หรือ, แสร้งทำเป็นฉงน —
‘ทำไมอะไร?’‘ทำไมยังไม่โทรไปหาโจ?’ทำไมยังไม่โทรไปปลอบภรรยาของ
จิมมี่
เพื่อนคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในชีวิตที่หายไป
นั่นคือสิ่งที่เพ็กกี้ถามออกมา
แต่ในใจผู้ชม,
หรือแม้แต่ลึกๆ ในใจของเพ็กกี้เองแล้ว
คำถามที่แท้จริง, คงเป็น,
‘ทำไมต้องฆ่าจิมมี่?’
ทำไมถึงทำแบบนั้นได้ลงคอ?
ทำไมกัน?
—เฮ้ นายทำร้ายจิตใจเราขนาดนี้ได้ยังไงวะ?
สำหรับคนดูแล้ว,
แฟรงค์ ไม่มีคำตอบที่ดีพอให้หรอก
แต่บางทีนะ, แค่บางที,
คนที่ใจสลายที่สุดอาจเป็นแฟรงค์ก็ได้
เป็นแฟรงค์เอง,
ที่ต้องถามตัวเองเรื่องนั้นไปตลอด
จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต
และชีวิตของ
'แฟรงค์ ชีแรน' (โรเบิร์ต เดอ นีโร) ก็คือสิ่งที่
The Irishman ติดตาม ตั้งแต่เริ่มตั้งตัว ขาขึ้น ไปจนถึงขาลง — จากคนขับรถบรรทุกขนส่งเนื้อสเต็ก สู่มือสังหารตามใบสั่งของ
'รัสเซลล์' (โจ เพชชี) มาเฟียทรงอิทธิพลตระกูลบัฟฟาลิโน่ จนวันหนึ่งสายสัมพันธ์กับเจ้าพ่อองค์กรอาชญากรรมนั้นได้นำพาเขาไปรับใช้เป็นบอดี้การ์ดข้างกายบุคคลสำคัญ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นรองแค่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในยุคนั้น อย่างประธานสหภาพแรงงานรถบรรทุก
‘จิมมี่ ฮอฟฟา’ (อัล ปาชิโน)แฟรงค์กับจิมมี่สนิทกันอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่น่าแปลกใจเท่าไรในเมื่อทั้งคู่ต้องนอนในห้องเดียวกันเป็นประจำ
(—ซึ่งก็ถือว่าสมเหตุสมผลในทางความเป็นจริง แน่ละ แฟรงค์เป็นบอดี้การ์ด จะให้ไปยืนเฝ้าหน้าประตูหรือโถงทางเดินเหมือนในหนังทั่วไป เกิดคนร้ายบุกมายิงทางหน้าต่างจะมีประโยชน์อะไร?)คืนแรกของการทำหน้าที่,
แฟรงค์นอนเฝ้าบนโซฟาหน้าห้อง
จิมมี่แง้มประตูเอาไว้ ไม่ปิดสนิท
แน่นอน, คงเพื่อความรู้สึกปลอดภัย
หากเกิดอะไร แฟรงค์จะได้เข้ามาทัน
แต่อีกนัยหนึ่ง, ก็เหมือนการเปิดใจ
ให้ใครอีกคนเข้ามาปกป้องตน, แทนตน
จิมมี่ได้หลับสนิท, ฝากชีวิตไว้ในมือแฟรงค์
ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นก่อร่างจากตรงนั้น
รับใช้ด้วยจงรักภักดี จนกลายเป็นดั่งพี่น้อง
ผ่านวันเวลา ถักทอมิตรภาพขึ้นมาอย่างมั่นคง
จนเรางงว่ามันไปพังทลายลงตอนไหน?หรือความสัมพันธ์ในโลกที่มีอำนาจเป็นตัวแปรสำคัญ แท้จริงแล้ว...มันเปราะบางมาโดยตลอด?
The irishman เป็นหนังที่แตกต่างไปจากหนังมาเฟีย/ม็อบสเตอร์เรื่องอื่นๆ ของสกอร์เซซีอยู่มาก และแตกต่างจากหนังแนวนี้ของผู้กำกับคนอื่นด้วยเช่นกัน มันไม่ได้ดุเดือดเลือดร้อนเอะอะยิงเก็บเอาสนุก หรือหักเหลี่ยมเฉือนคมโหดเหี้ยมเยียบเย็นมีชั้นเชิงแบบ
The Godfather การขับเคี่ยว ต่อรอง คานอำนาจ ประสานประโยชน์ของตัวละครในโลกมาเฟียของเรื่องนี้เป็นไปอย่างสุขุม แยบยล ให้ความรู้สึกสมจริง แถมจริง ๆ แล้ว สำหรับเรา
The Irishman แทบจะเป็นหนังชีวิตมากกว่าเสียด้วยซ้ำ แค่มีตัวละครและพื้นหลังเป็นโลกของมาเฟียเท่านั้นเอง
เพราะสิ่งที่ The Irishman สำรวจขุดค้นได้ลุ่มลึกยิ่งกว่าหนังมาเฟียเรื่องไหนๆ ก็คือ ชีวิต
ช่วงชีวิตของชายคนหนึ่ง
ทหารผ่านศึก
คนขับรถบรรทุก
ลูกน้องมาเฟีย
มือปืน
บอดี้การ์ด
พ่อ
เพื่อน
คนทรยศ
มนุษย์
หนังใช้เวลาร่วมสองชั่วโมงกว่าไปกับการพัฒนาตัวละครหลักอย่างแฟรงค์ ค่อยๆ ผูกโยงเรื่องราว สร้างความสัมพันธ์ยาวนานหลายปีระหว่างแฟรงค์กับเจ้าพ่อรัสเซลล์ และกับจิมมี่ โดยมีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์การเมืองของอเมริกาและเกมการรักษาอำนาจของเครือข่ายมาเฟีย-สหภาพแรงงาน สอดแทรกด้วยความสัมพันธ์ในและระหว่างครอบครัวของตัวละครหลักทั้งสามไปในระหว่างทาง การเป็นผู้ติดตามดูแลรับใช้ปกป้องคุ้มครองทำให้แฟรงค์กลายเป็นเพื่อนคู่คิดที่จิมมี่ไว้ใจที่สุดได้ไม่ยาก
และในภาพยนตร์ที่เหมือนจะพาเราไปตามหามนุษยธรรมในกลุ่มคนนอกกฎหมายซึ่งเป็นเหมือนตัวร้าย เป็นภัยของสังคม ว่าแท้จริงแล้วเขาเหล่านั้นก็แค่คนธรรมดา หาเลี้ยงครอบครัว รู้จักมิตรภาพ ความรัก ความจริงใจเหมือนกันนั้น,
อะไรจะแสนเจ็บปวด น่าเศร้า และหักหลังเราได้โหดร้ายทารุณไปกว่า การต้องมาค้นพบเอาในชั่วโมงสุดท้ายของหนัง...ว่ามันอาจไม่มีอยู่จริง
และบางทีที่เราใจสลายมาก อาจเป็นความผิดของเราเองที่คาดหวังในตัว 'มนุษย์' คนหนึ่งมากเกินไปก็ได้ แต่เราแค่ไม่(ยอม)เข้าใจจริง ๆ ว่าเพราะอะไร...คนเราที่แสดงออกว่ารัก ว่าห่วงใย เป็นยิ่งกว่าเพื่อน เป็นเสมือนครอบครัว อยู่ในชีวิตกันและกันมาแทบจะครึ่งอายุขัย สุดท้ายจึงทำร้ายกันได้? —ตัดความซื่อสัตย์ต่อองค์กรมาเฟียและเหตุผลความจำเป็นเรื่องความขัดแย้งออกไป เพราะคำถามไม่ใช่ 'ทำไมถึงทำ' แต่ 'ทำไมทำได้ลงคอ?' แน่นอน เหตุผลให้ลงมือมีอยู่แล้ว วงการแบบนี้ หากไม่ทำตามคำสั่งอาจเป็นแฟรงค์เองที่ถูกเก็บ ไหนจะผลกระทบต่อพวกพ้องมาเฟียที่อาจตามมาอีกมากมาย
แต่สุดท้ายคนที่จะตัดสินใจเหนี่ยวไกก็คือแฟรงค์เท่านั้น
แล้วมิตรภาพ ความผูกพันตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาคืออะไร?
มันไม่มีค่าพอจะรั้งปลายนิ้วเขาออกจากไกปืนเลยหรือ?
กับคนที่ให้ทั้งโอกาส ให้ความก้าวหน้า ให้ใจ
ให้เป็นเหมือนพี่น้อง, ไม่ใช่เพียงลูกน้องน่ะ
จำได้ไหม?
คืนแรกที่แฟรงค์ทำหน้าที่บอดี้การ์ด,
จิมมี่แง้มประตูเอาไว้ เพื่อจะรู้สึกปลอดภัย
ฉากจบเรื่องที่แฟรงค์ขอให้บาทหลวงแง้มประตูไว้, บอกใบ้เป็นนัย ๆ ว่าเขายังคงหวนนึกถึงจิมมี่ ผู้ซึ่งเคยทำเช่นนั้นเป็นนิสัย
จิมมี่แง้มประตูเอาไว้ให้แฟรงค์เสมอ
แต่แล้ว, กลับเป็นแฟรงค์เอง,
ที่แทรกปืนผ่านช่องว่างนั้นเข้าไป
จิมมี่ ฮอฟฟาผู้ไม่เคยอดทนรอใครเกินสิบนาที นั่งรออยู่ในร้านตามนัดกว่าสี่สิบนาทีเพราะแฟรงค์บอกว่าตนจะมาตามเวลา เมื่อรถคันที่จะพาเขาออกเดินทางไปสู่จุดจบมาถึง จิมมี่ไม่ลังเลหรือเอะใจแม้แต่น้อยที่จะก้าวขึ้นไป เพียงเพราะแฟรงค์ ชีแรนนั่งอยู่ด้วยในนั้น ปากบ่นกระปอดกระแปดที่มาสายบ้างไปตามประสาจิมมี่ แต่ไม่มีสักเสี้ยววินาทีเลยที่สีหน้าหรือแววตาของเขาจะแสดงความสั่นคลอนไม่มั่นใจในตัวแฟรงค์
จิมมี่เชื่อใจแฟรงค์เสมอ
แต่แล้ว, กลับเป็นมือของแฟรงค์เอง
ที่ลั่นไก
ใจร้าย...ใจร้ายมาก โดยเฉพาะผู้กำกับและผู้เขียนบท ใจร้ายมากจริง ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกบีบหัวใจเพราะเดาได้ว่าเรื่องราวจะลงเอยอย่างไรตั้งแต่เนิ่น ๆ ความนัยว่าจิมมี่ ฮอฟฟาต้องตายด้วยน้ำมือแฟรงค์นั้นปรากฏเป็นลางตั้งแต่หนังเริ่มชั่วโมงสุดท้าย หลายคนอย่างเรารู้แน่แก่ใจอยู่แล้วเพราะอ่านข้อมูลว่าภาพยนตร์สร้างมาจากหนังสือ 'I Heard You Paint Houses' ซึ่งแฟรงค์ตัวจริงสารภาพไว้เองว่าเป็นคนฆ่าจิมมี่(แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงอยู่บ้างว่าเชื่อได้แค่ไหนก็ตาม) แต่ถึงอย่างนั้น ความรุนแรงที่หนังกระทำต่อจิตใจเรามันกลับไม่ได้ถูกลดทอนลงไปเลย ตรงกันข้าม ยิ่งรู้มามากเท่าไร พอได้สัมผัสกับหูกับตาเข้าอย่างจังหลังจากผ่านการรับรู้เรื่องราวความสัมพันธ์นี้มาเป็นชั่วโมง ๆ มันยิ่งเจ็บปวดรวดร้าวมากเท่านั้น
ความจริงที่ว่าแฟรงค์พยายามช่วยจิมมี่สุดแรง ด้วยการพูดเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เรายังเชื่อได้ว่าที่ผ่านมาแฟรงค์ก็รักและจริงใจกับจิมมี่นั่นแหละ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ยิ่งวนกลับไปตอกย้ำแผลเดิมว่า ถ้ามิตรภาพนั้นมันจริง ทำไมถึงฆ่ากันได้ลงคอ? ไม่สมเหตุสมผลเลยใช่ไหม เป็นอีกครั้งที่หนังสักเรื่องหนึ่ง(แน่นอน--ไม่ใช่เรื่องแรก)ทำให้เราต้องตั้งคำถามเก่า ๆ ขึ้นมาในจิตใจ —ทำไมหลายครั้งคนที่แสดงออกว่ารักกันจึงหักหลังกัน? หรือเพราะเป็นคนใกล้ตัวที่รักกันนี่แหละ จึงทำร้ายกันได้เจ็บที่สุด?
หรือเราคงต้องยอมรับ
ว่านี่แหละธรรมชาติของมนุษย์
ไม่ว่ามาเฟีย หรือคนทั่วไป
ไม่มีหรอกมิตรแท้, ศัตรูถาวร
บางทีมันอาจไม่เกี่ยวกับ มิตร หรือ ศัตรู เลยก็ได้
บางครั้งเราก็แค่ต้องเลือกบางอย่างมากกว่าบางคน ใช้เหตุผลมากกว่าความรู้สึก ถามแต่สมองจนมองข้ามหัวใจ (แม้แต่รัสเซลล์ในบั้นปลายก็ยังยอมรับ ว่าตนพลาดพลั้งไป, "ฉันเลือก 'พวกเรา' มาก่อนจิมมี่" , —เลือกผลประโยชน์ขององค์กรของตน มากกว่าชีวิตคนทั้งคนที่เรียกว่าเพื่อน)
บางครั้งเราก็แค่เลือกเรา, มากกว่าคนที่เราคิดว่ารัก และแฟรงค์ก็แค่เลือกในสิ่งที่ตัวเองยึดมั่น มากกว่าจิมมี่
และบางครั้ง, หลายครั้ง...
ไอ้การเผลอทำมนุษยธรรมหล่นหายนั่นละ
ก็คือส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์
อาจมองเป็นข้อบกพร่อง
หรือเป็นแค่ธรรมชาติ
สุดท้ายเราก็ได้แต่ตั้งคำถาม
และหาคำตอบวนไปวนมาซ้ำ ๆ
อย่างไรก็ตาม ในมหากาพย์แห่งภราดรภาพและการทรยศหักหลังนี้ ตัวละครเล็ก ๆ ที่ (ช่วยขยี้ความผิดบาปในใจแฟรงค์) น่าสนใจและไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ
เพ็กกี้ ลูกสาวคนเงียบของแฟรงค์ ผู้ซึ่งดูจะสนิทใจแค่กับจิมมี่เท่านั้น ขณะที่เธอช่างทำตัวห่างเหินแม้แต่กับพ่อของเธอเอง หรือกับเพื่อนอีกคนของพ่ออย่างรัสเซลล์ —ทั้งที่เขาเอ็นดูเธอ
ความเงียบงันต่อพ่อของเธอช่างมีนัยสำคัญ
แง่หนึ่ง, มันเป็นสัญลักษณ์การถูกกดทับไว้ใต้อำนาจของชายผู้เป็นพ่อ (และเพื่อนพ่ออย่างรัสเซลล์ด้วย) ตั้งแต่เล็กเพ็กกี้รู้จักแต่ความรุนแรงในตัวพ่อ เห็นพ่อกระทืบพ่อค้าร้านของชำที่แค่ ‘ดุ’ เธอให้เห็นต่อหน้าต่อตา เมื่อโตพอเธอย่อมรู้แก่ใจว่าพ่อทำอะไรให้มาเฟีย เพียงแต่เธอจะพูดอะไรได้ หรือพูดแล้วจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง พ่อจะฟังหรือ? จะเลิกทำหรือ? เพราะเหตุนั้น ในโลกของมาเฟียที่พ่อเธอก้าวเข้าไป, ในยุคที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรมากมายอยู่แล้ว เธอจึงได้แต่เก็บงำและทำตัวเหินห่างจากพ่อออกไปทุกวัน แลกกับความเป็นอยู่ดี ๆ ที่พ่อเธอหาให้ โดยไม่เคยถามความเห็นของใครในบ้านเลยว่าต้องการหรือเปล่า แฟรงค์ตัดสินใจเองว่าในฐานะชายผู้เป็นสามีและพ่อ ภรรยากับลูกต้องสุขสบายและปลอดภัย(อย่างน้อย--ก็ในความคิดของเขา) เขาเอาแต่โฟกัสหน้าที่นั้นจนละเลยการให้ความอบอุ่นและการใส่ใจความรู้สึกของบรรดาลูกสาวจริง ๆ
ตลอดเรื่อง เราไม่เห็นลูกสาวเขามีปากมีเสียงอะไร แต่ในตอนท้ายที่เขาคุยกับลูกสาวอีกคนเพราะอับจนหนทางจะติดต่อเพ็กกี้ เราจึงได้ประจักษ์ชัดแจ้งว่าเขาเป็นพ่อที่ล้มเหลวแค่ไหน
“พ่อก็แค่อยากปกป้องพวกลูก”
“จากอะไรคะ?”
“ก็...ทุกอย่าง”
สิ่งที่ลูกสาวของแฟรงค์ย้อนถามกลับมาแสดงให้เห็นว่าพวกเธอไม่เคยรู้สึกว่าได้รับการปกป้องหรืออบอุ่นปลอดภัยแต่อย่างใดเลย (—และตัวเขาเองนั่นแหละที่น่ากลัว เด็กคนไหนจะกล้าวิ่งไปหาพ่อที่มีแนวโน้มสามารถฆ่าคนที่มารังแกลูกได้แบบ...ได้จริง ๆ) อะไรก็ตามที่แฟรงค์คิดว่าเขาทุ่มเททำให้ ในมุมมองของคนเป็นลูกมันช่างว่างเปล่า สูญเปล่า และแท้จริงพวกเธออาจไม่ได้ต้องการความร่ำรวยหรืออภิสิทธิิ์จากลาภยศตำแหน่งหน้าตาทางสังคมอะไรของพ่อเลย สิ่งเดียวที่พวกเธอต้องการจริง ๆ อาจเป็นพ่อที่ไม่ใช่อาชญากรก็ได้
หรือแค่ ‘พ่อ’ เฉยๆ ก็ได้
ไม่ใช่เพียง ‘คนหาเงินเลี้ยงดู’
(กลับมาที่เพ็กกี้) อีกแง่หนึ่ง, เมื่อเพ็กกี้โตเป็นผู้ใหญ่ เธอกลับใช้ความเงียบงันนั้นเป็นพลังอำนาจ เป็นเสียงประท้วง เป็นแรงสะท้อนที่ใช้เผชิญหน้ากับพ่อของเธอ ยามที่เขาลงมือฆ่าใครสักคนเพื่อเจ้าพ่อมาเฟียอีกครั้ง มันอาจทำอะไรไม่ได้มากนอกจากกดดันแฟรงค์ แต่ก็มีความหมายเสมอมา อาจเป็นในฐานะของสัญญาณเตือนที่แฟรงค์มองข้าม ซึ่งตัวแฟรงค์เองก็คงไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งมันจะทำให้เขาสำนึกผิดหรือเสียใจกับสิ่งที่ทำลงไป, กับ 'ชีวิต' ในแบบที่เขาได้ใช้, จนกระทั่งถึงวันที่ลูกสาวตัดเยื่อใย ขาดการติดต่อกับเขาโดยสิ้นเชิง หลังจากเขาได้สังหารคุณลุงคนโปรดของเธอนั่นแหละ
พอมาคิดทบทวนดูดี ๆ สุดท้ายแล้วมันเหมือนกับ, ไม่ว่าจะจิมมี่ ฮอฟฟา หรือครอบครัวลูกเมีย แฟรงค์ก็ไม่เคยให้ค่าความสำคัญกับใครจริง ๆ มากไปกว่าตัวเองเลย (—อันที่จริง มันสะท้อนให้กลับมาคิดว่าคนเราส่วนใหญ่ก็เป็นเหมือนกัน และนี่แหละสัจธรรมของการเป็นมนุษย์) และบทสรุปของคนที่ไม่เคยรักใครมากกว่าตัวเอง ย่อมหนีไม่พ้นความโดดเดี่ยวในบั้นปลายของชีวิต จมอยู่กับความรู้สึกผิดเพียงลำพัง ต้องก้มหน้ายอมรับเพราะไม่อาจแก้ไขอะไรได้
มันน่าเศร้านะ โดยเฉพาะในตอนที่ทุกคนซึ่งเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปอย่างลึกลับของจิมมี่ตายหมดแล้ว แฟรงค์ก็ยังไม่ยอมพูดอะไรกับตำรวจ คือจนป่านนั้นแล้วน่ะ...มันคงไม่ใช่เพราะว่ากลัวโดนจับหรืออะไรทั้งนั้นหรอก เขาละอายใจเกินกว่าจะยอมรับมันออกมาดัง ๆ ต่างหาก ว่าตัวเองเคยได้ทำอะไรลงไปในตอนนั้น
ในบ้านร้างหลังนั้น
ที่เขาได้ทาสีผนังของมัน
ด้วยเฉดสีอันน่าหดหู่ที่สุด
และจะติดทนนาน ไม่มีวันจางหาย
ด้วยแปรงทาสีที่มือของเขาสอดลอดเข้าไป
ผ่านช่องว่างน้อย ๆ ระหว่างประตู
ที่เพื่อนของเขามักจะแง้มเอาไว้
ด้วยความวางใจ
ด้วยความเชื่อมั่นในภราดรภาพ.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in