่นั้นเริ่มก่อร่างสร้างตัวโดย เฮเลนา มาร์คอส หรือ Black Queen ซึ่งณ เวลานั้น ชาวบ้านลงความเห็นกันว่าเธอเป็นแม่มด เดิมทีเฮเลนาสร้างสถาบันแห่งนี้ขึ้นมาโดยสอนทั้งเรื่องการเต้นและศาสตร์ลึกลับ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเธอก็ได้ยกเลิกการศึกษาตำราลี้ลับและเปลี่ยนไปเป็นโรงเรียนสอนบัลเลต์อย่างเต็มตัว
“แล้วการเป็นแม่มดนี่หมายถึงยังไงล่ะ ?" ซูซีถามผู้ชายคนนั้นต่อด้วยความใคร่รู้
เขาตอบเธออย่างมั่นใจว่าการมีอยู่ของแม่มดนั้นไม่มีอยู่จริงและความเชื่อเกี่ยวกับเวทย์มนตร์ ศาสตร์ต่าง ๆ และคาถาของแม่มดนั้นล้วนเป็นเรื่องงมงายที่ก่อร่างมาจากจิตที่ป่วยและไม่สมบูรณ์ ตรงนี้เราสามารถตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของระบอบอำนาจในสังคมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ได้ ในโลกที่ระบบและธรรมเนียมปฏิบัติในสังคมเอื้ออำนวยให้เพศชายได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า แม่มดในฐานะตัวแทนของกลุ่มต่อต้านหรือพวก ‘หัวรุนแรง’ ทางการเมืองอาจเข้ามาเพื่อเปลี่ยนสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคมและทำให้พวกเขาเสียผลประโยชน์จากระบบที่เป็นผู้ได้มาโดยตลอด หากพูดถึงบริบทในหนัง การที่ผู้ชายผูกติดแม่มดไว้กับความป่วยทางด้านจิตใจอาจมองได้ว่าเขาไม่ยอมรับแนวคิดที่ผู้หญิงจะสามารถมีอำนาจ ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามที่แม่มดเป็นหรือกระทำอยู่ล้วนเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติและสมควรที่จะต้องรักษาหรือบำบัดให้กลับมาเป็น ‘ปกติ’ อีกครั้ง
เมื่อหนังดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย ซูซีได้ค้นพบความเป็นจริงถึงเบื้องหลังอันน่าสะพรึงของสถาบันของเธอ เธอได้เดินเข้าไปยังประตูลับในห้องทำงานของครูใหญ่ซึ่งนำเธอไปยังโถงทางเดินและห้องใต้ดินที่บอร์ดบริหารของโรงเรียนกำลังรวมหัวกันอยู่ในเวลาเดียวกัน เธอแอบมองโดยไม่ให้พวกเขารู้ตัวและสิ่งที่เธอเห็นคือพวกเขากำลังทำพิธีเพื่อถ่ายทอดพลังจากเฮเลนาในการจบชีวิตของเธอ เพราะเธอเป็นคนเดียวที่เข้าใกล้ความลับที่พวกเขาได้ปิดบังมาโดยตลอด ในฉากนี้ เราได้เห็นอีกหนึ่งลักษณะของแม่มดในแง่ที่ว่าพลังของพวกเธอนั้นได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยตัวแทนของ ‘แม่’ หรือในที่นี่ก็คือตัวเฮเลนานั่นเอง สิ่งที่น่าสนใจคือหนังได้สลับบทบาทของหัวหน้าครอบครัวซึ่งมักถูกจัดวางให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้ชาย แต่ในบริบทนี้หน้าที่ตรงนั้นกลับดูแลโดยผู้หญิง สายสัมพันธ์ของแม่มดในครอบครัวจึงกลายเป็นว่าพวกเธอมีแม่เป็นผู้นำทาง ดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกและสืบทอดมรดกของตระกูลให้คงอยู่สืบไป
หากพูดถึงจุดประสงค์หลักของแม่มด พวกเธอมักประคองพลังและอำนาจไว้ผ่านปริมาณของทรัพย์สินที่ได้สะสมกันมาอย่างเป็นระบบและกว้างขวางจากรุ่นสู่รุ่นในหมู่สายเลือดครอบครัวของพวกเธอเอง เฮเลนาในที่นี้อาจมองได้ว่าเป็น ‘แม่ใหญ่’ คนแรกของบรรพบุรุษที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของครอบครัว การส่งต่อพลังของเฮเลนาให้กับลูกหลานของเธอเปรียบได้กับโลกคู่ขนานที่ผู้หญิงมีภาระหน้าที่ในการหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งแตกต่างจากขนบธรรมเนียมในโลกความเป็นจริงที่ผู้ชายมักเป็นคนรับผิดชอบในส่วนนั้น ในที่นี้ผู้หญิงถูกเซ็ทให้มีหน้าที่ที่สำคัญที่สุดในเรื่อง หนังเผยให้เห็นถึงคุณสมบัติของแม่มดที่มีผู้หญิงเป็นผู้ปกครองซึ่งสามารถมองได้ว่าเป็นการเน้นยํ้าแนวความคิดที่แม่มดมักเป็นกลุ่มตัวแทนของผู้ต่อต้านระบบและจารีตของสังคมที่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมา
ท้ายที่สุดแล้ว นี่เป็นเพียงข้อสังเกตส่วนตัวที่ผู้เขียนได้ตกผลึกจากการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เรื่องราวลี้ลับของแม่มดนั้นยังมีอีกหลากหลายมิติและความเชื่อรอให้ผู้อ่านได้ไปไขว่คว้ากัน นอกจากแนวคิดในเชิงวิพากษณ์วิจารณ์สังคมแล้ว หนังยังมีความสนุกและตื่นเต้นโดยตลอด เลยอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านได้ชมหนังเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ขอให้ได้รับความอิ่มเอมใจในการรับชมภาพยนตร์นะคะ :-)
แหล่งอ้างอิง
Bever, Edward. “Witchcraft, Female Aggression, and Power in the Early Modern Community.” Journal of Social History, vol. 35, no. 4, 2f002, pp. 955–88. JSTOR, http://www.jstor.org/stable/3790618.
Kelly, Kim. “Are Witches the Ultimate Feminists?” The Guardian, 5 July 2017, www.theguardian.com/books/2017/jul/05/witches-feminism-books-kristin-j-sollee.
Landy, Marcia. “In The Name of the Mother: From Fascist Melodrama to the Maternal Horrific in the Films of Dario Argento.” Italian Motherhood on Screen, Springer International Publishing, 2017, pp. 21–44. https://doi.org/10.1007/978-3-319-56675-7_2.
Mattson, Kelcie. “Fairy Tales and Final Girls: The Female-Centric Suspiria (Women in Horror Series).” Medium, 30 May 2016, https://medium.com/@wewillbethestars/fairy-tales-and-final-girls-the-female-centric-suspiria-women-in-horror-series-63bc16ab1f7f.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in