นอกจากดีกรีหนังยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปี 2017 ความดีงามจากตัวหนังเป็นมากกว่าหนังรางวัล Moonlight เล่าผ่านช่วงชีวิตของ ไซรอน เด็กชายตัวจ้อยในไมอามีที่อาศัยกับแม่ติดยา ฉายาตอนเด็กของเขาคือ 'Little' ผ่านพื้นหลังบรรยากาศยุค 80s มีคนผิวสีหลายคนที่ยากจนและบางคนก็รวยผิดปกติ ความฝันของเด็กผู้ชายทุกคนคือการเติบโตขึ้นเพื่อเป็นผู้ชนะ ไม่ต้องกลัวใครมารังแก
หนังที่เล่าบริบทสังคมผ่านช่วงชีวิตเด็กจนโตของไซรอน กระแทกกระเทือนโครงสร้างสังคมหลายๆอย่าง ทุกครั้งที่ความรักของไซรอนปรากฏบนจอมันเจ็บปวดมากกว่ากระชุ่มกระชวยแบบหนังรักวัยรุ่นเป็นความเจ็บปวดที่เงียบเชียบและตราตรึง
2. Farewell My Concubine (1993)
แล้วตอนนี้เราเห็น Doc Club นำกลับมาฉายอยู่ตอนนี้แหละ ลองไปเช็คในเพจดูได้ เรื่องนี้ยังอยู่กับอะไรที่ร้าวรานหัวใจ 5555 ถ้าเรื่องมูนไลท์เป็นชายรักชายฝั่งประเทศเสรีภาพอย่างอเมริกา
(แต่ในยุค80ที่หนังใช้ก็ลำบากพอสมควร) มาถึงเรื่องนี้เองก็ได้เล่าถึงช่วงชีวิตของ โตวจื่อ ตั้งแต่เด็กจนโตเหมือนกัน สิ่งที่เชื่อมโยงกับมูนไลท์ที่แนะนำไปก่อนหน้านี้ คือบริบทพื้นหลังเป็นการเมืองเหมือนกัน แต่เปลี่ยนเป็นปี 2000 เป็นช่วงที่จีนกำลังมีสงครามกับญี่ปุ่น
หนังเล่าถึงสิ่งสำคัญสองอย่างคือ ความรักของโตวจื่อที่มีต่องิ้วหรือการแสดงอุปรากรของจีน และความรักของโตวจื่อที่มีต่อ ซือโถว รุ่นพี่ที่ฝึกฝนงิ้วมาด้วยกัน
สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้โดดเด่นและแตกต่างจนน่าจดจำจึงเป็นความงดงามที่ผู้กำกับตั้งใจใส่ลงไปให้เห็นความสุนทรียะของการแสดงอุปรากรจีนอันเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมมาแต่เก่าแก่ เบื้องหลังโรงละคร การฝึกฝนที่ทรหด ความแข็งแรงและอ่อนโยนที่ผสมผสานกันเหมือนหยินหยาง และเราก็ว้าวกับเลสลี่ จางในบทบาทนี้มาก เพราะชอบตั้งแต่ Happy together ของหว่องกาไวแล้ว แต่ Farewell My Concubine เป็นภาพยนตร์ดราม่าที่ทำให้รู้สึกลึกซึ้งเหมือนอ่านนิยายจีน ภาษาหนังเฉพาะตัวเป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ นับว่าเป็นหนังเก่าที่น่าเก็บน่ากลับไปดูอีกรอบ
3. In the mood for love (2000)
พอดูถึงหนังหว่อง คงทิ้งเรื่องนี้ไปไม่ได้จริงๆ หนังชู้สาวอันดับหนึ่งในใจคือฉากเดินสวนทางไปซื้อก๋วยเตี๋ยว กับอารมณ์เหงาๆรายล้อมรอบทาง และแน่นอน เป็นเรื่องรักร้าวรานอีกตามเคย 55
กล่าวเรื่องย่อสั้นๆง่ายคืิอ การพบกันของคู่สามีภรรยาสองคู่ที่ต่างฝ่ายต่างได้มารู้ว่าคนของตัวเองเป็นชู้กัน และได้ใช้เวลาร่วมกันในการจัดการเรื่องนี้ เมื่อนำคำว่าชู้มาชำแหละ มันจะไม่ร้าวรานได้อย่างไร
นอกจากเนื้อเรื่อง เราชื่นชอบมู้ดโทน อารมณ์ต่างๆที่ใส่เข้ามาในแต่ละฉาก ทุกแสงที่ส่อง เงาที่ตกกระทบ สีสันในเรื่อง ทุกภาพทุกเฟรมจัดองค์ประกอบภาพออกมาได้งดงามมากๆ
4. ดิว ไปด้วยกันนะ (2019)
เดี๋ยวอาจจะเกิดคำถามว่าไม่มีหนังไทยที่ถูกใจบ้างเลยหรอ จริงๆมีหลายเรื่อง แต่ในลิสต์หนังรัก 9 เรื่องที่จะแนะนำ อยากเลือกอะไรที่มีจุดเชื่อมโยงกัน แล้ว ดิว ไปด้วยกันนะ หนังไทยเรื่องล่าสุดของมะเดี่ยว
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับที่ทำให้ 'รักแห่งสยาม' มีพื้นที่ในหัวใจของใครหลายคนไปแล้ว และสำหรับเรื่องดิวเราคิดว่ามันก็ใช้ประเด็นของรักต้องห้ามมาเล่าโดยดัดแปลงบทจากภาพยนตร์เกาหลีโดยหยิบความสำคัญมาใช้นั่นคือ ความรักที่สังคมบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เปรียบเป็น ความคิดขบถของคนรุ่นหลัง
แม้ความประทับใจแรกด้วยใบปิดและมู้ดโทนของหนังเรื่องนี้จะดูเป็นหนังรักวัยใส แต่ระหว่างดูถ้าคุณได้วิเคราะห์วิพากษ์แต่ละตัวละครออกมาดูแล้ว มันไม่ใสเลยสักนิดเดียว
ดิว แบ่งเรื่องราวเป็นสองช่วง ซึ่งเราชอบทั้งพาร์ทของดิวภพกับความเป็นธรรมชาติของนักแสดงหน้าใหม่ด้วยมั้ง แต่แล้วมวลความสดใสจากพาร์ทแรกจะเริ่มสร้างความสับสนให้คุณในพาร์ทตอนโตของภพ เสียงตอบรับและวิจารณ์ถือว่ามีหลายทางเหมือนกัน โดยรวมแล้ว เป็นหนังรักที่ใช้เงื่อนไขของเวลาและสถานที่ได้อย่างชาญฉลาด
5. แสงกระสือ (2019)
ยังอยู่ในหมวด 'รักต้องห้าม' ซึ่งไปไกลกว่ากรอบสังคม หรือกรอบศีลธรรม แต่แสงกระสือ เราเรียกมันว่าหนังรักต้องห้ามระหว่างเผ่าพันธุ์ ถ้าทุกคนชอบเรื่องรักปรัมปราเด็กสาวกับแวมไพร์หรือมนุษหมาป่า ลองเปิดใจให้กับชายหนุ่มกับกระสือสาวดูบ้าง เพราะหนังเรื่องนี้นำมาทำให้ปรัมปราที่ไว้ขู่ให้คนกลัวกลายเป็นเรื่องโรแมนติกได้ แถมยังเป็นเรื่องรักสามเส้าของวัยรุ่นอีกด้วย ถือเป็นความกล้าที่จะหาวิธีเล่าปรัมปราในมุมใหม่ๆผ่านภาพยนตร์ไทย แม้ที่ผ่านมาจะวงการหนังในไทยจะมีความพยายามนำกระสือมาเล่าใหม่ แบบ กระสือวาเลนไทน์ (2006) หรือกระสือสยามที่ปล่อยออกมาในปีที่แล้วใกล้ๆกับแสงกระสือจนนึกไปว่าเป็นกระสือฟีเว่อหรืออย่างไร
สิ่งที่ทำให้เราหยิบเรื่องนี้มาแนะนำเพราะเราดูหนังรักข้ามเผ่าพันธุ์มาหลายเรื่อง การมาเจอหนังไทยในหมวดนี้แล้วพบว่านอกจากหนังสามารถพากระสือไปไกลกว่าคำว่าสยองขวัญและน่ากลัวได้ ยังสามารถเป็นหนังรักวัยรุ่นที่สนุกเรื่องนึงเลย แสงกระสือ เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสามคนในวัยเด็ก และ ณ ในตอนนั้นเราคิดไม่ถึงหรอกว่า วันหนึ่งเด็กผู้หญิงจะกลายเป็นอมนุษย์ที่มีความรักจากมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งวุ่นวายในหมู่บ้านนี้ ต่อมา เมื่อสังคมไม่ได้มีแค่ชาวบ้านกับกระสือ แต่ยังมีทั้งกระหัง ทั้งพระ คนปราบกระสือ สภาวะความขัดแย้งในหมู่บ้านนั้นจึงเกิด ซึ่งเกิดเป็นคำถามเช่นเดียวกันว่า บทสรุปของความขัดแย้งที่เกิดในสังคม ควรจะจบอย่างไร
6. The Shape of Water (2017)
รักข้ามเผ่าพันธุ์ฝั่งไทยในใจฉันแนะนำจบไปแล้ว คราวนี้ขอเพิ่มอีกเรื่อง ถ้าคุณรู้สึกว่าชอบเรื่องราวแฟนซีแบบนี้ คุณมีฉันเป็นเพื่อนแล้ว The Shape of Water หนังจากผู้กำกับสัญชาติเม็กซิโก พูดถึงหญิงกำพร้าใบ้ทำความสะอาดในศูนย์วิจัยของหน่วยงานรัฐบาล การเป็นใบ้ที่ได้ยินแต่พูดไม่ได้คนอาจเข้าใจว่าคงมีความลำบากในการสื่อสาร แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เห็นว่ามันไม่มีความสำคัญเลยที่เธอจะพูดได้หรือไม่ เพราะถึงพูดได้ คนก็จะพูดเรื่องของตัวเองให้เธอฟังอยู่ดี ทำให้คิดไปว่าแท้จริงแล้วเธออาจจะมีเสียงก็ได้ แต่ไม่มีใครได้ยินหรือไม่มีใครฟังเสียงจากสาวทำความสะอาดคนนี้นั่นเอง เธอจึงเลือกมอบความรักให้กับมนุษย์ปลาที่ถูกจับมาวิจัยในศูนย์ที่เธอทำงานอยู่ ผู้ที่ซึ่งถูกกระทำแบบอมนุษย์ไร้จิตใจ
หนังเล่าด้วยบรรยากาศปี 1962 ในยุคที่สหรัฐอเมริกากำลังทำสงครามเย็น มุ่งแต่เทคโนโลยีหรือการวิจัยที่จะใช้ประโยชน์เป็นอาวุธสงครามได้ และสายลับรัสเซียก็ต่างอยากรู้ความเคลื่อนไหวของขั้วอำนาจตรงข้าม เมื่อบรรยากาศการเมืองคุกรุ่น และความรักของมนุษยชาติบังเกิดขึ้น เรื่องราวที่ถอดจากปรัมปราอันว่าด้วยโฉมงามกับเจ้าชายอสูรจึงตามมาด้วยความงดงาม
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in