เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ติ่งให้ไกล ไปเรียนให้ถึงอังกฤษAki_Kaze
มาเป็น CSI กันเถิด ตอนที่ 5: รอยรองเท้าที่ไม่ใช่รอยเท้า
  • มาเป็น CSI กันเถิด ตอนที่ 5: รอยรองเท้าที่ไม่ใช่รอยเท้า

    วันนี้เป็นอาจารย์อีกท่านมาสอน อาจารย์ทำงานด้านการตรวจสอบรอยรองเท้ามานาน เขาเล่าให้ฟังว่าตอนย้ายไปอยู่เมืองติดทะเลใหม่ๆ แทนที่จะเดินชมวิว ชมทะเล เขากลับเดินมองรอยเท้า รอยรองเท้าตัวเองเพื่อศึกษา รวมถึงเวลาไปเลือกซื้อรองเท้า สิ่งที่แรกที่เขามองไม่ใช่สีสัน หรือลดลายบนรองเท้า แต่เป็นการพลิกดูรอยที่พื้นรองเท้าว่าเป็นแบบไหน ถ้ารู้สึกคุ้นๆ เหมือนเคยเห็นมาก่อนตอนทำงานจะเลี่ยงที่จะไม่ซื้อ (ฮ่าๆ)
    สิ่งแรกที่อาจารย์พูดถึงเลยคือคำว่า รอยเท้า footprint และ รอยรองเท้า footwear mark ความหมายตามตัวนี่แหละค่ะแต่คนมักเรียกผิดกันเพราะเห็นว่ามันมี fingerprint มันควรมี footprint ซึ่งตัว footprint มันคือลายเท้าแบบเท้าเปล่า ผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจสอบจะเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ตรวจสอบลายนิ้วมือค่ะ รอยเท้ามันตรวจสอบกันอย่างไร?
    นี่เป็นรอยเท้าเปื้อนเลือดในที่เกิดเหตุค่ะ เขาจะวัดขนาดตามภาพเลย




    จากนั้นก็มาวัดขนาดรอยเท้าของผู้ต้องสงสัยที่มี





    จากนั้นก็นำมาวิเคราะห์เพื่อหาความเป็นไปได้ จะเห็นได้ว่ารอยที่สองนั้นใกล้เคียงกับรอยบนพรม
    (ผู้ต้องสงสัยมีสามคนแต่ออยล์ลงรูปไปแค่สองนะคะ อีกรอยที่เขานำไปเทียบเป็นรอยเท้าผู้หญิง)


    อย่างที่บอกไปคนตรวจสอบคือผู้เชี่ยวชาญที่ดูเรื่องรอยนิ้วมือซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องของเราในวันนี้

    สำหรับ footwear marks มันครอบคลุมถึงรอยรองเท้าทุกประเภทตั้งแต่รองเท้าแตะ ผ้าใบ กระทั่งส้นสูง โดยรอยรองเท้านั้นสามารถนำไปใช้ในการตัดผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือระบุได้ว่ามีคนร้ายจำนวนกี่คน ที่สำคัญคือเราไม่จำเป็นต้องเห็นรอยรองเท้าเต็มๆ แค่บางส่วนก็สามารถจับคู่ได้แล้ว ซึ่งเป็นการจับคู่กับรองเท้าเท่านั้นไม่ใช่จับคู่กับผู้ต้องสงสัย

    สิ่งที่รอยรองเท้าจะบอกเราคือรุ่น ยี่ห้อของรองเท้าที่คนร้ายใช้ ส่วนการเอาไปเชื่อมโยงกับผู้ต้องสงสัยเป็นหน้าที่ของฝ่ายสืบสวนที่ต้องสืบต่อไป

    อาจารย์เล่าให้ฟังว่ามีเด็กนักเรียนถามเกี่ยวกับ How to get away with murder แล้วเด็กก็ได้ข้อสรุปว่าเขาจะต้องใส่รองเท้าใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าสัก 2 เบอร์ ลายรองเท้าก็จะสาวมาไม่ถึงเขาละ อาจารย์รีบบอกเลยว่า “มันงี่เง่ามาก รอยเหยียบกับน้ำหนักของการลงเท้ามันจะบอกได้ว่าไม่ใช่คนที่ใส่รองเท้าไซส์นั้น ทางที่ดีควรใส่ถึงเท้าทับรองเท้า และผมควรหุบปากได้แล้ว” ฮ่าๆๆ

    วิธีการเก็บรอยรองเท้า
    ใช้เทคนิคที่คล้ายกับการเก็บลายนิ้วมือหากรอยที่ว่าเป็นรอยเปียก รอยมันๆ
    อีกวิธีคือ ESLA (ElectroStatic Lifting Apparatus) ใช้สำหรับเก็บรอยรองเท้าแห้งๆ มีฝุ่น เช่นรอยเหยียบบนกระดาษหนังสือพิมพ์ (เดี๋ยวมีภาพและการใช้งานเครื่องนี้ให้ดูที่ด้านล่างนะคะ)
    ใช้วิธีถ่ายภาพเป็นหลักฐานหากเป็นรอยรองเท้าที่ไม่สามารถเก็บมาได้ (เช่นรอยบนเลือด รอยบนดินโคลน)

    การเปรียบเทียบรอยรองเท้าใช้หลักการสามอย่างด้วยกัน
    1. การสังเกต
    2. การจำลองรอยรองเท้าขึ้นมาใหม่ (ลองมาเทสต์ดูว่าต้องทำยังไงถึงทิ้งรอยแบบนั้นไว้ได้ เช่นถีบประตูแบบไหน แรงขนาดไหน เป็นต้น)
    3. การอนุมาน (การตีความ)
    รองเท้าคู่นั้นเท่านั้นที่ทิ้งรอยไว้

    ปัจจัยหลักในการตรวจสอบรอยรองเท้า
    อย่างแรกคือ Class Characteristic
    รองเท้าแต่ละยี่ห้อจะมีพื้นที่เป็นเอกลักษณ์ เราดูที่ลวดลายและการจัดเรียง (ลองพลิกรองเท้าตัวเองดูได้ค่ะว่าลวดลายเป็นยังไง) และดูขนาดกับช่องว่างของลายนั้นๆ (ไม่ใช่ไซส์รองเท้านะคะ การตรวจสอบรอยรองเท้าจะไม่ได้สนใจไซส์รองเท้ายกเว้นบนรอยมีบอกไว้อย่างชัดเจน) ขนาดของลายพื้นรองเท้า ถ้าหากไซส์ต่างกันอาจทำให้ระยะห่างของลายหรือรูปแบบต่างกันได้

    อย่างที่สองคือ Identifying Characteristic
    มีสองอย่างที่ดู
    อันที่หนึ่งคือการดูรอยสึกกร่อนของรองเท้าค่ะ มันจะเห็นได้ชัดแต่ไม่เป็นเอกลักษณ์ รอยนี้เกิดจากการใส่รองเท้าคู่นั้นไปนานๆ สังเกตได้ว่าพอเราใส่บ่อยเข้าพื้นรองเท้าจะเปลี่ยนไป ลายจะเริ่มจางลง
    อันที่สองคือรอยเสียหาย รอยขาด รอยบาดพวกนี้จะสร้างเอกลักษณ์ของรองเท้าคู่นั้นขึ้นมา (อาจจะเกิดจากการไปเหยียบตะปู หรือเหยียบหินคมๆ ที่ทำให้พื้นรองเท้าเป็นรอย) แต่เราต้องเช็คด้วยว่ารอยนั้นมาจากความเสียหายจริง ไม่ใช่เป็นข้อผิดพลาดจากโรงงาน

    เข้าสู่ช่วงความสนุก อย่างแรกที่อาจารย์พาไปคือการเก็บรอยรองเท้าจากพื้นทราย มีกระบะทรายมาให้คนละถาด มีส่วนหนึ่งของรอยรองเท้าอยู่บนนั้น แล้วก็มีผงซึ่งอาจารย์บอกมันเป็นแบบเดียวกันกับที่ใช้พิมพ์ฟัน
    อย่างแรกที่ต้องทำคือผสมน้ำกับเจ้าผงนี่แหละค่ะ ต้องไม่ให้แห้งเกินหรือเหลวเกิน อาจารย์ทำให้ดูก่อนแล้วทุกคนถึงทำตาม ก็นั่งขยำๆ ผงในซองกับน้ำไปเรื่อยๆ มีอาจารย์มาช่วยดูด้วยเพราะถ้าพลาดเทไปแล้วแต่ยังใช้ไม่ได้มันจะเสียเลย หลังจากเติมน้ำไป เติมน้ำมา ก็เทราดลงบนรอยรองเท้าโดยที่เราจะให้ผงที่ผสมเสร็จแล้วกระจายตัวไปบนรอย ใช้มือจิ้มๆ เพื่อเกลี่ย จากนั้นก็นำไปตากทิ้งไว้ ความจริงแล้วต้องใช้เวลากันเป็นวัน สองวัน แต่เนื่องจากเวลามีจำกัด เลยทิ้งไว้แค่ไม่กี่ชั่วโมง

    เดี๋ยวเราจะกลับมาดูว่าออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ตอนนี้กลับขึ้นแล็บก่อน มาเก็บรอยรองเท้ากันดีกว่า
    อย่างที่เคยแนะนำไปด้านบนเกี่ยวกับเครื่อง ESLA ซึ่งคนที่ใส่ pacemaker ไม่ควรเข้าใกล้ตอนเครื่องนี้ทำงานค่ะ มันอาจส่งคลื่นไปรบกวนการทำงานของเครื่อง pacemaker ได้ (ในห้องมีคนใส่เขาก็เลยต้องยืนห่างๆ)

    มันเป็นการเก็บรอยรองเท้าบนกระดาษหนังสือพิมพ์ ที่ถ้ามองด้วยตาเปล่า หรือผ่านแสงมันจะเห็นลางๆ การใช้งานเครื่อง ESLA ไม่ยากเลย

    วางกระดาษหนังสือพิมพ์ที่มีรอยรองเท้าไว้บนพื้น (ขาโต๊ะขาเก้าอี้มันเป็นเหล็ก อาจารย์บอกให้อยู่ห่างๆ ไว้) ทับด้วยกระดาษด้านนึงเป็นสีดำ อีกด้านเป็นสีเงิน คว่ำเอาด้านดำลงบนพื้น (นึกชื่อกระดาษไม่ออกแต่รอยรองเท้ามันจะมาติดบนนี้น่ะค่ะ) จากนั้นเราก็นำเครื่อง ESLA มาวางโดยที่พลิกดูด้านหลังให้ฝั่งที่มีปุ่มเดียววางบนกระดาษ ฝั่งที่มีสองปุ่มให้รองด้วยแผ่นอัลลูมิเนียม ไม่ให้เครื่องแตะพื้น (ไม่แน่ใจว่าใช่อัลลูมิเนียมไหมแต่มันกันไม่ให้ไฟดูดนี่แหละค่ะ) แล้วเราก็เปิดเครื่อง ตอนนั้นห้ามแตะกระดาษเด็ดขาด (อาจารย์บอกผมเคยพลาดแตะกระดาษเลยได้สบถต่อหน้าเด็กเลย) เราใช้ม้วนกระดาษอื่นมารีดแผ่นให้เรียบ ให้เครื่องทำงานไม่กี่วินาทีก็ปิดได้แล้วค่ะ พอปิดเครื่องแล้วมันอาจจะยังดูดเราได้นิดหน่อยแต่ไม่อันตราย จากนั้นเราจะได้รอยรองเท้ามาอยู่บนกระดาษใบนั้น

    กลัวคนงงกับเครื่องมือและการจัดวางเลยไปหารูปมาเสริม



    พอลองทำอันนี้เสร็จ ต่อไปก็เก็บรอยรองเท้าบนกระจก ใช้หลักการเดียวกันกับตอนเก็บลายนิ้วมือเลย ได้ปัดผงกันอีกแล้ว โดยรอยร้องเท้าที่เก็บเป็นรอยของเราเอง แต่ก่อนอื่นต้องทำให้พื้นรองเท้าเปียกก่อนมันถึงไปติดรอยบนกระจกได้
    พอเราปัดจนเห็นรอยชัดขึ้นก็ใช้ Gel lifting (มีทั้งสีขาวและสีดำ ออยล์ใช้สีดำน่าจะเห็นรอยชัดกว่า) ดึงลายจากกระจกขึ้นมาแล้วเอาไปแปะบนแผ่นใส (Acetate) อีกที
    เราก็จะได้รูปตามภาพ...อากาศเข้าอย่างสนุกสนาน ฮ่าๆ (แผ่นใสมันสะท้อนทุกอย่างหมด นี่ต้องเอาผ้าดำคลุมไว้ให้มันไม่สะท้อน)



    เสร็จแล้วอาจารย์ก็ให้ลองเก็บลายรองเท้าของตัวเองโดยคราวนี้มันจะเห็นถึงความเสียหายบนรองเท้าหรือการเสื่อมสภาพได้ มันจะบอกได้อีกว่าตอนเราเดินมีพื้นรองเท้าส่วนไหนบ้างที่กระทบพื้น
    อาจารย์สาธิตให้ดูก่อน มันจะมีหมึกสำหรับรองเท้าเป็นแผ่นให้เราเหยียบ (รองเท้าไม่ได้เปื้อนอะไรมากมายนะคะ มันทำปฏิกิริยากับกระดาษอีกที) ตัวกระดาษที่เราจะไปเหยียบเพื่อประทับรอยรองเท้านั้นเป็นมีขาวทั้งสองด้าน แต่ผิวสัมผัสไม่เหมือนกัน
    ระหว่างที่อาจารย์สาธิตไปด้วยก็อธิบายไปด้วย อาจารย์บอกว่าให้เหยียบลงบนหมึกก่อน จากนั้นมาเหยียบบนกระดาษด้วยท่าทางเหมือนการเดินตามปกติ หากรอยที่ปรากฏเป็นสีเหลืองแสดงว่าคุณเหยียบผิดด้าน ให้ลองใหม่ (รอยอาจารย์เป็นสีเหลือง) ตอนนั้นยืนขำอาจารย์นานมาก อาจารย์บอกนี่เป็นตัวอย่างที่ผิด 5555555555 เสร็จแล้วลองใหม่ก็ได้รอยที่สวยงาม
    พอถึงตอนที่มาทำเองก็ถามอาจารย์ว่าต้องเหยียบบนกระดาษด้านไหน ด้านนึงมันจะมันๆ หนึบๆ อีกด้านจะแห้ง อาจารย์บอกด้านแห้ง พอมีคนเหยียบปุ๊บ รอยนี่เหลืองเชียว หัวเราะกันอีกรอบ
    แล้วก็ได้ภาพนี้มา



    แต่เราต้องนำลายนี้ไปเทียบกับตัวอย่างอื่นๆ เคยเห็นในซีรีส์ ในหนังใช่ไหมคะที่เขาเอาลายรองเท้ามาเทียบกับตัวอย่าง เราก็จะทำแบบนั้นเหมือนกันด้วยการไปถ่ายเอกสารใส่แผ่น Acetate แต่ต้องเป็น Acetate ที่เข้าเครื่องปริ๊นได้ และต้องเป็นปริ๊นเตอร์สำหรับแผ่นใสด้วย
    ทำให้ได้แผ่นนี้มา (ที่รอยเอียงเพราะเผื่อรอยมันใหญ่กว่าขนาดกระดาษ คือรอยอาจารย์ใหญ่กว่ากระดาษเลยต้องเอียง จริงๆ รอยตัวเองไม่ต้องเอียงก็ได้ ฮ่าๆ)



    เสร็จแล้วเรานำตัวอย่างแผ่นใสที่ได้ไปเทียบกับรอยที่อยู่บน gel-lifing เมื่อครู่จำได้ไหมคะ? สิ่งสำคัญคือรอยบนเจลมันกลับด้าน เราต้องกลับด้านแผ่นใสเพื่อเทียบ 


    และนี่ก็เป็นวิธีการเก็บลายรอยเท้าและการเทียบ

    ว่าแต่ยังจำรอยที่เราไปเก็บบนทรายได้ไหมเอ่ย?

    นี่คือสิ่งที่ได้ค่ะ 55555555



    คลาสต่อไปจะเป็นเรื่องของเหลวในร่างกาย...เก็บตัวอย่างเลือดกันค่ะ!

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in