สวัสดีค่า กลับมาพบกันอีกแล้วในรอบล้านปีแสง กับกระทู้ยาวโลกเดือด
คราวนี้ก็เน้นยาวๆเวิ่นๆกันไปเหมือนเดิม ไปดู Lobter มาแล้ว Stunning กับหลายประเด็น เลยขอถอดมาเขียนยาวๆหน่อย
อาจจะตีความแตกต่างจากคนอื่นๆหน่อย แต่ถือว่าเป็นอีกแง่มุมแล้วกันนะคะ
###
เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญที่เมื่อสัปดาห์ก่อน อยู่ดีๆก็คิดถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่เคยอ่านตอนเด็ก ใน "ขายหัวเราะ" ช่วงกลางเล่ม ถ้าใครพอเกิดทัน และพอสังเกตุจะพบว่า ไอ้บรรดาเรื่องสั้นที่ได้ลงหน้ากลางของขายหัวเราะแต่ละเรื่อง มันพีคและสนุกมากๆหลายเรื่อง บางเรื่องมีคนเอามาดัดแปลงทำเป็นหนังด้วย ซึ่งไม่รู้ว่าเขาได้ค่าลิขสิทธิ์กันบ้างไหม แต่เราจำได้ว่าเรื่องสั้นที่ลงสมัยนั้นมันดีงามมากจริงๆ
และหนึ่งในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่จำเนื้อหารวมๆได้ค่อนข้างแม่น เพราะชอบไอเดียมาก แต่จำรายละเอียดมากไม่ค่อยได้ คือเรื่อง
"โรงพัก"
เรื่องราวของ "โรงพัก" ถูกเซตขึ้นในโลกอนาคต ในวันที่โลกมีการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะตามอายุและมีการจำกัดจำนวนสมาชิกครอบครัว โดยสมาชิกครอบครัวที่เป็น "ผู้สูงอายุ" จะถูกส่งไปที่ "โรงพัก" หรือจริงๆแล้วมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "โรงพักผ่อน" เพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุขและสะดวกสบาย รัฐบาลมีการโฆษณาถึง "โรงพักผ่อน" ไว้ว่า เหมือนเป็นแดนสวรรค์ที่หลายคนตั้งเป้าไว้ว่า เมื่ออายุถึงช่วงเกณฑ์แล้ว จะได้เข้าไปอยู่ที่โรงพักผ่อน จะได้ใช้ชีวิตอย่างราชา สะดวกสบาย แม้แต่ตัวลูกหลานเอง เมื่อส่งพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายเข้าไปสู่โรงพักผ่อนแล้ว พวกเขาก็เบาใจ และสบายใจที่ตัวเองได้มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพ่อแม่แล้ว แต่ทว่าความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ผู้สูงอายุที่เข้าสู่โรงพักผ่อน จะถูกฆ่าเหมือนเข้าไปในโรงฆ่าสัตว์ และร่างกาย รวมทั้งอวัยวะต่างๆจะถูกนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกมาให้ประชาชนภายนอกได้ใช้บริโภคต่อ (เราจำเนื้อหาส่วนนี้ไม่ค่อยได้ว่า ส่วนที่เหลือของร่างกายถูกนำมาทำเป็นอะไรบ้าง)
ส่วนที่เฉียบขาดของเรื่องสั้นนี้ คือ พล็อตเรื่องแนวหักมุม สืบสวนสอบสวน และอิงวิทยาศาสตร์ ไซไฟโลกอนาคต ซึ่งเมื่อเราได้อ่านเมื่อสิบกว่าปีก่อน เลยรู้สึกว่ามันเจ๋งมากๆ และสิ่งที่สะท้อนออกมาจากเรื่องสั้นนั้นก็เกิดขึ้นในในโลกปัจจุบันหลายๆอย่าง ทั้งสังคมครอบครัวแบบเดี่ยว การตัดขาดจากจากครอบครัวพ่อแม่ หรือการมีบ้านพักคนชราเพิ่มมากขึ้น เพราะประชากรผู้สูงอายุถูกส่งไปใช้ชีวิตบั้นปลายในบ้านพักคนชรามากขึ้น
ทั้งพวกที่เป็นโสดไม่มีคนดูแลยันแก่ และพวกที่ลูกหลานส่งไปเพราะไม่สะดวกจะดูแล
(ใครหาเรื่องสั้นเรื่องนี้มายืนยันได้ จะเป็นพระคุณมาก)
ที่จริงแล้ว โลกและเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน The Lobster ก็ชวนให้เราคิดถึงเรื่อง "โรงพัก" ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ ทั้งเรื่องการที่ต้องถูกส่งเข้าไปภายในโรงแรมด้วยเงื่อนไขว่าคนไร้คู่เป็นพวกด้อยคุณภาพบนบรรทัดฐานสังคมของโลกในสมัยนั้น พวกเขาจึงถูกมอบทางเลือกให้ว่า จะหาคู่ให้ได้ หรือจะกลายเป็นสัตว์แทน
ที่จริงหนังเองไม่ได้กำหนดยุคสมัยหรือพูดถึงแบบชัดๆว่า โลกที่ดำเนินเรื่องในหนังเกิดขึ้นในยุคไหน หรือเป็นโลกคู่ขนานกับโลกปัจจุบันของเรา แต่หนังก็ได้พยายามสะท้อนค่านิยมทางสังคมรวมทั้งกฏระเบียบและวิธีการจัดการประชากรของโลกปัจจุบันไว้หลายส่วน
ในโลกแห่งความจริง ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนเคยกำหนดห้ามครอบครัวชาวจีนมีลูกเกิน 1 คน ด้วยเหตุผลด้านการจัดการทรัพยากรและเหตุผลด้านสวัสดิการการดูแลผู้สูงอายุ รัฐบาลสามารถออกนโยบายที่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างการห้ามมีบุตรเกินจำนวนที่กำหนดได้ หากใครฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดทางกฏหมาย ซึ่งแน่นอนว่ากฏหมายประเภทนี้ถูกบังคับใช้ได้ในบางประเทศ ตามนโยบายและระบอบการปกครองของประเทศนั้นๆด้วย ประเทศที่เสรีมากๆ เชื่อว่าคงไม่มีใครยินยอมกับนโยบายเช่นนี้แน่
(ปัจจุบันได้มีการพิจารณายกเลิกยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวเมื่อกลางปีที่ผ่านมา หลังจากใช้นโยบายนี้มากว่า 30 ปี เพื่อปรับสมดุลประชากรให้กลับมาสมดุลแบบเดิม หลังจากนโยบายลูกคนเดียวได้ส่งผลกระทบต่อการแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุภายในครอบครัวเดียว ประมาณว่า เด็กคนเดียว อาจต้องดูแล พ่อแม่ ปูย่าตายายอีกหลายคนด้วยตัวคนเดียว เพราะที่บ้านไม่มีทายาทคนอื่นนั่นเอง รวมทั้งปัจจุบันจีนเองก็ขาดแคลนประชากรแรงงานอย่างหนักเพราะเอฟเฟ็คจากนโยบายนี้ด้วย)
ขณะเดียวกัน The Lobster ได้สร้างโลกที่ไม่มีที่ว่างให้คนโสด หรือการเป็นโสดถือเป็นความผิดร้ายแรง มีการตรวจสอบสถานะของประชากรอย่างเข้มงวด ถึงขั้นที่ว่าคุณต้องพกทะเบียนสมรสติดตัวไว้เพื่อยืนยันสถานะว่าเป็นคนมีคู่แล้ว
จะว่าไปแล้วเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน The Lobster ก็ไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลจากความเป็นจริงมากนัก หากยังจำกันได้เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลพึ่งออกนโยบายเรื่อง "การเก็บภาษีคนโสด" (The Single-Person Taxes) นั่นคือหากคุณเป็นคนโสด ไม่มีครอบครัว จะต้องจ่ายภาษีแพงกว่าพวกที่มีครอบครัวแล้ว ซึ่งก็ได้รับเสียงก่นด่าจากประชาชนไปมากพอสมควร
ที่จริงแล้ว นโยบายภาษีคนโสด เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และกำลังมีปัญหาเรื่องทรัพยากรและงบประมาณในการดูแลประชากร รัฐบาลพิจารณาการเก็บภาษีคนโสดจากจำนวนประชากรผู้สูงวัยที่ปัจจุบันมีมากขึ้นอย่างน่าตกใจ (ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ) นั่นตามมาด้วยการที่รัฐบาลต้องแบกรับค่าสวัสดิการต่างๆมากขึ้น ขณะที่ภาษีที่ได้รับมีแนวโน้มที่ลดลง เพราะผู้คนเริ่มหันมาใช้ชีวิตคนเดียวเพิ่มมากขึ้น ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก ไม่ต้องส่งเสียลูกให้เรียนหนังสือ ไม่ต้องมีบ้านขนาดใหญ่ ไม่ต้องอุ้มชูดูแลครอบครัว กล่าวคือ คนโสดไม่ต้องเสียเงินดูแลคนอื่น แต่จ่ายเงินเพื่อดูแลชีวิตตัวเองเท่านั้น ซึ่งนี่อาจทำให้เกิดปัญหาด้านแรงงานและเศรษฐกิจในอนาคต
ภาษีคนโสด เป็นแนวคิดที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัย กรีกโบราณ, กรุงโรม และนโยบายนี้ก็ถูกต่อต้านมาโดยตลอด ในยุคโรมัน เคยมีการเรียกเก็บภาษีจากคนโสด เพื่อหว่านล้อมให้พวกเขาพยายามสร้างครอบครัว หรือแม้แต่เมืองในประเทศแถบยุโรปบางเมืองก็มีนโยบายภาษีสำหรับผู้ที่เรียนจบแค่วุฒิปริญญาตรีในอัตราสูงกว่าผู้ที่จบสูงกว่าปริญญาตรี เพื่อเป็นการบังคับกลายๆให้ประชาชนเพิ่มวุฒิการศึกษาเองตัวเองเพื่อหวังจะให้ประเทศพัฒนามากขึ้น หรืออะไรทำนองนั้น
จะได้เห็นว่าทุกยุค ทุกสมัยมีนโยบายในการจัดการ "คุณภาพประชากร" ที่คล้ายคลึงกันมาโดยตลอด คือ การเพิ่มภาษี เพื่อบังคับให้ประชาชนก้าวเข้าสู่ทางเลือกที่รัฐบาลวางไว้ให้ เพื่อให้ประเทศดำเนินไปในแนวทางที่รัฐบาลสามาถจัดการได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น และถือเป็นการกระทำเพื่อส่วนรวม เงินภาษีของประชาชน จะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป เพราะฉะนั้นแล้วประชาชนไม่มีสิทธิปฏิเสธ
ในการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย
ก็ยังระบบภาษี ที่เป็นเหมือนตัวแทนของเผด็จการอยู่นั่นเอ
แม้ The Lobster จะใช้การดำเนินเรื่องบนบรรทัดฐานง่ายๆและสื่อสารออกมาได้ค่อนข้าง สนุกสนาน สอดแทรกมุกตลกเข้าใจง่าย อย่างการเป็นโสดถือเป็นความผิด การต้องเข้าไปสู่โลกที่มีแค่ดำกับขาว โสดหรือมีคู่ รักร่วมเพศหรือรักต่างเพศ ไม่มีอะไรครึ่งๆกลางๆ แม้แต่ไซส์รองเท้าที่ยังไม่มีไซส์ครึ่ง
สิ่งที่เราเห็นใน The Lobster ก็คล้ายๆกับตอนที่เราดู Battle Royal, Hunger Games หรือแม้แต่ Maze Runner คือ เรามองเห็นการจัดการปัญหาด้านทรัพยากรอันมีอยู่อย่างจำกัดในโลกที่ทรัพยากรกำลังร่อยหรอ ด้วยนโยบายต่างๆที่รัฐเป็นผู้กำหนด
ซึ่ง The Lobster ก็ดำเนินเรื่องบนพลอตเรื่องที่ว่านั่นเหมือนกัน เพียงแต่มีวิธีเล่าเรื่องที่แตกต่างไปจาก 3 เรื่องข้างบนเท่านั้นเอง
เราสามารถแบ่งโลกใน The Lobster ได้เป็น โลกหรือระบอบได้เป็น 3 ส่วน
คือ
The World (เมือง หรือ โลกภายนอก โลกที่พระเอกอาศัยอยู่ก่อนเข้าไปที่โรงแรม)
The Hotel (โรงแรม หรือ สถานที่คัดเลือกที่บังคับให้ทุกคนต้องหาคู่ ไม่งั้นจะกลายเป็นสัตว์ใน 45 วัน)
The Loners (แก๊งคนโสด หรือ ป่าคนโสด ที่มีกลุ่มคนโสดที่แยกตัวจาก The Hotel มารวมกลุ่มกัน)
ใน The World มีฉากเริ่มต้นด้วยการที่ เดวิด (คอลิน ฟาร์เรล) ถูกภรรยาบอกเลิก โดยเขาถามคำถามเรื่องรูปพรรณของ "ใครอีกคน" ว่า ใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ หลังจากนั้นเขาก็ถูกพาไปยังโรงแรม เนื่องจากในโลกใบนี้ คนโสดทุกคนจะต้องถูกพาไปยังโรงแรม เพื่อทำการคัดเลือกบางอย่างต่อไป
ในขั้นตอนการเช็คอิน และกรอกประวัติส่วนตัว เดวิด บอกกับเจ้าหน้าที่โรงแรมว่า เขาเคยมีประสบการณ์รักร่วมเพศมาก่อน และพยายามถามหาตัวเลือก "ไบเซ็กชวล" แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกว่า ได้ตัดตัวเลือกนั้นทิ้งไปแล้ว "เพราะมีปัญหาด้านการจัดการ" อนึ่งคือ การมีความสัมพันธ์ได้ทั้งสองแบบก็ทำให้เกิดความซับซ้อน คลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นในระบบการจัดการ จึงต้องตัดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทิ้งไปทั้งหมดการจัดการทุกอย่างให้เป็นระบบระเบียบง่ายๆ
เมื่อเข้าสู่ The Hotel ภายในโรงแรมนี้เองก็มีการจัดการและกฏระเบียบต่างๆมากมาย มีเวลาจำกัดเพียง 45 วันในการหาคู่ไม่งั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นสัตว์ มีพื้นที่บริการเฉพาะคนโสด และคนมีคู่แล้ว คนโสดถูกจำกัดสิทธิหลายๆอย่างภายใน The Hotel และไม่ได้รับการปฏิบัติดูแลได้ดีเท่ากับคนมีคู่ ในหนังได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง และประโยชน์ของคนโสด หรือ คนมีคู่อย่างชัดเจน
นี่เป็นการบังคับให้ทุกคนต้องพยายามหาคู่ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อได้รับการดูแลที่ดีกว่
นอกเหนือจากการจำกัดสิทธิแล้ว คนโสดยังต้องเข้าสู่การทดสอบด้วยการเข้าสู่สนามแห่งการล่าคนโสดด้วยกันเอง ใครล่าคนโสดได้มากเท่าไหร่ จำนวนวันที่ได้อยู่ใน The Hotel และไม่ถูกเปลี่ยนเป็นสัตว์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ณ ทีนี้เองที่คนโสดได้ถูกบังคับให้พยายามทำร้ายคนอื่นเพื่อเพิ่มเสรีภาพของตัวเอง หรือเพื่อยืดเวลาการอยู่เป็นโสดของตัวเองออกไปให้นานมากยิ่งขึ้น
ในพาร์ทการเล่าเรื่องของมิสชั่นการล่า มีตัวละครหนึ่งที่ถูกเน้นขึ้นมาให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นคือ ตัวละครหญิงสาวผมสั้นที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นคนตายด้าน ไร้ความรู้สึก
สำหรับคนทั่วๆไป การทำร้ายคนอื่นย่อมสร้างความรู้สึกย่ำแย่ ยิ่งอยู่นานมากแค่ไหนยิ่งกดดัน คนที่เคร่งเครียดกับการที่ต้องเข้าสู่สนามประลองวันละ 2 ครั้ง จึงต้องพยายามหาคู่ให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ต้องแบกรับความกดดันนี้อีก มิสชั่นนี้จึงเป็นอีกหนึ่งการบีบบังคับเพื่อให้ประชาชนเดินเข้าไปสู่เส้นทางที่รัฐวางไว้ให้เร็วยิ่งขึ้น
ขณะที่ตัวละครของหญิงสาวตายด้านไร้ความรู้สึก กลับเป็นผู้ที่ทำสถิติในการล่าคนโสดได้สูงมากและเธอมีเวลาอยู่ใน The Hotel ยาวนานกว่าคนอื่น แต่ถึงอย่างนั้น แม้เธอจะมีเวลาสะสมใน The Hotel เยอะแค่ไหน ที่สุดแล้วเธอก็ยังอยากออกไปจากที่นี่ด้วยการพบคู่ของตัวเอง และเดินออกไปจากโรงแรมแห่งนี้ในที่สุด เธออาจเป็นตัวแทนของพวกที่มีแนวคิดสุดโต่งในสังคมปัจจุบัน แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะสุดโต่งแค่ไหน คนประเภทนี้ก็ยังถูกครอบไว้ด้วย "ระบอบ" ของบ้านเมืองอยู่ดี
เป็นเสรีภาพที่ไม่มีอยู่จริง
เป็นทางเลือกที่ไม่เคยได้เลือกจริง
ในต่างประเทศเมื่อมีการปฏิรูปทางการเมือง หรือการลุกฮือของผู้ต่อต้านรัฐบาล ประชาชนหรือกลุ่มผู้ต่อต้านที่ยังไม่สามารถรับมือกับรัฐบาลได้ มักจะหลบหนีออกนอกประเทศ ลี้ภัย หรือ แม้แต่การหนีไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านห่างไกล หรือสร้างขบวนการใต้ดิน หรือ แม้แต่การหนีเข้าป่า
ในประวัติศาสตร์การปกครองไทยก็มีการ "หนีเข้าป่า" มาแล้วหลายครั้ง บุคคลสำคัญในประเทศไทยหลายคน เคยผ่านประสบการณ์การ หนีเข้าป่า แบบที่ว่า เข้าป่าจริงๆมาแล้วหลายครั้ง เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองยังไม่อยู่ในภาวะที่สามารถแสดงตัวได้
ใน The Lobster ตัวละครพระเอกที่ทนแบกรับความกดดันรวมทั้งได้ทำความผิดที่ The Hotel ไว้จึงได้หนีเข้าป่า อารมณ์ว่าไปตายเอาดาบหน้า แต่สุดท้ายแล้วเขากับไปเจอกับ "แก๊งคนโสด" ที่มีหัวหน้าเผ่าดูแลกลุ่มคนโสดที่แยกตัวออกมาจาก The Hotel
ที่จริงพวกที่หลบซ่อนตัวอยู่ในป่า แบบ "แก๊งคนโสด" หรือ "The Loners" พวกนี้ หากมองตามบรรทัดฐานและ "ระบอบ" ที่เกิดขึ้นในหนังแล้ว กลุ่ม The Loners ควรเป็นพวก Outlaw ไร้ตัวตน ไม่สามารถสืบค้นหาประวัติได้ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ พวก The Loners ไม่ใช่พวกไร้ตัวตน แต่ทุกคนในระบอบรับรู้การมีอยู่ของพวกเขา อาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการคัดเลือกประชากร เป็นหนึ่งขั้นตอนในระบบการคัดเลือกที่เกิดขึ้นภายใน The Hotel
จะเห็นได้ว่า ไม่มีการกวาดล้าง หรือไล่ลา ฆ่าฟันแก๊งคนโสดโดยหน่วยงานแบบจริงจังอะไร หัวหน้าเผ่า The Loners เข้าไปหาพ่อแม่ในเมือง แต่ปิดบังฐานะจริงๆของตัวเองไว้ หมายความว่า เธอก็เป็นบุคคลมีตัวตนในระบบ มีหลักฐานที่อยู่ เพียงแต่ The Loners จะมีแนวทางและกฏเกณฑ์ที่แตกต่างจาก The Hotel แบบ คนละขั้ว The Hotel รับรู้การมีอยู่ของพวกเขา และพาคนโสดจาก The Hotel มาออกล่าพวกเขาทุกวัน
แก๊งคนโสดจะใช้ชีวิตอย่างอิสระ และแตกต่างจากคนที่ The Hotel ยังไงก็ได้ แต่พวก The Loner ต้องแลกสิทธิการได้ใช้ชีวิตแบบนั้นด้วยการ ยอมเป็นผู้ถูกล่านั่นเอง
การมีอยู่ของ The Loners ก็เพื่อให้คนที่ The Hotel ทำภารกิจให้สำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น
อนึ่งคือ หนังอาจพยายามแสดงให้เห็นว่า ผู้ต่อต้าน ก็เหมือนเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในระบบการคัดเลือก และระบอบการปกครองทั้งหมดเช่นกัน
แม้แนวทางการปกครองใน The Loners จะให้อิสระเต็มที่ แต่กลับห้ามคนรักกัน ห้ามจีบกัน ทุกคนเป็นเพื่อนกันได้ ปรึกษากันได้ แต่ห้ามมีความสัมพันธ์กัน ที่สุดแล้วใน The Loners เองก็มีกฏระเบียบมากมายไม่ต่างจาก The Hotel หรือ The World ทุกคนต้องถูกตรวจสอบ เฝ้าระวัง และถูกจับตามองอยู่ดี ไม่ว่าระบอบไหนๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีกฏเกณฑ์ต้องปฏิบัติตามทั้งนั้น ไม่มีที่ไหนที่เราสามารถอยู่ได้อิสระโดยแท้จริง
อาจกล่าวได้ว่า ภายใน The World เองก็มีโลกของ The Hotel อยู่ และใน The Hotel ก็มีโลกอีกใบซ้อนไว้อีกที นั่นก็คือ The Loners
แม้หนังจะพยายามใช้พลอตเรื่องราวโรแมนติคมาเป็นตัวดำเนินเรื่องที่ทั้งตลก และดูออกมาน่ารัก ขบขัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นหนังที่ไม่ได้ขายแค่ประเด็นความรัก หรือค่านิยมทางสังคมเรื่องโสด ไม่โสดเพียงอย่างเดียวแน่นอน
ในโลกของ The Hotel ได้มีการจำลองสถานการณ์ความรักในรูปแบบต่างๆขึ้นมามากมาย เพื่อใช้อธิบายสภาพสังคม ค่านิยมของผู้คน ซึ่งเกี่ยวโยงโดยตรงกับการดำเนินชีวิตในสังคมขนาดใหญ่ในปัจจุบัน
การอยู่ใน The Hotel หรือการคัดกรอง ฝึกฝน เพื่อให้กลับไปสู่ The World ได้อย่างถูกต้องและมีระเบียบ โดยรัฐไม่ต้องมีการออกข้อบังคับหรือใช้มาตรการควบคุมใดๆให้ซับซ้อนอีก เพียงแค่ต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดเท่านั้น
จากใจคนที่ไม่เก่งเรื่องตีความเลย แต่ดูด้วยอารมณ์ที่แบบว่า หนังแนว survivor ทำนองนี้ รู้ว่าแบ่งเป็นสองพวก แล้วก็ดูไปเรื่อยๆ จนจบ พร้อมกับคำถามว่า หนังอะไรวะ
หลังจากนั้นก็ไปอ่านรีวิว แล้วก็ อ่า แบบนี้นี่เอง แต่ก็ยังไม่คลายสงสัยทั้งหมด
เพราะงั้นเลยตั้งใจอ่านบทความนี้นานหน่อย เหมือนค่อยๆ อ่านแล้วนึกถึงหนังไปด้วย มันมีอะไรลึกซึ้งกว่านั้น มองว่าทุกคนต้องการเอาตัวรอด เลยเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้คนๆ นั้นสนใจ อะไรทำนองนี้
แต่อ่านอันนี้แล้วกระจ่างเลย , ขอบคุณนะคะ