ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แก่งละว้า กับ ลุงเปี๊ยก ประธานสมาคมเครือข่ายแก่งละว้า :
ร่วมเรียนรู้และเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แก่งละว้า กับ ลุงเปี๊ยก ประธานสมาคมเครือข่ายแก่งละว้า ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาด้วยวิถีและประสบการณ์อันพรั่งพรู ในฐานะผู้นำเครือข่ายแก่งละว้ากับปัญหาน้ำในพื้นที่ ที่ยังคงต้องการความช่วยเหลือ
"แต่ก่อนเขาบอกจะทำอะไร เราชาวบ้านก็ยอมทำตาม
เขาไม่มีการขอความเห็นหรือเสียงของชาวบ้านเลย
เพราะเขาชอบบอกว่า หลวงจะทำนะ ของหลวงนะ
เราชาวบ้านก็ไม่กล้าร้องเรียนอะไร"
ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่ยังคงสะสมและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้างทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่ส่งผลทำให้น้ำแข็งทั่วโลกละลายอย่างรวดเร็วมากขึ้น และในประเทศไทย ปัญหาสิ่งแวดล้อมเองก็มีอยู่ทั่วเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งมีอีกหนึ่งพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ โดยมีความต้องการที่จะได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด คือ พื้นที่ แก่งละว้า จังหวัดขอนแก่น
ลุงเปี๊ยก ประธานสมาคมเครือข่ายแก่งละว้า (ซ้าย)
เดิมพื้นที่แก่งละว้าเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำที่สำคัญของหมู่บ้าน ทั้ง 14 หมู่บ้าน ภายในชุมชนบ้านไผ่เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ต่อมาได้มีการเวนคืนแก่งละว้าจากกรมชลประทานและได้มีกาสร้างคันดินกั้นน้ำซึ่งการสร้างคันดินดังกล่าวเป็นการปิดกั้นทางน้ำไหลไม่ให้เป็นไปตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้งจากการกักเก็บน้ำได้น้อยลงจากเดิมเป็นเหตุให้ทำการเกษตรไม่ได้ เป็นที่กักขังของน้ำเมื่อมีการเอ่อไหลน้ำจากแม่น้ำชี จนเกิดความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน อีกทั้งยังทำให้ระบบนิเวศที่มีอยู่เดิมเลวลง ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขที่เพียงพอจากทางภาครัฐ ทำให้ชาวบ้านยังคงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองโดยการรวมกลุ่มกับชาวบ้านในหลายหมู่บ้านเพื่อร่วมกันฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาดังเดิม
ภาพคันกันดินที่แก่งละว้า จังหวัดขอนแก่น
"ก่อนเดิมพื้นที่แก่งละว้าเป็นพื้นที่ของชาวบ้านที่ไว้ทำนา แต่หลังจากนั้นพื้นที่ตรงนี้ก็ถูกเวนคืนเป็นที่ดินของรัฐ แต่พอรัฐเอาไปเขาก็เอาไปสร้างคันดิน กั้นทางน้ำ ทำให้ทางเข้าออกของน้ำมีปัญหา ปกติน้ำท่วม 1-2 สัปดาห์น้ำก็จะลดลงไป จากนั้นข้าวก็ดีดตัวโผล่ออกรวงได้ น้ำก็ไปตามระบบนิเวศของมัน แต่พอถูกปิดด้วยคันดินนี้ น้ำเข้าออกลำบาก น้ำเข้ามาขังเกือบ 1-2 เดือน ปกติชาวบ้านเราก็ทำนาปี แต่พอเกิดปัญหาต่างๆขึ้นมาก็ทำได้แค่นาปรัง แต่คุณภาพมันก็ไม่ดีเท่าการทำนาปี เอาข้าวไปขายก็ได้รายได้ไม่พอ ชาวบ้านเดือดร้อนเหมือนกันหมด"
...
..
.
"จนมาได้รับความรู้ต่างๆเราถึงหูตาสว่าง การใช้สิทธิของตัวเองต่อสู้เพื่อธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน"
"จากนั้นเราก็รวมกลุ่มกันเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ก็มีหน่วยงานกรมส่งเสริมในการให้ความรู้ ส่วนมากก็เป็น NฺGO เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิของพวกเรา จะต้องต่อสู้อย่างไร ในสมัยก่อนก่อนพวกเราชาวบ้านก็มีความเชื่อว่าอย่าไปยุ่งกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนะ คิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีบารมีในตัวเอง อย่าไปก้าวร้าวหน่วยงานราชการนะ เขาก็ขู่ว่าจะดำเนินคดีนะ เราก็ชาวบ้านก็กลัว ถูกปลูกฝังความเชื่อแบบนี้ลงไป จนมาได้รับความรู้ต่างๆ เราถึงหูตาสว่าง การใช้สิทธิของตัวเองต่อสู้เพื่อธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน"
ภาพบริเวณพื้นที่แก่งละว้า จังหวัดขอนแก่น
"เราต้องเข้าใจระบบนิเวศของแก่งละว้าก่อนว่า แก่งละว้ามันคือที่ราบลุ่ม ที่ต่ำ ในเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ มันคือต่ำที่สุด ฉะนั้นน้ำจากทุกพื้นที่บริเวณรอบๆก็จะไหลมารวมกันที่แก่งละว้าแห่งนี้ หลักๆก็มาจากแม่น้ำชี แต่จริงๆแล้วปัญหาของเรื่องน้ำเราอาจจะต้องมองในหลายๆมิติก่อน
1) เกิดจากปัญหาตามฤดูกาลต่างๆหรือไม่ ถ้าหน้าแล้ง มันก็คงต้องแล้งแหละ หรือพอหน้าฝน เราก็มีน้ำ ทุ่งข้าวเราก็สวยงามอย่างที่ทุกคนเห็น
2) ปัญหาจากเรื่องการพัฒนาเหมือนที่ปัญหาน้ำท่วมที่บ้านไผ่มันเกิดจากอะไร ทั้งๆที่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในรอบ100 ปี ซึ่งอาจจะต้องลองไปหาคำตอบดูว่าจริงๆต้นตอของปัญหามาจากอะไร อาจจะมาจากปัญหาการถมที่ดินหรือไม่ ปัญหารถไฟรางเบาหรือไม่ เพราะรถไฟรางเบาทำให้เส้นทางน้ำถูกปิดกั้นไม่สามารถไหลไปทางไหนได้ จนเกิดการกระจุกตัวของน้ำหรือไม่
3) เขื่อน เป็นปัญหาหลัก อย่างที่เราเคยเห็นกันอยู่ว่าเขื่อนส่งผลกระทบอย่างมากอย่างไรบ้าง"
ทุ่งนาข้าวที่บริเวณแก่งละว้า จังหวัดขอนแก่น
"สิทธิของเรามีไหม ไม่ให้เขาทำอย่างนี้
ชาวบ้านเนี่ยถูกเอาเปรียบหลายด้านเลย
มันหนักเกินไปที่ชาวบ้านจะยอมรับครับ"
"สำหรับปัญญาที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นที่แก่งละว้า อาจจะเกิดเขื่อนขึ้นที่ต้นน้ำของแก่งละว้า ที่บักอันนั้นอะ บักธรรมนัสมันมาดูที่อำเภอชนบท พอมาดูกันลึกๆจริงๆแล้วรัฐบาลชุดนี้ต้องการจะผลักดันให้เกิดเขื่อนขึ้นอีกจำนวนมากในภาคอีสาน ซึ่งในด้านมิติการแย่งทรัพยากรทางธรรมชาติ อย่างที่กำลังเกิดข้อพิพาทกันอยู่ในขณะนี้ที่บ้านไผ่กำลังจะมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นมา เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำจากแก่งละว้าจากโรงงานและหมู่บ้าน ซึ่งแม้โรงงานจะบอกว่าสร้างเขื่อนเก็บน้ำไว้ใช้ส่วนตัว แต่เขื่อนของโรงงานไปตั้งดักทางน้ำผ่านทำให้น้ำส่วนหนึ่งของหมู่บ้านก็ต้องถูกแบ่งไปให้โรงงาน ซึ่งเป็นน้ำของแก่งละว้า เอ้ย! อันนี้มันสิทธิของเรา อย่างถ้าเกิดปีไหนน้ำมาน้อย เขาก็ดักน้ำของเราหมดแล้วเราจะใช้น้ำที่ไหน เราก็อยากรู้ว่าทำไมเขาต้องมาเอาเปรียบเราอะ ซึ่งเขาเป็นทุนอะ ทำไมเขาต้องมาเอาเปรียบชาวบ้าน ซึ่งไม่มีไม้มือ ไม่มีมันสมอง เขามีทุน มีกำลัง สิทธิของเรามีไหม ไม่ให้เขาทำอย่างนี้ ชาวบ้านเนี่ยถูกเอาเปรียบหลายด้านเลย มันหนักเกินไปที่ชาวบ้านจะยอมรับครับ"
ภาพบรรยากาศในขณะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับลุงเปี๊ยก
พื้นที่แก่งละว้า จังหวัดขอนแก่น ก็แสดงให้เห็นพลังที่สำคัญที่สุดคือพลังสิทธิของคนในชุมชนที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง สิทธิของชุมชน ที่มีต่อธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกหน่วยงานภาครัฐควรรีบให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหา เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ด้วยวิธีการที่ถูกจุด ครอบคลุม และยั่งยืน เพื่อรักษาระบบนิเวศที่งดงามที่แก่งละว้าไว้ให้คงอยู่ไปอีกนานกับชาวบ้านที่แก่งละว้า นอกจากนี้ยังมีหลายพื้นที่ที่ยังต้องการได้รับการแก้ไขทางด้านสิ่งแวดล้อมอยู่มาก จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันเป็นกระบอกเสียงและช่วยกันตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อเราทุกคน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in