ย้อนกลับไปเดือนสิงหาคม2013 ในช่วงเทศกาลสารทจีน ผมได้รับจดหมายเชิญในฐานะนักดนตรีไทยให้เข้าร่วมเทศกาลดนตรีพื้นบ้านนานาชาติที่ประเทศไต้หวัน การแสดงของผมและคณะผ่านไปด้วยดี
คณะของเรามีแฟนคลับเป็นบรรดาลุงๆป้าๆชาวไต้หวันที่มักจะพาหลานๆวัยรุ่นไปดูการแสดงของเราทุกรอบ แถมยังต้มน้ำสมุนไพร ทำขนมมาให้พวกเรากินอีกด้วย คุณลุงตากล้องค่าตัวแพงก็ยังมาคอยตามถ่ายรูปการแสดงให้พวกเราแบบฟรีๆ เป็นน้ำใจดีๆที่ผมได้รับจากที่นี่
สามวันก่อนพิธีปิด
ผมและนักดนตรีจากทุกประเทศถูกเรียกมาประชุมลับเพื่อเตรียมการแสดงพิเศษสำหรับพิธีปิดของเทศกาลนี้
โจทย์ของผู้จัดงานคือ มีเพลงมาให้ 1 เพลง และให้นักดนตรีจากทุกประเทศช่วยกันออกแบบวิธีการเล่นโดยใช้เครื่องดนตรีของทุกประเทศมายำรวมกันให้เกิดเป็นเพลงพิเศษนี้ขึ้น
ในคืนแรกเป็นการแจกจ่ายไฟล์เพลงให้แต่ละคนได้ทำความคุ้นเคยกับทำนอง และจังหวะของเพลง ลองแกะโน้ตแบบคร่าวๆกันมาก่อน ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาผมก็สามารถเล่นเพลงนั้นได้จนจบ และเขียนโน้ตออกมาในรูปแบบที่ตัวเองเข้าใจ
เนื่องจากภารกิจหลักของเราคือการแยกย้ายกันไปทำการแสดงตามเวทีต่างๆในเทศกาลตามที่ระบุไว้ในกำหนดการ การประชุม และฝึกซ้อมของเราจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นในตอนกลางคืนอย่างเลี่ยงไม่ได้
แม้จะเป็นเทศกาลดนตรีพื้นบ้านนานาชาติ แต่ชนชาติส่วนใหญ่ที่ได้เข้าร่วมล้วนมาจากทางยุโรป และอเมริกา ที่หน้าตาเครื่องดนตรีของเขาเราอาจมองว่าไม่พื้นบ้านเท่าไรนัก อย่างกีตาร์ ไวโอลิน แอคคอร์ดเดียน คาริเนต ทำให้ ซออู้ ซอด้วง ขลุ่ยไม้ไผ่ กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ไปในทันที
ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การสื่อสารต่างภาษา และหน้าตาเครื่องดนตรีที่ไม่คุ้นเคย เลยกลายเป็นโจทย์ยากให้กับวาทยากรชาวเวเนซุเอล่าอาสาเป็นผู้ออกแบบเพลงและควบคุมวงดนตรีนี้
วาทยากรควักโน้ตเพลงที่ตนเองได้เรียบเรียงไว้เรียบร้อยแล้วทั้งเสียงหลัก และเสียงประสาน ทั้งคอร์ด เมโลดี้ และเครื่องเคาะจังหวะ จัดแจงยัดเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นใส่เข้าไปในแต่ละท่วงทำนอง
หายนะเกิดขึ้นเมื่อทั้งหมดของเครื่องดนตรีไทยกลายเป็นเครื่องคอร์ด รวมถึงคาริเนตของชาวแคนนาดาที่ควรจะเป็นเครื่องเมโลดี
กีตาร์ และแอคคอร์ดเดียนกลายเป็นเครื่องดำเนินทำนอง ซึ่งนอกจากไวโอลินแล้ว เครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆเรียกว่าต้องเล่นกันแบบผิดธรรมชาติกันพอสมควร
การถกเถียงที่ใช้ล่ามถึงสามคนเริ่มต้นขึ้น ผมปรึกษากับคนไทยด้วยกันเพื่อออกความเห็น และหันไปปรึกษาเป็นภาษาอังกฤษกับนักดนตรีสาวชาวแคนนาดาที่นั่งข้างๆกัน ก่อนจะบอกต่อให้กับล่ามชาวไต้หวัน ข้อความถูกส่งต่อให้ล่ามชาวไต้หวันอีกคนเป็นภาษาจีนเพื่อแปลเป็นภาษาสเปนให้กับมือกลองปานามา และวาทยากรชาวเวเนซุเอลาอีกต่อหนึ่ง
ผมนึกถึงกิจกรรมประจำค่ายแทบทุกค่ายในประเทศไทยทันที “กล้วยตานี ใบหวีเหี่ยว เหลือหวีเดียว หิ้วหวีไป หิ้วหวีมา” แค่ภาษาไทยกระซิบไปสองต่อยังผิดเพี้ยนจนน่ากลัว การส่งต่อถึงสี่ภาษาเป็นอะไรที่หวังผลยากจริงๆ
เป็นเวลานานพอสมควรกว่าเราจะช่วยกันปรับเพลงนี้ให้พอถูไถไปได้โดยไม่เสียโครงสร้างเดิมมากนัก และหายนะต่อมาก็เกิดขึ้น
ผมนั่งแข็งทื่ออยู่หน้าบรรทัดห้าเส้นที่ประดับประดาไปด้วยตัวโน้ตสากลที่ผมไม่รู้จัก การหัดดนตรีแบบครูพักลักจำทำให้ผมข้ามทฤษฎีดนตรีขั้นพื้นฐานไปแบบไม่น่าให้อภัย ผมกลายเป็นอุปสรรคของวงไปเสียแล้ว เมื่อเพลงเริ่มบรรเลง เสียงดนตรีค่อยๆประกอบกันเป็นรูปเป็นร่าง ความกดดันเริ่มก่อตัวขึ้นในจิตใจของผม เราจบการซ้อมกันไปโดยผมทำอะไรไม่ได้เลย
ชื่อเสียงของประเทศชาติที่แบกมาพร้อมกับกระเป๋าเดินทาง ความคาดหวังจากลุงป้าแฟนคลับ และกำลังใจจากคณะนักแสดงไทยที่ไปด้วยกัน เป็นสิ่งที่ผลักดันตัวผมไม่ให้ล้มไปในตอนนั้น
ผมมองความยากนั้นให้เป็นความท้าทาย มองมันให้กลายเป็นแบบทดสอบ ตั้งโจทย์ไว้เป็นข้อสอบสำหรับตัวเองว่าต้องเล่นให้ได้ ผมเองไม่ต่างกับเด็กไทยทั้งหลายที่อาศัยพลังของเดดไลน์ในคืนก่อนสอบ และมักได้ผลเสมอ
คืนสุดท้ายของการฝึกซ้อม เราทั้งหมดถูกย้ายไปที่โรงละครใหญ่เพื่อใช้เครื่องเสียงที่มีคุณภาพในการซ้อม ผมนั่งลงพร้อมกับควักกระดาษสี่แผ่นขึ้นมาวางบนสแตนด์วางโน้ต วาทยากรกระโดดโหยงมาจากแกรนด์เปียโนที่ตนประจำการอยู่เพื่อมาหยุดยืนดูโน้ตของผมที่ดูต่างออกไปอย่างสงสัยใคร่รู้
ดรมซ l -ซฟฟ l มรดร l -ม-ร l
-ดรม l-ด-ท l มลซ- l ---ม l
ซล-ด l -ล-ซ l ม-ร- l ดร-- l
ม-รด l -ล-ด l
เมื่อผมไม่สามารถอ่านบรรทัดห้าเส้นเป็นได้ในข้ามคืน ผมจึงแปลมันเป็นภาษาที่เราคุ้นเคย แม้จะไม่มีใครเข้าใจในโน้ตแผ่นนี้ แต่ทุกคนน่าจะเริ่มเข้าใจความรู้สึกของการอ่านโน้ตไม่ออกแล้วล่ะว่ามันเป็นยังไง
ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี แม้จะมีตะกุกตะกักบ้างในช่วงแรกๆ แต่ละตัวโน้ตประกอบกันเป็นทำนอง รวมกับเสียงร้องที่ผมแปลไม่ออกได้บอกกับผมว่าเราสามารถสร้างเอกภาพได้ในความแตกต่างเสมอ
เสียงขลุ่ยไทยไหลประสานไปกับคาริเนตและแอคคอร์ดเดียน เสียงซอด้วงซออู้คลอคู่ไปกับเสียงไวโอลิน เสียงกีตาร์จากหลากชนชาติที่แตกต่างกัน เสียงกลองปานามาปะทะกับตะโพนไทย เสียงฉิ่งฉับขับคู่กับเสียง churuca จากปานามา หลอมรวมกันเป็นประสบการณ์ มิตรภาพ และความทรงจำ
สิ้นสุดเทศกาล พวกเราถูกล้อมด้วยกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ใช่นักดนตรี บทเพลงที่ร้องจากจิตใจเพื่ออำลาก่อนจากกันไปช่างไพเราะ ทั้งที่ไม่มีเครื่องดนตรีใดๆ
แปลกดีที่เพลงที่เราฟังไม่เข้าใจกลับเข้าไปประทับอยู่ในใจเราได้มากขนาดนี้
Jin Nian Xia Tian ชื่อเพลงถูกเขียนไว้เหนือบรรทัดห้าเส้นที่ประดับประดาด้วยตัวโน้ตสากลตรงหน้า ผมพับมันเก็บไว้ในลิ้นชักหนึ่งของความทรงจำ
บรรยากาศการซ้อมช่วงแรกๆของวันสุดท้าย (น่าเสียดายที่ไม่ได้บันทึกช่วงที่สมบูรณ์ไว้ด้วย) ตะกุกตะกักบ้างถูๆไถๆกันไป
เพลงต้นฉบับ : https://youtu.be/Rd46U_ybdk4
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in