เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CAMBODIAN CULTURE JOURNALlinwawrites
สัปดาห์ที่ 1: กัมพูชาเท่าที่รู้จัก
  • "พี่ ๆ คะ มีเจนแลง*อะไรแนะนำมั้ยคะ"
    "ไปลงเขมรเลยค่ะ ดี พี่บอกเลย"

    นี่คือจุดเริ่มต้นในการ "รู้จัก" ภาษาและวัฒนธรรมเขมรอย่างจริงจังของฉัน

    ที่ผ่านมา ฉันรู้จัก "กัมพูชา" แบบผ่าน ๆ
    อย่างที่ตอนอยู่ประถม มีกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร มีการปะทะกันบริเวณชายแดน

    อย่างที่ช่วงใกล้ ๆ ปี 2558 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประชาคมอาเซียน
    มีเรียนวิชาอาเซียนศึกษา ที่มุ่งสอนให้เข้าใจวัฒนธรรมพื้นฐานของชาติต่าง ๆ ในอาเซียน

    กัมพูชาเข้าร่วมอาเซียนเมื่อปี 2542
    เป็นหนึ่งในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง มีแหล่งน้ำสำคัญที่เรียกว่า "โตนเลสาบ"
    เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เคยมีกรณีพิพาทหลายครั้ง
    มีแหล่งการค้าสำคัญอย่างอรัญประเทศ หรือเคยได้ยินว่าถ้าจะเล่นการพนัน
    ก็แค่ข้ามฝั่งไปเล่นบ่อนที่ปอยเปต
    มีนายกรัฐมนตรีชื่อฮุนเซน ที่ครองอำนาจในกัมพูชามาอย่างยาวนาน

    หรือถ้าร่วมสมัยขึ้นมานิดนึง
    ก็นึกถึงโชว์ stand up comedy ที่เอาคำว่า "เซราะกราว" (เขมร: ស្រុកក្រោ)
    มาใช้ ในความหมายว่า "บ้านนอก" หรือ "เชยสุด ๆ "
    หรือภาพยนตร์ที่ Angelina Jolie กำกับ ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในยุคเขมรแดง
    ซึ่งเป็นสื่อที่ครูมอบหมายให้ไปดูเพื่อทำงานในวิชาสังคมศึกษา

    นี่แหละ กัมพูชาเท่าที่ฉันรู้จักก่อนเข้ามหาวิทยาลัย
  • พอเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย วิชาภาษาเขมรเป็นอีกวิชาหนึ่งที่น่าสนใจ

    วันหนึ่ง ขณะเรียน อาจารย์พูดถึงคำว่า "គេង" (เกง) ที่แปลว่านอน
    แล้วเป็นคำเดียวกับคำว่า "เค้ง" ที่ผู้ใหญ่ชอบพูดเมื่อเด็กเล็กนอน
    หรือ คำว่า ប្រហើត (ปฺรอเหิด) 
    ที่คล้ายคำถิ่นเหนือตอนล่าง - กลางที่หมายถึง "ทอดมัน"

    นี่ฉันเติบโตมากับคำพวกนี้เลยนี่นา

    ความสัมพันธ์ของภาษาเขมรกับไทยใกล้ตัวกว่าที่คิดเยอะ

    นี้เองจึงเป็นเหตุให้รู้สึกว่า "กัมพูชา" มีอะไรที่น่าสนใจมากมาย 
    ทั้งในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้าน และอู่อารยธรรมโบราณที่น่าศึกษายิ่ง
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in