เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สาระภาษา (ไม่) มีอยู่จริงpadumpalm
09 : The Last Entry ยังจำวันแรกที่เราเจอกันได้ไหม
  •    สวัสดียามเย็นค่ะเพื่อน ๆ วันนี้จะเป็นบล็อก "สาระภาษา(ไม่)มีอยู่จริง" ครั้งสุดท้ายของเราในฐานะนิสิตปีสามแล้วค่ะ ก่อนอื่นเลยเราขอมอบเพลงที่เราชอบเพลงหนึ่งให้ค่ะ เอ็มวีน่ารักมาก ๆ ลองเปิดฟังไปพร้อมกับอ่านเรื่องราวของเรากันนะ ❤️


           ถึงจะเป็นบล็อกสุดท้ายของซีรีส์นี้แต่วันนี้ก็ไม่มีสาระอะไรมากหรอกค่ะ // ฮา    ก่อนอื่นเลยขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามบล็อกของเรามาตลอดห้าเดือนนี้ ไม่ว่าจะหลงเข้ามาเพราะเห็นชื่อบล็อกประหลาด ๆ หรือจะเป็นเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนที่โดนบังคับมาอ่านก็ตาม เนื่องจากเป็นการเขียนบล็อกครั้งแรกของเรา และเป็นบล็อกที่ต้องแทรกความรู้ภาษาญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ทำให้อาจมีบางส่วนที่อาจจะเข้าใจยากบ้าง แต่ตลอดระยะเวลาห้าเดือนนี้เราได้เรียนรู้อะไรมากมายจากวิชา App Jp Ling นี้ไปพร้อมกับเพื่อน ๆ เช่นกันค่ะ เราลองไปย้อนความทรงจำตั้งแต่วันแรกที่เราเจอกันสักหน่อยดีกว่า

    ฟิ้วววววว 〜 แง๊น ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ


    ก้าวเดินทั้งเก้า ที่เราเดินทางด้วยกันมา  (กดเข้าไปอ่านจากหัวข้อได้เลยนะคะ)

    01 : Introduce my blog เอกญี่ปุ่น เรียนอะไรแบบนี้ด้วยเหรอเนี่ย?! บล็อกแนะนำ

            บล็อกแรกของเรา ที่เขียนคำโปรยไว้ว่า "การเรียนในเอกภาษา ให้เรามากกว่าแค่ภาษา" เราแนะนำคำว่า "ภาษาศาสตร์" ให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักและเข้าใจมากขึ้น และได้ให้คำสัตย์ไว้ว่าเนื้อหาที่เราจะเขียนผ่านวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์นี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ ที่กำลังเรียนหรือสนใจภาษาอยู่ นำความรู้นี้มาต่อยอดและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ค่ะ ถึงแม้เราจะเขียนถึงภาษาญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ แต่เรายังนึกถึงสิ่งที่เราเขียนในบล็อกนี้ไว้เสมอ และพยายามเขียนทุกบล็อกให้เข้าใจง่ายที่สุดแม้จะเป็นเนื้อหาภาษาญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งการที่เพื่อน ๆ ได้อะไรกลับไปบ้าง แม้จะเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเราบรรลุจุดประสงค์และเป้าหมายของเราในข้อนี้แล้วค่ะ  ^^) ❤️


    02 : เรียนภาษามาตั้งนาน ทำไมยังไม่เก่งสักที? บล็อกนี้มีคำตอบ (Part 1) : บล็อกสรุปเนื้อหา

             บล็อกที่เราต้องการหาคำตอบให้เพื่อน ๆ หลาย ๆ คนที่กำลังพบเจอความลำบากในการเรียนภาษาค่ะ ซึ่งคำตอบหนึ่งที่ว่าทำไมเราถึงไม่เก่งภาษาขึ้นซักทีก็คือ ภาษาแรกที่เราเรียนรู้ หรือ FLA นั่นเองค่ะ ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาแม่ของเราก็จะกำหนดว่าเราสามารถเรียนรู้ภาษาต่อ ๆ ไปได้ดีขนาดไหน นอกจากนี้ยังมีบ่วงในเรื่อง"ช่วงเวลาในการเรียนภาษา" หรือ The Critical Period ที่หากเราเริ่มต้นช้าเกินไปก็อาจทำให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ยากขึ้นนั่นเองค่ะ


    03 : เกิดมาท่ามกลางหลายภาษา ได้เปรียบจริงเหรอ? (Part 2)  : บล็อกแชร์ประสบการณ์

             เป็นภาคต่อจากบล็อกแรก ซึ่งเราได้ลองยกกรณีของน้อง ๆ ที่บ้านเรา มาเขียนเป็นบล็อก เพราะคิดว่าเป็นเคสที่น่าสนใจดีค่ะ เราเป็นคนหนึ่งที่เชื่อในวิธีการเรียนภาษาแบบ "ซึมซับและนำไปใช้" มากค่ะ เพราะเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นผ่านสื่อต่าง ๆ มา พอเราเห็น Process ของน้อง ๆ ที่เป็นลูกครึ่ง รวมถึงยังต้องพูดกับคนหลาย ๆ ภาษา ก็ทำให้เราเห็นว่าพวกเขามีทั้ง Input และ Output ที่ดี รวมถึงปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีภาษาอื่น ๆ ได้ง่ายแบบกิ้งก่าคามิลเลียนเลยละค่ะ! สิ่งสำคัญที่สุดที่เราเห็นจากตัวน้อง ๆ ก็คือ "ความสนุกและความมั่นใจ" ในการใช้ภาษา ซึ่งจะเป็นเชื้อเพลิงที่คอยเติมให้เราอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเก่งขึ้นได้ในอนาคตค่ะ


    04 : ทำไม "โบ้" ต้องเป็นหมา? : บล็อกอยากรู้เลยลองเขียน 

              เรื่องนี้เราได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนเราค่ะ เพื่อนเราเลี้ยงหมาหลายตัว แต่ก็เรียกพวกมันว่าไอ้โบ้จนติดปาก ประกอบกับตอนนั้นเราได้เรียนเรื่อง "Metonymy" หรือ นามนัย จากในคาบพอดี ก็เลยลองเอามาเขียนเชื่อมโยงกันค่ะ ^^) การเขียนบล็อกนี้ทำให้เราได้รู้ที่มาของชื่อเจ้าโบ้ ไปจนถึงเจ้าโปจิของญี่ปุ่นด้วยค่ะ ซึ่งล้วนแล้วแต่ก็เป็นการพูดถึงโดยไม่ได้บอกว่ามันหมายถึงอะไรตรง ๆ แต่คนที่ฟังก็จะเข้าใจได้ว่าหมายถึงน้องหมา ซึ่งเป็น Concept ของ Metonymy นั่นเอง


    05 : อยากเก่งภาษาญี่ปุ่น ต้องฝึกสกิลแกทเชื่อมโยง !? : บล็อกสรุปเนื้อหา

              เป็นบล็อกที่เขียนมาเพื่อเอาใจเพื่อน ๆ ที่กำลังลำบากกับการเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นเลยค่ะ เราได้เขียนอธิบายถึงโครงสร้างของภาษาญี่ปุ่น ว่าเป็น "ภาษาสมองกลับ" พูดลำดับคำกลับด้านกับภาษาไทยจนปวดหัว นอกจากนี้ในโครงสร้างของภาษาญี่ปุ่นแบบนี้ก็ทำให้เกิดลักษณะพิเศษขึ้นคือ โครงสร้างแบบหลวม ๆ ที่เรียกว่า "外の関係" ขึ้นค่ะ คือสามารถบอกความหมายอื่นที่เกินไปกว่านั้นได้ ทั้ง ๆ ที่ภาคแสดงบางส่วนถูกละไว้ กล่าวคือซ่อนประธานและซ่อนความหมายไว้นั้นนั่นเอง 


    06 : ไขข้อข้องใจ ทำไมไฟจราจรญี่ปุ่นเป็นสีฟ้า : บล็อกอยากรู้เลยลองเขียน

              คอนเทนต์น่ารัก ๆ ที่พูดถึงเรื่องสี เรื่องนี้เราได้แรงบันดาลใจมาจากเพื่อนของเราเช่นกันค่ะ พอเราได้ยินคำว่า "青りんご" แล้วเราก็นึกสงสัยว่าแอปเปิลสีฟ้ามันมีด้วยเหรอ ?-? พอลองหาคำตอบดูก็ได้ไปพบกับทั้งประวัติศาสตร์สี ที่แต่เดิมสมัยก่อนจะมีคำแบ่งสีน้อยกว่าปัจจุบัน ทำให้เขาเหมารวมสีอื่น ๆ เข้าไปด้วย สิ่งที่เราตกใจจากการทำเรื่องนี้ก็คือการ "ผันคำเรียกสี" ในภาษาญี่ปุ่นค่ะ เพราะเราก็ไม่เข้าใจมาตลอดว่าทำไมบางสีถึงผันเป็น ADj.い ทำไมบางสีถึงต้องเติมคำว่าสีต่อท้าย ตอนที่หาข้อมูลก็ถึงบางอ้อเลยค่ะ 


    07 : อยากเล่าเรื่องให้แซ่บ ๆ ทำยังไงคะพี่สาว : บล็อกสรุปเนื้อหา

             เหตุเกิดจากเราได้เรียน Story Telling ในคาบเรียนและได้รับโจทย์ Master Class ให้เรามองภาพการ์ตูนสี่ช่อง และต้องเล่าเรื่องออกมา ณ ตอนนั้นเลยค่ะ ซึ่งพอเราเล่าต้องเล่าจริง ๆ เรารู้สึกเลยว่าในหัวมันว่างโล่งมาก ไม่รู้จะหยิบคำไหนมาใช้ให้เรื่องราวของเราดูปะติดปะต่อกัน หรือจะต้องเน้นตรงจุดสำคัญยังไง บล็อกครั้งนี้ก็เลยเป็นการเตือนสติเราด้วยค่ะ ส่วนเนื้อหาเราได้ใส่การเลือกใช้หรือเปลี่ยนคำบางจุด เช่น คำเชื่อม คำลงท้ายบอกอารมณ์และมุมมองอย่าง てしまう ていく รวมไปถึงการอธิบายรายละเอียดของสิ่งของ หรือประธาน เพื่อให้เรื่องราวของเราสนุกและเข้าใจง่ายมากขึ้น หวังว่าเพื่อน ๆ จะจำได้และลองหยิบไปใช้กันค่ะ 


    08 : ถอดบทเรียนเสียงขำจากมังงะ "ดูปากพี่นะคะน้อง" : บล็อกหมดมุกเลยเอางานเก่ามาขาย

              ตามนั้นเลยค่ะ หมดมุกเลยเอางานที่เคยทำมา Rewrite ><) แหะ ๆ (ต้องขอบคุณเพื่อน ๆ ในกลุ่มด้วยที่ช่วยรังสรรค์งานนี้ให้เกิดขึ้น) ถึงจะเป็นหัวข้อเก่า แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเสียงหัวเราะในมังงะเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ และยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันมากเท่าไหร่ เลยอยากหยิบยกมาเขียนในบล็อกให้เพื่อน ๆ อ่านอีกครั้งค่ะ เสียงหัวเราะที่เป็นอวัจนภาษากลับถูกเอาไปถอดเสียงในมังงะ และมีการใช้เป็นกิจลักษณะ จนเกิดปรากฏการณ์แบบ 役割語 เลย เพราะบอกได้ทั้งเพศ อายุ นิสัย ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตก็อยากลองเปรียบเทียบกับเสียงหัวเราะในภาษาไทยดูค่ะ


    ความรู้สึก & สิ่งที่เราได้จากวิชานี้

             เรารู้สึกคิดถูกมาก ๆ ที่มาลงวิชานี้ค่ะ เราเองเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกท้อตอนเรียนวิชาภาษาศาสตร์ญี่ปุ่นเบื้องต้น รวมถึงวิชาภาษาศาสตร์ตอนปีหนึ่งด้วยค่ะ เพราะเราไม่ได้เก่งไวยากรณ์ หรือหลักการในการจัดประเภทของคำหลาย ๆ อย่าง ทำให้เราค่อนข้างกลัวที่จะเรียนวิชานี้ แต่วิชา App Jp Ling ทำให้เราได้ลองเอาวิชาความรู้ที่ตัวเองมีมาลองใช้จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำตัว การเล่าเรื่อง การแสดงความคิดเห็น ถึงแม้จะมีที่ทำได้ไม่ค่อยดีหรือต้องปรับแก้บ้าง แต่อาจารย์และพี่โนก็ให้ Feedback และคำแนะนำมากมายตลอดการเรียน ทำให้เรารู้สึกสนุก ไม่เหงา และได้พัฒนาการใช้ภาษาของตัวเองผ่านการทำ Task ต่าง ๆ ค่ะ          

              แถมเทอมนี้ยังเป็นครั้งแรกที่เราลงวิชา S/U ของเอกญี่ปุ่น ทำให้เราได้ลองออกจากกรอบมากขึ้น รู้สึกกดดันตัวเองน้อยลง และได้เห็นคุณค่าของสกิลหรือผลงานที่เราได้มาจริง ๆ ค่ะ อีกทั้งเรายังได้ลองมาเขียนบล็อก ที่เราเองก็อยากทำมานานมาก เพราะเราเป็นคนชอบแชร์ ชอบเล่าเรื่องของตัวเองผ่านตัวอักษร ขนาดที่ว่าเคยลองแต่งนิยายเล่น ๆ ในเวิร์ดตอนเด็ก ๆ เลยค่ะ (แต่ก็แต่งไม่จบเพราะคิดเรื่องไม่ออกค่ะ 555555) ที่ดีใจยิ่งกว่าคือมีคนเข้ามาอ่าน และสนุกไปกับตัวอักษรของเราในแต่ละตอน ถือเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ของเราในการเขียนบล็อกมาถึงตอนนี้ค่ะ ❤️


    ทิ้งท้าย

              สุดท้ายนี้....เราขอขอบคุณทุกคนที่อยู่กับเรามาจนถึงตรงนี้ ถึงเราจะหาย ๆ ไปบ้าง เขียนงง ๆ บ้างก็ตาม รวมไปถึงขอบคุณอาจารย์และพี่โนที่จัดคลาสเรียนสนุก ๆ คอยอ่านงานของนิสิตและให้ฟีตแบคกลับมาเสมอ ๆ  และขอโทษอาจารย์ที่อัพบล็อกเลทด้วยค่ะ TvT ) 
             
             เราอยากบอกทุกคนว่า お疲れ様でした เก่งมาก ๆ เลยที่ผ่านเทอมนี้มาได้อย่างสวยงาม เผลอแป๊บเดียวเวลาก็ล่วงเลยมาครึ่งปีแล้วค่ะ หากมีโอกาสเราจะกลับมาเขียนบล็อกใหม่นะคะ ไว้มาเจอกันใหม่ รักษาสุขภาพด้วยนะคะ บ๊ายบาย มุ้มุ้

    ครั้งแรก (และครั้งเดียว) ที่ได้ไปออนไซต์กับอาจารย์ ;-;

    สาระภาษา(ไม่)มีอยู่จริง
    จบบริบูรณ์
    PADUMPALM

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
k.l.k (@k.l.k)
ขอบคุณค่ะ เข้ามาอ่านทันเวลาพอดี สรุปได้ยอดเยี่ยมค่ะ ชอบเรื่อง โบ้ (เพิ่งรู้) มากเลยค่ะ