เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เด็กบ้าไปเซิร์นVichayanun Wachirapusitanand
Day 68: ส่งรายงาน
  • อีกเพียงสองวัน ผมจะต้องจากเซิร์นไปแล้ว แต่ก่อนจะมารำพึงรำพันว่าผมจะจากสถานที่อันวิเศษแห่งนี้แล้ว ผมต้องส่ง Work report ก่อน

    พูดง่าย ๆ Work report คือรายงานฝึกงานแหละครับ เราต้องเขียนในนั้นว่าเราทำงานอะไรบ้างตลอดสองเดือนที่ผ่านมา เราอาศัยทรัพยากรของเขา เรานอนในถิ่นเขา เรากินในถิ่นเขา เราใช้เงินเขา เราต้องให้อะไรกลับคืนบ้าง ตามสำนวนที่ว่า "อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น" ในที่นี้ เราไม่ได้ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกเขาเล่น แต่เราทำโปรเจ็กต์ที่เขาให้เราทำมา ดังนั้นก่อนกลับ เราก็เขียนเนื้อหาเกี่ยวกับโปรเจ็กต์แหละครับ

    ในวงการวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ เรามักจะประสบปัญหาการเขียนรายงานอย่างหนึ่ง ตรงที่ว่าการจัดรูปแบบสมการให้อยู่ในเอกสารอย่างสวย ๆ มันยากมาก ในปี 1985 จึงมีโปรแกรมเรียงพิมพ์เรียกว่า LaTeX ขึ้นมาบนโลก ข้อดีคือการเขียนสมการในเอกสารสามารถทำได้สวยงามกว่ามาก และยังมีระบบตามเลขสมการ ตามแหล่งที่มา จัดย่อหน้า เรียงเลขบทย่อยให้ วางตำแหน่งกราฟและตารางให้ ทำหน้าปก เขียนหัวข้อ จัดเรียงรูปแบบให้ทั้งหมด หรือแม้กระทั่งทำรูปแบบเอกสารแบบเดียวกับที่หน่วยงานต่าง ๆ เช่นเซิร์นเขาเตรียมไว้ให้แล้ว และการเขียนเอกสารจากแต่เดิมที่เป็นการเขียนแบบ WYSIWYG (What you see is what you get) หรือการเขียนเอกสารแบบเห็นอะไรได้อย่างนั้น จึงเปลี่ยนเป็นการเขียนโค้ดทั้งหมด เราสามารถใช้ Notepad เขียนโค้ด LaTeX และส่งให้โปรแกรมเรียงพิมพ์ที่สามารถเรียงพิมพ์ด้วยโค้ด LaTeX ทำออกมาเป็นไฟล์ PDF มาได้สวย ๆ

    ข้อเสียคือ เนื่องจาก LaTeX มันไม่ใช่การเขียนเอกสารแบบเห็นอะไรได้อย่างนั้น ทำให้โค้ด LaTeX ที่ส่งไปให้โปรแกรมเรียงพิมพ์ต้องถูกต้องทุกอย่าง ถ้าพิมพ์อะไรผิดไปนิดเดียว LaTeX จะตีความผิด หรือไม่ก็เกิดข้อผิดพลาดจนไม่สามารถเรียงพิมพ์เอกสารของเราได้ นอกจากนี้ LaTeX โปรแกรมเดียวไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง เราต้องติดตั้งแพ็กเกจเสริม (ซึ่งฟรี) เพื่อให้มันทำงานเพิ่มเติมได้อีก

    ด้วยความยุ่งยากเหล่านี้ ผมจึงต้องมาทะเลาะกับ LaTeX เป็นประจำเวลาเขียนรายงาน รอบแรกคือผมเขียน Senior project โดยใช้ LaTeX และผมต้องงมหาโค้ดเพื่อแก้รายละเอียดต่าง ๆ มันไม่เหมือน Word ที่เราคลิกเลือกและแก้ได้เลยนะครับ ผมต้องงมหาในเว็บว่าถ้าอยากได้แบบนี้ ผมต้องพิมพ์อะไรบ้าง พิมพ์ผิดก็ error ทำความดันขึ้นอีก

    มาคราวนี้ที่ผมต้องพิมพ์รายงานให้เซิร์น ผมก็ยังไม่เข็ดหลาบ ยังจะใช้ LaTeX ทำให้ผมต้องมาทะเลาะกับมันอีกรอบ เริ่มแรกคือผมต้องยอมติดตั้งแพ็กเกจให้มัน เพราะไฟล์ที่กำหนดรูปแบบเอกสารจากเซิร์นเขาขอมา และเหมือนกับว่ามันจะให้ผมติดตั้งอะไรก็ไม่รู้ไม่จบไม่สิ้น แต่ในที่สุดก็รอดมาได้

    ด่านต่อไปคือการเขียน syntax หรือภาษาของโค้ดให้ถูกต้อง ถ้าเราเขียนผิด ก็มีความเป็นไปได้ว่ามันจะแสดงผลผิด หรือเอกสารจะไม่ออกมาเลย อันหลังนี่ทำผมหงุดหงิดมาก เพราะผมต้องไล่หาสาเหตุว่ามันเกิดอะไรขึ้น บางครั้งก็เป็นข้อผิดพลาดโง่ ๆ เช่น ไฟล์ PDF ที่ผมสร้างไว้แล้วกำลังเปิดอยู่ และ LaTeX ไม่สามารถเขียนไฟล์ทับได้ แต่โปรแกรมสร้างไฟล์ LaTeX ที่แสนดี (#เสียงสูง) ก็ไม่ยอมบอกกูเลยว่ามันสร้างไม่ได้

    แต่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้ถือว่าเพอร์เฟ็กต์มากครับ ตัวหนังสือเรียงพิมพ์ได้สวยมาก กราฟและตารางที่ใส่ก็วางได้ดี สรุปคือมันดูดีกว่า Word มากครับ

    ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษากับพี่นักวิจัยอีกคนหนึ่งเกี่ยวกับไฟล์รายงานของผมผ่านอีเมล และก็คุยโต้ตอบกันไปมาว่าให้เพิ่มตรงนี้ แก้ตรงนี้ ลบตรงนี้ อันนี้คืออะไร ฯลฯ และการแก้ไขเหล่านี้ก็สามารถทำได้ด้วย LaTeX ครับ ข้อดีอีกอย่างของ LaTeX อยู่ตรงนี้ครับ คือ เราแค่เปิดโค้ดและแก้ลงไปโดยไม่มีผลกระทบกับการจัดเรียงตำแหน่งของตารางและกราฟใด ๆ ที่เราอุตส่าห์เรียงไว้ตั้งแต่แรก เพราะถึงยังไงมันก็จัดเรียงตำแหน่งให้ใหม่อยู่แล้ว

    และวันนี้ผมกับอาจารย์ที่ปรึกษาเห็นพ้องต้องกันว่ารายงานชิ้นนี้สมบูรณ์แบบแล้ว หลังจากผ่านการแก้ไขมาเกือบสิบรอบ ผมก็พร้อมส่งรายงานเข้าเซิร์ฟเวอร์เอกสารของเซิร์นแล้วครับ ผมเปิดเว็บ กรอกรายละเอียดของรายงาน และส่งรายงานของผมเข้าไป รอสักพักให้เจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ตรวจสอบ จนกระทั่งรายงานของผมไปโผล่ในระบบเรียบร้อย

    เมื่อผมได้เห็นผลงานตัวเองไปอยู่ในระบบอย่างอมตะ (มั้ง) แล้ว ผมจึงส่งอีเมลหาอาจารย์ทันที

    "สวัสดีครับ

    รายงานของผมไปอยู่ในคลังเอกสารแล้วนะครับ ขอบคุณสำหรับทุกคอมเม้นต์ครับ

    ท๊อป"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in