ตำนานดอกเอื้องแซะ (คำเมือง)ในป่าดงลึกหน้าผาจื้น “เอื้องแซะ” ขาวหอม อยู่สูงสุดสอยแหงนคอตั้งบ่า สองฟากผาจื้นลื่นด้วยตะไคร่และไคร่ผา ต่ำลงมาเป็นน้ำตกหลั่นครืนครั่นโครมครึก เหมือนเสียง จ้างฮ้อง ฝอยน้ำฟองกระจายพรายกล๋ายเป็นรุ้ง
เอื้องแซะกลิ่นฟุ้ง เสียแต่อยู่สูงสุดสอยบ่ได้ มีเรื่องเล่าขานเป๋นต๋ำนานของคนหนุ่มคนสาว ที่เฝ้าบ่มฮักและอยู่ในฮีตในฮอย หวังก่อร่างสร้างตั๋ว เข้าของเงินทองจ่งไจ้เขียมนักอีนางเฮย ปี้อ้ายขอลาไกล๋ไปแสวงหาเงินทองของหมั้น แล้วจะฝั้งปิ๊กมาหา
ยกยอเอาสูเจ้าเป็นเมียนางจ้างแก้วสาวเจ้าหันดีหันงาม เข้าใจ๋ในเหตุในผล… “ไปเต๊อะปี้อ้ายเหย ข้าเจ้าจะรอ”…จากวันเป๋นเดือน จากเดือนล่วงเลยเป๋นหล๋ายปี๋ ปี้อ้ายคนดี ห่างหาย บ่ามีข่าวมีคราว แต่ด้วยใจ๋ตี่บริสุทธิ์และเปี่ยมด้วยศรัทธา ยึดมั่นถือมั่นในความฮักของสาวเจ้าแม้แต่ปล๋ายก้อย
ก็บ่เกยคิดฮ้าย ว่าปี้อ้ายคนดีจะนอกใจ๋ หรือล้มหายต๋ายจาก รอคอยด้วยใจ๋พิสุทธิ์ ยกมือไหว้สาผาธนาคุณผะเจ้า ช่วยชี้แนะนำตาง หื้อปี้อ้ายได้ปิ๊กคืน… จ๋นถึงวันเวลาที่นางต้องลาละสังขาร จิตวิญญาณยังผูกพันรอคอย ต๋ายไปแล้ว กล๋ายเป็นหมอกควันไปเกาะ ห่อหุ้ม แฝงจิตอยู่กับต้นดอกเอื้องแซะ เป๋นขนปุยห่อหุ้มกิ่งก้าน
ยามเอื้องแซะดอกน้อยบาน กลิ่นหอมอ่อน ๆ จะลอยมาต๋ามลม เหมือนจะได้มาเหน็บแซมเสียบผมยามลมเดือนห้า เอื้องแซะงามนัก ดอกน้อยสีขาวเรื่อเหลืองอยู่สูงและเป็นของสูงก้าแปงเมืองหายากยิ่งนัก กลิ่นก่อห้อม..ต้องใจ๋ จาวลัวะแต่โบราณนำเอามาเป็นเครื่องบรรณาการถวายแด่เจ้าครองเมือง คนต่ำใต้ลุ่มฟ้า อย่าหมายว่าจะได้ชม
ตำนานรักดอกเอื้องแซะ (ภาษากลาง)
ได้ถูกเล่าขานสืบทอดต่อๆ กันมา เป็นเรื่องของความรักระหว่างหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ชายหนุ่มได้บอกกับหญิงสาวคนรักของตนว่าจะไปหาเงินทองมาสู่ขอเธอแต่งงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป หนุ่มคนรักก็ไม่กลับมา แม้แต่ข่าวคราวหญิงสาวก็ไม่ได้รับรู้ ไม่แม้แต่สักนิดที่หญิงสาวจะคิดคลางแคลงใจว่าคนรักจะลืมเลือนหรือแปรเปลี่ยนใจให้คนอื่นเสียแล้วหรือแม้แต่ว่าเขาได้ล้มหายตายจากเธอไป
หญิงสาวยังคงรอด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง ทุกคืนก่อนนอนเธอจะไหว้พระอธิษฐานขอให้คนรักกลับคืน จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อเธอสิ้นใจด้วยจิตที่ยังผูกพัน วิญญาณเธอจึงลอยไปหุ้มห่มเป็นขนสีดำเหมือนความโศกเศร้าในจิตใจกับต้นดอกเอื้องแซะ ยามดอกเอื้องแซะบานจะส่งกลิ่นหอมแรงมาก กลิ่นหอมจะฟุ้งขจรขจายไปตามสายลม
"สาวเมืองเหนือนิยมนำดอกเอื้องมาแซมผม ชายใดที่เอาเอื้องแซะ แซมผมให้คนรักจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนรักรู้ว่า "เขารักเธอจริงยกย่องเธอเสมอเหมือนที่เอื้องแซะเป็นของสูงก็ต้องควรคู่กับสาวเจ้า"
เอื้องแซะ เครื่องราชบรรณาการในสมัยโบราณ
ตำนานแม่สะเรียง เมื่อครั้งที่ยังมีชื่อ เรียกว่า "เมืองยวม" ยังได้บันทึกไว้ว่าในสมัยโบราณ "เอื้องแซะ" เป็นเครื่องสักการะชั้นสูง เป็นเครื่องบรรณาการอย่างหนึ่งที่ชาว "ลัวะ" ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนจะต้องนำส่งถวายแด่เจ้ามหาชีวิต "เมืองเชียงใหม่" หรือกษัตริย์ผู้ครองล้านนาแทนการเกณฑ์แรงงาน เป็นของสูงค่าจากผืนป่าสู่คุ้มหลวงแลหอคำ คนต่ำใต้ลุ่มฟ้าอย่าหมายว่าจะได้ยล
อ.มาลา คำจันทร์ ปราชญ์ล้านนาและกวีซีไรต์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของ "เอื้องแซะ" ที่มีต่อวิถีชีวิตของคนล้านนาไว้ว่า"...ดอก เอื้องแซะนั้นเป็นของสูงหายาก ต้องใช้ความพยายามนาน ๆ ถึงจะได้เห็น ดังในสมัยรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ ชาวลัวะชาวดอยต่างไปหาดอกเอื้องแซะมาถวายเพราะเป็นเอื้องที่มีกลิ่นหอมนาน ไม่เหมือนเอื้องทั่วไปแต่ก่อนไม่มีใครกล้าเด็ดเอื้องแซะ
เพราะถือ ว่าเป็นของสูงเป็นของสำหรับเจ้านายและเป็นดอกไม้พุทธบูชา ไม่มีใครกล้านำมาปลูกมาเลี้ยงเพราะปลูกยากดูแลยาก นอกจากดอกเอื้องแซะจะเป็นเครื่องบรรณาการระหว่างแม่ฮ่องสอนสู่เมืองเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นเครื่องบรรณาการของ "ล้านนา" เพื่อมอบให้แก่ "กรุงรัตนโกสินทร์" อีกด้วย ดังนั้นเอื้องแซะจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ลึกลับ มีเสน่ห์ เป็นดอกไม้ต้องห้าม เป็นของสูงบนภูสูง..."
เอื้องแซะ ของสูงล้ำค่าคนต่ำใต้ลุ่มฟ้าอย่าหมายได้ชมเชย ดอกไม้ต้องห้ามของราชวงศ์ล้านนาเมื่อ ๗๐๐ กว่าปีที่แล้ว
#ตุ๊ดกูรู : ToodGuRu
เรื่องบางเรื่องไม่ต้องพึ่ง “กูรู” แค่เป็น “กูรู้” ก็พอ
#สาระ #ความรู้ #ตุ๊ดกูรู
Twitter : https://twitter.com/ToodGuRu
Facebook : https://www.facebook.com/toodguru
Maggang : https://toodguru.maggang.com/
Minimore : http://minimore.com/b/RcoPh
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in