หลังจากได้ดูร่างทรงรอบพิเศษไปเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว แล้วก็ลีลาอยู่หลายวันมากไม่ได้เขียนรีวิวสักที หลังดูจบรู้สึกว่ามีประเด็นที่ต้องขอย้อนไปคิดสักหน่อยเลยดองไว้ วันนี้ก็ได้ฤกษ์รีวิวรีใจสักที
เนื่องจากเป็นติ่งนาฮงจิน ต้องขอจั่วหัวไว้ก่อนว่าดูด้วยฟิลเตอร์ติ่งนาฮงจิน แบบเอาฟิลเตอร์ออกไปไม่ได้จริง ๆ รีวิวนี้ไม่มีสปอยล์ค่ะ ไม่มีเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญ
ร่างทรงเล่าเรื่องในรูปแบบ Mocumantary หรือสารคดีปลอม แสร้งว่าเป็นสารคดี ในเรื่องจะเป็นเรื่องราวของสารคดีที่เก็บข้อมูลของร่างทรงย่าบาหยัน ร่างทรงผีประจำท้องถิ่นที่สืบทอดทาง 'สายเลือด'
โดย object ที่สำคัญของสารคดีนี้คือป้านิ่ม ที่เป็นร่างทรงผีย่าบาหยันคนปัจจุบัน
เรื่องเปิดด้วยภาษาอีสาน และการอธิบายคำว่า 'ผี' ในความเชื่อของศาสนาผี ผีไม่ใช่แค่วิญญาณคนที่ตายไป ไม่ใช่แค่วิญญาณร้าย แต่ผีมีในทุกที่และทุกสิ่ง เชื่อมโยงกับทุกสิ่งรอบตัวเรา ผีมีทั้งดีและร้าย การใช้ภาษาอีสานในการเปิดทำให้ได้บรรยากาศที่เป็นท้องถิ่น รู้สึกเหมือนสารคดีจริง ในส่วนของภาษาอีสานนั้นสำหรับคนภาคกลางอย่างเราที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาอีสานสักเท่าไหร่ ก็พอจะจับใจความได้ หลังจากผ่านช่วงการอธิบายสัมภาษณ์เป็นภาษาอีสานในช่วงแรก ป้านิ่มก็เปลี่ยนการนำเรื่องด้วยการพูดไทยกลาง เพื่อให้คนทำสารคดีได้เข้าใจมากขึ้น ระหว่างทางของเรื่องก็จะมีภาษาอีสานในการสนทนาระหว่างตัวละครหลาย ๆ ตัว แต่ก็สามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้อย่างดี เพราะตัวละครโปรดิวเซอร์ของสารคดีจะคอยทำหน้าที่รีแคป สัมภาษณ์ สอบถามเรื่องราว ทำให้เราสามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้แม้ไม่คุ้นเคยกับภาษาอีสาน
หลังจากผ่านช่วงต้น หนังพาคนดูเข้าสู่สตอรี่ไลน์ของเรื่อง มู้ดจะเริ่มแตกต่างจากพาร์ทแรกที่เป็นการให้ข้อมูลและให้ความรู้สึกถึงสารคดี พาร์ทนี้จะเป็นการตามติดถ่ายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนตัวคิดว่าหนังสามารถพาเราเข้าไปสู่ช่วงเส้นเรื่องอย่างไม่ได้ประดักประเดิดเท่าที่คิดไว้ เพราะการเชื่อมเข้าสู่เส้นเรื่องโดยยังทำให้เชื่อว่านี่คือสารคดีก็ไม่ใช่งานที่ง่าย แต่แอบรู้สึกติดนิดหน่อยกับการแสดงพฤติกรรมด้านลบและการแสดงความกังวลที่ออกจะดูชัดเจนเปิดเผยไปหน่อยในบางตัวละครในช่วงต้น เพราะยังไม่รู้สึกว่าระยะเวลาสั้น ๆ จะทำให้คนที่ถูกถ่ายกับทีมสารคดีสนิทสบายใจต่อกันจนกล้าแสดงอารมณ์ชัดเจนต่อหน้ากล้องขนาดนั้น
หลังจากนั้นหนังก็พาไปสู่เรื่องราวที่เข้มข้นขึ้น มีการปฎิสัมพันธ์กับทีมสารคดีทำให้ดูสมจริง ดูเป็นสถานการณ์ที่เกินการรับมือของตัวละครในเรื่อง เรื่องเล่าไล่ไปในตอนท้ายดูเป็นเหตุการณ์ที่สดใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงตอนจบเรื่อง
ในส่วนของภาพ แม้จะเป็น Mocumantary แต่ภาพก็ไม่ได้มีแค่มุมกล้อง Handheld ที่เหวี่ยงไปมา (ก็เหมือนหนัง Documantary เดี๋ยวนี้ที่ภาพสวยเหมือนหนังทั่วไปเนี่ยแหละ) แต่เพราะภาพในช่วงที่กล้อง Handheld ส่วนมากจะเป็นขนาด Medium Shot หรือ Close up เยอะ ด้วยความที่ดูรอบพิเศษ จองที่นั่งดี ๆ ไม่ทัน เลยได้นั่งแถวที่ 3 จากหน้าจอ ดูไปช่วงกลางๆ เรื่องเลยรู้สึกเวียนหัว ไม่แนะนำดูชิดติดหน้าจอนะ ถ้าใครดูในโรงแนะนำนั่งหลังๆ จะดีกว่าค่ะ แต่จริงๆ ระดับการสั่นก็ไม่ได้ดูไม่รู้เรื่อง ถ้านั่งตำแหน่งปกติ หรือถ้าฉายใน Streaming platform ไม่น่ามีปัญหาอะไรเลยสำหรับมุมกล้อง
ต้องบอกไว้ก่อนว่าที่อยากดูเรื่องนี้มากเพราะเป็นติ่งนาฮงจิน555555 ส่วนตัวชอบเรื่อง The Wailing ของนาฮงจินมาก แล้วทีเซอร์ ธีมเรื่องต่างๆ ของร่างทรงก็มีความคล้ายคลึงกับ The Wailing มาก สำหรับตอนเปิดเรื่อง หลังพ้นช่วงฟุตเทจป่าธรรมชาติไปแล้ว รูัสึกว่าเออ ไม่เหมือนกันเลยนะ เหมือนกันแค่ฟุตเทจบางส่วน ด้วยวิธีการเล่าแบบ Mocumantary ด้วย ที่ทำให้รู้สึกถึงความแตกต่างชัดเจน
แต่เมื่อเรื่องดำเนินเข้าสู่จุดเข้มข้นโดยเฉพาะในซีนพิธีกรรม ที่ทั้งภาพ เพลงประกอบ บรรยากาศ ค่อย ๆ ทำให้เราเชื่อมโยงกับซีนต่างๆ ใน The Wailing โดยเฉพาะช่วงซีนประกอบพิธีกรรม อีกทั้งตำแหน่งของตัวละครที่ทำหน้าที่คล้ายกันในการปกป้องลูก การพยายามช่วยเหลือครอบครัว ความศรัทธาต่อผีประจำพื้นที่ การลังเลในการเลือกว่าจะเชื่อใคร การที่ใช้ตัวละครผู้หญิงเป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง การไร้ความสามารถของตัวละครชาย และความสงสัยแคลงใจกับตัวละครในเรื่อง สิ่งต่าง ๆ ที่เคยเป็นกิมมิคเหล่านี้ใน The Wailing เราได้เห็นมันในร่างทรงอีกครั้ง
จากบทสัมภาษณ์ นาฮงจินได้บอกไว้ว่า อยากสร้างหนังที่เหมือนเรื่องต่อจาก The Wailing ในสถานที่อื่น ตัวละครอื่น เลยออกมาเป็นโปรเจคร่างทรง นาฮงจินอยากให้หนังเรื่องนี้ให้ความรู้สึกสมจริง เหมือนเรื่องจริง เหมือนเหตุการณ์วันนั้นจริง ๆ และอยากเล่าเรื่องราวระหว่างผีที่สืบทอดทางสายเลือดและผีที่สุ่มสิงคนแบบไม่มีแบบแผน บรรยากาศของหนังที่เป็นป่า มีฝนตกชื้น จึงทำให้ทีมไทยสโคปมาสนใจที่ภาคเหนือกับอีสาน
ส่วนตัวรู้สึกว่าร่างทรงเหมือนอีกจักรวาลของ The Wailing ที่เปลี่ยนเซตติ้งมาไทย และวิธีการเล่าแบบ Mocumentary ซึ่งผลักให้ในความเหมือนมันออกมาแตกต่าง ส่วนตัวเลยรู้สึกเป็นโปรเจคที่กลมกล่อมมาก ถึงจะเป็นแฟนนาฮงจินรักคอนเซปนี้มาแต่ไหนแต่ไร แต่ถ้าเรื่องนี้ไม่มีพี่โต้งและทีมงานฝั่งไทยก็คงเป็นเรื่องร่างทรงออกมาไม่ได้ เพราะนาฮงจินก็คงไม่สามารถเล่ามุมมองความเชื่อแบบไทยๆ ได้ขนาดนี้แน่ ๆ แหละ (ต้องขอโทษพี่โต้งด้วยถ้าไม่ค่อยได้พูดถึง เพราะเป็นติ่งนาฮงจินค่ะ TT)
ประเด็นที่ชอบคือการเล่าถึงศาสนาผี ความเชื่อเรื่องผีตำนานต่าง ๆ ในมุมมองที่ไม่ได้งมงาย เล่าเหมือนเป็นศาสนาหนึ่ง แม้ในบริบทประเทศไทยที่ความผีและความพุทธจะเชื่อมโยงกันมาก แต่แทบจะไม่ได้เห็นบทบาทศาสนาพุทธในร่างทรง (มีคนให้ความเห็นไว้ว่า อาจจะเลี่ยงดราม่าเรื่องศาสนา) ในขณะที่ศาสนาคริสต์กลับมีเรื่องราวมากกว่าศาสนาพุทธในเรื่องนี้
ศาสนาผีในร่างทรงก็ได้สะท้อนความสำคัญของผู้หญิงที่เป็นเพศที่มีอำนาจในศาสนาผี ตัวละครที่สำคัญในร่างทรงนำด้วยตัวละครหญิง อีกทั้งมีผีที่แหกขนบค่านิยมชายเป็นใหญ่อย่างผีแม่ม่าย ที่เหมือนเล่าอะไรบางอย่างของกรอบจำกัดทางเพศที่ถูกแหกผ่านผีในเรื่อง ทั้งเรื่องราวและกิมมิคเล็ก ๆ น้อย ๆ หลาย ๆ อย่างที่คนไทยดูแล้วอาจจะเข้าใจแล้วเชื่อมโยงได้มากกว่าคนเกาหลี โดยเฉพาะคนท้องถิ่นอีสาน ที่อาจจะคุ้นเคยเข้าใจรู้จักผีต่าง ๆ ในเรื่อง ก็รอให้คนไทยได้ดูกันแล้วมารีวิวเกร็ดความรู้ความเชื้อพื้นบ้านในหนังกัน คิดว่าน่าจะมีดีเทลน่าสนใจอีกมากมายค่ะ
ในส่วนของนักแสดงหลักคือดีมาก ประทับใจคุณเอี้ยง สวนีย์ อุทุมมา ที่รับบทเป็นป้านิ่ม และคุณปู ยะสะกะ ไชยสร รับบทลุงมานิช สำหรับเราสองคนนี้เป็นคนที่ hit the perfect ตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นสองคนที่เปิดมาที่ดูแล้วเชื่อว่าเขาคือ object ของสารคดีนี้จริงๆ และอีกคนที่ต้องชมคือ คุณญดา นริลญา กุลมงคลเพชร รับบทมิ้ง ที่เป็นตัวละครที่ต้องสร้างและรักษาความน่ากลัวของหนังเอาไว้แทบทั้งเรื่อง ซึ่งทำได้ดีมาก รวมทั้งคุณศิราณี ญาณกิตติกานต์ ที่รับบทป้าน้อย ก็พยุงเรื่องได้อย่างแข็งแรง และเมื่อถึงช่วงจังหวะเวลาของตัวละครป้าน้อย คุณศิราณีก็แสดงความเป็นแม่ออกมาได้โดยที่เราเชื่อในความรักของป้าน้อยที่มีต่อลูกได้อย่างสุดหัวใจ
ส่วนความน่ากลัว ถ้าความเละเทะจริง ๆ ไม่ได้มีมากขนาดนั้น ไม่ได้มีฉากเหวอะหวะ เลือดพุ่ง เละเทะมากขนาดหนังสยองขวัญทั่วไปด้วยซ้ำ ด้วยมุมภาพที่ต้องเล่าเป็น Mocumentary ทำให้ไม่ได้เห็นภาพสยดสยองที่ชัดเจนจัง ๆ อะไรมาก เพราะกล้องต้องสั่นบ้าง เป็นภาพไนท์โหมดบ้าง ตามเนเจอร์ของคนที่ถ่ายสารคดี ก็ต้องมีความกลัวกันหน่อยแหละที่จะถ่ายภาพเละ ๆ ถ้าเทียบกับหนังนาฮงจินแล้ว ความเละเทะก็คือเบากว่าเยอะมากๆ (ก็แน่สิ นาฮงจินไม่ได้กำกับนะ5555) ความน่ากลัวจะตกไปอยู่ที่ดีไซน์ท่าทางของผีที่มีการเคลื่อนไหวดูผิดธรรมชาติ มีช็อต Jump scare บ้างในช่วงหลัง ๆ ด้วยวิธีการเล่าแบบ Mocumentary ทำให้หนังไม่สามารถบิวด์ด้วยเสียง ด้วยรีแอคตัวละครที่เห็นผีแบบที่เราคุ้นชินกับหนังทั่วไป ซึ่งจริง ๆ เป็นจุดที่ยากมาก หนังจึงเลือกส่งความน่ากลัวผ่านตัวละคร ผ่านการเคลื่อนไหวของนักแสดง ผ่านพฤติกรรมโหดร้ายของตัวละคร แต่โดยรวมแล้วสำหรับเราเอง ก็รู้สึกว่าสร้างความน่ากลัวออกมาได้ดี ส่วนตัวคิดว่าแค่นี้พอเถอะ55555 เพราะจริง ๆ โครงหลักของทั้งร่างทรงและ The Wailing นั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวผีที่เป็นรูปเป็นร่าง แต่อยู่ที่เรื่องราวที่เกิดขึ้น
สรุปคือ เนื่องจากเป็นติ่งนาฮงจินที่ชอบ The Wailing มาก เรารู้สึกว่าไม่สามารถพูดถึงร่างทรงโดยไม่พูดถึง The Wailing ได้เลย เพราะทั้งตัวโครงเรื่องและโปรเจคนี้มีที่มาจาก The Wailing ถึงแม้ไม่ได้กำกับโดยนาฮงจิน แต่บทในตอนเริ่มโปรเจคก็ถูกเขียนโดยนาฮงจิน และก็ถูกโปรดิวซ์โดยนาฮงจิน ทำให้ยังรู้สึกถึงกลิ่นต่างๆ ที่เราคุ้นเคยใน The Wailing ในหนังเรื่องนี้ ผสมกับการกำกับของพี่โต้ง ที่ผลักให้หนังเดินเรื่องไปในอีกสไตล์ อีกวิธีเล่า อีกทั้งเลือกหยิบจับกิมมิคไทย ๆ เอามาผสมได้อย่างลงตัว เช่น ความเชื่อในสติกเกอร์ที่แปะหลังรถว่า 'รถคันนี้สีแดง' ที่เราคนไทยต่างต้องคุ้นเคยแน่ๆ ซึ่งพี่โต้งเคยให้สัมภาษณ์ว่าตอนอ่านบทก็รู้สึกว่ามันเหมือนกับไทยมากๆ โดยรวมสำหรับเราแล้วร่างทรงมันผสมไปกับ The Wailing เหมือนงานที่ต่อเนื่องกันอย่างแยกไม่ได้ แม้ฟิลเตอร์การดูของเราพาเรารีมายด์ทาบทับกับ The Wailing ตลอด แต่ก็ไม่ได้รู้สึกเปรียบเทียบในเชิงว่าอะไรดีกว่าหรือแย่กว่า ถ้าใครจะดูร่างทรง หรือระหว่างรอดู แนะนำดู The Wailing ก่อน น่าจะได้อรรถรสอะไรหลาย ๆ อย่างมากขึ้นค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in