- - - - - - - - - - - - - - - - -
"ตอนนี้ อารากิ ฮิโรฮิโกะ ไม่ได้เป็นนักวาดโชเนนมังงะอีกแล้ว"
เราสามารถให้นิยามของ อ.อารากิ แบบนี้ได้เลยนะครับ เพราะทุกวันนี้ แนวทางการสร้างสรรค์ผลงานของ อ.อารากิ มีความแตกต่าง จากแนวทางของงานที่เขาเคยทำในช่วงยุค ปลายๆ 80 ถึงปลายๆ 90 โดยสิ้นเชิง และนี่คือบทบันทึก ชีวิตในฐานะนักวาดของ อ.อารากิ ในช่วงยุคหลัง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังจากเข้าสู่ปี 2000 เป็นต้นมา ในวันที่ อ.อารากิ ไม่ใช่นักวาดโชเนนมังงะแล้ว...
ซึ่งถ้าจะมองดูปัจจุบันอย่างละเอียด อย่างที่แรกที่ควรต้องทำก่อน คือการย้อนกลับไปดูที่จุดเริ่มต้น
The Begining of Bizarre World
บิดาแห่ง
โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ (JOJO no Kimyou na Bouken) ผู้นี้ คือหนึ่งในนักวาดมังงะที่โด่งดังจากการวาด
มังงะสำหรับเด็กชาย หรือ
โชเนน (Shonen) ในยุค 80 จนถึง 90 ..แต่หลายคนที่รู้จัก อ.อารากิ ในฐานะ
"คนวาดโจโจ้" อาจจะไม่ทราบว่า อ.อารากิ ไม่ได้เริ่มต้นอาชีพนักวาดของตนเองด้วยการวาดโชเนนมังงะมาตั้งแต่แรก
งานในช่วงแรกๆ ก่อนที่ อ.อารากิ จะแจ้งเกิดในเส้นทางโชเนนมังงะ อ.อารากิ ได้เขียนเรื่องสั้นตอนเดียวจบ ออกมา เป็นผลงานแรกในชีวิตคือ
"Buso Poker" เรื่องสั้นแนว แอ็คชันเฉือนคม สไตล์คาวบอยตะวันตก การต่อสู้แบบตัวต่อตัวของสองสิงห์ปืนไว "ไมค์ ฮาร์เปอร์" และ "ดอน เพคคินพาร์"
Buso Poker (1980)
ซึ่งเป็นผลงานที่ตัว อ.อารากิ วาดจากความคลั่งไคล้ในภาพยนต์คาวบอยตะวันของตัวเอง ทำให้ Buso Poker เป็นงานที่ออกมาตามสูตรเดียวกับหนังคาวบอยตะวันตกอย่างเป๊ะๆ จนทำให้รู้ได้เลยว่า ตัว อ.อารากิ เข้าใจในอัตลักษณ์ของหนังสไตล์นี้ขนาดไหน และ Buso Poker ก็เป็นผลงานที่ชนะรางวัล
Tezuka Osamu Award ประจำปี 1980 ในฐานะ
"Seleted Works"และหลังจาก Buso Poker ได้รับรางวัล ซึ่งเป็นสิ่งที่ อ.อารากิ ที่ในตอนนั้นยังเป็นแค่เด็กหนุ่มอายุ 20 ไม่ได้คาดเอาไว้เลยว่าจะเกิดขึ้น อ.อารากิ จึงวาดผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องสั้นอย่าง
Outlaw Man ที่เป็น ผลงานแนวคาวบอยตะวันตกอีกเรื่อง,
Say Hi to Virginia (Virginia ni Yoroshiku) งานแนวไซไฟอวกาศ และ ผลงานที่เป็นซีรีส์ขนาดสั้น (Mini Series) ที่มีความสนุกในแบบมังงะกระแสหลักมากขึ้นอย่าง
บีที เจ้าหนูมายากล (Mashonen BT หรือ Cool Shock BT),
อมนุษย์บาโอ (Baoh Raihousha หรือ Baoh the Visitor) และ
ไอรีนผู้เลอโฉม (Gorgeous Irene) ในบรรดาผลงานก่อนโจโจ้ อมนุษย์บาโอ ค่อนข้างได้รับความนิยมพอสมควร ถึงขนาดถูกสร้างเป็นอนิเมะ OVA ตอนเดียวจบออกมา
Outlaw Man (1981), Say Hi to Virginia (1982), Mashounen BT (1982), Baoh Raihousha (1984), Gorgeous Irene (1985)
แม้จะมีผลงานออกมาต่อเนื่อง และได้รับความสนใจตลอด แต่ อ.อารากิ ก็ยังไม่แจ้งเกิดหรือได้รับความสนใจในวงกว้าง เพราะในตอนนั้น อ.อารากิ มาพร้อมกับแนวคิดแปลกๆมากมาย แต่ก็เป็นความแปลกที่ดูจะเจาะไปหากลุ่มคนอ่านโชเนนมังงะได้ยาก สำหรับโชเนนจัมป์ ยังไงมันก็คือนิตยสารมังงะที่ต้องเจาะกลุ่มคนอ่านในวงกว้าง จึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่ อ.อารากิ ต้องเรียนรู้และปรับสไตล์การเล่าเรื่องของตัวเองให้ไปในทิศทางที่คนอ่านในวงกว้างจะเข้าถึงได้มากกว่านี้ จนนำมาสู่การแจ้งเกิดกับ ผลงาน Magnum Opus อย่าง JOJO no Kimyou na Bouken
JOJO no Kimyou na Bouken (1986 - ปัจจุบัน)
โจโจ้ไต่ระดับความนิยมมาได้เรื่อยๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นใน 2 ภาคแรก Phantom Blood และ Battle Tendency และมาถึงจุดพีคสุดขีดในภาคที่ 3 Stardust Crusaders ที่มาพร้อมกับแนวคิดของ "สแตนด์" พลังพิเศษที่สุดล้ำและพาให้โจโจ้ ก้าวข้ามทุกความคิดและจินตนาการไปได้อย่างไม่รู้จบ และในที่สุด อ.อารากิ ก็มีชื่อเสียงบนเส้นทางโชเนนมังงะ มาอย่างต่อเนื่องในช่วงยุค 80 จนถึงปลายๆ 90
ถ้าเป็นคนอื่นๆ อาจจะเลือกให้โจโจ้ เดินบนเส้นทางของโชเนนมังงะต่อไปเรื่อยๆ เพราะมันคือเส้นทางที่มั่นคงดีแล้ว สำหรับการเข้าถึงคนอ่านในวงกว้าง แต่สำหรับตัว อ.อารากิ เอง เขากลับที่จะไม่เลือกเดินในทางนั้น เพราะสำหรับโจโจ้เอง ยิ่งมันถูกวาดภาคต่อมาเรื่อยๆ มันก็ยิ่งลดทอนความเป็นโชเนนมังงะของตัวมันเองลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายในปัจจุบัน โจโจ้ก็ไม่เหลือความเป็นโชเนนมังงะอีกเลย แถมยังแสดงวิสัยทัศน์ในด้านการคิด การสร้างสรรค์ ของตัว อ.อารากิ ที่แตกต่างจากยุคโชเนนจัมป์ อย่างสิ้นเชิง
หลังจากสำเร็จจากการวาด Stardust Crusaders เราจึงสามารถแยกยุคสมัยในการสร้างผลงาน ของ อ.อารากิ ได้เป็น 2 ยุค คือ
"ผลงานในยุคแจ้งเกิด (ช่วงที่ อ.อารากิ ยังคงทำงานในระบบของโชเนนจัมป์อยู่ ช่วงปลายยุค 80 ถึงต้น 2000)" และ
"ผลงานในยุคหลัง (หลังจากที่ อ.อารากิ ย้ายมาลงผลงานที่อัลตร้าจัมป์แล้ว ในช่วงหลังปี 2000 จนถึงปัจจุบัน)"
From Shounen to Ultra
ถ้าว่ากันตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อมแล้ว.. ผลงานแนวแอ็คชัน ที่ลงใน โชเนนจัมป์ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ มันต้องเป็นงานที่สามารถเข้าถึงคนอ่านในวงกว้างได้ หมายความว่า มังงะในโชเนนจัมป์จะต้องมาพร้อมกับสิ่งที่เป็น
"สูตรสำเร็จพื้นฐาน" ในแบบที่ ใครที่ผ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมาอย่างโชกโชน คงจะพอทราบถึงสูตรที่มังงะโชเนนจัมป์หลายเรื่องมักจะใช้ได้ดี เช่น มันต้องมีการต่อสู้ที่เมามันและต่อเนื่อง มีการงัดกระบวนท่า เคล็ดวิชาการต่อสู้ มาห้ำหั่นกัน เพื่อให้คนอ่านไม่เบื่อ, มีการแสดงถึง พลังมิตรภาพ ความสามัคคีในกลุ่มตัวเอก ที่มีพลังพอจะทำให้ชนะได้ทุกสิ่ง, มีตัวละครดีไซน์เท่ห์ๆ มาเพื่อดึงดูดคนอ่าน และสามารถนำไปต่อยอดเป็นสินค้า ฟิกเกอร์ หรืองานดัดแปลงได้หลายๆ รูปแบบ
ซึ่งภายใต้สูตรนี้ ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือการเล่าเรื่องและการวาดของนักวาดแต่ละท่าน ว่าจะปรุงรสมันออกมาให้สนุกและมีความเฉพาะตัวของตัวเองอย่างไร ต่อให้ผู้วาดจะอยากแหวกสูตรแค่ไหน สุดท้าย คนอ่านก็เป็นใหญ่ที่สุดอยู่ดี โชเนนจัมป์จึงมีระบบการ
"โหวตตัดจบ" ให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน เพราะการแข่งขันที่สูงมาก (แต่สูตรในลักษณะนี้ ขอบเขตจะอยู่ในช่วงยุค 70-90 เพราะในยุคหลังๆ งานที่ลงในโชเนนจัมป์ จะค่อนข้างมีความหลากหลายมากกว่าในอดีตแล้ว)
ซึ่งในช่วงยุคที่โจโจ้ ยังคงลงอยู่ในโชเนนจัมป์ (ภาค 1-6) อ.อารากิ ก็ยึดเอาสูตรนั้นมาใช้กับการเล่าเรื่องในโจโจ้อย่างต่อเนื่อง โดย อ.อารากิ อธิบายไว้อย่างชัดเจน ในหนังสือของตัวเองที่ชื่อ
"Hirohiko Araki's Manga Technique" หนังสือที่ อ.อารากิ เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์และวิธีการทำงานที่ตนเองใช้มาตลอดชีวิต ว่ามันคือ
"เงื่อนไขทางอาชีพ หากคุณต้องการประสบความสำเร็จในโชเนนจัมป์"
Hirohiko Araki's Manga Technique (2015)
นี่คือเหตุผลที่ทำไม โจโจ้ภาค 1-3 จึงเน้นตัวละครที่เต็มไปด้วยมัดกล้าม ทั้งๆที่ อ.อารากิ ไม่ใช่คนที่ชอบวาดตัวละครมีกล้ามอะไรเท่าไหร่ (ในเรื่องสั้นยุคแรกๆก็แทบไม่มีกล้ามโผล่มาให้เห็นเลย) เหตุผลเพราะ ในสมัยนั้น แอ็คชันฮีโร่กล้ามโต กำลังเป็นที่นิยม ทั้งจากภาพยนตร์ (First Blood ของ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน หรือ Commando ของ อาโนลด์ ชวาสเนเกอร์) หรือมังงะของจัมป์เอง (ที่ชัดเจนเลยคือ หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ ของนักวาดรุ่นพี่ อ.ฮาระ เท็ตสึโอะ) ...มันจึงเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ที่ตัวเอกในโจโจ้ภาคแรกๆ จะต้องกล้ามใหญ่ตามยุคไปด้วย ก่อนจะค่อยๆถูกลดลงไป ตามบารมีในวงการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ของ อ.อารากิ และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จนไม่ต้องเอากล้ามมาเป็นจุดขายแล้ว
อ.อารากิ มีความคิดที่จะหาทางปลดแอคตัวเองออกจากสูตรสำเร็จนี้ตลอด โดยเฉพาะสำหรับโจโจ้ ที่เป็นผลงานหลักของ อ.อารากิ หลังจากจบ Stardust Crusaders อ.อารากิ ก็พยายามที่จะลองแหวกกรอบ ด้วยไอเดียอะไรใหม่ๆเสมอไม่เคยหยุด ...จนเมื่อเข้าสู่ยุค 2000 เป็นต้นมา หลังจากจบภาคที่ 6 Stone Ocean อ.อารากิ ก็เริ่มต้นซีรีส์โจโจ้ใหม่หมดตั้งแต่จุดเริ่มต้น ในภาคที่ 7 Steel Ball Run ที่เล่าเรื่องในแบบ รีบู้ท (Reboot) ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับโจโจ้ภาคที่ 1-6 ก่อนหน้านั้นเลย ซึ่งนอกจากจะไม่เกี่ยวพันกันทางเรื่องราวแล้ว วิธีการเล่าเรื่องของ Steel Ball Run ก็แทบจะหลุดออกจากสูตรสำเร็จของโชเนนมังงะอย่างมาก
ในช่วงแรก Steel Ball Run ยังคงตีพิมพ์อยู่ในโชเนนจัมป์อยู่ แต่หลังจากตีพิมพ์ไปได้ระยะหนึ่ง อ.อารากิ ก็เริ่มจะรู้สึกว่า ภาพรวมขนาดใหญ่ ของ Steel Ball Run อาจจะไม่เหมาะกับโชเนนจัมป์แล้ว (เห็นได้ชัดจากเส้นเรื่องในช่วงแรกๆที่ยังติดๆขัดๆอยู่ จนพาเข้าช่วงทีเปิดให้สู่พล็อต "ตามหาซากศพศักดิ์สิทธ์" เรื่องถึงจะค่อยๆเข้มข้นขึ้นมา) เพราะจุดประสงค์หลักในการวาด Steel Ball Run แต่แรกของ อ.อารากิ ก็คือ "นี่จะต้องเป็นผลงานที่เติบโตจากงานในอดีตอย่างมาก"
Monthly Ultra Jump
และเมื่อพูดถึงการเติบโต การยังคงลงผลงานอยู่ในนิตยสารของเด็กชาย มันคงไม่เหมาะอีกแล้ว ทำให้ในที่สุด อ.อารากิ ก็ย้ายตัวเองจาก โชเนนจัมป์รายสัปดาห์ มาเป็น อัลตร้าจัมป์ (Ultra Jump) นิตยสารมังงะรายเดือนแทน เพื่อให้เหมาะสมกับ ทิศทางของเรื่องที่กำลังจะเล่า และอายุที่มากขึ้นของตัว อ.อารากิ เอง อัลตร้าจัมป์เป็นหนึ่งในนิตยสารอีกหัวหนึ่งของชูเอฉะ ที่ในช่วงเวลานั้น เพิ่งจะถูกตั้งขึ้นมาไม่กี่ปีเท่านั้น รูปแบบงานมังงะที่ลงในอัลตรัาจัมป์ แตกต่างจากโชเนนจัมป์โดยสิ้นเชิง มังงะในอัลตร้าจัมป์ส่วนใหญ่ จะมีความเป็น "มังงะทางเลือก" งานที่มีความแปลก แตกต่าง ไปจากมังงะในกระแสหลัก มีแนวทางที่เหมาะสำหรับนักอ่านที่อยากอ่านงานที่มีความเฉพาะทางในแบบของตัวเอง และ "ไม่มีการโหวตตัดจบ" เป็นระบบน่ากลัวมาวุ่นวายกับอิสระของผู้วาดด้วย (เพราะงานที่ลงในอัลตร้าจัมป์นั้นมีไม่มากเท่าโชเนนจัมป์ จึงไม่มีการแข่งขันกันทางการตลาด)
ประกอบกับการเป็นนิตยสารรายเดือน ไม่ใช่รายสัปดาห์ อัลตร้าจัมป์จึงถือเป็นนิตยสารที่เหมาะสมกับวิธีการเล่าเรื่อง และช่วงวัยของ อ.อารากิ ในยุคหลังที่สุดแล้ว ...และเมื่อได้ที่ทางที่ควรแล้ว วิถีการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบใหม่ๆ ของ อ.อารากิ จึงเริ่มเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆNew Era, New Visionary
รูปแบบการสร้างสรรค์งานในยุคหลังๆของ อ.อารากิ นั้น เราสามารถแบ่งออกเป็นข้อๆได้ดังนี้ครับ..
- การย้อนกลับไปสู่รากเหง้าของตัวเอง ที่ทำไม่ได้ตอนวาดกับโชเนนจัมป์"รากเหง้า" ของ อ.อารากิ ในการสร้างสรรค์ผลงาน คือ
"ความหลงใหลคลั่งไคล้ใน ภาพยนต์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ของตะวันตก" และ
"การกล้าที่ลองอะไรแปลกๆตลอดเวลา" ...และเมื่อ อ.อารากิ เสร็จสิ้นภารกิจจากโชเนนจัมป์มาแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องขุดมันขึ้นมาใช้จริงๆซะที
ในเนื้อหาด้านบนๆ ที่ผ่านมา ได้พูดถึง งานในยุคแรกๆ ของ อ.อารากิ ก่อนจะแจ้งเกิดจากโจโจ้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้ไม่ได้ สำหรับโชเนนมังงะ ทำให้ต้องทิ้งไอเดียเหล่านั้นไปอย่างน่าเสียดาย เพราะแม้ อ.อารากิ จะชอบในหนังคาวบอยตะวันตก หรือการเอาประวัติศาสตร์มาผสมกับเรื่องแต่ง ขนาดไหน แต่มันก็ไม่เวิร์คจริงๆ สำหรับการจะสานต่อเป็นผลงานเรื่องยาว ..แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป อ.อารากิ ประสบความสำเร็จด้านโชเนนจัมป์ จนไปสุดเพดานแล้ว มันก็ถึงเวลาที่เหมาะสม ที่จะ back to basic กลับไปสู่ไอเดียที่ตัวเองใช้ไม่ได้ในอดีต เอากลับมาใช้อีกครั้ง ...และหนึ่งในนั้นก็กลายมาเป็น Steel Ball Run นี่เอง
Steel Ball Run (2004 - 2011)
Steel Ball Run ถือเป็นงานที่ อ.อารากิ ใช้เติมเต็มความฝันในการวาดมังงะแนว Western ของตัวเองอย่างแท้จริง ในอดีต เขาไม่สามารถทำมันออกมาได้ เพราะประสบการณ์ที่ยังน้อย กับ มันคือแนวที่ไม่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น แต่เมื่อถึงวันที่บารมีในวงการของ อ.อารากิ สูงปรี๊ด จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่การรีบู้ทซีรีส์โจโจ้ จะย้ายฉากหลัง จากอังกฤษในยุควิคตอเรียน มาสู่อเมริกาในยุคคาวบอยตะวันตก พาโจโจ้เข้าสู่บรรยากาศของ การแข่งขันขี่ม้าข้ามทวีปที่ยิ่งใหญ่ที่สุด การดวลปืนของเหล่าสิงห์ปืนไว การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยจากแดนเถื่อน ไปสู่อารยะธรรม และการปะทะกันของตัวเอกและศัตรู โดยมีผลประโยชน์การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตรงตามขนบของหนัง Western ทุกประการ แบบเดียวกับที่ อ.อารากิ เคยสร้างสรรค์เอาไว้ในเรื่องสั้น Buso Poker และ Outlaw Man นั่นเอง
จริงๆในปัจจุบัน แนวคาวบอยตะวันตก ก็ไม่ได้เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นเท่าไหร่อยู่ดี (ฮาา) แต่ในเมื่อมันคือ Western ที่ผ่านสายตาของโจโจ้ และ อ.อารากิ มันจึงเป็นงานที่พิเศษเหนือกว่างานแนว Western ธรรมดาๆ ...ในยุคนี้ อ.อารากิ มีบารมีและอิสระมากพอที่จะขุดรากเหง้าความคิดของตัวเองมาใช้ได้อย่างเต็มที่แล้ว
และ Steel Ball Run ยังนำพาให้ อ.อารากิ ได้ไปพบกับ คลินท์ อีสวู้ด ตำนานมีชีวิตแห่งหนัง Western ฮีโร่ตั้งแต่ยังวัยเยาวน์ของ อ.อารากิ เอง ด้วย...
อารากิ ฮิโรฮิโกะ พบ คลินท์ อีสวู้ด
- สไตล์การวาดที่ตัดขาดจากสไตล์ของมังงะญี่ปุ่น / การพาเรื่องราวไปไกลเกินกว่าที่คนอ่านจะคิดถึง
สิ่งที่โดดเด่นเตะตาที่สุดในงานยุคหลังๆของ อ.อารากิ ก็คงหนีไม่พ้น "งานด้านภาพ" และ "การเล่าเรื่อง" อย่างแน่นอน
ในเมื่อเคยบู๊แบบเต็มเหนี่ยวไปแล้ว มายาวนานกว่า 20 กว่าปี ตอนสมัยวาดลงโชเนนจัมป์ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากในปัจจุบัน อ.อารากิ จะเลิกสนใจประเคนความมันลงไปในผลงาน และหันไปเล่าเรื่อง ด้วยท่าทีที่สุขุมนุ่มลึก ไม่ตูมตามโผงผาง ในสไตล์แบบ นิยายภาพ (Graphic Novel) สไตล์อเมริกันคอมิค มากกว่าแนวทางแบบมังงะ ที่เน้นความรวดเร็วทันใจ ฉากแอ็คชันลุยแหลกแจกหมัดตลอดเรื่อง
ในยุคหลัง ผลงานของ อ.อารากิ จะเล่าเรื่องในสไตล์นิยายภาพแทบทั้งหมด ตั้งแต่ Steel Ball Run ที่ยังพอมีกลิ่นอายแบบมังงะอยู่บ้าง แต่ก็เต็มไปด้วยการเล่าเรื่องและการขยายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่ละเอียดละออกว่าโจโจ้ภาคก่อนๆมาก (และมีการใช้บทบรรยายที่เยอะมาก หากใครแสลงกับตัวหนังสือเยอะๆ คงตาลายน่าดู) และลายเส้นการวาดตัวละครที่ออกไปทางอเมริกันคอมิคอย่างชัดเจน (หากไม่รู้มาก่อนว่าเป็นงานของ อ.อารากิ ก็คงจะคิดว่าเป็นฝีมือของนักวาดชาวตะวันตกซักคนอย่างแน่นอน) จนมาถึงภาคที่ 8 Jojolion ก็ไม่เหลือกลิ่นอายแบบมังงะของญี่ปุ่นเหลืออยู่อีกเลย (ซึ่งน่าแปลกเพราะ Jojolion ก็มีฉากหลังของเรื่องอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแท้ๆ แต่เราจะรู้สึกว่ามันคือการ์ตูนญี่ปุ่นน้อยมาก)
Jojolion (2011 - ปัจจุบัน)
นอกจากโจโจ้ งานอื่นๆที่เป็นเรื่องสั้นเองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
'Thus Spoke Kishibe Rohan' ผลงาน Spin-Off ที่มี
คิชิเบะ โรฮัง ตัวละครจาก
Diamond is Unbreakable โจโจ้ภาคที่ 4 เป็นตัวเอก ..ก็ไม่ใช่แนวบู๊แหลกแจกหมัด แต่เป็นแนวระทึกขวัญเหนือธรรมชาติ สไตล์แบบ
The Twilight Zone หรือหลายๆงานของ
อ.อุเมสุ คาสุโอะ (คนวาด
The Drifting Classroom) ที่เล่าเรื่องในแนวทาง Horror/Mystery เต็มรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่ามันต่างจากแนวทางแบบโชเนนมังงะ โดยสิ้นเชิง นอกจากจะไม่ได้มีแอคชันอะไรให้ได้มันแล้ว มันยังแปลกประหลาด และต้องอาศัยการตีความสิ่งที่เกิดขึ้นหลังอ่านจบ ตามสไตล์มังงะระทึกขวัญจบในตอนด้วย
Thus Spoke Kishibe Rohan (1997 - ปัจจุบัน)
(รวมไปถึง เรื่องสั้น "อื่นๆ" ในยุคหลังๆของ อ.อารากิ ก็เช่นกัน ทั้ง Under Execution, Under Jailbeak เรื่องสั้นเกี่ยวกับ นักโทษประหารและห้องขัง, Dolce and his Master เรื่องสั้นของชายที่ติดอยู่บนเรือกลางทะเลกับแมวหนึ่งตัว และ Deadman's Question เรื่องสั้นที่มี คิระ โยชิคาเงะ ตัวร้ายหลักจาก Diamond is Unbreakable เป็นตัวเอก กับบทบาทใหม่ในฐานะยมทูตในโลกหลังความตาย... ทั้งหมดคือเรื่องสั้นในยุคก่อน Steel Ball Run ที่ดีมาก แต่น่าเสียดายที่ในช่วงนั้น อ.อารากิ ทุ่มเวลากับเรื่องยาวเต็มที่ จนไม่มีเวลาเหลือพอจะวาดเรื่องสั้นเท่าไหร่นัก)
Under Execution, Under Jailbreak (1994), Dolce and His Master (1996), Deadman's Question (1999)
หรืออีกงานหนึ่งที่พิเศษอย่างมากในฐานะงานของผู้วาดโจโจ้ เป็นงานที่ผมจะแนะนำมนุษย์ทุกคน ที่รู้จักโจโจ้ และอยากจะรู้จักงานอื่นๆของ อ.อารากิ นั่นคือ งานรวมเรื่องสั้นในชื่อ
"The Lives of Eccentrics"
The Lives of Eccentrics (1989 - 2003)
เป็นรวมเรื่องสั้นที่ อ.อารากิ ทำร่วมกับผู้ช่วย โอนิคุโบะ ฮิโรฮิสะ (ที่เป็นหนึ่งในอนิเมเตอร์ ของโจโจ้อนิเมะในปัจจุบัน) ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1989 จนสามารถรวมเล่มได้ที่สุดในปี 2003 โดย อ.อารากิ เป็นผู้แต่งเรื่อง และ อ.โอนิคุบะ เป็นคนวาด (อ.อารากิ วาดเองเพียง 2 ตอนเท่านั้น) ...เป็นรวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับ "เรื่องพิลึกสุดเหลือเชื่อ ของบุคคลที่มีอยู่จริง" เช่นเดียวกับชื่อหนังสือ มันคือเรื่องสั้นระทึกขวัญคล้ายๆกับเรื่องสั้นอื่นๆของ อ.อารากิ เพียงแต่เรื่องทั้งหมด มีพื้นฐานมาจากเรื่องจริงทั้งสิ้น (หรือไม่ก็เป็นเรื่องเล่าที่ถูกเล่าเอาไว้ว่าจริง) เช่น สงครามกระแสไฟฟ้าของ นิโคลา เทสลา, ชีวิตพลิกผันของ ไทฟอยด์ แมรี่ หรือ คฤหาสผีสิง และชีวิตของหญิงผู้ระทมทุกข์ ซาราห์ วินเชสเตอร์ (เรื่องหลังนี้ถือว่า น่าจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากที่สุด)
ถือเป็นร่วมเรื่องสั้นทรงคุณค่าที่ทุกคนควรได้อ่านอย่างยิ่ง (และอยากให้ อ.อารากิ กลับมาสานต่อซีรีส์นี้อีกครั้งมากในอนาคต)
(สังเกตว่า The Live of Eccentrics ตอนแรก ถูกวาดในปี 1989 ...ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ อ.อารากิ เพิ่งเริ่มวาด Stardust Crusaders เอง จนทำให้สละเวลามาวาดเรื่องราวชีวิตของ นิโคลา เทสลา เองไม่ได้ ทำได้แค่แต่งเรื่องเท่านั้น นับเป็นหนึ่งในความโหยหางานอื่นๆ นอกเหนือจากโชเนนจัมป์ ของ อ.อารากิ อีกอย่างหนึ่งในขณะนั้น)
ไม่ว่าจะเป็น Steel Ball Run, Jojolion, Thus Spoke Kishibe Rohan รวมไปถึงผลงานรวมเรื่องสั้นเรื่องอื่นๆของ อ.อารากิ เอง.. สิ่งที่เราจะสามารถนิยามได้เกี่ยวกับวิธีสร้างสรรค์ในยุคหลังๆของ อ.อารากิ ได้ดีที่สุด ก็คือ "ศิลปะ ประวัติศาสตร์ ศาสนา... ทุกอย่างที่หลอมรวมมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน"
เป็นการเอาทุกศาสตร์ที่ทำให้คนกลายเป็นคน ถูกเอามาผสมรวมกัน ออกมาเป็นมังงะที่มีรสชาติไม่เหมือนใคร คนอ่านหลายคน พยายามจะเอาสิ่งเหล่านี้ ผลักออกไปและบอกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว เข้าใจยาก.. แต่ อ.อารากิ พยายามที่จะบอกกับเราว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินเอื้อม หรือเข้าใจยากเกินไป แต่จริงๆแล้ว มันคือสิ่งที่ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆกับคนเรานี่แหละ และมันไม่ได้มาจากจักรวาลอันไกลโพ้นที่ไหน แต่มันมาจาก ปัญญาและพรสวรรค์พิเศษของเรา "มนุษย์" เองล้วนๆ.. มันคือผลผลิตจากเรา ฉะนั้น อย่าไปกลัวมัน
ซึ่งจริงๆแล้ว แนวทางแบบนี้ มันก็ไม่ใช่เพิ่งมามีในช่วงยุคหลัง จริงๆ อ.อารากิ เริ่มแฝงสิ่งเหล่านี้เอาไว้ ตั้งแต่ช่วงท้ายๆของ Golden Wind โจโจ้ภาคที่ 5 แล้ว ..เนื้อหาในช่วงไคลแม็กส์ของภาคนี้ ถ้าเราคิดว่ามันคือไคลแม็กส์ของโชเนนมังงะ มันก็เป็นไคลแม็กส์ที่ประหลาดและบ้าบอได้ใจใช้ได้เลย เราได้เจอทั้ง ซิลเวอร์แชเรียทเรเควียม ที่สามารถพาสิ่งมีชีวิตก้าวข้ามวิวัฒนาการ ไปเป็น "อย่างอื่น" ที่บอกไม่ได้ว่ามันคืออะไร และยังมีบทส่งท้าย ที่ว่าด้วยเรื่องของ การน้อมรับซึ่งความตายและชะตากรรม และการเอาปรัชญาของ มิเกลันเจโล (Michealangelo) ศิลปินเอกแห่งยุคเรเนซองส์ มาใส่อย่างหน้าตาเฉยเลย (แต่เพราะ Golden Wind ยังคงฉาบหน้าด้วยแนวทางแบบโชเนนจัมป์อยู่ คนเลยอาจจะยังไม่สังเกตในจุดนี้)
- ผลงานอื่นๆ นอกเหนือจากมังงะ ที่ขยายขอบเขตวิสัยทัศน์ให้ไกลยิ่งกว่าการเป็นนักวาดมังงะเมื่อวาดมังงะรายเดือน ไม่ต้องเร่งส่งต้นฉบับให้ทันในทุกๆสัปดาห์แบบในอดีต ก็ทำให้ อ.อารากิ มีเวลาชีวิตเหลือพอจะไปทำงานอย่างอื่นบ้าง ซึ่งมันเลยทำให้ ในช่วงยุคหลัง อ.อารากิ ได้ไปร่วมงานด้านศิลปะมากมายหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น งานดีไซน์ปกอัลบั้มเพลง ของศิลปินทั้งญี่ปุ่นและต่างชาติ, แฟชันเซ็ตที่ทำร่วมกับแบรนด์ระดับโลกแบบ
Gucci หรือ
Uniqlo, ภาพประกอบบนปกนิยาย, การได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานของตัวเองถึง 2 ครั้งอย่างยิ่งใหญ่ ในปีครบรอบ 25 ปี (
JOJO Exhibition) และ 30 ปี (
Ripple of Adventure) ตามลำดับ และล่าสุดในปี 2020 ที่จะถึงนี้ อ.อารากิ ก็กำลังจะได้ดีไซน์ โปสเตอร์ของการแข่งขันกีฬา โอลิมปิก / พาราลิมปิก ร่วมกับ
อ.อุราซาสะ นาโอกิ (ผู้วาด
20th Century Boy,
Monster) อีกด้วย
ตัวอย่างผลงานในสายงานอื่นๆ ของ อ.อารากิ ในช่วงยุคหลังๆ ทั้ง ปกอัลบั้ม, ปกนิยาย, หน้าปกนิตยสารแฟชัน ฯลฯ
หรือการไปถึงจุดสูงสุดในฐานะศิลปินคือ การถูกเชิญไปแสดงผลงานไกลถึง พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และขึ้นทำเทียบศิลปินอีกคนของลูฟวร์ มาจนถึงปัจจุบัน (นอกจากนี้ อ.อารากิ ยังเป็นแขกรับเชิญประจำของงาน Lucca Exhibition ทีจัดขึ้นที่ประเทศอิตาลี ทุกๆปีด้วย)
Rohan at the Louvre (2010) ผลงานสุดพิเศษ ที่ถูกวาดขึ้นเพื่อแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส โดยเฉพาะ
งานเหล่านี้ คือสิ่งที่ยืนยันว่า อ.อารากิ ก้าวข้ามจากการเป็น นักวาดการ์ตูน ไปสู่ ศิลปิน อย่างเต็มตัวแล้ว การบอกลาตัวเองในฐานะคนวาดโชเนนมังงะ มันก็มีผลตอบแทนที่คุ้มค่า นอกจากจะได้แสดงออกถึงวิสัยทัศน์ทีแท้จริงของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว มันยังเป็นวิสัยทัศน์ที่ผู้คนอีกซีกโลก ให้การยอมรับอีกด้วย ซึ่งผลตอบแทนความสำเร็จที่เห็นได้เป็นรูปธรรม ก็คือการขึ้นรับรางวัลทางศิลปะมาประดับบ้านหลายตัว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (Jojolion ได้รับรางวัลเชิดชูทางศิลปะจาก Japan Media Arts Festival ประจำปี 2013 และรางวัลในวงการแฟชัน Best Dresser Award ประจำปี 2016) จากที่ในช่วงยุคโชเนนมังงะ อ.อารากิ แทบจะไม่เคยได้รางวัลหรือได้รับการยกย่องในด้านศิลปินมาก่อนเลย.. มันคือการเปลี่ยนผ่านที่คุ้มค่าจริงๆ
Pay Your Respect
สรุปอย่างรวบรัด ถึงประเด็นของบทความที่ว่า งานในยุคแรก และ ยุคหลัง ของ อ.อารากิ ต่างกันอย่างไร ...มันคือการบอกว่า
"ทุกการใช้ชีวิต ล้วนต้องมีการเปลี่ยนแปลงซักวันหนึ่ง"อ.อารากิ ไม่ได้เลือกที่จะเป็นนักวาดโชเนนมังงะตลอดไป อาชีพนักวาดงานให้ความบันเทิงแก่คนอ่านกระแสหลัก มันจบลงไปตั้งแต่ตอนที่ อ.อารากิ วาด Stone Ocean จบลงแล้ว หลังจากนั้น มันคือเส้นทางใหม่ เป็นเส้นทางอีกสายหนึ่ง ที่ต่างจากในยุคก่อนโดยสิ้นเชิง และเป็นการย้ำเตือนว่าแท้จริงแล้ว
"แก่น" ของโจโจ้ คืออะไร.. ไม่ใช่สแตนด์ ไม่ใช่ฉากต่อสู้สุดมัน แต่มันคือ
"บทบันทึกความทะเยอทะยานอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์" นั่นเอง
ซึ่งไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องชอบ หรือยอมรับก็ได้ แต่ก็คงดีกว่า ถ้าเราจะยินดีกับ อีกสายงานหนึ่งที่เขาเลือกทำ ที่สำคัญ เขาทำมัน "อย่างมีความสุข"
นี่แหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in