ศิลปะของการปล่อยของ
author: kabasawa shion
translator: อาคิรา รัตนาภิรัต
เห็นชื่อหนังสือปุ๊บก็กดซื้อปั๊บ (อีกแล้ว) เพราะเรา struggle มาตลอดกับการรับข้อมูลเข้าไปในหัวแบบมหาศาลแต่ไม่สามารถถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นอะไรสักอย่างที่จับต้องได้
เราเคยรีวิวหนังสือเรื่อง
เทคนิคจำแบบไม่ต้องจำที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ ของผู้เขียนคนเดียวกันไปแล้ว หัวข้อหนึ่งในหนังสือบอกว่าการทำ
output เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้จำได้แม่นขึ้น เนื่องจากเป็นการทบทวนข้อมูลที่ input เข้ามา กระตุ้นให้สมองคิดว่าข้อมูลนี้เป็นเรื่องสำคัญ แล้วผู้เขียนก็ย้ำหลายรอบมากว่าต่อให้มี input มากแค่ไหน แต่ถ้าไม่มี output เลยก็ไม่มีประโยชน์
(แทงใจดำมนุษย์ input อย่างเรามาก)
สำหรับเล่มนี้จะเป็นการขยายความเกี่ยวกับการทำ output แบบเน้นๆ ซึ่งการทำ output ให้เหมาะสมไม่ได้มีประโยชน์ในแง่ของการช่วยจำเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีข้อดีอื่นๆ อีกเช่น สนุก ได้รับฟีดแบ็กมาพัฒนาตัวเอง ช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการยอมรับ ฯลฯ
เนื้อหาในเล่มประกอบด้วยวิธีการทำ output ในรูปแบบต่างๆ โดยแบ่งเป็น 80 หัวข้อย่อย จัดหมวดหมู่ได้เป็น 3 หมวดคือ พูด-เขียน-ทำ แต่ละหัวข้อย่อยอ่านแยกกันได้ อ่านง่าย มีสรุปสั้นๆ และภาพประกอบตลอดเล่ม สไตล์การเขียนก็เป็นเหมือนเล่มเทคนิคจำ คือเล่างานวิจัยประกอบเพื่ออธิบายว่าทำไมเราควรทำแบบนั้นแบบนี้ ทำแล้วจะดีกับสมองและร่างกายยังไง พร้อมอธิบายวิธีการสร้าง output แบบเป็นรูปธรรม เอาไปใช้จริงได้เลย
พูด
ผู้เขียนบอกว่าคนที่ไม่ถนัดทำ output ให้เริ่มจากการพูดก่อน หัวข้อย่อยในหมวดหมู่การพูดก็จะแนะนำเทคนิคการพูดโดยละเอียดตั้งแต่เลเวลพื้นฐานสุดๆ เช่นการทักทายสำหรับคนที่ไม่รู้จะเริ่มทักคนอื่นยังไง การแนะนำตัวควรเตรียมบทพูดด้วยข้อมูลอะไรบ้าง การพูดแสดงความคิดเห็นควรเรียบเรียงความคิดยังไง ใช้ภาษากายประกอบการพูดยังไง เทคนิคการชม การดุ การปฏิเสธ ถ้าต้องเถียงจะเถียงยังไงให้ไม่เกลียดขี้หน้ากัน ไปจนถึงเคล็ดลับการใช้เครื่องมือช่วยในการสื่อสาร ฯลฯ
หมวดนี้น่าจะครอบคลุมการพูดแทบจะทุกรูปแบบในชีวิตประจำวันแล้ว มีประโยชน์โดยเฉพาะกับคนวัยทำงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเยอะๆ แต่รู้สึกว่าตัวเองพูดไม่เก่ง เข้าสังคมไม่เป็น แต่ละหัวข้อแนะนำเทคนิคได้ละเอียด มีตัวอย่างเป็นชัดเจน ไม่ญี่ปุ่นจ๋า เอามาประยุกต์ใช้ได้ง่ายอยู่ (ถึงคนเขียนจะเขียนโดย based on นิสัยคนญี่ปุ่นเป็นหลักก็ตาม)
เขียน
ขั้นต่อมาของ output คือการเขียน การเขียนทำให้เกิดการจำและการพัฒนาได้ดีกว่าการพูด โดยเฉพาะการเขียนด้วยมือจะช่วยให้จำได้ดีกว่าพิมพ์ในคอม แต่ผู้เขียนก็บอกไว้ว่าสองอย่างนี้มีประโยชน์กันคนละแบบ ควรใช้เสริมกัน การเขียนลงกระดาษดีสำหรับการทำ brainstorm หรือหาไอเดียใหม่ๆ ส่วนการพิมพ์ใส่คอมดีสำหรับการจัดระเบียบข้อมูลหลังจากที่ได้ไอเดียแล้ว
หมวดการเขียนจะเน้นไปที่วิธีการหาไอเดีย รวบรวมข้อมูล อ้างอิงข้อมูล การจัดระเบียบข้อมูลในหัว เทคนิคการเขียนในรูปแบบต่างๆ ไปจนถึงการสรุปความ ทำสไลด์พรีเซนท์ วิธีการเขียนให้จบและได้ผลงานคุณภาพดี โดยส่วนตัวเราชอบหมวดนี้มากเพราะเป็นมนุษย์ที่ชอบสื่อสารด้วยการเขียนแต่ก็เขียนไม่เก่งและเขียนอะไรไม่ค่อยจะจบ 5555
ถ้าใครสนใจเรื่องการเขียน ท้ายเล่มจะมีหมวดพิเศษสำหรับคนที่ไม่รู้จะเริ่มต้นทำ output ยังไง เนื้อหาว่าด้วยเทคนิคการเขียนไดอารี เขียนรีวิว เขียนบล็อก มีเทมเพลทมาให้ลองไปฝึกเขียนด้วย สะดวกมากๆ เหมาะสำหรับคนที่เรียบเรียงความคิดเวลาเขียนไม่ถูก
ทำ
การทำต่างจากการเขียนยังไง ตัวอย่างในเล่มคือเราอ่านหนังสือแล้วรู้ว่าการออกกำลังกายดีต่อสุขภาพ เราเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอ่านมาเขียนลงบล็อก ถือเป็น output ประเภทการเขียน แต่ถ้าเราไม่ไปออกกำลังกายจริงๆ ก็ถือว่าไม่มี output ประเภทการทำ สุขภาพเราก็ไม่มีทางดีขึ้นได้
หมวดการทำจะนำเสนอว่าอะไรบ้างที่เป็นการทำ ซึ่งบางอย่างเราก็คิดไม่ถึงว่าเป็น output เช่น การยิ้ม การร้องไห้ การจัดการความโกรธ รวมถึงวิธีการสร้างแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นลงมือทำ ไม่ให้ตัวเองผัดผ่อนไปเรื่อยๆ
สรุป
เป็นหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกฮึกเหิมอยากเขียนมาก! เรารู้สึกว่าแนวคิดหลายๆ อย่างในส่วนของการเขียนค่อนข้างสอดคล้องกับแนวคิดการทำบูโจ (bullet journal) ซึ่งเราก็เคยลองทำแล้วแต่ทำไม่รอด เพราะความที่ชอบ journal สวยๆ แต่ฝีมือตัวเองห่วยแตกเลยไม่อยากทำ 5555 ปีนี้เลยจะลองทำบูโจใน goodnotes ตามสไตล์มนุษย์ดิจิทัล หวังว่าจะรอดจนจบปี
สรุปสั้นๆ คือแนวคิดทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามหลักหัวใจนักปราชญ์ "สุ จิ ปุ ลิ" รับข้อมูลเข้ามาแล้วก็ต้องพิจารณา หาข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจ สุดท้ายพอประมวลผลเสร็จแล้วก็ต้องมี output ออกมาถึงจะเป็นการเรียนรู้ที่สมบูรณ์
(ผู้เขียนมีหนังสือเรื่อง input ออกมาหลังจากเล่ม output ด้วย ไม่แน่ใจว่าสนพ.แซนด์คล็อคจะเอามาแปลรึเปล่า ถ้ามีเวลาเราอาจจะไปอ่านเวอร์ชั่นญี่ปุ่นก่อน)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in