คุณเคยไหม? อ่านอะไรสักเรื่องหนึ่งแล้วน้ำตาไหลพรั่งพรูออกมาราวกับพายุฝนที่ตกอยู่ในใจ "คล้ายว่าเริ่มจากฝน" ของ จเด็จ กำจรเดช คือเรื่องสั้นเรื่องนั้น
ข้อความข้างต้น เป็นคำพูดของ ‘ธงรบ’ ตัวละครจากเรื่องสั้น "คล้ายว่าเริ่มจากฝน" ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ ปี 2554 "ธง" พูดประโยคนี้ออกมาหลังจากสูญเสีย "ฮะตู" เพื่อนชาวมอญจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์
podcast ตอนนี้ จะพาคุณไปสัมผัสความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัย และซึมซับความสะเทือนใจในหลากหลายมิติที่มาพร้อมกับน้ำฝน เพื่อสืบหาต้นทางของสายธารแห่งน้ำตา
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
บรรณานุกรมการค้นคว้า :
- จเด็จ กำจรเดช. (2554). แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ. กรุงเทพฯ : ผจญภัย.
- ธงชัย วินิจจะกูล. (2559). โฉมหน้าราชาชาตินิยม. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.
- สุรเดช โชติอุดมพันธ์. (2560). ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์ตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ขอบคุณรูปภาพ ปกหนังสือ “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ” จาก https://images.app.goo.gl/rGuvgUGHa4B...
หลังจากที่ได้ฟัง podcast เสียงสื่อสารเรื่อง "คล้ายว่าเริ่มจากฝน" ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับประเด็นสนทนาต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ชาตินิยม
ใน podcast ผู้จัดรายการชวนให้เราคิดว่า เหตุที่คนไทยมีทัศนคติแง่ลบต่อกลุ่มชาติพันธุ์นั้น เป็นเพราะสังคมไทยได้สร้างภาพจำที่ไม่ดีให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ด้วยการใช้ "เรื่องเล่าแม่บท"( grand narrative) ซึ่งปรากฏในสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็น แบบเรียน รายการวิทยุ ภาพยนตร์ ฯลฯ สื่อเหล่านี้ได้เล่าเรื่องบางอย่างซ้ำ ๆ จนสามารถกล่อมเกลาให้ผู้คนเกิดภาพจำบางอย่างขึ้นโดยเข้าใจว่าเรื่องเล่านั้นเป็น "ความจริงแท้ที่แน่นอน" โดยมิได้คิดตั้งคำถามถึง "มายา" แห่งเรื่องเล่า
"เรื่องเล่าแม่บทชาตินิยม" ฝังรากลึกลงไปในการรับรู้ของใครหลาย ๆ คน แนวคิดชาตินิยมนี้ได้รับการบอกเล่าผ่านประวัติศาสตร์การสร้างชาติ จนทำให้เราลืมตระหนักว่า แท้จริง ๆ แล้ว ชาติเป็นสิ่งสมมติ เราจึงต้องใช้ธงชาติ ใช้สื่อสิ่งพิมพ์ ใช้หนังสือเรียนประวัติศาสตร์เพื่อประกอบสร้างความเป็นชาติผ่านรูปธรรมและเรื่องเล่า
ส่วนกลางมักจะใช้เรื่องเล่าแม่บทในการประกอบสร้างภาพให้ชาติไทยเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้ถูกกระทำ เมื่อเรารู้สึกว่าชาติของเราถูกกระทำแล้ว เราก็จะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและจะเกิดความเจ็บปวด ตลอดจนรู้หวงแหน อารมณ์เหล่านี้นำพาให้เราตกอยู่ภายใต้มายาคติของเรื่องเล่าแม่บทชาตินิยม
ในประเทศเรา เรื่องที่มักถูกเล่าซ้ำ ๆ เป็นอันดับต้นๆ ก็คือเรื่องที่พม่าเป็นผู้รุกราน ภาพตัวแทนของคนพม่าถูกประกอบสร้างให้ยึดโยงกับความโหดร้าย ซึ่งเป็นวิธีการที่ส่วนกลางพยายามสร้างและนำเสนอภาพด้านลบต่อคนพม่า แม้ในกระทั่งการ์ตูนวัยใสอย่าง ก้านกล้วย เราก็ยังพบว่า ตัวละครพระมหาอุปราชาและพระเจ้านันทบุเรงถูกออกแบบให้เป็นตัวละครที่ค่อนข้างไร้ความเมตตา ต่างจากพระนเรศวรที่เป็นกษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม
การสร้างภาพจำเหล่านี้ยังปรากฏในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เล่ากันปากต่อปากว่าพม่าเผากรุงศรีอยุธยาแล้วหลอมทองไปหุ้มเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว เรื่องเล่าดังกล่าวนั้นไม่ใช่ความจริง แต่ตราบใดที่เรื่องเล่านี้ยังทำหน้าที่ให้ผู้ฟังรู้สึกโกรธเกลียดพม่าได้ เรื่องเล่าเหล่านี้ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่
คําพูดของตัวละครชาวไทยดังกล่าวสะท้อนทัศนคติในแง่ลบต่อพม่า ความคิดที่ว่าพม่าเป็นอันตรายส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวต่อกลุ่มชาติพันธุ์และเกิดการเหมารวมกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลายในประเทศเมียนมาร์ว่าเป็นคนพม่า
จะเห็นว่าตัวละครชาวไทยในเรื่องสั้นไม่สามารถแยกแยะได้ว่า นี่คือมอญ นั่นคือพม่า การที่ไม่สามารถแยกแยะได้นี้เอง นําไปสู่การปฏิบัติต่อกลุ่มชาวมอญในแบบที่มนุษย์คนหนึ่งไม่สมควรจะได้รับ (และแม้จะเป็นคนชาติพันธฺุ์ไหนๆ ก็ไม่สมควรต้องเผชิญเหตุการณ์ดังปรากฏในเรื่อง) จะเห็นได้จากฮะตู ตัวละครชาวมอญที่ถูกกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานาเพียงเพราะเขาไม่ใช่คนไทย เป็นอื่น เป็นคนนอก ข้าพเจ้าเห็นด้วยอย่างยิ่งกับประเด็นที่ podcast กล่าวไว้ว่า โรงเรียนคือสถานที่กล่อมเกลาความรับรู้ผ่านการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมด้วยการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์
บ่อยครั้งข้าพเจ้าจะเห็นคนไทยบางคนแสดงทัศนคติที่ไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในช่วงที่เมียนมาร์เกิดการรัฐประหารใหม่ ๆ ขณะนั้น ทหารได้ใช้กําลังเข้าเข่นฆ่าประชาชนจำนวนมาก ความคิดเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์บางส่วนเป็นทำนองว่า
ตอนที่ข้าพเจ้าอ่านความคิดเห็นนั้น ก็เกิดการตั้งคําถามว่าอะไรกันที่ทำให้คนคนหนึ่งสะใจกับเหตุการณ์ที่เพื่อนมนุษย์ถูกฆ่า อะไรกันที่อยู่เบื้องหลังความคิดที่มองข้ามภาพทหารเมียนมาร์ใช้ปืนยิงประชาชน อะไรกันที่ทำให้คนคนหนึ่งไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับการที่ทหารจับประชาชนมัดมือมัดเท้าแล้วเผาทั้งเป็น คําตอบก็อาจจะเป็นเพราะการศึกษาในโรงเรียนที่สร้างคนคนนั้นให้มีความเชื่อบางอย่างจนลืมไปว่า คนพม่าก็เป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเรา แล้วเขาก็ไม่สมควรที่จะถูกกระทำเช่นนั้น ไม่ว่าจะในเรื่องสั้น "คล้ายว่าเริ่มจากฝน" หรือในชีวิตจริง มายาคติของเรื่องเล่าแม่บทชาตินิยมทำให้มนุษย์มองข้ามความเป็นมนุษย์ไป แล้วยึดเอาแต่คําว่าชาติของตนเป็นที่ตั้ง การที่คนผู้นั้นหัวเราะยิ้มร่าเพราะชาวพม่าถูกฆ่าสังหาร แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ชาตินิยมที่มาพร้อมกับการกำเนิดขึ้นของรัฐชาติ ได้ขีดเส้นแบ่งมนุษย์ให้แยกออกจากกัน
นอกจากประเด็นเรื่องชาตินิยมที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์แล้ว ข้าพเจ้ายังเห็นด้วยกับประเด็นเรื่องชาติที่ผู้ัจัดรายการกล่าวไว้ใน podcast ว่า “ชาติจริง ๆ แล้วไม่มีอยู่จริง แต่ถูกประกอบสร้างขึ้น ความเป็นชาติหรือรัฐชาติเกิดหลังยุคอาณานิคมที่แต่ละประเทศเริ่มมีการขีดเส้นเขตแดนอย่างชัดเจน”
ชาติคืออะไร?? คําตอบที่ได้คงมีหลากหลาย สำหรับบางคน ชาติคือความหมายเชิงรัฐศาสตร์ ชาติคือความหมายทางจิตใจที่ยึดโยงและสร้างความเป็นกลุ่มก้อนของผู้คน ระหว่างที่ฟัง podcast เรื่องนี้ ก็ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเพลงเพลงหนึ่งที่เคยฟังตอนเด็ก ๆ เพลงนี้มีชื่อว่า Anthem เป็นเพลงที่ใช้ในละครเวทีเรื่อง Chess เพลงนี้เป็นเพลงที่ตัวเอกของเรื่องใช้ร้องเพื่อบรรยายความรู้สึกของตนเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่าเขามีความจงรักภักดีต่อสหภาพโซเวียตที่กําลังจะล่มสลายลงหรือไม่ เนื้อเพลงบางส่วนมีดังนี้
เรื่อง : “ฉวนหลิน” (นามปากกา)
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
บรรณาธิกรต้นฉบับ: aree.n
กองบรรณาธิการ: J P M T
สำนวนข้างต้นเป็นสำนวนที่ใครต่อใครก็ได้ยินกันเสมอ เด็กคือผ้าขาวบริสุทธิ์ที่คนเป็นผู้ใหญ่จะแต่งแต้มสีสันอะไรลงไปก็ได้ น่าเจ็บใจที่บางครั้งผู้ใหญ่ในสังคมก็เลือกที่จะแต้มสีที่ดูหมอง ๆ ลงไปบนผ้าผืนนั้น บ้างก็แต้มเป็นจุดเล็ก ๆ บ้างก็แต้มลงไปเกือบเต็มผืน บ้างก็แต้มเพียงครั้งเดียวแล้วสีนั้นก็ซีดหายไปตามกาลเวลา แต่บางครั้ง ผ้าสีขาวบริสุทธิ์นั้นก็ถูกแต้มสีหมอง ๆ นั้นลงไปช้า ๆ จนถึงแม้ว่าสีจะซีดลงไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังดูเป็นผ้ามอซอสีหมอง ๆ อยู่ดี ตลอดชีวิตของเด็กคนหนึ่งจะได้รับการอบรมและปลูกฝังเรื่องราวมากมายจากทั้งโรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง หรือจากคนมากมายที่เข้ามาในชีวิต จนเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สั่งสมแนวคิด ยึดถือขนบไว้มากมาย แนวคิดหนึ่งที่เด็กเกือบทุกคนในโลกนี้จะได้รับการปลูกฝัง นั่นคือ แนวคิดชาตินิยม ไม่ว่าจะชาติไหน ๆ บนโลกนี้ก็สอนให้คนในชาติเกิดสำนึกรักในความเป็นชาติของตนเองมากกว่าสิ่งใด ๆ
Podcast วิเคราะห์เรื่องสั้นเรื่อง "คล้ายว่าเริ่มจากฝน" ช่วยต่อยอดความคิดของข้าพเจ้าไปได้อีกหลายระดับ เมื่อโตขึ้น ข้าพเจ้ากลับมองว่าแนวคิดเรื่องชาติช่างเป็นแนวคิดที่ดูจับต้องได้ยากมาก เมื่อเราต้องมาวิเคราะห์กันว่าอะไรคือชาติ ก็ปวดหัวกันมากแล้ว เพราะมีการให้นิยามคำว่าชาติไว้หลายความหมาย หลายมุมมองเหลือเกิน แนวคิดเรื่องชาติดูเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นมาและยึดถือกันอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยที่เผลอ ๆ ไป พวกเราก็อาจจะไม่รู้ตัวกันด้วยซ้ำว่าเรามีสำนึกความรักชาติอยู่ในตัวอย่างเปี่ยมล้น
ยกตัวอย่างเช่นตอนที่เราดีใจกันแทบกรี๊ด เมื่อเห็นว่าทีมวอลเลย์บอลทีมชาติไทยชนะเลิศในรายการการแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเราลุ้นให้นางงามชาติเราเข้ารอบ 3 คนสุดท้ายในการประกวดนางงามรายการหนึ่ง ความรู้สึกแบบนี้ที่เกิดขึ้น มองผ่าน ๆ เราอาจนึกว่าเกิดขึ้นเพราะเรารักและชื่นชอบการดูกีฬาหรือการดูนางงามเพียงเท่านั้น แต่มาดูกันลึก ๆ อีกที ทีมชาติหรือนางงามล้วนไปแข่งขันในฐานะตัวแทนคนไทยทั้งประเทศ เป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อ วัฒนธรรมร่วมกันกับเราโดยไปแข่งกับตัวแทนชาติอื่น ๆ ที่เรามองว่าแตกต่างจากเราในเชิงชาติพันธุ์ การชนะการแข่งขันระดับนานาชาติดังกล่าวนี้ ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ดังนั้น เมื่อตัวแทนเหล่านี้ชนะ เราจึงดีใจถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ตัวเราที่ไปแข่งขัน เพราะว่าคนเหล่านั้นแบกอัตลักษณ์และเป็นภาพแทนของคนในชาติไปด้วย หากเขาชนะก็สื่อว่าเราเป็นชาติที่เก่งกาจ และนั่นก็จะทำให้เรามีความสุข หากมองในแง่นี้ แนวคิดการรักชาติก็ดูมีแง่ดีในแง่ที่ว่าสร้างให้คนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันถึงแม้จะเกิดจากคนละพ่อคนละแม่ก็ตาม แต่บางครั้ง การรักชาติมากเกินไป ก็นำมาซึ่งผลเสียต่อคนที่เรามองว่าไม่ใช่ “ชาติ” เดียวกันกับเรา
การใช้ความรุนแรงเพราะอคติทางชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วทุกมุมโลก และนั่นก็เป็นตัวอย่างของ ผลเสียที่เกิดจากการปลูกฝังสำนึกความรักชาติให้คนในชาติมากเกินไป เป็นเรื่องน่ากลัวมากเมื่อเห็นข่าวว่าคนต่างชนชาติกันทำร้ายร่างกายกันเพราะเขาดูแตกต่างจากเรา แม้แต่ในไทยเองถึงแม้ว่าอาจจะดูเหมือนเราแสดงอคติทางชาติพันธุ์ต่อคนตะวันตก-ตะวันออกไม่รุนแรงมากนัก แต่คนไทยก็มักมีอคติทางชาติพันธุ์ที่รุนแรงมากกับผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา นี้อาจเป็นเพราะแบบเรียนในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมักปลูกฝังภาพลักษณ์ด้านลบให้แก่เพื่อนบ้านของเรา ว่าเป็นผู้ที่ทำให้อาณาจักรของเราล่มสลายบ้าง เป็นคนทำลายวัฒนธรรมของเราไปบ้าง โดยนำเสนอเรื่องเหล่านี้ในแง่มุมเดียวกันซ้ำ ๆ ผลิตภาพจำด้านลบจนทำให้เรามีอคติต่อชาติพันธุ์เหล่านี้
การเกิดอคติทางชาติพันธุ์เช่นนี้ไม่ว่าจะต่อผู้ใดก็ตามเป็นเรื่องที่น่าเศร้า หลาย ๆ ครั้งเราได้ฟังข่าวที่มีผู้ปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นอย่างเลวร้ายราวกับว่าเขาไม่ใช่คนเหมือนกับเรา เพียงเพราะเขาไม่ใช่คนไทยเหมือนเราเท่านั้น เป็นที่น่าเสียดายที่หลักสูตรการศึกษาของไทยยังคงมุ่งเน้นที่จะปลูกฝังสำนึกรักชาติมากกว่าที่จะปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชนที่จะช่วยทำให้เรามองว่าคนชาติไหน ๆ ก็เป็นคนเท่ากันทั้งสิ้น คงจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี หากในอนาคต ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่าที่จะกีดกันสิทธิในการใช้ชีวิตของคนที่ต่างชาติพันธุ์กับเรา อย่างน้อยก็จะทำให้เราสามารถมีไมตรีจิตรต่อเพื่อนร่วมโลกไม่ว่าจะชาติไหน ๆ ได้มากขึ้น และคงจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในดินแดนที่มิใช่มาตุภูมิไม่รู้สึกว่า ตนเองแปลกแยกไปจากสังคมที่ตนเองอยู่ไปมากกว่านี้
เรื่อง : หมวกเมฆสีรุ้ง (นามปากกา)
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
บรรณาธิกรต้นฉบับ: aree.n
กองบรรณาธิการ: J P M T
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in