เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขียนเล่นเป็นเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
นกเงือกแห่ง “ยะลา” กับการเยียวยาตัวตน

  • ภาพ: ธเนศ รัตนกุล


              “ยะลาเป็นเรื่องสั้นที่จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ เขียนขึ้นเพื่อถ่ายทอดความทรงจำอันเปล่าดาย ความสับสน และความสิ้นหวังผ่านผมผู้สูญเสียคนในครอบครัวทีละคนสองคนโดยที่ “ผม” ไม่ทราบสาเหตุ สถานที่ หรือช่วงเวลาของการตายที่แน่ชัด ความตายได้สร้างความเจ็บปวดและทำให้คนในครอบครัวต้องแยกย้ายกันไปคนละทิศละทางเช่นเดียวกับ “ผม” ที่ยังคงเดินทางอย่างไร้จุดหมาย จวบจนเมื่อ “ผม” ได้อ่านบันทึกของพ่อผู้ล่วงลับที่พูดถึงความงามของนกเงือกในยะลา และจดหมายของฟาติมะห์ หญิงสาวที่ “ผม” หลงรักซึ่งเล่าถึงความสูญเสียของเธอในเหตุการณ์ความไม่สงบ  “ผม” จึงเดินทางกลับมาที่ยะลาอีกครั้ง

                   ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “ผม” ฟาติมะห์ และพ่อ กับฉากจังหวัดยะลา มีนกเงือกเป็นเกลียวเชื่อมที่ยึดโยงสายสัมพันธ์ของผู้คนและพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุที่นกเงือกคือสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นความเป็นยะลาได้ในสองมิติราวกับหยินหยาง กล่าวคือในแง่หนึ่งก็สะท้อนให้เห็นความสูญเสียของผู้คนในเมืองยะลา และอีกแง่หนึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ในการเยียวยาตัวตนของคนยะลา

                  ตอนต้นเรื่อง “ผม” เล่าถึงโครงการอนุรักษ์นกเงือกที่ “ผม” กับฟาติมะห์เคยไปทำงานด้วยกัน นกเงือกเหล่านี้กำลังจะสูญพันธุ์ไปเนื่องจากผลกระทบของระบบอุตสาหกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ ความเปลี่ยนแปลงนี้ค่อย ๆ คร่าชีวิตของนกเงือกไปทีละน้อย ๆ โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้เสียเลยด้วยซ้ำ ว่าพวกมันจะเคยรู้สึกหดหู่บ้างหรือไม่ เช่นเดียวกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับ “ผม” หลังจากที่แม่และยายของ “ผม” ตายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ คนในครอบครัวก็หลีกหนีความร้าวรานภายในด้วยการเดินทางออกสู่เมืองหลวง  ทุกคนต้องการ “หาบ้านอีกหลังซึ่งคิดกันไปเองว่ามันต้องสมบูรณ์กว่าต้องมั่นคงกว่า เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมนุษย์รู้สึกว่าสิ่งที่เคยมีอยู่กลับขาดหายไป จึงจำต้องหาอะไรบางอย่างเพื่อมาหล่อเลี้ยงชีวิตที่ยังเหลืออยู่ และทางออกที่เขาเหล่านั้นจะคิดออกได้ในเวลาแห่งความโศกเศร้าก็คงจะเป็นการเดินออกจากพื้นที่ที่สร้างความรู้สึกร้าวรานนั้น เดินทางออกจากยะลา

    ผู้เขียนสร้างให้“ผม”พยายามแสวงหาความทรงจำบางอย่างเพื่อเยียวยาหรือลบเลือนความรู้สึกเจ็บปวดภายในตลอดทั้งเรื่องในตอนที่ “ผม” กลับไปบ้านเพื่อทำศพให้พ่อ “ผม”กล่าวถึงความรู้สึกของตนเองไว้ว่า ตลอดเวลาสามสี่วันผมได้แต่เดินสำรวจรอบบ้านมองหาร่องรอยบางอย่างที่เคยมีอยู่ในวัยเด็ก แต่ผมมองไม่เห็นอีกแล้วมีเพียงความเงียบที่ยึดครองไว้แทบทุกตารางนิ้ว จะเห็นได้ว่า“ผม” พยายามค้นหาความทรงจำดีๆ ในวัยเด็กจากการเดินสำรวจบ้านแต่กลับพบเพียงความว่างเปล่าเท่านั้น

     “ผม” พยายามออกเดินทางไปเรื่อย ๆ ดังความที่เล่าว่า ซื้อตั๋วออกเดินทางแล้วก็ทิ้งอีกจุดหมายไว้ข้างหลัง ราวกับมีอำนาจบางอย่างตัดเส้นทางคู่ขนานระหว่างความลวงและความจริงให้ขาดออกจากกัน แล้วเดินพลัดหลงออกไปยังโลกแห่งการสลับปรับเปลี่ยน จากนั้นก็วิ่งออกไปอีกหน เพื่อจะค้นพบว่าทุกหนแห่งไม่เคยมีใครรอเราอยู่ มีแต่เราเท่านั้นยืนสับสนอยู่ตรงนั้น ตัดสินใจอะไรไม่ได้ระหว่างการวิ่งออกไปเรื่อย ๆ หรือถอยกลับไปยังจุดเริ่ม นอกจากนี้ ในความตอนหนึ่ง “ผม” ยังพูดถึงชีวิตตัวเองและฟาติมะห์ขณะมองไปยังเทือกเขาสันกาลาคีรีไว้ว่า เหมือนเราทั้งหมดวิ่งอยู่รอบ ๆ ใจกลางของความวกวนและ “เราเป็นแบบนั้น เหมือนขบวนรถที่แล่นอยู่ระหว่างตึกสูง วิ่งวนไปมาตลอดทุกวัน

    จะเห็นว่า แม้ “ผม” จะพยายามหาสถานที่เพื่อเยียวยาบาดแผลในใจของตนเองเพียงใด แต่จุดหมายปลายทางแต่ละแห่งที่ “ผม” ไปเยี่ยมเยียนก็ไม่อาจสามารถเยียวยาหรือแม้แต่บรรเทาความรู้สึกเจ็บปวดของ “ผม” ลงได้ “ผม” จึงต้องออกเดินทางต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จวบจนกลับคืนสู่บ้านคือ “ยะลา” ณ ที่แห่งเดิม เพื่อกลับมารู้สึกเจ็บปวดอีกครั้ง

    แม้พ่อจะเป็นเพียงคนเดียวที่ตัดสินใจว่าจะคงอยู่บ้านหลังเดิม แต่ความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวและแสวงหาสิ่งเติมเต็มนั้นก็ไม่ต่างจาก “ผม” หรือลูกคนอื่น ๆ แม้แต่น้อย พ่อใช้วิธีการหาเมียใหม่แทนดังที่ “ผม” เล่าว่าพ่ออยู่อย่างโดดเดี่ยวหลังแม่ตายพูดดูฟังยาก เพราะจริง ๆ แล้วหลังแม่ตาย พ่อมีเมียใหม่ถึงสามคนแต่มันเหมือนพ่อจะรู้ดีว่าไม่มีใครมาทดแทนแม่ได้ ท้ายที่สุดพ่อก็เลือกที่จะอยู่คนเดียว” สุดท้ายแล้ว พ่อก็ยังคงรู้สึกว้าเหว่อยู่ดี เช่นเดียวกับฟาติมะห์ซึ่งญาติของเธอเล่าว่า ช่วงแรกหลังจากที่พ่อของเธอตายโดยไม่ทราบสาเหตุ เธอก็หายไปจากยะลาเป็นเวลาหลายปี อาจเป็นเพราะว่าเธอพยายามหลีกหนีจากยะลาเหมือนกับตัวละครอื่น ๆ และเหมือนกันกับ “ผม” จะต่างออกไปก็ตรงที่เธอได้เรียนรู้ธรรมชาติของนกเงือกขณะทำงานอยู่ในโครงการอนุรักษ์นกเงือก เป็นการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ผ่านนกเงือก

    นอกจากบาดแผลที่กรีดลึกอยู่ในสำนึกของตัวละครทุกตัวที่ผู้เขียนเชื่อมร้อยกันผ่านการใช้นกเงือกแล้ว นกเงือกยังเป็นสัญลักษณ์ของความรักอันยิ่งใหญ่ภายใต้วิกฤตแห่งการสูญพันธุ์ ด้วยเหตุที่ว่า นกเงือกเป็นสัตว์ที่จะครองคู่กับคู่ครองตัวเดิมไปจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต   ดูเหมือนว่าจะมีเพียงตัวละครที่คุ้นเคยกับยะลาอย่างพ่อซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในยะลายาวนานกว่าใครเท่านั้น ที่จะสามารถเรียนรู้วิธีการเยียวยาตนเองจากสิ่งที่อยู่คู่ในผืนแผ่นดินเดียวกันได้

    พ่อพบรักกับแม่ที่ยะลา และนั่นคงจะเป็นความทรงจำที่มีค่ากับพ่อมากจนกระทั่งความทรงจำของพ่อในโลกปัจจุบันถูกลบออกไปจนหมดสิ้น หลงเหลือเพียงความทรงจำเดียวในอดีตที่ย้อนกลับมาอยู่ในหัวพ่อตลอดเวลานั่นคือความทรงจำเมื่อตอนเจอแม่ครั้งแรกที่ยะลา  “ผม” ไม่รู้ว่าเรื่องราวขณะนั้นเป็นอย่างไรแต่ในฐานะคนที่อยู่กับพ่อหลังจากวันที่ไม่มีแม่ “ผม” สัมผัสได้เสมอว่า พ่อโหยหานกเงือกและเชื่อว่าจะนกเงือกจะหล่อเลี้ยงชีวิตที่เหลืออยู่ของเขาได้อีกครั้งดังจะเห็นว่าพ่อมักจะเขียนข้อความซ้ำ ๆ ลงกระดาษความว่า  “ที่นั่นมีฝูงนกเงือก มันเป็นนกที่สวยมาก เราอยากไป อยากไปดูนก พาเราไปได้ไหมแต่น่าเสียดายที่พ่อไม่ได้ไป นั่นคงจะเป็นคำตอบว่าทำไมความโดดเดี่ยวยังคงเกาะกุมหัวใจของพ่อตราบวินาทีสุดท้ายของชีวิต

    ขณะที่ฟาติมะห์ก็ได้รู้ซึ้งถึงความรัก หลังจากที่กลับไปยะลาอีกหนเพื่อไปทำงานในโครงการอนุรักษ์นกเงือก เธอเล่าถึงนกเงือกไว้ว่า มันเป็นนกใกล้สูญพันธุ์ ถิ่นอาศัยของมันเหลือน้อยพอ ๆ กับสายพันธุ์ของมันค่อย ๆ ลดจำนวนลง นกชนิดนี้ชอบอยู่เป็นคู่ไปจนตาย มีคนบอกว่ามันรักคู่มันมาก แปลกมั้ยฉันเริ่มมองเห็นความรักอีกครั้ง รู้สึกถึงคำว่ารักอีกครั้งก็ตอนที่เข้าใจธรรมชาติของนกเงือก"

    ฟาติมะห์ได้เรียนรู้ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของนกเงือก นอกเหนือไปจากความตายที่ย่างกรายเข้ามาเยือนมันทีละก้าว ๆ  เธอเห็นว่าชีวิตของมันคงดำรงอยู่อย่างไม่ครั่นคร้ามต่อการสูญพันธ์และการสูญเสีย มันยังคงเปี่ยมด้วยความรักในคู่ครองและถิ่นฐานแม้ต้องตกอยู่ในภาวะอันเศร้าหมอง ชีวิตของนกเงือกส่องสะท้อนและทาบทับกับตัวตนของฟาติมะห์ และอาจรวมถึงพ่อของ “ผม” ด้วย  ปรัชญาชีวิตจากนกเงือกนี้เองที่เยียวยาตัวตนของเธอไว้ได้ และนี่คงเป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้เธอเขียนในจดหมายที่ส่งถึงผมว่าคุณเองก็คงผ่านความกลัวอะไรหลายอย่างมาแล้วเหมือนกัน ถ้าคุณยังผ่านมันไปไม่ได้ ฉันอยากให้คุณมายะลา ฉันแบกความทรงจำทั้งหมดที่มีต่อคุณมาทิ้งไว้ที่นี่ และมันยังคงอยู่ตรงไหนสักแห่ง” 

    ผู้เขียนใช้นกเงือกในการผูกโยงความเจ็บปวดที่ทุกตัวละครมีร่วมกัน ความเจ็บปวดที่ฝังลึกจนยากจะแกะออกจากหัวใจจนกว่าจะได้เรียนรู้ความรู้สึกเจ็บปวดจากใครอีกคน ความเจ็บปวดในแดนประหารคนที่เรารัก ความเจ็บปวดที่ต้องรักษาด้วยบ้านที่ชื่อยะลาซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ยังคงเป็นบ้าน เป็นมาตุภูมิที่ธำรงรักษาอัตลักษณ์และความทรงจำของผู้คนไว้

    ความเจ็บปวดเท่านั้นที่จะเยียวยาความเจ็บปวดได้ และแน่นอนว่า มิใช่การลบหรือลืมความทรงจำแห่งบาดแผลที่ผูกโยงกับพื้นที่เพื่อช่วยเยียวยาความเจ็บปวดให้เรากลับมาเป็นเราได้ เพราะไม่มีทางลัดสำหรับการเยียวยาความร้าวรานที่บาดลึก  มีเพียงทางตรงเท่านั้น คือเราต้องรู้ว่าบาดแผลของเราอยู่ที่ไหนเพื่อที่จะได้เผชิญหน้ากับมันแบบซึ่งหน้า และค่อย ๆ เยียวยารักษาความเจ็บปวดโดยที่ยังสามารถ ดำรงอัตลักษณ์และความทรงจำของผู้คนในชีวิตของเราไว้ได้ “ยะลา” บอกเราไว้แบบนั้น


    บรรณานุกรม

    จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์. (2562). ยะลา. ใน ยะลา,เรื่องรักโรแมนติก รวมเรื่องสั้น-บทกวีรางวัลเปลื้อง วรรณศรี ครั้งที่ 5. สโมสรวรรณศิลป์สุรินทร์.



    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น


    ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ “เขียนเล่นเป็นเรื่อง” รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในหนังสือชุด “วิชญมาลา” รวมผลงานด้านภาษาและวรรณคดีไทย จัดทำโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563
    อ่านฉบับ E-book ได้ที่ .....

    หมายเหตุเกี่ยวกับงานเขียน:   บทวิจารณ์ชิ้นนี้เขียนขึ้นระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติการใน                                                                     โครงการดวงใจวิจารณ์โดยได้รับทุนสนับสนุนการดำเนิน                                                                         โครงการจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกระทรวง                                                                         วัฒนธรรม เมื่อปี 2563 ภายหลังผู้เขียนได้พัฒนาประเด็น                                                                         การวิจารณ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

    ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน:             ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์                                                                                                                              นิสิตชั้นปีที่ ระดับปริญญาตรี ภาควิชาภาษาไทย                                                                                  คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตทุน                                                                                  โครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย สนใจ                                                                      ศึกษาวรรณกรรมสมัยใหม่ทั้งด้านการอ่านและการเขียน                                                                          ปัจจุบันผลิตสื่อออนไลน์ด้านวรรณกรรม อาทิ เรื่องสั้น บท                                                                        วิจารณ์รวมถึงวิดีโอต่าง ๆ เผยแพร่ทาง เฟซบุ๊กแฟนเพจ                                                                          อย่าให้นิยายได้มีตอนจบ และทางยูทูบ Namtatian’            

    ปีที่สร้างสรรค์ผลงาน:              2563                                                                                                    บรรณาธิการต้นฉบับ:               หัตถกาญจน์ อารีศิลป                                                                     กองบรรณาธิการ:                    ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง บุษกร บุษปธำรง วรนุช ขาวเกตุ                                                                                 ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์ จุฬารัตน์ กุหลาบ 

                                   






เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in