คำเตือน: มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง
เมีย แม่ ลูกสาว
เป็นสามบทบาทที่ผู้หญิง "ต้องเป็น"
โดยยึดโยงกับครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมที่ "พื้นฐาน" ที่สุด
และความเป็น "เมีย" "แม่" "ลูกสาว" ที่ดี คือการรับผิดชอบคนในบ้าน
โดยไม่มีปากไม่มีเสียง ไม่มีสิทธิที่จะสู้หากครอบครัวเป็นมลพิษทางจิตใจ
และ "เพียบพร้อม" ด้วยคุณสมบัติทุกประการเท่าที่ความดีจะครอบคลุมถึง
"ตึกแพฺนกโกนเสฺร็ย" (ទឹកភ្នែកកួនស្រី, แปล: น้ำตาลูกสาว)
เป็นเรื่องสั้นจากปลายปากกาของ เกา สุกเจีย นักศึกษาอักษรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ
สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของ "ผู้หญิง" กัมพูชาในวันที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสมัยใหม่
"ฉัน" ซึ่งเป็นตัวละครผู้เล่าเรื่อง (Narrator) ของเรื่องนี้เป็นลูกสาวคนเดียวของพ่อแม่ ผู้มีความฝันอยากเรียนต่อเพื่อมาเป็นนายธนาคาร ทำงานในเมืองหลวงอย่างพนมเปญเพื่อจุนเจือครอบครัว และหวังว่าสักวันจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตน แต่กลับไม่ได้ทำตามฝันด้วยความเป็น "ลูกสาว" "เมีย" และ "แม่" ของครอบครัว
ความกล้ำกลืนฝืนทนของ "ฉัน" มีสาเหตุสำคัญที่สุดมาจากความขัดแย้งที่เกิดจากค่านิยมในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ผู้หญิงในสังคมแบบเดิมไม่จำเป็นต้องได้รับการศึกษา (มาก) ความเป็นผู้ใหญ่คือการออกเรือนเป็นฝั่งเป็นฝา เช่นเดียวกับสังคมไทยที่ "ความโสด" เป็นปัญหา "ความเก่ง" ของผู้หญิงเป็นตัวเลือกที่ถูกผู้ชายตัดทิ้ง ต่อมาเมื่อสังคมขยายตัว เปิดรับวัฒนธรรมมากขึ้น รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะ "แม่บ้าน" แต่สามารถเป็นอะไรก็ได้ตามที่ใจปรารถนา การเข้าถึงการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่พวกเธอสามารถเข้าถึง "ความปรารถนา" เหล่านั้นได้ การปะทะกันของค่านิยมที่แตกต่างกันนี้เองที่บีบให้ผู้หญิงต้อง "เลือก" ที่จะเดินตามความฝัน หรือเดินตามสิ่งที่สังคมยอมรับนับถือ
ขณะเดียวกัน เกาได้เปรียบเทียบความทุกข์ของตัวละครฉันกับ "ฤดูแล้ง" ที่หากมีฝนในหน้าแล้งก็เป็นสิ่งที่แปลกออกไป เช่นเดียวกับชะตาชีวิตของมนุษย์ที่ผันแปร ไม่สามารถควบคุมได้ ยิ่งเกิดเป็นหญิง ที่ชะตาชีวิตไม่เคยอยู่ในกำมือของตน หากแต่ตกอยู่กับการผูกพันสถานะทางสังคม ยึดโยงอยู่กับเพศตรงข้ามโดยมิอาจข้ามเส้นสถานะนี้ออกไปได้
"ตึกแพฺนกโกนเสฺร็ย" จึงเป็นเสียงสะท้อนของผู้หญิงที่จะไม่ยอมให้ใครมาขีดเส้นกำหนดชะตาชีวิตของตน เลือกจะทำตามความฝันของตนที่ "สดใส" และยังเป็นเสียงที่ส่งไปถึงคนเป็นพ่อแม่ และสังคมกัมพูชาว่า ถึงเวลาแล้วที่จะ "เปิดใจ" กับความเท่าเทียม
อย่างน้อยที่สุด คือ ความเท่าเทียมในบทบาททางเพศ
ที่จะไม่จำกัดความสามารถของใครไว้เพียงเพราะเพศกำเนิด
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in