เราทุกคนทราบดีว่า 'ร่างกาย' และ 'จิตใจ' สัมพันธ์กันอย่างแยกจากกันไม่ได้
ถ้าไม่นับรวมเรื่องพันธุกรรม สภาพแวดล้อมหรือวิถีชีิวิตที่เราใช้
"สุขภาพจิตดี" ย่อมส่งผลให้การทำงานของร่างกายเป็นไปด้วยดี
เมื่อใดก็ตามที่จิตใจไม่สบาย เกิดความเครียด ความทุกข์ ความเศร้า ความกังวลใจ
ร่างกายเราก็ได้รับผลนั้นเช่นกัน ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
การสั่งสมความทุกข์มาเป็นระยะเวลานาน เป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ
เพราะความเครียด ความวิตกกังวลที่เรื้อรังเป็นเสมือนพิษที่สะสมอยู่ในตัวเรา
มันก่อให้เกิดการอักเสบและทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
จากงานวิจัยและการค้นพบที่น่าสนใจ ช่วงทศวรรษที่ 90 โดยนายแพทย์ Vincent J. Felitti และคณะ
พบว่า ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กมีความเชื่อมโยงกับความเจ็บป่วยทางกายเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
ไม่เพียงแต่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ประสบการณ์ในวัยเด็กยังเป็นตัวกำหนดชีวิต ความสัมพันธ์ การงาน และความสำเร็จในอนาคตของเราอีกด้วย
ในทีนี้เราจะมุ่งไปที่ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก
โดยเฉพาะบาดแผลทางอารมณ์ ปมในใจที่เกิดขึ้นจากวิธีที่เราถูกเลี้ยงดูและเติบโตมา เช่น
-พ่อแม่ที่ทะเลาะกันบ่อยๆ
-การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เช่นพ่อแม่หย่าร้าง หรือการจากไปอย่างกะทันหันของบุคคลสำคัญ -คนในครอบครัวติดเหล้า/ยา
-มักถูกตำหนิ ดุด่า ทำให้อับอาย
-ถูกกลั่นแกล้งรังแก
-พ่อแม่เย็นชาและไม่ตอบสนองทางอารมณ์
-ไม่ได้รับความรักความใส่ใจ หรือถูกทอดทิ้งเพิกเฉย
-พ่อแม่ไม่มั่นคงทางอารมณ์ เช่น ฉุนเฉียวง่าย ขี้หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน
-การถูกทารุณกรรม
-เหตุการณ์การสะเทือนใจครั้งรุนแรง
เป็นต้น
เหตุการณ์อันน่าเจ็บปวดในวัยเด็กเหล่านี้ ค่อยๆหล่อหลอมและพัฒนาตัวตนของคนๆหนึ่งขึ้นมา
เพราะในช่วงที่เด็กกำลังโต สมองพวกเขากำลังพัฒนา
การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความเครียด ความทุกข์ใจ ความเจ็บปวด ความอึดอัด วิตกกังวลอยู่เสมอ
สมองจะถูกกระตุ้นและตอบสนองซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้ผลิตฮอร์โมนความเครียด สารเคมีที่เป็นพิษออกมา เพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์เช่นนี้อยู่ตลอดเวลา ถือเป็นการตั้งโปรแกรมหรือสร้างทางเดินประสาทใหม่ๆ
การเผชิญความเครียดเรื้อรังที่คาดเดาไม่ได้ตลอดเวลา ทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทถูกรบกวน และวงจรการเชื่อมต่อในสมองได้รับผลกระทบ เป็นผลให้สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ ความยับยั้งชั่งใจ การตัดสินใจ เสียหาย ก่อเกิดเป็นปัญหาด้านอารมณ์ในวัยผู้ใหญ่ เช่น มีอารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้า ขี้กลัว ไม่สู้ชีวิต และไม่อาจใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพ รวมถึงมีปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมา
สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองในวัยเด็กนี้เอง จะกำหนดการทำงานของศูนย์ควบคุมนี้ไปตลอดชีวิต
เราจึงโตมาเป็นคนแบบที่เราเป็น มีนิสัยและบุคลิกภาพดังที่เห็น
นี่คือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของความคิดและพฤติกรรมของเรา
อย่าลืมว่าสิ่งที่แสดงออกมาให้เห็นนั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของทั้งหมดเท่านั้น
เสมือนส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่เราเห็นด้วยตา แต่ส่วนฐานที่เรามองไม่เห็นนั้นช่างใหญ่โตมโหฬาร
อันเป็นส่วนของจิตไร้สำนึกที่ฝังลึกทับซ้อนกันมาอย่างเหนียวแน่นและยาวนาน
ประสบการณ์ในวัยเด็กอาจเป็นตัวกำหนดชีวิต ความสัมพันธ์ การงาน และความสำเร็จในอนาคตของเรา แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดเด็ดขาด เพราะความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน และวัฒนธรรม (สภาพแวดล้อม) ที่ได้รับในภายหลังก็มีส่วนเสริมเติมเต็มต่อการก่อร่างสร้างตัวตนไม่แพ้กัน และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่ได้ผลและยั่งยืน ก็คือ การค้นหาต้นตอของปัญหา และเข้าไปแก้ไขให้ตรงจุดนั่นเอง
Reference
-Childhood Disrupted, Donna Jackson Nakazawa
-http://www.srithanya.go.th/srithanya/files/ECT/ect4-610319.pdf
...
By Messy
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in