เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
crime fict filmchayanin
Changeling: กระบวนการสร้าง ‘หญิงบ้า’ ผ่านอำนาจของตำรวจและความรู้ทางการแพทย์
  • เมื่อ ค.ศ.1928 ในเมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา คริสติน คอลลินส์ แม่ผู้ตามหาลูกที่หายไป ถูกตำรวจส่งตัวไปยังหน่วยจิตเวช หลังเธอยืนยันว่าเด็กชายที่ตำรวจนำตัวมาให้ไม่ใช่ วอลเตอร์ ลูกแท้ๆ ของเธอ

    เรื่องราวของคริสตินและวอลเตอร์ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ Changeling กระชากปมปริศนาคดีอำพราง ซึ่งออกฉายในปี ค.ศ. 2008 กำกับโดย คลินท์ อีสต์วูด และได้แองเจลินา โจลี มารับบท คริสติน แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ยืนหยัดเรียกร้องให้ตำรวจตามหาลูกชาย แม้เธอจะถูกตีตราว่าเป็น ‘หญิงบ้า’

    ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอความบกพร่องของตำรวจอย่างชัดเจน นอกจากพวกเขาจะปฏิบัติหน้าที่พื้นฐานในการปกป้องดูแลประชาชนไม่ได้แล้ว ยังรับบทเป็นโจรในเครื่องแบบอีกด้วย บทความนี้จึงอยากจะพาไปสำรวจว่า อำนาจของผู้บังคับใช้กฎหมายและความรู้ทางการแพทย์เปลี่ยน ‘คนปกติ’ ให้กลายเป็น ‘คนบ้า’ ได้อย่างไร เพื่อให้เราเข้าใจและรู้เท่าทันลูกไม้ที่ผู้มีอำนาจ (authority) มักใช้เพื่อให้ขาเก้าอี้ของตนมั่นคง 

    *มีการสปอยล์เนื้อหาภาพยนตร์

    วาทกรรม ‘ความบ้า’ ของ ฟูโกต์ 

    ถ้าพูดถึง มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส หนึ่งใน คีย์เวิร์ดที่คนมักจะนึกถึงคือวาทกรรม (discourse) ซึ่งหมายถึงการให้ความหมายต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผ่านภาษาหรือชุดความรู้ อันก่อให้เกิดวิธีการคิด มุมมอง และแนวทางปฏิบัติต่อเรื่องหรือสิ่งนั้นด้วย วาทกรรมจึงเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจที่ถูกใช้เรื่อยมา

    สำหรับวาทกรรมความบ้า ฟูโกต์ได้ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า Folie et Déraison: Histoire de la folie à l'âge classique เมื่อปี ค.ศ. 1961 โดยเขาศึกษาการเปลี่ยนแปลงในความหมายของ ‘ความบ้า’ ในช่วงยุคกลางจนถึงปลายศตวรรษที่ 18 ทั้งในมิติทางวัฒนธรรม กฎหมาย การเมือง ปรัชญา และการแพทย์ของยุโรป

    ในทรรศนะของฟูโกต์ แนวคิดแบบสมัยใหม่ที่ว่า คนบ้าคือคนป่วยทางจิตผู้ต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ ไม่ใช่ความก้าวหน้าทางความคิดจากยุคก่อนๆ อย่างแนวคิดคนบ้าคือคนที่ได้สัมผัสกับพลังงานลี้ลับของจักรวาลของยุคเรอเนสซองส์ หรือความบ้าเป็นการละทิ้งซึ่งเหตุและผลของในช่วงศตวรรษที่ 17-18 นอกจากนี้ ฟูโกต์เสนอว่า ‘ความเป็นกลาง’ ของวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ที่ใช้รักษาความบ้า แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมไม่ให้มีการท้าทายชุดศีลธรรมแบบประเพณีนิยมของชนชั้นกลาง (bourgeois) ความบ้าจึงถูกทำให้ตรงข้ามกับความปกติ และถูกทำให้เงียบไปในสังคม

    หนึ่งในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ฟูโกต์ศึกษาคือ การเกิดขึ้นของ Hospital General หรือโรงพยาบาลจิตเวช ในปี ค.ศ. 1657 ผู้ถูกกักกันในสถานที่แห่งนี้ประกอบไปด้วยคนยากจน คนไร้บ้าน คนเกียจคร้านไร้ประโยชน์ ผู้ทำผิดจารีตศีลธรรม และบุคคลที่มีอาการทางประสาท โดยสถานที่แห่งนี้มีเป้าหมายในการจัดระเบียบคนในปกครองตั้งแต่พวกเขาถือกำเนิด และมีการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของผู้ที่ถูกกักขัง โรงพยาบาลนี้มีความใกล้เคียงกับแผนกจิตเวชที่คริสตินถูกส่งตัวไปไม่น้อย ซึ่งจะอธิบายในส่วนถัดไปของบทความ

    การร่วมมือของตำรวจและหมอในการสร้าง ‘แม่ที่เสียสติ’

    เมื่อคริสตินมั่นใจว่าลูกของเธอหายตัวไปจริงๆ เธอจึงโทรแจ้งความ แต่ตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะยังไม่รับแจ้งว่าเป็นคดีเด็กหาย จนกว่าจะไม่เจอตัวเด็กเกิน 24 ชม. ตำรวจที่ปลายสายอ้างตัวเลขสถิติว่า 99% ของเด็กที่หายไปจะกลับมาบ้านในตอนเช้า คริสตินจึงตอบไปว่า เธอมั่นใจว่าวอลเตอร์ไม่ใช่เด็กประเภทชอบหนีเที่ยวกับเพื่อนตอนกลางคืน แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกปัดว่าตามประสบการณ์ของตนว่า พ่อแม่ทุกคนก็คิดแบบนี้

    youtube.com
    วินาทีแรกที่คริสตินพบกับเด็กชายที่ชานชาลา เธอรู้ทันที่ว่าเขาไม่ใช่วอลเตอร์ ลูกชายของเธอที่หายตัวไป แต่กัปตัน เจ. เจ. โจนส์ เจ้าหน้าที่หัวหน้าแผนกเด็กและเยาวชนของ LAPD (Los Angeles Police Department) พยายามโน้มน้าวว่าคริสตินอาจจะจำลูกไม่ได้ เพราะเด็ก 9 ขวบเป็นวัยที่โตเร็ว วอลเตอร์ไปอาศัยอยู่กับผู้ที่ลักพาตัว และห่างจากแม่ไปถึง 5 เดือน จึงเป็นธรรมดาที่เขาจะดูเปลี่ยนไป

    คริสตินยืนกรานว่าเด็กชายคนนี้ไม่ใช่ลูกของเธอ และขอให้ตำรวจเดินหน้าตามหาลูกของเธอต่อ แต่กัปตันโจนส์อ้างว่า “เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอัตลักษณ์เด็ก” ได้ตรวจสอบรูปพรรณสัณฐานแล้วว่าเด็กที่ตำรวจพบคือวอลเตอร์ตัวจริง

    nungsub.com

    กัปตันโจนส์ส่งหมอมาที่บ้านของคริสติน เพื่ออธิบายสาเหตุที่วอลเตอร์ดูเปลี่ยนไป โดยหมอบอกว่า เด็กชายเตี้ยลงจากที่คริสตินเคยวัดไว้ เพราะความเครียดรุนแรงจากการถูกลักพาตัว และอวัยวะเพศที่ถูกขลิบอาจเป็นการกระทำของคนร้าย อย่างไรก็ตาม การขลิบนั้นดีต่อสุขอนามัย คริสตินจึงไม่ควรเป็นกังวล นอกจากนี้ หมอคนเดียวกันยังให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ว่า “อาการซีดเซียว สับสน และอ่อนเพลียของวอลเตอร์ เกิดขึ้นหลังจากพบคริสติน” ภาษาที่ใช้ชี้นำว่าลูกอาจจะอยู่กับแม่ที่ไม่ปกติ และทางเจ้าหน้าที่ห่วงความปลอดภัยและสุขภาพของเด็กชาย

    เมื่อตำรวจไม่รับฟังคำพูดของคนเป็นแม่ คริสตินจึงรวบรวมหลักฐานจากคนอื่นที่คุ้นเคยกับ วอลเตอร์ ได้แก่ หมอฟันที่ยืนยันว่าวอลเตอร์ตัวจริงมีฟันห่าง แต่เด็กชายคนนี้ไม่มี และให้ครูในโรงเรียนของวอลเตอร์ช่วยยืนยันอีกแรง หลังจากที่คริสตินนำเรื่องนี้ไปแถลงกับสื่อมวลชน กัปตันโจนส์ก็โมโหเป็นอย่างมาก เขากล่าวหาว่าเธอพยายามจะปัดความรับผิดชอบในการเป็นแม่ เพราะอยากมีชีวิตโสดอิสระ ซ้ำร้ายยังบอกว่าเธอวิตกจริตและมีอาการหวาดระแวงไปเองว่าถูกข่มเหง จึงส่งเธอไปยังแผนกจิตเวชของโรงพยาบาลกลางลอสแองเจลิส

    โรงพยาบาลได้ตรวจเลือดคริสตินเพื่อหาซิฟิลิส เนื่องจากโรคนี้อาจส่งผลต่อสมอง และมีการให้ยาคลายกังวล หมอให้เงื่อนไขว่าถ้าเธอเซ็นเอกสารยอมรับว่าเธอจำลูกไม่ได้เองและตำรวจไม่ผิด เธอจะได้ออกไปจากโรงพยาบาล เมื่อคริสตินปฏิเสธและโกรธอย่างหนักก็ถูกฉีดยาสลบ

    จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าตำรวจได้นำ ‘ความรู้’ มาสนับสนุนหลักการของตน ทั้งอ้างสถิติ อ้างผู้เชี่ยวชาญด้านอัตลักษณ์ และให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์อธิบายด้วยชุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ขั้วตรงข้ามของฝั่งตำรวจที่ ‘มีเหตุผล’ และฝั่งคริสตินที่ ‘ไร้เหตุผล’ ถูกขับเน้นขึ้นมาอย่างชัดเจน สัญชาตญาณความเป็นแม่ของคริสติน รวมไปถึงการแสดงออกถึงอารมณ์เสียใจหรือโกรธเคือง ล้วนถูกด้อยค่าและให้ความหมายว่าเป็นอาการของ ‘คนสติแตก’

    แผนกจิตเวชมีบทบาทอย่างเด่นชัดในการแบ่งแยกกลุ่มคน ‘ปกติ’ และ ‘ไม่ปกติ’ ออกจากกัน โดยคน ‘ไม่ปกติ’ ถูกควบคุมตั้งแต่ระดับเนื้อตัวร่างกาย โดยต้องเปลื้องผ้าให้พยาบาลฉีดน้ำทำความสะอาด (ในกิริยาเดียวกับเวลาเราเอาสายยางฉีดล้างรถยนต์) และมีการใช้เครื่องมือแหย่เข้าไปตรวจสอบอวัยวะเพศ เมื่อเสร็จสิ้นก็เปลี่ยนให้ใส่ชุดที่ผู้ป่วยทุกคนสวมใส่เหมือนกัน ให้ยากินเพื่อ ‘รักษา’ ความป่วยไข้ในจิตใจ และต้องอยู่ในห้องทึบที่ลงกลอนอย่างแน่นหนา แทบไม่ต่างอะไรกับนักโทษ

    nungsub.com

    เมื่อถูกแบ่งแยกว่าเป็นคนไม่ปกติแล้ว ยังมีการควบคุมเสรีภาพในการรับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ โดยห้ามรับสื่อทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ หรือกระทั่งหนังสือทั่วไป

    Code 12 และ Room 18: เครื่องมือของผู้มีอำนาจในการควบคุมคน ‘สติฟั่นเฟือน’

    ในภาพยนตร์กล่าวถึง Code 12 เป็นรหัสที่สื่อถึงคำสั่งตรงจากตำรวจให้ส่งตัวนักโทษมายังแผนกจิตเวช ผู้ป่วยในแผนกเดียวกับคริสตินล้วนมาจาก Code 12 ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนไป “เหยียบหาง” ตำรวจเข้า เช่น หญิงสาวคนหนึ่งไปบอกคนอื่นว่าสามีที่เป็นตำรวจทำร้ายร่างกายเธอ เขาจึงส่งเธอเข้าโรงพยาบาลด้วย Code 12 หรือพนักงานบริการทางเพศที่ถูกลูกค้าทำร้ายร่างกายหลายต่อหลายครั้ง พอแจ้งความจึงได้รู้ว่าลูกค้าคนนั้นเป็นตำรวจ เธอจึงกลายมาเป็นนักโทษในที่แห่งนี้

    ฝั่งโรงพยาบาลก็มีรหัสเฉพาะที่เรียกว่า Room 18 หมายถึงห้องที่เจ้าหน้าที่จะใช้กระแสไฟฟ้า ช็อตสมองคนไข้คนใดก็ตามที่หมอสั่ง ในกรณีของคริสติน เธอถูกสั่งให้ไป Room 18 หลังจากด่าทอหมอด้วยคำหยาบคาย

    รหัสทั้งสองมาจากการใช้ภาษาสร้างเป็นชุดคำสั่งที่มีความหมายเฉพาะเจาะจงเพื่อกีดกัน ‘คนบ้า’ ที่กล้าเปิดเผยความจริงของตำรวจ หรือคนที่ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในโรงพยาบาล คนปกติและ มีความรู้อย่างตำรวจและหมอ จะได้คงอำนาจและภาพลักษณ์ที่ดีของตนไว้

    ข้อเท็จจริงที่โต้กลับว่าใคร ‘บ้า’ กันแน่

    จุดเปลี่ยนของเรื่องมาถึง เมื่อมีคำให้การเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องที่มักจะจับตัวเด็กไปทรมานและฆ่า มีพยานพบเห็นว่าวอลเตอร์เป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถูกฆาตกรรายนี้จับไปขัง พอสื่อกระพือข่าวดังกล่าวออกไป บาทหลวงเบรกลาบ ผู้ที่เชื่อคริสตินตั้งแต่ต้น จึงบุกเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อช่วยคริสตินออกมา ทำให้หมอไม่มีเหตุผลที่จะกักขังให้คริสตินอยู่ในแผนกจิตเวชต่อไป

    ข้อเท็จจริงดังกล่าวท้าทายวาทกรรม ‘หญิงบ้า’ ของเจ้าหน้าที่ เผยให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการสืบหาความจริงของตำรวจ และการบังคับใช้กฎหมายตามใจตัวเองเพื่อกำจัดคนที่ขัดผลประโยชน์กับตน อีกทั้งยังทำให้เราตั้งคำถามต่อความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่แม้จะมั่นใจว่าเที่ยงตรงและมีความเป็นภววิสัย กลับเชื่อถือไม่ได้ เพราะสามารถถูกบิดเบือนโดยผู้ที่ใช้มันได้เสมอ

    การพลิกเกมในเรื่อง ตรงกับคุณลักษณะของวาทกรรมที่แปรผันไปตามเวลาและสถานที่ อะไรที่ถูกยอมรับว่าดีหรือถูกต้องในช่วงเวลาหนึ่ง สามารถถูกตั้งคำถาม ท้าทาย หรือตีตกไปได้เสมอ และอำนาจที่มาพร้อมกับมันก็มีวันหมดไปเช่นกัน

    เมื่อวาทกรรมหนึ่งถูกท้าทายไป ผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจของวาทกรรมนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย สังเกตได้ชัดจากภาษากายของคริสตินที่ต่างออกไปในแต่ละช่วงของภาพยนตร์

    youtube.com

    ในตอนต้น ฉากที่ตำรวจมาบอกข่าวว่าเจอตัววอลเตอร์แล้ว คริสตินตัวสั่นอย่างเห็นได้ชัด เธอเกร็งลำคอ และมือทั้งสองข้างกำแน่น โดยข้างหนึ่งต้องยึดกับเฟอร์นิเจอร์ไว้ เมื่อดูในแง่ของภาพ จะเห็นว่าเฟรมนี้เอียงเล็กน้อย สังเกตจากเส้นของหน้าต่างและพื้นที่ไม่ขนานกับขอบภาพ แสดงถึงอาการวิงเวียนคล้ายจะ เป็นลม อาจจะโต้แย้งได้ว่า ในฉากนี้คริสตินตื่นเต้นว่าตำรวจจะแจ้งข่าวดีหรือข่าวร้ายกับเธอ แต่อาการสั่นก็แสดงถึงความเกรงกลัวต่อคนที่มีอำนาจมากกว่าได้เช่นกัน ถ้าเป็นคนอื่นที่มีอำนาจเท่ากันหรือต่ำกว่ามา บอกข่าว เช่น เพื่อนบ้านหรือคนรู้จักในชุมชน เธออาจจะไม่เสียการทรงตัวแบบนี้ก็ได้ ทักษะการควบคุมร่างกายของเธอน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี เพราะโดยปกติเธอทำงานโดยใส่รองเท้าสเก็ตอยู่ตลอด

    nungsub.com

    หลังจากเธอถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล การจัดวางร่างกายของเธอก็เปลี่ยนไปเป็นห่อไหล่ลง ไขว้แขนเพื่อกอดตัวเอง และไม่กล้าที่จะสบตาเจ้าหน้าที่ แสดงถึงความวิตกกังวลและหวาดกลัวของคนที่ถูกตราหน้าว่า ‘เป็นบ้า’ โดยพยายามจะสงบเสงี่ยมและปกป้องตัวเองจากหมอและพยาบาลที่จะใช้กำลังกับเธอเมื่อไรก็ไม่รู้ได้

    filmaffinity.com

    อากัปกิริยาของคริสตินเปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อได้ออกจากโรงพยาบาล ในฉากที่เธอยืนดูเหยื่อจาก Code 12 ถูกปล่อยตัว สายตาของเธอดูมั่นใจมากขึ้น ไม่ปรากฏความกลัวหรือความกังวลในภาษากาย มือที่ประสานไว้ข้างหน้าอาจเป็นมารยาทในการยืนให้เรียบร้อยเฉยๆ เพราะบาทหลวง (ซ้ายสุด) ก็ยืนในท่าเดียวกัน

    youtube.com

    แม้คริสตินจะนั่งรวมอยู่กับผู้คนระหว่างที่ฟังคำให้การของกัปตันโจนส์ในศาล แต่ท่าทางของเธอโดดเด่นไปจากคนอื่น ใบหน้าของเธอเชิดขึ้นเล็กน้อย นั่งหลังตรง และสายตาแข็งกร้าวขึ้น แสดงถึงความรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ได้ ถึงจะเป็นฉากที่เธอไม่ได้พูดอะไร แต่คำพูดของกัปตันโจนส์ และการยิงคำถามของทนาย กำลังช่วยเผยความจริงที่จะทำให้คริสตินได้รับความเป็นธรรม ความเงียบของเธอในฉากนี้จึงไม่ใช่การถูกปิดปากให้เงียบในฐานะหญิงบ้าอีกต่อไป แต่เป็นความเงียบที่แสดงถึงความมั่นคงทางอารมณ์และความมั่นใจว่าข้อเท็จจริงจะเข้าข้างตน

    การสื่อสารผ่านร่างกายเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา ลองนึกภาพว่า เวลาเราคุยเล่นกับเพื่อน ปรึกษาธุระกับผู้ใหญ่ หรือเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ท่าทางและสายตาของเราจะต่างกันออกไปตามความสัมพันธ์ทางอำนาจและวาทกรรมที่หล่อหลอมเราว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรกับคนประเภทใด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ถ้าเมื่อไรที่เสียงเราเบาลง หรือสิ่งที่มองเห็นเป็นพื้นมากกว่าใบหน้าของคู่สนทนา ก็พอจะบอกได้ว่าเราร่างกายเราถูกควบคุมโดยวาทกรรมเช่นกัน

    Changeling ทำให้เรามองความหมายของความบ้าต่างออกไป แน่นอนว่ามีคนที่มีภาวะผิดปกติทางจิตที่ตรงกับนิยามบ้าตามตัวอักษร แต่คำนี้ก็ถูกผู้มีอำนาจใช้และสร้างความหมายเพื่อกันคนเห็นต่างออกไปจากสังคมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากเรามีจุดยืนที่ชัดเจนเช่นคริสติน กล้าที่จะโต้แย้งและต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมด้วยชุดความรู้หรือข้อมูลอีกแบบ ประกอบกับมีสถาบันหรือคนกลุ่มอื่นร่วมยืนยันหลักการกับเรา ความเป็นไปได้ที่อำนาจนั้นจะถูกตรวจสอบและโค่นล้มก็จะมีอยู่เสมอ


    อ้างอิง:

    มโนทัศน์การกีดกันในวาทกรรมความบ้าของมิเชล ฟูโกต์

    Michel Foucault (Stanford Encyclopedia of Philosophy)

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in