สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างสุนัข สัตว์เลื้อยคลานอย่างแย้ มองอย่างไรก็ไม่เห็นจะคล้ายกัน ไม่ว่าจะในแง่ของลักษณะภายนอก นิสัย การใช้ชีวิต ฯลฯ แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่รักและหวงแหนแย้ มองว่าพวกมันเป็นสัตว์เลี้ยง แย้เป็นสัตว์เลี้ยง อาจจะฟังเข้าใจยาก แต่ในฐานะที่มันก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง คุณไม่คิดหรือว่ามันก็อาจจะมีความเหมือนบางประการที่ทำให้คุณรู้สึกว่า พวกมันก็ไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงยอดนิยมอย่างสุนัข แม้จะเป็นความเหมือนในความต่าง และความต่างในความเหมือนก็ตาม
6/4/2018
หมู่บ้านอนุรักษ์แย้
วันนี้ฉันได้มาที่หมู่บ้านอนุรักษ์แย้ ตอนแรกที่ค้นเจอในอินเทอร์เน็ตก็ชั่งใจอยู่สักพัก เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะกลัวมากขนาดไหน แต่ด้วยเหตุนี้นี่แหละ ฉันจึงเลือกมาที่นี่ ฉันคิดว่ามันคงเป็นความตื่นเต้นที่น่าสนุกไม่น้อย ตอนที่ฉันไปถึง อากาศร้อนทีเดียว แต่ความตื่นเต้นที่ได้เจอแย้มีมากกว่า พวกมันมีเยอะกว่าที่ฉันคิด ทั้งตัวเล็ก กลาง ใหญ่ บางตัวสีซีด บางตัวสีสดเด่นชัด วิ่งปรู๊ดปร๊าดกันเต็มไปหมด พอได้เห็นกับตาตัวเองแล้ว ก็ไม่ได้กลัวอะไร เพราะไม่ได้รู้สึกว่ามันมีพิษภัยแม้แต่น้อย จากนั้นฉันก็พยายามที่จะเข้าใกล้มัน แต่น่าเสียดายที่มันค่อนข้างรักษาระยะห่างพอสมควร ฉันเลยได้แต่ใช้กล้อง มือถือซูมเข้าไปเพียงเท่านั้น
สักเวลาบ่ายสองกว่า ป้าม่อน นพมาศ ปานสุวรรณ ผู้ดูแลแย้เหล่านี้ก็กลับมา ป้าม่อนเป็น คนในท้องที่และเลี้ยงแย้มาก่อนที่จะตั้งเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์แย้ เห็นว่าเลี้ยงกันมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อของ ป้าม่อนเลยทีเดียว ป้าม่อนคงผูกพันกับแย้มาก เหมือนที่ฉันผูกพันกับสุนัขของฉัน ฉันรู้สึกคิดถึงสัตว์เลี้ยงสุดรักของฉันอย่างบอกไม่ถูก จึงอดไม่ได้ที่จะลองเปรียบเทียบแย้กับสุนัขดู
การตั้งชื่อ
เชื่อไหมว่าคุณป้าตั้งชื่อแย้เหล่านั้นด้วย! แต่ด้วยความที่พวกมันมีจำนวนมาก จึงไม่สามารถตั้งชื่อได้ครบ คุณป้าตั้งชื่อแค่บางตัวที่เชื่องเป็นพิเศษเท่านั้น เช่น ไมค์ ซึ่งมีที่มาจากไมค์ ภิรมย์พร เห็นแล้วก็นึกถึงแม่ตัวเองที่ตั้งชื่อสุนัขตามยี่ห้อขนม อีกทั้งป้าม่อนยังจำแนกได้ด้วยว่าตัวไหนเป็นตัวไหน เห็นว่าดูจากลักษณะของมัน สำหรับฉัน ฉันดูไม่ออกหรอก แต่คิดว่าอาจจะคล้าย ๆ กับที่ฉันจำแนกสุนัขแต่ละตัวได้ คือถึงแม้ว่ามันจะเป็นสุนัขพันธุ์เดียวกัน แต่ว่าแต่ละตัวจะมีลายและสีที่ต่างกัน แย้แต่ละตัวเองก็มีลักษณะจำเพาะที่ทำให้แยกได้เช่นเดียวกัน
อาหารการกิน
แย้ที่นี่เลือกกินพอดู จากที่ฉันถามป้าม่อน มันกินได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงสุก มะละกอ ดอกมะลิ รังผึ้ง ฯลฯ แต่พอกินไปสักพักมันก็จะเริ่มเบื่อ หยุดกิน และวิ่งกลับลงรูไป สิ่งที่แย้เหล่านี้โปรดปรานเป็นที่สุดคือหนอน หนอนเป็นๆ นี่ละ ถ้าเอาหนอนมาล่อพวกมันล่ะก็ มันจะมากินถึงมือคุณเลย ทีเดียว ยอมให้คุณอุ้มและลูบ ถ้าเป็นอาหารอย่างอื่นมันจะไม่ยอมเข้ามาใกล้ขนาดนี้หรอก คิดแล้วก็ นึกถึงสุนัขของฉันที่เอาแต่ใจเหลือเกิน เวลาให้อาหารเม็ดสำหรับสุนัข พวกมันก็จะไม่ค่อยกินเท่าไหร่ มีอาหารสุนัขแค่บางยี่ห้อเท่านั้นที่พวกมันกิน แต่แม้ว่าจะซื้ออาหารยี่ห้อที่พวกมันชอบให้แล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าพวกมันจะยอมกินตลอดนะ พอให้อาหารของยี่ห้อหนึ่งไปสักพักก็ต้องเปลี่ยน ไม่เช่นนั้นมันจะไม่กิน ฉันก็เข้าใจแหละ เป็นฉันก็คงเบื่อที่ต้องกินอาหารรสชาติเดิมๆ ทุกวัน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นอาหารคนอย่างไก่อย่างหรือหมูปิ้งนะ พวกมันจะกินได้ไม่เบื่อเชียวล่ะ
แต่สิ่งหนึ่งที่แย้ในหมู่บ้านนี้ต่างจากสุนัขของฉันก็คือ พวกมันไม่ได้หวงอาหารหรือทะเลาะแย่งชิงเพื่ออาหารแบบสุนัขของฉัน เท่าที่ฉันสังเกตดู เมื่อมีคนโยนอาหารให้แย้ไป พวกมันจะรีบวิ่งกรูเข้ามา แต่หากมีตัวใดตัวหนึ่งได้อาหารชิ้นนั้นไปแล้ว ตัวอื่นก็จะไม่รบเร้าอะไรอีก ต่างจากสุนัขของฉันที่พยายามหาจังหวะเหมาะๆ แอบแย่งอาหารของอีกฝ่าย จะมีฝ่ายไหนเผลอไม่ได้เลยทีเดียว ไม่เช่นนั้นก็จะโดนแย่งอาหารไป ด้วยความที่เป็นแบบนี้ พวกมันเลยจะหวงอาหารของตัวเองมาก แม้แต่ฉันก็ไม่กล้าเสี่ยงจะไปลูบมันเวลามันกินอาหารเพราะกลัวว่าจะโดนกัดเอา พอคิดได้แบบนี้ฉันเลยถามป้าม่อนว่าทำไมมันถึงไม่ทะเลาะแย่งอาหารกันนัก ป้าม่อนก็ตอบมาว่า คงเพราะมันรู้ว่าเดี๋ยวคนก็ให้อาหารมันอีก มันจึงไม่แย่งกัน
อาณาเขต
เหล่าแย้ผงกคองึกงักราวกับจะทักทาย มองดูแล้วน่าขบขันปนน่าเอ็นดู ใครจะรู้ล่ะว่าจริง ๆ มันกำลังโมโหอยู่นะ! ถ้าเป็นสุนัขแล้วล่ะก็ เวลามันแย่งอาณาเขตกัน ขั้นแรกมันก็จะปัสสาวะไว้ ทิ้งกลิ่นไว้เป็นการเตือนไม่ให้ตัวอื่นเข้าใกล้ และหากมีใครอาจหาญมาท้าทาย มันก็จะแยกเขี้ยวขู่ หูลู่ไปข้างหลัง หางตั้งเกร็ง น่ากลัวเสียจนเจ้าของอย่างฉันยังไม่อยากจะเข้าไปใกล้เพราะกลัวจะโดนมันกัด แต่แย้เหล่านี้แสดงออกถึงการหวงอาณาเขตด้วยการผงกหัว ในสายตาของฉันมันน่าเอ็นดูมากกว่าน่ากลัวมาก ถึงอย่างนั้น ในสายตาของแย้กันเอง การผงกหัวคงเป็นสัญญาณเตือนที่น่ากลัวไม่น้อย เพราะหากหนักเข้าล่ะก็ ถึงขนาดกัดกันเสียจนเลือดตกยางออกเลยทีเดียว
ลูกน้อยแสนรัก
นอกจากแย้ขนาดโตเต็มวัยแล้ว ที่หมู่บ้านอนุรักษ์แย้ยังมีลูกแย้อยู่เป็นจำนวนมาก ตัวของพวกมันเล็กมากเสียจนฉันกลัวว่าจะเผลอไปเหยียบมันตาย ลูกแย้เหล่านี้มักจะวิ่งไปมาอย่างซุกซน ในขณะที่แม่ของพวกมันคอยเฝ้ามองด้วยความเป็นห่วง สังเกตได้ว่าช่วงบ่าย ๆ จะมีแย้โผล่หัวออกมาจากรูของตน ป้าม่อนบอกว่า แย้พวกนั้นกำลังรอลูกของตนกลับเข้ารูอยู่ มันจะชะเง้ออยู่อย่างนั้นจนกว่าลูกจะมาลงรู เมื่อลูกของมันลงรูแล้วมันก็จะผลักดินขึ้นมาปิดรู เป็นอันว่าลูกกลับบ้านเรียบร้อย แต่บางครั้งเหล่าลูกน้อยก็เถลไถล ไม่ยอมกลับบ้านเสียที แม่แย้ก็รอแล้วรออีก ถ้ารอนานมากไปแม่แย้ก็จะปิดรูไปก่อน เมื่อลูกจะกลับเข้าบ้าน ลูกน้อยก็จะมาเคาะเรียกที่หน้ารู แล้วแม่แย้ก็จะมารับลูกลงไป ส่วนสุนัขที่บ้านฉันก็แสดงความหวงห่วงลูกในอีกแบบหนึ่ง มันจะระแวงทุกคน ไม่ให้เข้าใกล้ลูกของมัน ฉันต้องคอยพูดกับมันด้วยเสียงอ่อนโยนและเข้าไปใกล้อย่างนิ่มนวล มันจึงจะยอมให้จับลูกของมันได้ คิดแล้วก็รู้สึกว่าน่าสนใจไม่น้อย จะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือสัตว์เลื้อยคลานต่างก็รักและห่วงลูกของตนทั้งนั้น
วันหนึ่งเธอจะหายไป
ชีวิตมีเกิดย่อมมีดับ นี่เป็นเรื่องที่ฉันรู้ดี หน้าร้อนเมื่อ 4 ปีก่อน สุนัขที่ฉันเลี้ยงไว้ตัวหนึ่งตายจากอาการฮีทสโตรก ในตอนนั้นหน้ามันกลายเป็นสีเทา มันพยายามหาน้ำ พอฉันกับพี่ชายเห็นท่าไม่ดีจะรีบพามันไปที่โรงพยาบาลสัตว์ แต่สายไป... พอไปถึงโรงพยายาลสัตว์ สัตวแพทย์ก็พยายามจะช่วยชีวิตมันเต็มที่ แต่ก็ไม่เกิดผล ทั้งฉันและคนที่บ้านเสียใจกันมาก
ตอนที่สุนัขของฉันตาย ฉันตระหนักรู้ชัดเจนกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นความตายของแย้จะต่างกันออกไป ไม่ว่าสาเหตุการตายของแย้เหล่านี้จะเป็นเพราะการป่วย การแก่ หรือแม้กระทั่งกัดกันเอง พวกมันจะซ่อนตัวไม่ให้ใครเห็น มุดลงไปในรูของมันเงียบ ๆ ถ้าเกิดว่ามันโชคดีพอ อาการป่วยและบาดเจ็บทั้งหลายก็จะค่อยๆ ดีขึ้น จนมันสามารถออกจากรูได้อีกครั้ง แต่ถ้าไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งสุดท้ายที่เหลือจะมีแต่ความเงียบงันว่างเปล่า
และแล้วแย้ตัวหนึ่งก็จะจางหายไปจากความทรงจำ
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น
ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ
“เขียนเล่นเป็นเรื่อง” รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในหนังสือชุด “วิชญมาลา” รวมผลงานด้านภาษาและวรรณคดีไทย จัดทำโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563
อ่านฉบับ E-book ได้ที่
Meb หมายเหตุเกี่ยวกับงานเขียน: ได้รับรางวัลชมเชยในโครงการ “ภาษาไทยสัญจร” ซึ่งเป็น
โครงการอบรม เชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนและ
ผลิตสื่อสารคดีสร้างสรรค์ ประจำปี 2561 จัดโดย
สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ให้สัมภาษณ์: ป้าม่อน นพมาศ ปานสุวรรณ
ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงบทสัมภาษณ์: พัสวี วงศ์ปิยะ
ศิษย์เก่าภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย ตำแหน่งงานปัจจุบันคือ Overseas Project
Coordinator ทำหน้าที่ติดต่อ ประสานงานระหว่างบริษัทที่
ญี่ปุ่นและบริษัทในไทย เป็นคนติดบ้านตั้งแต่เด็ก ชอบขลุก
อยู่ในห้องอ่านนิยาย เริ่มแรกชอบอ่าน แนวโรแมนติก ต่อมา
ชอบแฟนตาซี หลังจากนั้นก็เริ่มขยับขยายไปแนว สืบสวน
ระทึกขวัญ ฯลฯ ปัจจุบันชอบอ่านนวนิยายจีนมากเป็นพิเศษ
จนคิดว่าควรจะเริ่มเรียนภาษาจีนได้แล้ว
ภาพประกอบ: ฑิฆัมพร ธรรมเที่ยง พัสวี วงศ์ปิยะ
ครองพิภพ วิรัตินันท์ จณิสตา อรรคสูรย์
พีรณัฐ หล่อวงศ์กมล รินรดา บุรมย์
เอื้อเฟื้อสถานที่: หมู่บ้านอนุรักษ์แย้
อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
บรรณาธิการต้นฉบับ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป
กองบรรณาธิการ: ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง บุษกร บุษปธำรง วรนุช ขาวเกตุ
ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์ จุฬารัตน์ กุหลาบ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in