เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
POPROCK ON FILMPOPROCK
WHIPLASH | สงคราม
  • repost
    18.11.2014

     เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ


    ไม้ของ VIC FIRTH


    ตอนที่เราได้เห็นไม้กลองในหนัง ความสงสัยแรกเลย คือ

    "อืม มันใช้ไม้อะไรวะ"

    จำได้ว่าตอนเด็กๆ เราเห็นภาพของมือกลองที่รัวกลองโซโล่โหดๆจนไม้แตกหักแบบเอ็กซ์ตรีมอยู่บ่อยๆ วงร็อคโหดๆบางวง ไม้หักปุ๊ปถีบกลองทิ้งแม่มเรย อารมณ์พีคมาเต็ม เพราะงั้นเราเลยคุ้นชินกับภาพการตีกลองโหดๆจนไม้กลองหักกระจุย จนกระทั่งพอมาอยู่ในหนัง เราก็หวังว่า ในเมื่อมันตีกลองกันโหดขนาดนั้น มันต้องมีฉากไม้กลองหักมั่งละวะ นั่นมันจะต้องโคตรพีคแน่ๆ ไม่ได้คาดหวังว่าจำเป็นต้องมี แต่คิดว่ามันคงจะมี จนกระทั่งหนังมันดำเนินไปถึงฉากสุดท้าย

    ไม่มีฉากไม้กลองหักเลยว่ะ..

    ความสงสัยแบบไร้สาระเริ่มมา เห้ย ไอ้นีแมน มันใช้ไม้อะไรวะ ถึงโซโล่ยาวได้ขนาดนั้นแล้วไม้ไม่หักนี่ตรูรอฉากไม้หักเลยนะ นี่มันฉากสูตรชัดๆ มันต้องมีสิวะ ไอ้ฉากไม้หัก ถ้ามีนี่จะพีคโคตรๆ

    สำคัญไหม ว่าทำไมไม้ถึงไม่หัก

    แน่นอนว่าสำคัญ

    เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟังทีหลัง

    ไม้ที่นีแมนใช้ คือ ไม้ของ VIC FIRTH  (ยี่ห้อหนึ่งของไม้กลอง) อันที่จริงนี่เป็นข้อมูลที่คุณไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ แต่ไม้กลองนั้นจะมีหลากหลายขนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวงการดนตรีอาชีพ ไม่ใช่ว่าไม้กลองแบบไหนก็นำมาใช้กับดนตรีประเภทนั้นๆได้ ไม้กลองสำหรับมือกลองนั้นมีความสำคัญมากพอๆกับพู่กันของจิตรกร

    ขนาดและน้ำหนักต้องถูกต้อง สำหรับสไตล์และดนตรีของคุณ

    มันมีขนาดและน้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับ แจ๊ซ,ป๊อป,ออเครสตร้า,คอมโบ,คลาสสิค,ร็อค ฯลฯ มันอาจฟังดูเป็นเรื่องที่คุณนึกตามไม่ออก แต่สำหรับมือกลอง บางครั้งขนาดและน้ำหนักที่พอเหมาะ ก็ใช่ว่าจะเพียงพอ ในคำแนะนำการเลือกไม้ของแบรนด์ วิค เฟิร์ธเองก็ให้คำแนะนำว่า

    สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "ความรู้สึก" ตอนที่จับไม้

    เมื่อมันใช่ มันก็เป็นไม้ของคุณ

    นี่ฟังดูคุ้นๆ

    เราไม่ได้พามาดูฉากแฮรี่ พอตเตอร์เลือกไม้กายสิทธิ์ แต่ ในมุมหนึ่ง ดนตรีมันก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนจนคุณคิดไม่ถึงได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น มือกลองบางคนก็มี ไม้ที่ใช้ประจำ และจะพกไม้นั้นติดตัวไปไหนมาไหนตลอด มันคุ้นมือและคุ้นน้ำหนัก อาจรวมไปถึงคุ้นองศาของไม้ บางครั้งเวลาที่เขาต้องเปลี่ยนไม้ใหม่ระหว่างตี บางทีก็ทำให้จังหวะผิดเพี้ยนหรือ ความรู้สึกแตกต่างไปเลย บางทีคนฟังเพลงปกติทั่วไปแทบไม่รู้ความเปลี่ยนแปลงนั่น มีแต่คนตีเท่านั้นที่รู้

    น้ำหนักไม้ ความยาว องศา หรือแม้แต่การต้องใช้ไม้ที่ไม่ใช่ของตัวเอง อะไรต่างๆเหล่านี้ มันอาจสำคัญ หรือไม่สำคัญเลยก็ได้

    แต่แน่นอนว่ามันมีความหมายอยู่บ้าง

    ไม่มากก็น้อย



    เรื่องราวของชาย 4 คน กับเพลงในแทร็คที่ 1

     

    Hank Levy เป็น มือแซ็กโซโฟน

    Don Ellis เป็น มือทรัมเป็ต

    Damien Chazelle เป็น ผู้กำกับ

    Justin Hurwitz เป็น นักแต่งเพลง

    แฮงค์ เป่าแซ็กโซโฟนและเป็นวาทยากรวงแจ๊ส เขามีเพลงที่เขาประพันธ์ไว้มากมาย ในปี 1972 เขาได้พบกับดอน ที่เป็นมือทรัมเป็ต ต่อมาพวกเขาจึงได้มีผลงานร่วมกันในอัลบั้มแจ๊สที่ชื่อ Soaring ตอนปี 1973 ในอัลบั้มประกอบไปด้วย 8 เพลงที่มีเสียงทรัมเป็ตเป็นตัวชูโรง

    ดอนเลือกเพลงของแฮงค์เป็นเพลงเปิดอัลบั้ม หลายคนบอกว่า มันดูคล้ายเป็นประกอบภาพยนตร์ แต่จุดประสงค์ของมันก็ไม่ใช่เพลงที่ทำขึ้นมาประกอบภาพยนตร์ ความสนุกสนานของเพลงที่ดอนเลือกมาไว้ในแทร็คเปิดอัลบั้ม Soaring คือ มันเป็นเพลงที่เริ่มต้นด้วยความตื่นเต้น เร่งเร้า สนุกสนาน เพลงนั้นมีชื่อว่า

    "Whiplash"



    ดาเมียน เป็นเป็นนักดนตรีสมัยเรียนที่ฮาร์วาร์ด ในตอนนั้นเขาได้พบกับจัสติน พวกเขาชอบฟังเพลงแบบเดียวกัน อยู่วงเดียวกัน และเป็นรูมเมทกัน พวกเขาใช้เวลาว่างทำสิ่งที่อยากทำนั่นคือการทำหนัง หนังสั้นเรื่องแรกที่พวกเขาทำคือ "Guy and Madeline on a Park Bench" พวกเขาใช้เพลง Whiplash เป็นเพลงประกอบหนังสั้นของพวกเขา

    "ผมงี้เกลียดเพลงนี้ชะมัด"

    เดเมียนพูดถึง วิปแลช เขาให้ความเห็นว่า มันเป็นเพลงที่มือกลองเกลียด เพราะมันมีช่วงเร่ง จาก 7/4 ห้อง ไปเป็น 14/8 ห้องในตอนท้าย ซึ่งบางครั้งมันก็ยากบรรลัยสำหรับมือกลองในตอนนั้นแบบเดเมียน

    เดเมียนทำหนังสั้นและพยายามหาทุนอยู่พักนึง จนกระทั่งเขามีโอกาสได้ทำหนังยาวในที่สุด เขาเลยตั้งชื่อมันว่า Whiplash มันมาจากเพลงประกอบที่เขาเคยใช้นั่นเอง

    ตอนที่เขาเลือก "Whiplash" มาใช้เป็นชื่อหนังขนาดยาวเรื่องแรกของเขา มันอาจไม่มีความหมายอะไรลึกซึ้งเลย นอกจากว่า มันเป็นเพลงที่เขาเลือกได้ก็ไม่อยากเล่น หรือ มันยากชิบเป๋ง หรือ มันเหมาะกับการต่อสู้ชะมัด

    มันอาจเป็นอะไรก็ได้

    ตอนนั้นเขาใช้ Whiplash เวอร์ชั่นดั้งเดิมของ Hank Lavy มาใช้ในหนังสั้น แต่เมื่อมันกลายมาเป็นหนังยาวแล้ว เขารู้ว่ามันควรต้องมีการอัดและเรียบเรียงใหม่ขึ้นมาอีกรอบ และหน้าที่นั้นก็ต้องเป็นของจัสติน ..

    "จัสตินนายจัดการเรื่องเพลงไปแล้วกัน"

    จัสตินโอเค และนั่นไม่ต้องใช้สมองคิดอะไรให้เยอะเลย

    "โอเค

    แทร็คที่ 1 : Whiplash"



    DAVE GROHL และ ANDREW NEIMAN

    หลายคนบอกว่า ดนตรีไม่การแบ่งชนชั้น มันเป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมทุกภาษาบนโลกนี้ไว้ด้วยกัน จังหวะ ทำนอง เสียง สิ่งเหล่านี้ มันคือภาษาสากล คุณไม่จำเป็นเข้าใจ แต่คุณก็ซาบซึ้งได้ ไม่ว่าใครๆก็ให้กำเนิดเสียงดนตรีได้

    มันเหมือนกับคำอุปมา อุปไมย เสียงใบไม้ร้องเพลง เสียงลมขับกล่อม

    แม้แต่เสียงหัวเราะของเด็ก ยังไพเราะกว่าเครื่องดนตรีชิ้นไหนๆบนโลกนี้

    ดนตรี มีอานุภาพมากขนาดนั้น

    นั่นนำไปสู่แก่นที่ว่า ดนตรี นั้นมีไว้เพื่อจรรโลงโลก "นักดนตรี" เกิดมาเพื่อสร้างความสวยงามให้โลกใบนี้

    แต่

    ใครเป็นคนบอกคุณว่า มันต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป?

    ในโลกปัจจุบัน เราได้เห็นว่า ทุกอย่างคือ "การแข่งขัน" ทุกอย่างมีแต้มต่อ มีราคา และ มีการวัดระดับ

    กับศาสตร์ "ดนตรี" ก็เช่นกัน มีใครสักคนบอกว่า "ศิลปะไม่อาจตีค่าหรือตัดสินด้วยการวัดผลใดๆได้"

    แต่ตามบรรทัดฐานบนโลกใบนี้ เราก็มีการให้คะแนนกับงานศิลปะ เรามีการประกวดวาดภาพ ประกวดวงดนตรี ประกวดทุกสิ่งอย่างบนโลกนี้ เพื่อให้ใครสักคนมาตัดสินเราว่า เรานำเสนอ "ศิลปะ" นั้นได้ดีมากแค่ไหน

     


    เดฟ โกรล เป็นนักร้องนำวง Foo Figthers เขาเป็นนักดนตรีคนหนึ่งในวงดนตรีร็อค (ปัจจุบันเป็นทั้งโปรดิวเซอร์ทั้งผู้กำกับหนัง) เคยเป็นสมาชิกของวงที่มีอิทธิพลมากๆวงหนึ่งในวงการเพลงยุค 80's - 90's อย่าง Nirvana

    วันหนึ่ง เดฟก็บอกว่า วิถีทางของดนตรีในทุกวันนี้ มันผิด

    "ทำไมเราถึงต้องไปยืนต่อแถวเพื่อให้ได้ร้องเพลง ต่อหน้าพวกคนรวยๆ เพื่อให้เขาบอกว่า เราเหมาะหรือไม่เหมาะที่จะเป็นนักร้อง"

    ในคำพูดของเดฟ คือ อะไร

    เขากำลังวิพากษ์วงการประกวดดนตรี ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ อย่าให้เราต้องเอ่ยชื่อ เพราะมันมากมายเหลือเกิน คำพูดเดฟ อาจฟังไม่เข้าหูนัก หลายคนอาจบอกว่า

    "ใช่สิ คุณมันเป็นคนดังแล้ว คุณจะพูดยังไงก็ได้ พวกเราก็แค่พยายามตามความฝันของเรา"

    แน่นอน คำโต้เถียงเหล่านั้นก็ถูกต้องเช่นกัน เป็นเดฟเองที่อาจผิดไป แต่ขณะเดียวกันความคิดเดฟก็ถูกต้องในส่วนของเขา เดฟไม่ได้กำลังวิพากษ์ "การเป็นนักร้อง" เขากำลังวิพากษ์ "กลไก" ที่ทำให้ "มาตรวัตรทางศิลปะ" กลายเป็นสิ่งที่เราต้องยึดติดและทำตาม มันกำลังทำให้วงการเพลงถูกตีค่าทุกอย่างกลายเป็น "คะแนน"

    ทำไมคนเป็นนักร้องแบบเดฟ ถึงพูดแบบนั้น คนอาจจะคิดว่า

    เขาทำเก๋า เขาทำเท่ที่พูดแบบนั้น

    แต่ประวัติสั้นๆของเดฟคือ เขาไม่ได้เป็นนักร้องมาก่อน จนกระทั่ง เคิร์ทตาย



    เคิร์ทคือ นักร้องนำวง Nirvana วงที่เดฟเป็นมือกลอง เดฟคิดว่าตัวเองเป็นมือกลองมาตลอด จนกระทั่งเคิร์ทตาย วันที่เคิร์ทตาย เขาคิดว่า ชีวิตนักดนตรีของเขาคงจบสิ้นแล้ว เขาอยู่ในยุคที่ Nirvana คือ ศาสนา เคิร์ท โคเบน คือ ศาสดา เมื่อเคิร์ทตาย ทุกอย่างมันเหมือนหายไปหมด เดฟคิดว่า เขาทำใจรับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ ตอนนี้ไม่ได้

    แต่แล้วเขารับมือกับมันยังไง

    เดฟคิดได้ว่า แม้เขาจะตีกลองมาตลอด แต่เขาก็เป็น "นักดนตรี" คนหนึ่ง เขาเคยแต่งเพลงเก็บไว้เยอะแยะตอนที่ยังตีกลอง มันเป็นเพลงที่เขาไม่เคยร้องให้ใครฟัง หลังจากเคิร์ทตาย เขาก็พึ่งคิดออก

    ทำไมเขาถึงไม่ร้องเพลงวะ

    เดฟออกไป เขาเช่าห้องอัด จองคิวยาวทั้งอาทิตย์ เพื่อร้องและเล่นเพลงของตัวเอง ที่ไม่เคยร้องให้ใครฟัง เขาทำมันอย่างบ้าคลั่ง

    แล้วหลังจากนั้น เขาก็กลายเป็น "นักร้องนำ" และ "มือกีต้าร์" วง Foo Fighters

    วงร็อคที่มีอิทธิพลมากวงหนึ่งในยุค 2000

    ส่วนเรื่องตีกลอง

    ปล่อยให้คนอื่นตีไปก็แล้วกัน

     

    นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไม เดฟถึงวิพากษ์วงการประกวดร้องเพลงไว้แบบนั้น

    เพราะเขาคิดว่า ไม่มีใครตัดสินเราได้ นอกจากตัวเราเอง เราลิขิตชะตาตัวเองได้

     

    นั่นคือเรื่องของ เดฟ โกรลห์ ในโลกของความจริง

    และนี่คือเรื่องของ แอนดรูว นีแมน



    นักศึกษาปี 1 ในโรงเรียนฝึกสอนดนตรีแจ๊ซที่ดีที่สุดในประเทศ เขาเป็นนักเรียนเอกกลอง ทีแรกมันก็ไม่มีอะไร แต่หลังๆมันก็เริ่มมีอะไร

    เท่าที่จำความได้ นีแมนชอบตีกลอง ไม่รู้ชอบตั้งแต่ตอนไหน พ่อเป็นครู แม่ทิ้งไปตอนเด็กๆ ไม่มีชีวิตในส่วนไหนของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ยิ่งเป็น "ดนตรีแจ๊ซ" ยิ่งลืมไปเลย แต่เขาก็มาชอบดนตรีจนได้ และชอบตีกลอง ในหนังบอกว่า "บัดดี้ ริช" คือไอดอลของเขา เขามีซีดี "บัดดี้ ริช" มือกลองแจ๊ซ ชื่อดัง ที่นำมาเปิดฟังวงซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนสอนแจ๊ซที่ดีที่สุด

    เขาพกเสียงกลองของบัดดี้ ริชไปด้วย



    เขาพบครูคนหนึ่งชื่อ "เฟล็ทเชอร์" ครูที่ว่ากันว่า เจ๋งที่สุด เขาคุมวงประจำวิทยาลัย และเขาโคตรเนี้ยบ และ โคตรเก่ง นีแมนปลื้มเขาสุดๆ เขาตะเกียกตะกายเพื่อที่จะได้ทำให้ เฟล็ทเชอร์ สนใจ แล้วเฟล็ทเชอร์ก็มาพบนีแมนจนได้ "เพชรในตม" รอวันขัดสีให้ส่องประกาย แต่กว่าจะไปถึงจุดจบของการเป็นเพชรได้ มันไม่ง่ายเลย

    นีแมน เคยเชื่อมั่นในตัวเฟล็ทเชอร์มาตลอด เขาเชื่อว่าคนเก่งๆแบบเฟล็ทเชอร์ ต้องทำให้ฝันของเขาเป็นจริงแน่นอน เขาเทหมดหน้าตัก ทำทุกอย่างเพื่อทำให้มันดีที่สุด และเขาต้องทำฝันให้สำเร็จ โชคร้ายที่โลกความจริงโหดร้ายมาก ทุกอย่างไม่เป็นแบบที่นีแมนคิด ใช่ว่าการเทหมดหน้าตักจะชนะเสมอไป เขาพ่ายแพ้ และ เคียดแค้น แล้วเขาก็ทวงคืน

    เราจะไม่บอกว่า การทวงคืนของนีแมนคืออะไร เพราะมันคือการเฉลยเรื่องราวมากเกินไป

    แต่ในทีนี้ เราจะเปรียบเทียบให้เห็น แม้มันจะไม่คล้ายกันนัก

     

    บางครั้งคนเราก็ต้องพบกับอุบัติเหตุใหญ่สักครั้งในชิวิต ถึงจะได้รับรู้ว่า โลกที่แท้จริงเป็นอย่างไร

    เราจะได้มองโลกในมุมที่ไม่เคยมอง



    วันที่เดฟ ต้องเสีย เคิร์ทไป เขาเคว้งคว้าง และ คิดว่าตัวเองไร้หนทาง มืดมนและไม่มีที่ไป วงจะเป็นอย่างไร เคิร์ทตายได้ยังไง อนาคตจะเป็นอย่างไร เขาต้องทำอย่างไรต่อ ความเสียใจและความช็อคมันผสมปนเป ในตอนนั้นเขาคิดอะไรไม่ออกมีคำถามที่ไม่ว่าใครก็ตอบไม่ได้เกิดขึ้นเต็มไปหมด

    "ความจริงก็คือ เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย"



    วันที่นีแมน ถูกรถชน เขาได้มองโลกในมุมที่ไม่เคยมองมาก่อน นั่นคือ มุมมองที่ขนาบไปกับพื้นถนน มันเหมือนโลกพลิกคว่ำคะมำหงาย เขาถูกรถชน และไปแข่งดนตรีต่อ เขาเทหมดหน้าตัก เพียงเพื่อจะได้พบว่า

    "ความจริงก็คือ โลกนี้มันระยำมากๆ"

    การค้นพบของ เดฟ และ นีแมน ต่างกัน แต่มันก็มีจุดที่คล้ายกัน

    เดฟ ไม่ได้ถูก เคิร์ท ครอบงำ Nirvana เป็นสภาพแวดล้อมหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตเดฟ และเขาก็เต็มใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมัน จนวันหนึ่ง อยู่ดีๆมันก็หายไป ไม่บอกล่าว ไม่มีสัญญาณเตือน มันเป็นสภาวะที่บังคับให้เดฟ ต้องเลือกทางเดินใหม่ ทางที่เป็นทางของเขาเอง คือ Foo Fighters

    นีแมน ก็ไม่ได้ถูก เฟล็ทเชอร์ ครอบงำ มันเป็นความคาดหวังและความเต็มใจของนีแมนเอง เขาต้องการจะอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น ภายในโลกของเฟล็ทเชอร์ แล้ววันหนึ่ง โดยไม่บอกกล่าว นีแมนก็ได้รู้ว่า โลกนี้พังทลายลงแล้ว เขาถูกบังคับให้หลุดออกไปจากเส้นทางเดิมที่เขาคิดว่าเขาควรอยู่ สุดท้ายมันกลายเป็นว่า เส้นทางของเขาจริงๆ มันคือสิ่งนี้ต่างหาก

    เขาได้เลือกเส้นทางของตัวเองในที่สุด




    WHIPLASH

    นั่นคือเรื่องราวใน Whiplash

    พลอตดูเรียบง่าย มันต้องมีการต่อสู้ฝ่าฟัน กว่าถ่านจะกลายเป็นเพชร นีแมนต้องยอมทนให้ถูกสกัด ขัดสี กระเทาะ เขาอยากเป็นเพชร ธาตุที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ไม่ใช่แค่พลอย ที่แค่ส่องประกายสวยงาม เขาต้องแข็งแกร่งที่สุด และเขาก็ยอมให้ เฟล็ทเชอร์ทำทุกอย่าง เพื่อให้เขากลายเป็นเพชร

    อันที่จริง พลอตหลักๆของ Whiplash มันเรียบง่ายมาก มันไม่มีอะไรแปลกใหม่ในเนื้อหา แต่สิ่งที่ Whiplash แตกต่างออกไปจากหนัง "นักล่าฝัน" เรื่องอื่นๆ คือ การนำเสนอของ เดเมียน ชาเซล และจุดพลิกผันของเนื้อเรื่อง การใส่รายละเอียดเบี้ยใบ้รายทางตลอดทั้งเรื่อง และการขับเน้น ไฮไลต์ จุดสำคัญ ที่ทำให้อารมณ์ของ "คนฟัง" พีคถึงขีดสุด

    นั่นทำให้ Whiplash ไม่มีอะไรธรรมดาเลย

    นีแมน เคยเป็นคนมีความฝัน เขาเรียบง่าย มองโลกสวยงาม ใช้ชีวิตแบบไม่คิดอะไรมากมายซับซ้อน เขาสนใจแค่ ดนตรีของเขา ไม้กลองในมือเขา และ เสียงกลองที่เขาได้ยิน มันมีแค่นั้น แล้วพอเขาเริ่มปิ๊งสาว ชีวิตดูเหมือนจะมีการลงรายละเอียดมากขึ้น หนังพยายามบอกแบบนั้น การใส่ตัวละครหญิงสาวเข้ามาในสงครามที่กำลังจะปะทุของ นีแมน และ เฟล็ทเชอร์ ทำให้เกิดไดนามิค มันเหมือนตัวโน๊ต เหมือนเสียงดนตรี ต้องมีสูงต่ำ มันถึงจะเกิดความแตกต่าง มันถึงจะกลายเป็นท่วงทำนอง ไม่มีชิวิตใดๆ ที่เล่นดนตรีแค่ คีย์เดียวทั้งชีวิต



    หากมีแต่การต่อสู่กับเฟล็ทเชอร์ ชีวิตนีแมนคงราบเรียบเกินไป เขาต้องเสียสละอะไรบ้างสิน่า อย่างเช่นความรักไง มันเป็นตัวเลือกที่ดี "ความรัก" นำมาเป็นประเด็นพลิกผันได้เสมอ แต่ในวิปแลช ความรักไม่ใช่เรื่องที่เป็นตัวขับเคลื่อนหนัง หนังขับเคลื่อนด้วย อารมณ์ และ พลัง เป็น 2 รูปแบบที่ไม่มีค่าวัดใดๆ และ ดาเมียนก็ถ่ายทอดมันได้หมดไส้หมดพุง

    แง่มุมหนึ่ง มีการเน้นย้ำเรื่อง "การถูกแม่ทิ้งไปตั้งแต่เด็ก" ของนีแมน ทำให้เขาโหยหาแม่ แต่ไม่ศรัทธาในความรัก ความต้องการจะพิสูจน์อะไรบางอย่าง บางทีอาจเป็นปมเรื่องแม่ เพื่อพิสูจน์ว่า ที่เขาทำและเขาเลือก มันถูกต้อง และต้องแน่วแน่กับมันให้ถึงที่สุด ทำให้เขาก้าวเข้าสู่โลกของเฟล็ทเชอร์ นำมาสู่เรื่องราวของสงครามทั้งหมด




    The Finale : คำตอบอยู่ในเนื้อเพลง

    สิ่งที่คนประทับใจใน Whiplash นอกจากจะเป็นเรื่องการต่อสู้ และฉากบีบคั้นอารมณ์จนแทบกลั้นหายใจแล้ว มันคือฉากการแสดงดนตรี

    อย่าง The Finale ฉากสุดท้าย คือ ฉากที่สุดยอดที่สุด แน่นอนไม่ต้องสงสัย

    แต่ระหว่างทาง มันสำคัญเสมอ

    คุณจำเรื่อง ไม้ของวิค เฟิร์ธ ที่เราบอกคุณไปตั้งแต่ต้นได้มั้ย ฟังดูตลก และมันอาจเป็นเรื่องที่คนดูแบบเราคิดมากไปเอง

    ทำไมไม้ถึงไม่หัก เดเมียน ผู้กำกับ อาจไม่ได้คิดอะไรเลยเรื่องไม้จะหักหรือไม่หัก ก็แค่ไม่หัก มันก็แค่นั้น ไม่มีความหมายอะไร

    แต่เราบอกคุณไปแล้ว

    "เมื่อมันใช่ มันก็เป็นไม้ของคุณ" สำหรับมือกลอง ไม้กลองคืออาวุธ สไนเปอร์ ต้องขัดปืนของเขาทุกวัน และตรวจเช็คสภาพความพร้อมของมันทุกวัน เพื่อที่จะให้งานของเขาออกมาดีที่สุดในทุกวัน สำหรับมือกลอง ไม้จึงสำคัญกับเขา หากคุณได้ดู Whiplash แล้ว คุณจำฉากที่ นีแมนลืมไม้กลองได้ไหม เขาต้องรีบกลับไปเอา แม้จะเสียเวลาโคตรๆ แต่ไม่มีไม้สำรอง หรือ ไม้กลองของใครก็ได้ สำหรับนีแมน มันต้องเป็นไม้ของคุณเองเท่านั้น

    คำวิจารณ์หนึ่งต่อหนังเรื่องนี้ ที่โจมตีว่า Whiplash เป็นหนังที่ไม่เคารพดนตรีแจ๊ซ และคนทำหนังเรื่องนี้ ไม่เข้าใจแก่นแท้ของดนตรี นั่นทำให้ ทำไมเราถึงต้องเล่าเรื่อง เดฟ โกรล ให้คุณฟัง เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว โลกนี้มีมาตรวัดเสมอ แม้แต่ในศาสตร์อย่าง "ดนตรี"

    แก่นของดนตรีที่ถูกอ้างถึงคือ "ดนตรี นั้นคือการแสดงที่ทำให้ผู้คนมีความสุข"

    ทำนองว่า "นักดนตรี คือนักสร้างความสุข" จุดประสงค์ของนักดนตรี คือ "ทำให้ผู้คนมีความสุข" แต่นีแมนกลับทำมันไปเพื่อการแข่งขัน ซึ่งนี่ไม่ใช่แก่นแท้ของดนตรี ไม่ใช่แก่นของแจ๊ซ ดนตรีที่สร้างความสุข นี่มันคือ หนังของสงครามระหว่างคน 2 คนไม่ใช่หนังเกี่ยวกับดนตรี




    นั่นถูกเป๊ะเลย

    เพราะอันที่จริง Whiplash ก็ไม่ใช่หนังที่เป็นหนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับดนตรีอยู่แล้ว เรื่องเกิดขึ้นในโรงเรียนแจ๊ซ แต่มันก็เป็นแค่เวที หรือ สมรภูมิหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมันก็สะท้อนกับในความเป็นจริง วงการดนตรีมันเป็นสมรภูมิของนักสู้ไปแล้ว มันอาจไม่มีการเล่นดนตรีเพื่อความสุขของผู้คนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป มันผูกพันธ์กับธุรกิจและการแข่งขันแบบแกะไม่ออกเสียแล้ว

    มีฉากหนึ่งที่นีแมน ต่อยกลองของตัวเองด้วยความบ้าคลั่ง นั่นทำให้นักวิจารณ์ที่ตำหนิหนังเรื่องนี้ บอกว่า นี่มันไม่สมจริงเพราะ นักดนตรี โดยเฉพาะมือกลอง เห็นความสำคัญของมือมากที่สุด เขาไม่ทำอะไรโง่ๆเช่นการต่อยกลองที่เสี่ยงให้มือเสียหายหรอก ก็อาจจะจริง แต่อย่าลืมว่า นี่คือหนังที่เป็นการต่อสู้ของมนุษย์ มันอาจไม่ต้องอ้างอิงความสมจริงในชีวิตนักดนตรีจริงๆอะไรขนาดนั้น

    แต่เราพบอะไรบางอย่างแล้ว

    มันไม่มีฉากไม้หัก แต่มีฉากกลองแตก คุณจำได้ใช่มั้ย ตอนที่เฟล็ทเชอร์สั่งให้ นีแมนเช็ดเลือดกับน้ำตาออกจากกลองของเขา และ นีแมน ยังมาทำลายกลองของตัวเองที่บ้านด้วย 2 ฉากนี้มันอาจไม่มีความหมายอะไรเลยก็ได้ เหมือนกับการไม่มีฉากไม้กลองหักนั่นแหละ



    แต่นี่คือการ คาดเดาไปเองของ "คนฟัง" แบบเรา เราได้เห็นเนื้อเพลง เราเลยพยายาม "อิน" ไปกับมันให้ได้มากที่สุด ...

    แม้มันไม่ชัดเจนนัก

    แต่ ..

    กลอง อาจเป็น ศรัทธาที่นีแมนมีต่อเฟล็ทเชอร์ เขาเคยเฝ้าทะนุถนอมมัน พยายามทำให้มันดีและสมบูรณ์แบบที่สุด สุดท้าย มันก็ผุกร่อน พังทะลายได้ ไม่ว่าจะเกิดจากตัวนีแมนเอง หรือ เฟล็ทเชอร์เป็นผู้ทำลายมันเอง

    ไม้กลอง คือ จิตวิญญาณของนีแมน มันถูกหลงลืม แต่ไม่เคยถูกทอดทิ้ง ไม่ว่าจะถูกทำลายไปมากแค่ไหน แต่มันก็จะยังคงอยู่กับคุณเสมอ

    สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เรากำไว้ในมือ ก็คือ จิตวิญญาณของเราเอง ไม่ใช่ศรัทธาต่อใครๆทั้งสิ้น

    นั่นอาจเป็นคำเฉลยของตอนจบ




    รู้แล้วใช่ไหม ทำไมมันต้องเป็น Whiplash

    7/4 ไป 14/8 จำได้ใช่มั้ย เพราะมันเนิบนาบเพลิดเพลินในตอนแรก แต่บ้าคลั่งในตอนจบไงล่ะ

    และ

    รู้แล้วใช่ไหม ทำไมต้องเป็นไม้กลองของ วิค เฟิร์ธ

    ก็เพราะว่า .. มันแข็งสุดๆเลยน่ะสิ



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in