ในวงการบันเทิงปัจจุบันนั้น “ซีรีส์วาย” เป็นซีรีส์มาแรงที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยเลยจากผู้ชมหลากหลายช่วงวัย และกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่ทางฝั่งของผู้ผลิตต่างก็ผลิตซีรีส์วายเข้าสู่ตลาดกันอยู่ทุกไตรมาสแบบที่เรียกได้ว่าคึกคักกันสุด ๆ ไม่มีปล่อยให้ผู้ชมเหงากันเลยทีเดียว
และในปี 2021 นี้ก็เช่นกัน เมื่อ 3 ทีมโปรดักชั่นอย่าง Dee Hup House, Good Feeling และ ดีทุกวัน 2019 ได้มาจับมือร่วมกันผลิตซีรีส์วายดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกัน อย่าง “นับสิบจะจูบ” ที่กำลังออนแอร์อยู่ในขณะนี้ ดังนั้น ในวันนี้เราจะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับซีรีส์เรื่องนี้กันอย่างละเอียดว่าเหตุใด นับสิบจะจูบ จึงมีดีมากกว่าแค่จูบ
เรื่องย่อ "นับสิบจะจูบ"
เมื่อ 'จีน' นักเขียนหนุ่มต้องจับพลัดจับผลูมาเขียนนิยายวายตามความต้องการของตลาดจน 'วิศวะผัวโหด' ดังเปรี้ยงปร้างถึงขนาดถูกหยิบไปทำเป็นซีรีส์ จากกระแสส่งผลให้สำนักพิมพ์อยากให้เขาเขียนนิยายวายเล่มถัดไปรวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมกับ กระบวนการทำซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือของตัวเองด้วยทำให้พบกับ 'นับสิบ' นายแบบหนุ่ม ลุคสุดคูลหนึ่งในผู้มาแคสติ้งบทพระเอกของซีรีส์ดูจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ความบังเอิญทำให้ทั้งคู่ย้ายเข้ามาอยู่ร่วมกันเกิดเป็นเรื่องรักนอกจอของพระเอกหนุ่มและนักเขียนที่ไม่อาจปิดเป็นความลับได้อีกต่อไป มาร่วมลุ้นกันว่าเรื่องรักของทั้งคู่จะเทคเดียวผ่านหรือไม่
ทำไมถึงต้องดูนับสิบจะจูบ ?
คำตอบของคำถามนี้ง่ายมากเลยค่ะ เพราะซีรีส์เรื่องนี้ค่อนข้างแปลกใหม่และไม่เหมือนใคร เพราะเป็น
ซีรีส์วายที่ตีแผ่วงการซีรีส์วายด้วยกันนั่นเอง! แถมยังหลุดออกจากรั้วมหาลัยมาเป็นวัยทำงานแล้วด้วย (ฮั่นแน่ เริ่มสนใจแล้วละซิ้ ~) โดยภายในเรื่องนั้นคุณจะได้พบกับเบื้องหลังและขั้นตอนการทำงานว่า กว่าจะมาเป็นซีรีส์วายที่ทุกคนเห็นกันนั้น เหล่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังจะต้องพบเจอกับอะไรกันบ้าง และที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือสไตล์การดำเนินเรื่องที่สุดแสนจะธรรมดาผ่านตัวละครของ
'จีน' ที่จะคอยสอดแทรกไว้ด้วยการเสียดสีและจิกกัดประเด็นต่าง ๆ ในสังคมที่ถ้าทุกคนได้ดูแล้วจะต้องรู้สึกคันยุบยิบ ๆ กันเลยทีเดียว
ฉะนั้นแล้ว ในย่อหน้าถัดจากนี้ไป
เราจะขอหยิบยกบางซีนในเรื่องพร้อมทั้งถอดประเด็นที่น่าสนใจจากในซีนนั้น ๆ มาฝากทุกคนกัน เพื่อช่วยไขข้อสงสัยให้กับคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ได้เข้าใจว่า ทำไมนับสิบจะจูบถึงเป็นซีรีส์วายที่ควรค่าแก่การเปิดใจดูสักครั้ง ซึ่งเรารับประกันได้เลยค่ะว่าซีรีส์เรื่องนี้จะไม่ทำให้คุณต้องผิดหวังอย่างแน่นอน ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลย Let's go ~
⚠ มีสปอยล์เนื้อหาบางส่วนจากในซีรีส์ ⚠
- Sexual Harassment (การคุกคามทางเพศ)
เปิดมาแค่ตอนแรกก็จิกกัดกันไปแล้วหนึ่งประเด็นจุก ๆ เลยนะคะกับประเด็นการเขียนฉาก NC ในนิยายวาย โดยในซีนนี้จีนที่กำลังเขียนนิยายไปได้ประมาณหนึ่งก็ได้ตัดสินใจลบออก เพราะรู้สึกว่าเนื้อหาที่เขียนลงไปนั้นค่อนข้างเข้าข่ายการคุกคามทางเพศ ซึ่งพอเรามานั่งคิดตามดูแล้วก็พบว่า ฉาก NC ในนิยายวายหลายเรื่องในปัจจุบันเป็นแบบนั้นจริง ๆ โดยเฉพาะซีนที่ตัวละครหลักสองคนรุกจีบแบบถึงเนื้อถึงตัวเพื่อตอบสนองความฟิน ความอินและความต้องการของคนอ่านนั่นเอง ทำให้ในบางครั้งเราก็หลงลืมไปว่า ถ้าในชีวิตจริงเรามาโดนใครทำแบบนี้ใส่ เราอาจจะไม่ฟิน ไม่อินเหมือนในนิยายเลยก็ได้
ในจุดนี้เรามองว่านอกจากจะเป็นซีนเปิดของซีรีส์ที่ทำให้เรารู้จักกับคาแรคเตอร์คร่าว ๆ ของตัวละคร 'คุณจีน' ได้ดีแล้ว การสอดแทรกข้อความที่เป็นใจความสำคัญเรื่อง Sexual Harassment ถึงคนดูก็นำเสนอออกมาได้รวบรัด สั้น กระชับ ภายในไม่กี่นาที และน่าจะช่วยสะกิดใจคนดูได้อยู่บ้างไม่มากก็น้อยเลยล่ะค่ะ
ภาพประกอบ EP.3 / EP.4 / EP.8 จาก WeTV Thailand
สำหรับเราแล้ว
'นับสิบ' ถือเป็นตัวละครที่มาพร้อมกับคำว่า Consent หรือ การยินยอม จริง ๆ ค่ะ เพราะตั้งแต่ EP.1 จนถึง EP.8 ทุกครั้งก่อนที่นับสิบจะแตะต้องตัวคุณจีน เขาจะถามคุณจีนก่อนเสมอว่าโอเคหรือเปล่า? ไม่โอเคก็หยุดได้นะ? ขอได้มั้ย? หรือรอให้คุณจีนเป็นฝ่ายอนุญาตก่อนเท่านั้น ซึ่งถ้าให้พูดกันตามตรงแล้วในวงการนิยายและซีรีส์หลาย ๆ เรื่องต่างก็มองข้ามประเด็นนี้กันไปจนหมด เพราะไม่ว่าจะคนเสพหรือตัวผู้สร้างผลงานเองก็ล้วนแต่เคยชินและมองว่าการถูกเนื้อต้องตัวของตัวละครหลักเป็นเพียงแค่การเซอร์วิส เสมือนเป็นการ "คืนกำไรให้คนดูหรือคนอ่าน" ก็เท่านั้นเอง
ทั้ง ๆ ที่มันไม่ควรเป็นแบบนั้นเลยสักนิด
ขณะเดียวกัน การที่ซีรีส์ปั้นตัวละครนับสิบมาให้คอยถาม Consent กับจีนทุกครั้งก่อนที่จะมีการแตะเนื้อต้องตัวจนดูเหมือนกลายเป็นเรื่องปกติไม่ได้ผิดแปลกอะไรนั่น ถ้าให้พูดจากในมุมของเราแล้ว เราคิดว่าสิ่งที่ซีรีส์กำลังจะบอกกับคนดูก็คือการขอ Consent มันควรเป็น
"เรื่องปกติที่ทุกคนควรพึงกระทำ" นั่นเองค่ะ
- Toxic Masculinity (ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ)
'ตั้ม' ถือเป็นตัวละครที่มักจะโดนคนรอบข้างมองว่า "เป็น" อยู่เสมอ ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะภาพจำของคนทั่วไปที่มีต่ออาชีพผู้จัดการส่วนตัวของดารา (กรณีที่เป็นผู้ชาย) การแต่งกาย หรือความเชี่ยวชาญในเรื่องของสกินแคร์และเครื่องสำอางที่ตั้มมี ทุกคนก็เลยอาศัยเพียงแค่การมองจากมวลรวมภายนอกคิดเหมารวมไปและตัดสินไปก่อนเลยว่าตั้มเป็นแน่ ๆ ซึ่งนั่นเป็น
ผลพวงมาจากภาวะความเป็นชายเป็นพิษ* ที่ยังคงฝังรากลึกอยู่ในความคิดของผู้คนโดยส่วนใหญ่อยู่
จากซีนใน EP.2 ทิฟฟี่ก็พูดขึ้นมาแบบขำ ๆ ว่า "สวยมาก ใส่วิกก็ผู้หญิงแล้วเนี่ย" ในตอนที่ตั้มถามว่าตัวเองดูดีรึยัง? และใน EP.3 ที่แม้แต่ตัวจีนที่เป็นเพื่อนกับตั้มเองก็ยังแซวว่า "หล่อแล้ว แบบนี้หนุ่ม ๆ มองกันตาเป็นมันแน่นอน" พอจีนเดินพ้นไปแล้วเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าตั้มเองก็รู้สึกเสียเซลฟ์กับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อยเลย
ในจุดนี้เรามองว่าการที่ผู้ชายคนหนึ่งจะทำอาชีพเป็นผู้จัดการส่วนตัวของดารา หรือมีความรู้ในเรื่องสกินแคร์และเครื่องสำอางนั้น
มันไม่ควรถูกเอามาเป็นเครื่องบอกว่าเขามีรสนิยมทางเพศอย่างไร ดังนั้น การที่ซีรีส์จงใจหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกันถึงสองครั้งสองครา ก็เพื่อช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ให้กับคนดูว่าเราไม่ควรตัดสินคนคนหนึ่งจากมวลรวมภายนอก เพียงเพราะเขาหลุดออกมาจากกรอบแนวคิดเดิม ๆ ที่หลายคนยังไม่ก้าวออกมาไม่พ้นนั่นเอง
P.S. เราขอแวะมาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่า Toxic Masculinity (ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ) ฉบับสั้น ๆ และเข้าใจง่ายที่สุดว่ามันคือแนวคิด "Be a man, only girl cry." , "เป็นผู้ชายเขาไม่ใช้เครื่องสำอางกันหรอก มันไม่แมน" หรือ "ผู้ชายที่ไหนเขาชอบสีชมพูกัน?" ประมาณนี้ค่ะ
- Coming Out (การเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตน)
ส่วนตัวแล้วนี่เป็นอีกซีนที่เราชอบมาก ๆ อีกหนึ่งซีนในเรื่องเลยก็ว่าได้ค่ะ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีนนี้คือ 'จีน' กำลังถูกบทสนทนาบนโต๊ะอาหารของเหล่าแก๊งเพื่อนกดดันอ้อม ๆ ให้ Come Out ว่าเป็นเกย์จากการคาดเดาและเชื่อมโยงไปต่าง ๆ นานา ว่าเพราะจีนเป็นผู้ชายแต่กลับแต่งนิยายวาย จีนดูมีความ Feminine มากยิิ่งขึ้นในพักหลังมานี้ หรือแม้แต่กระทั่งยกเรื่องเก่า ๆ ของจีนที่เคยปฏิเสธผู้หญิงที่จีบมาสมัยเรียนขึ้นมาเพื่อเสริมการคาดเดาว่าจีนเป็นเกย์แน่ ๆ ก่อนจะตบท้ายด้วยการพูดว่า จีนเป็นเกย์ได้นะ เพื่อน ๆ ทุกคนโอเค ไม่ติดขัดอะไรเลย จนในที่สุดจีนก็ตัดสินใจพูดขึ้นมาด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า
"เป็นไม่เป็นนี่ต้องมาบอกพวกมึ* ด้วยเหรอ คิด ๆ ดูแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องของพวกมึ*นี่"
ณ จุดนี้เราอยากลุกขึ้นปรบมือดัง ๆ ให้กับจีนไปเลย เพราะใช่ค่ะ จะเป็นหรือไม่เป็นมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ตัวเขาจะต้องมาป่าวประกาศให้ทุกคนรู้ เพราะ
การ Come Out มันไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนที่อยู่ใน LGBTQIA+ Community จำเป็นต้องทำ มันเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล พวกเขาควรมีสิทธิ์เลือกด้วยตัวเองว่าจะ Come Out หรือไม่ และไม่ควรมีใครต้องมาถูกกดดันให้ต้อง Come Out โดยที่เจ้าตัวไม่ได้เต็มใจแบบที่จีนกำลังโดนอยู่
- Privacy (ความเป็นส่วนตัว)
การแอบถ่าย ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนทราบดีว่ามันเกิดขึ้นบ่อย ทั้งกับผู้ที่มีชื่อเสียงหรืออาจจะกับบุคคลทั่วไปบ้างในบางครั้ง อย่างซีนนี้ใน EP.5 เมื่อนักศึกษาสองคนนี้จำได้ว่าจีนที่นั่งอยู่โต๊ะใกล้ ๆ เป็นใครก็รีบหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูปเก็บไว้ และทันทีที่นับสิบเดินมาบอกว่าแอบถ่ายคนอื่นมันไม่ดีนะ ตัวผู้กระทำก็เอ่ยแก้ต่างให้ตัวเองว่า "พอดีเห็นพี่เขาน่ารักดี เลยอยากถ่ายไปแชร์ในกลุ่มเฉย ๆ ไม่ได้มีเจตนาไม่ดีอะไร" แต่ว่าจริง ๆ แล้วต่อให้ไม่ได้มีเจตนาไม่ดี
การแอบถ่ายโดยปราศจากการยินยอมจากเจ้าตัว ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่อง "แค่นี้เอง" โดยเฉพาะเมื่อบุคคลนั้น ๆ กำลังใช้เวลาส่วนตัวอยู่ เราเองก็ควรเคารพสิทธิส่วนบุคคลของอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน
โดยเหตุการณ์ในซีนนี้ก็จบลงที่นับสิบเดินไปขออนุญาตจีนว่า ให้นักศึกษาสองคนนี้ถ่ายรูปด้วยได้มั้ย จากนั้นทั้งสองคนจึงได้มีโอกาสถ่ายรูปกับจีนและนับสิบ ส่วนตัวแล้วเราค่อนข้างประทับใจกับซีนนี้มาก เพราะนอกจากนับสิบจะทำให้ทั้งสองคนนั้นได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำลงไปมันไม่ถูกต้อง นับสิบก็ยังสอนให้อีกฝ่ายได้เรียนรู้ว่าวิธีการที่ถูกต้องมันควรเป็นอย่างไร ซึ่งก็คือการเข้าไปขออนุญาตถ่ายรูปกับอีกฝ่ายดี ๆ อย่างถูกต้องแบบที่ควรทำตั้งแต่แรกค่ะ
จากซีนกินข้าวกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาครบทั้งครอบครัวใน EP.5 ก็ได้เฉลยปมของ
'เอ๋ย' ให้คนดูได้รู้ถึงภูมิหลังตัวละครกันไปอย่างเข้มข้นและดราม่าสุด ๆ และทำให้เราเข้าใจในตัวละครเอ๋ยมากขึ้นว่า ทำไมเขาถึงดูโหยหาและดูมีความสุขทุกครั้งที่ได้รับความสนใจจากคนอื่น นั่นอาจเป็นเพราะเอ๋ยไม่เคยได้รับความรักที่เพียงพอจากครอบครัว หรืออาจจะไม่เคยได้รับเลยด้วยซ้ำ ตลอดเวลาที่เติบโตมาตั้งแต่เล็กจนโต เอ๋ยที่เป็นลูกชายของบ้านถูกคาดหวัง ถูกกดดัน และถูกบีบบังคับให้ต้องเติบโตขึ้นไปเป็นอย่าง "ที่พ่อแม่ต้องการ" แต่แล้วจุดแตกหักก็มาถึงเมื่อ
'เอิร์น' พี่สาวของเอ๋ยได้นำเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอ๋ยกับทามไปบอกพ่อจนทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา เพียงเพราะว่าพ่อของเอ๋ยยอมรับไม่ได้ที่ลูกชายของตัวเองไปมีความสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดแบบ การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บ้านก็ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยหรือ Safe Zone สำหรับเอ๋ยอีกเลย เพราะฉะนั้นแล้ว เราจึงรู้สึกขอบคุณมากที่ทีมเขียนบทสร้างตัวละครทิฟฟี่ขึ้นมาคอยดูแล คอยรัก คอยเอาใจใส่และคอยอยู่ข้าง ๆ เอ๋ยในวันที่ไม่เหลือใคร และเราเชื่อว่าในตอนนี้ ทิฟฟี่ได้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ของเอ๋ยไปแล้วอย่างแน่นอน
ก็จบกันไปอีกหนึ่งซีนสำคัญที่ช่วยสะท้อนให้คนดูเห็นว่า ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภายในครอบครัวที่ทำให้รู้สึกว่า
"บ้าน ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน" - Gender Stereotypes (ทัศนคติแบบเหมารวมเชิงเพศ)
ตัวละคร
'ทิฟฟี่' กับ
'ตั้ม' นี่เรียกได้ว่าเป็นความแปลกใหม่มาก ๆ ในวงการซีรีส์ของบ้านเรา เพราะว่าทั้งสองถูกสร้างมาให้ดู "สลับขั้วกัน" ทางด้านของทิฟฟี่ก็จะเป็นผู้หญิงที่รักและชื่นชอบในการขี่มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ มีความรู้ในเรื่องการช่างเพราะเธอโตมาในครอบครัวที่ทำกิจการอู่ซ่อมรถ ส่วนตั้มก็จะเป็นผู้ชายที่เชี่ยวชาญในด้านสกินแคร์และเครื่องสำอาง แถมยังสามารถเย็บปักถักร้อยได้ เพราะว่าเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำอาชีพผู้จัดการส่วนตัวให้ดารา ดังนั้น ถ้าเรามานั่งไตร่ตรองประเด็นนี้กันอย่างถี่ถ้วนแล้ว เราจะพบว่า นี่น่าจะเป็นความตั้งใจของทีมเขียนบทที่ต้องการจะส่งสารออกไปยังคนดูว่า
นี่ปี 2021 แล้วน้า ~ แนวความคิดที่ว่าผู้ชายต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวทำงานนอกบ้าน และผู้หญิงจะต้องเป็นแม่ศรีเรือนคอยทำกับข้าวอยู่บ้านเย็บปักถักร้อยควรหมดไปได้แล้วน้า
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะอยู่บ้านทำกับข้าวเย็บปักถักร้อยเป็นเรื่องผิด หรือผู้หญิงจะมีคุณค่าได้จะต้องเป็น Working Woman ใส่สูทเท่ ๆ เสมอไปนะคะ เพียงแต่ว่านี่มันถึงเวลาแล้วที่เราควรเลิกจมอยู่กับแนวความคิดเดิม ๆ จากการเอากรอบค่านิยมของเพศชาย-หญิงมากดทับเอาไว้
ทุกคนควรมีอิสระที่จะเป็นอะไรก็ได้และไม่สมควรถูกสังคมรอบข้างชี้นิ้วบอกว่าเป็นผู้หญิงไม่ควรทำแบบนั้น เป็นผู้ชายไม่ควรทำแบบนี้ ดังนั้น เราเองก็เชื่อว่าซีนข้างต้นจะต้องกลายเป็นอีกหนึ่งซีนโปรดของใครหลายคนอย่างแน่นอน เพราะน้อยเรื่องนักที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเล่ากันแบบชัดเจนตรงไปตรงมาและย่อยง่ายแบบนี้
- Stereotype (การเหมารวม/ภาพจำ)
นาน ๆ ทีจะได้เห็นจีนกับ
'หมอก' คุยกัน แต่พอได้โอกาสแล้ว ทีมเขียนบทก็ยอมไม่ปล่อยซีนเล็ก ๆ ตรงนี้ไปอย่างเสียเปล่าและยังใช้ซีนนี้สอดแทรกแง่คิดมาให้คนดูไปได้อีกหนึ่งเรื่อง เพราะถึงแม้จุดประสงค์จะมีเพียงแค่ต้องการให้หมอกเข้ามาเตือนว่าให้จีนอยู่ห่าง ๆ เอ๋ยไว้หน่อยก็ตาม แต่ขณะที่ทั้งคู่เดินออกจากร้านกาแฟมา หมอกก็พูดขึ้นมาว่า
"ตอนแรกเห็นพี่จีนนิ่ง ๆ เงียบ ๆ ผมอะเลยคิดว่าพี่จีนไม่ชอบสุงสิงกับใคร เหมือนพวกนักเขียนอะไรแบบนั้นอะ" จากนั้นจีนก็เลยตอบกลับไปว่า
"เอาจริง พี่ว่ามันคือภาพจำอะ นักเขียนก็คือคนนี่แหละ แต่ว่าทุกคนก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นปะ"
เราไม่รู้ว่าคนอื่นมองว่ายังไงนะคะ แต่เรากลับชอบซีนนี้มากเลย เพราะว่าโดยส่วนใหญ่ ผู้คนล้วนแต่มีภาพจำว่าคนที่ทำอาชีพใดจะต้องมีบุคลิกเฉพาะอาชีพ ทั้งที่จริง ๆ แล้วต่อให้เขาจะทำอาชีพอะไร หรือมีบุคลิกแบบไหนก็ตาม มันไม่อาจบอกได้ 100% ว่าคนที่มีบุคลิกแบบนั้นจะต้องทำอาชีพนี้นะ และไม่ควรถูกเอามาเป็นภาพจำในการตัดสินคนคนหนึ่งจากภายนอกแบบที่จีนบอกเลยค่ะ
ซีนนี้เป็นซีนโปรดของเราใน EP.8 เลยค่ะ หลังจากที่
'หิน' ได้หายหน้าหายตาไปนาน (ㅠ_ㅠ) ก็กลับมาแถมยังกลับมาในจังหวะที่เหมาะสมอีก เพราะเป็นซีนที่สอดแทรกไว้ด้วยประเด็นขบคิดเรื่อง NC Scene เจ้าปัญหา ที่ทำให้จีนต้องหัวหมุนอยู่ตลอดทุกครั้งเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ เนื่องจากพี่บัว บรรณาธิการจากสำนักพิมพ์มักจะคอยสั่งให้จีนเพิ่ม NC Scene อยู่เสมอ โดยให้เหตุผลว่าเพราะ
คนอ่านชอบและมันขายได้ แต่สำหรับจีนนั้น เขามองว่าไม่อยากให้คนอ่านมาชอบงานเขียนของตัวเองเพียงแค่เพราะเขาเขียน NC ออกมาได้ ดุ ๆ แซ่บ ๆ ฟินดี จากนั้นหินก็ได้พูดขึ้นมาว่า
"พี่ไม่ต้องงดฉาก NC ก็ได้นะ คือถ้าจะมี เราก็ต้องเขียนให้มันมีความหมาย ส่งผลกับเนื้อเรื่องให้มันดี" และ
"แล้วถ้าพี่จะเขียนนิยายที่พูดถึงเรื่องเพศ แต่ไม่พูดถึงเรื่อง Sex เลยเนี่ยนะ มันไม่ประหลาดไปหน่อยเหรอ"
พอได้ฟังทีห่ินพูดจบปุ๊บก็รู้สึกขึ้นมาเลยว่าที่หินพูดมันก็ถูก คือจีนไม่จำเป็นต้องลดการเขียน NC Scene ก็ได้ กลับกันจีนสามารถเขียนให้มันออกมามีความหมายได้ แบบนี้มันก็จะได้วิน-วินกันในหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งกับตัวนักเขียนเอง กับบรรณาธิการที่ต้องการยอดขายดี ๆ และเป็นการให้เกียรติคนอ่านด้วย เพราะว่าในปัจจุบันนี้เราเชื่อว่ามีนักอ่านหลายคนรู้สึกอึดอัดเวลาอ่าน NC Scene เพราะสัมผัสได้ว่ามันคือการยัดใส่เข้ามาแบบดื้อ ๆ เพื่อต้องการให้ขายได้เฉย ๆ จนในบางครั้งหลายคนก็เลือกที่จะเปิดข้ามหน้า NC Scene ไปเลยก็มี
ดังนั้น เราขอแสดงความคิดเห็นในมุมมองของผู้บริโภคไว้ตรงนี้กันเล็กน้อยว่า สำหรับเรื่อง NC Scene ทั้งในแง่ของนิยายและซีรีส์ เรามองว่าจะมีหรือไม่มีก็ได้ และการที่ตัวเรื่องจะมี NC Scene เข้ามา
เราก็อยากให้มันเกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล และส่งผลกับความสัมพันธ์ของตัวละครมากกว่าจะยัดเข้ามาเพื่อขายฟินเฉย ๆ- Toxic Shipping คู่จริง VS คู่จิ้น | แฟนคลับสาววาย VS ทีมผู้ผลิต
ภาพประกอบ EP.10 / EP.11 จาก WeTV Thailand
เรื่องราวของ EP 10-11 ถือว่าเป็นหนึ่ง Conflict ใหญ่ของนับสิบจะจูบเลยก็ว่าได้ค่ะ โดยเรื่องราวในช่วงนี้จะพาทุกคนไปสัมผัสถึง “เบื้องหลังวงการมายา” อย่างแท้จริง เมื่อมีรูปหลุดออกมาว่า ‘นับสิบ’ กับ ‘คุณจีน’ มีโมเมนต์หวาน ๆ ด้วยกันที่ทะเลจนเกิดเป็นกระแสดราม่าในโลกโซเชียลใหญ่โต แถมยังมี ‘เอ๋ย’ มาสุมไฟด้วย IG Live ทำให้ทางทีมซีรีส์ต้องรับแรงกดดันมากมายมหาศาลจากความวุ่นวายทั้งหมดนี้ ทุกอย่างจบลงที่ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องบีบบังคับให้สิบจีน "ห่างกัน" เพื่อรักษากระแส “คู่จิ้น” และทอดทิ้งสิบจีนที่เป็น “คู่จริง” เอาไว้กับความเจ็บปวดจวนเจียนจะแตกสลาย โดยที่ไม่มาใยดีหรือมีความรู้สึกเห็นใจอะไรทั้งคู่เลยแม้แต่น้อย… ซึ่งเรายอมรับเลยว่าพอดู EP นี้จบแล้วสิ่งแรกที่ผ่านเข้ามาในหัวคือ
ครั้งหนึ่งเราเคยเป็นแฟนคลับแบบนั้นหรือเปล่านะ? เราเคยเป็นแฟนคลับที่ไปปั่นกระแสดราม่าใส่เมนตัวเองเพียงเพราะเขามีแฟนครับในชีวิตจริงหรือเปล่านะ?
เราเชื่อว่าหลายคนที่เคยผ่านจุดนั้นมาก่อนจะต้องรู้สึกอะไรบางอย่างอยู่บ้างอย่างแน่นอนพอดู 2 EP นี้จบ เพราะว่าถือเป็นอีกหนึ่งเมสเสจที่นับสิบจะจูบจะพาทุกคนไปเจาะลึกวงการแฟนด้อมว่า มีแฟนคลับจำนวนไม่น้อยเลยที่ปากบอกว่ารักเขา เอ็นดูเขา อยากเห็นเขากินอิ่มนอนหลับ อยากเห็นเขามีความสุข อยากสนับสนุนเขาไปจนสุดทาง แต่ความหวังดีกลายเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้เขาเสียใจและเจ็บปวดจนถึงที่สุดเมื่อเรื่องราวของ “คนรักตัวจริง” ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน
หากให้พูดกันตรง ๆ แล้ว ปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะแฟนคลับหลายคนมองนักแสดง, ศิลปิน, ดารา เป็นแค่เครื่องตอบสนองการชิปของตัวเองแทนที่จะมองเขาในฐานะ นักแสดงคนหนึ่ง มองว่าเขาจะต้องตอบสนองความต้องการในการชิปของเราเพื่อตอบแทนเราไม่ว่าจะทั้งในจอหรือนอกจอ มองว่าเขาจะต้องมีโมเมนต์กับคู่จิ้นตัวเอง ต้องเล่นซีรีส์หรือต้องร่วมงานกับคู่จิ้นตัวเองเท่านั้น และเมื่อแฟนคลับชอบจิ้น ทีมผู้ผลิตก็ชอบด้วยเพราะมันขายเป็นราคาได้ เมื่อขายได้จึงเกิดเป็นวงจรอุบาทว์แบบนี้ไปซ้ำ ๆ และไม่มีวันหายไปจากวงการสื่อบันเทิง เพราะเหล่าแฟนคลับนี่แหละที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนมันไปโดยที่ไม่รู้ตัว
ทีนี้ ข้อเสียของการขายจิ้นคืออะไร? คำตอบคือคุณภาพไงล่ะที่จะหายไป อย่างที่เราเห็นว่าซีรีส์บางเรื่องที่นอกจากจะมาพร้อมกับความอะไรก็ไม่รู้แล้ว บางครั้งก็มีการสร้างภาพจำที่บิดเบี้ยวให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ออกสู่สายตาคนดูอีกด้วย อีกทั้งยังพยายามยัดซีนจิ้น ๆ ฟิน ๆ ที่ไม่สมเหตุสมผลเข้ามาเป็น Clickbait เพื่อเอาใจแฟนคลับ เกิดเป็นวัฒนธรรมของเหล่าผู้ผลิตขนาดย่อมที่ดูถูกคนดูและมองว่าแฟนคลับแบบ “สาววาย” เป็นแค่บ่อสูบเงินที่จะป้อนคอนเทนต์บูด ๆ เข้าปากให้ยังไงก็ได้ เพราะยังไงคนกลุ่มนี้ก็พร้อมจ่ายอยู่ดี
แฟนคลับชอบ+แฟนคลับก็ซื้อ = ทีมผู้ผลิตทำกำไรได้
สมการข้างต้นถือเป็นความสัมพันธ์แบบวิน ๆ ก็จริง แต่ว่าสิ่งที่ควรตระหนักเลยคือ คู่ชิปหรือคู่จิ้น มันมาจากคำว่า “Imagine” ที่แปลว่า “จินตนาการ” ทุกอย่างคือประกอบสร้างทั้งสิ้น และในบางครั้งแฟนเซอร์วิส (Fan Service) เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจจะเป็นหนึ่งใน Job Description ในการทำงานของตัวนักแสดงก็เป็นได้ ...ใครจะรู้?
สำหรับเรา เราเข้าใจได้ว่าหลายคนก็ชื่นชอบและเอนจอยกับการชิปคู่จิ้นที่มาจากซีรีส์วาย เพราะตัวบทซีรีส์เองก็ปูทางมาให้ทุกคนชิป ทุกคนจิ้น ทุกคนฟิน เพื่อเอามาสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดหรือต่อกระแสหลังซีรีส์จบกันอยู่แล้วอะเนอะ แต่เราอยากให้ทุกคนตระหนักเอาไว้ว่าคู่จิ้นก็คือคู่จิ้น เขามายืนตรงนี้สร้างความสุขให้ผู้บริโภคในฐานะ "อาชีพนักแสดง" ไม่ได้มาเพื่อขาย "ชีวิตจริงหรือความเป็นส่วนตัวให้กับเหล่าแฟนคลับ" ดังนั้น มันถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะให้เกียรติ “ตัวจริง” ที่อยู่นอกจอของพวกเขากันด้วย เมื่อเวลานั้นมาถึง ฝากเอาไว้ให้ขบคิดกันสักเล็กน้อย ณ ตรงนี้ด้วยแล้วกันนะคะNote: ประเด็นที่เราหยิบยกมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในซีรีส์เท่านั้น และยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจเช่น
- "ขอโทษนะ ก็นึกว่ามัน Unisex อะเนอะ" จากซีนของตั้มใน EP.4
- "ก็ทางซีรีส์เขาขอให้โปรโมท ถ้าไม่สมจริง แล้วใครจะเชื่อละครับ"
- การลบภาพจำว่ารสนิยมทางเพศไม่ผูกติดกับภาพลักษณ์ภายนอกของบุคคลนั้น ๆ
- เบื้องหลังวงการบันเทิง ตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดงไปจนถึงการเพิ่มซีน ads
องค์ประกอบในด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เรื่องการใช้ Ost. นี่เป็นอีกสิ่งที่ต้องขอชื่นชมทีมตัดต่อก่อนเลยค่ะ โดยเราจะขอยกซีนที่ช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นมาพูดกันสักเล็กน้อย นั่นก็คือซีนใน EP.4 หลังจากที่จีนโดนน้ำร้อนลวกมือแล้วมีนับสิบมาคอยดูแล คอยต้มบะหมี่ให้ทานรอบดึกแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน มันจึงเกิดเป็นความรู้สึกดี ๆ ขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ตัว และเมื่อจีนเดินกลับเข้าห้อง (โลกส่วนตัว) แล้วนึกถึงเหตุการณ์เมื่อครู่ Ost. ก็ดังขึ้นมาเลยว่า
"เธอแหละทำให้โลกนี้มันเปลี่ยน ไปทั้งใบ" ♪♫ เท่านั้นยังไม่พอ ยังมี Flashback ย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่นับสิบเคยถามจีนใน EP.3 ว่า
"ผมขอถามอะไรคุณจีนหน่อยได้มั้ย คุณจีนรู้สึกยังไงอะ หลังจากที่ผมย้ายมาอยู่ด้วย?" และพอตัดภาพกลับมาที่จีน Ost. ก็ดังขึ้นมาอีกครั้งว่า
"อาจเป็นคนที่ฟ้าส่งของขวัญให้ฉันมา นี่ใช่มั้ยที่ฉันตามหา.. น่าจะใช่" ♪♫ เพื่อแทนคำตอบของคุณจีนที่มีต่อนับสิบ เรียกได้ว่าเป็นการใช้ Ost. ได้เป็นประโยชน์มาก ๆ เลยทีเดียวล่ะค่ะ
- การใช้มุมกล้องเพื่อสื่อความหมาย
ซีนนี้เป็นการปะทะกันระหว่างนับสิบกับคุณจีน หลังจากที่จีนรู้แล้วว่านับสิบเป็นใคร หากเรามาดูองค์ประกอบในซีนนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าซีนนี้ค่อนข้างมืดเพราะเขาจงใจลดแสงไฟลง ให้ความรู้สึกสลัว ๆ มองเห็นได้ไม่ชัดเจนเหมือนกับความรู้สึกของตัวละครทั้งสอง ณ ตอนนี้ และยิ่งไปกว่านั้นคือตลอดทั้งซีนนี้ จะเคลื่อนกล้องแบบ Handheld Camera หรือการถือกล้องถ่าย ทำให้ได้ภาพที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่นิ่งเหมือนกับซีนอื่น ๆ ซึ่งข้อดีของการเคลื่อนกล้องแบบนี้คือทำให้คนดูรู้สึกอินราวกับว่าได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ตรงนั้นกับทั้งคู่ อีกทั้งยังสามารถตีความหมายไปได้ถึงความไม่มั่นคงทางด้านอารมณ์ของตัวละครจีนและนับสิบในเวลานั้นได้อีกด้วยค่ะ
- การเล่นสีกับความรู้สึกของตัวละคร
นี่เป็นครั้งแรกที่คนดูจะได้เห็นห้องของหิน โดยกล้องได้ฉายภาพให้เห็นตั้งแต่หินเดินกลับเข้าห้องมา ก่อนจะทิ้งตัวลงบนเตียงอย่างเหน็ดเหนื่อย จากซีนนี้จะเห็นได้ว่าทุกอย่างที่อยู่รอบตัวหินนั้นล้วนแต่เป็นสีน้ำเงินแทบจะทั้งหมด ขณะที่หินใส่เสื้อสีส้ม ซึ่งเราจะขอตีความเองว่า Blue ในทีนี้หมายถึงตัวแทนแห่งความเศร้า (Sadness) และ Orange ที่เป็นขั้วสีตรงข้ามก็อาจจะหมายถึงตัวแทนแห่งความสุข (Happiness) และพอเรามามองภาพรวมแล้วมันน่าจะตีความได้ว่า ทุกครั้งที่ออกนอกบ้านหินจะพกความสดใสไปด้วยและพยายามทำตัวร่าเริงอยู่เสมอ ทั้งที่จริงแล้วหินมีเรื่องเศร้ามากมายซุกซ่อนอยู่ภายในใจ (น่าจะเป็นอีกหนึ่งปมของหินที่คนดูน่าจะได้เห็นกันหลังจาก EP.8 เป็นต้นไป) เป็นตัวละครที่ "หน้าชื่นอกตรม" ตรงตามกับที่คุณเคนจิเคยนิยามตัวละครหินตอนช่วง Read Through เอาไว้อย่างพอดิบพอดีเลยค่ะ
ประเด็นติชมเพื่อก่อจากมุมมองคนดูตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง
เชื่อว่าหลังจากที่ EP.7 ออนแอร์จบไปนั้น ก็ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา ถึงประเด็นที่นับว่าค่อนข้างละเอียดอ่อนมาก ๆ ฉะนั้นแล้วในพาร์ทนี้ เราขออนุญาตหยิบ
2 ประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดมาพูดคุย ณ ตรงนี้กันสักเล็กน้อยนะคะ
◈ ขอออกตัวก่อนว่าทุกอักษรต่อไปนี้ล้วนแต่เป็นความคิดส่วนบุคคลของเราเองแบบ 100% นะคะ ◈
ซีน Flashback ของนับสิบและจีนในวัยเด็กนั้น ถือเป็นซีนที่ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์แบ่งออกเป็นหลาย ๆ กระแส บ้างก็บอกว่าซีนนั้นไม่เห็นจะมีอะไรเลย ก็แค่พี่ชายน้องชายข้างบ้านที่โตมาด้วยกัน สนิทกันและรักกันแบบเด็ก ๆ บ้างก็รู้สึกอึดอัดเพราะมองว่ามันให้ความรู้สึกที่เกินเลยไปมากกว่านั้น บ้างก็บอกว่าคุณจะตีความออกไปในเชิงไหน ก็มาจากประสบการณ์และฟิลเตอร์ของคนดูแต่ละคน บ้างก็บอกว่าซีรีส์เขานำเสนอออกมากลาง ๆ ให้ความคลุมเครือแล้ว ที่เหลือคนดูก็ไปตัดสินกันเอง
แต่สำหรับเรา เราขออนุญาตมองว่าการดำเนินเรื่องในช่วงนี้ ไม่ค่อยให้ความเป็นกลางกับคนดูสักเท่าไร เพราะถ้ามานั่งดูซีนสิบจีนในวัยเด็กกันแบบช้า ๆ อย่างละเอียด เราจะพบว่าองค์ประกอบของภาพ มุมกล้อง การใช้เพลงประกอบ หรืออะไรต่าง ๆ นานา มันล้วนแต่ชักจูงให้คนดูรู้สึกไปในทาง Romantic Love มากกว่าความรักระหว่างพี่ชายกับน้องชายที่สนิทกัน
ซึ่งเรารู้สึกว่า หากต้องการที่จะเล่นประเด็นความผูกพันของสิบจีนในวัยเด็กเพื่อให้คนดูอินกับภูมิหลังตัวละครของทั้งสองมากขึ้น มันไม่จำเป็นต้องทำให้เป็น Romantic Love เลย เพราะยังไงเสีย นับสิบและจีน ณ ช่วงเวลานั้นยังเป็นเพียงแค่ "ผู้เยาว์" ฉะนั้นแล้วมันไม่ควรจะทำให้ซีนนี้ออกมามีความคลุมเครือ แต่ควรเล่าเรื่องให้ชัดเจนและหนักแน่นไปเลยว่าความรู้สึกระหว่างสิบจีนในวัยเด็กนั้นจะไม่มีอะไรมากไปกว่าแค่ความรักแบบพี่ชายน้องชาย เพราะถ้าซีรีส์นำเสนอภาพที่คลุมเครือแบบนี้ออกไป มันก็อาจเป็นการเปิดโอกาสให้คนดูอีกหลายคน ที่ยังไม่ได้มีความตระหนักรู้ในเรื่องนี้เกิดภาพจำที่ผิด และคิดไปว่าประเด็น Minor-Minor ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรต่อไปในวงกว้างได้นั่นเองค่ะ
P.S. การติชมในข้างต้นไม่ได้หมายถึงตัวบทละครหรือแอคติ้งของนักแสดง แต่พูดถึงในแง่ของการเล่าเรื่องด้วยภาพ การเคลื่อนกล้อง การใช้เสียงประกอบ etc. ถึงแม้ว่าในจุดนี้ทีมงานอาจจะไม่ได้ตั้งใจให้มันออกมาในเชิงนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ความรู้สึกที่มันส่งมาถึงคนดู มันสัมผัสได้ถึง Romantic Love และยากมากที่จะมองให้เป็นความรักในเชิงพี่ชายน้องชายจากในมุมมองของเรา
ภาพประกอบ EP.1 / EP.7 / EP.8 จาก WeTV Thailand
แม้ซีรีส์เรื่องนี้จะมีต้นฉบับมาจากนิยายก็ตาม แต่เมื่อถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์ทีมเขียนบทก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ดัดแปลง หรือเพิ่มเติมอะไรเข้ามาตามความเหมาะสม แต่แน่นอนว่าหนึ่งสิ่งที่ต้องรักษาเอาไว้นั่นก็คือเส้นเรื่องหลักที่ขับเคลื่อนให้ซีรีส์ดำเนินไปเรื่อย ๆ ตามสเตปไปจนจบเรื่อง
อย่างที่ทุกคนทราบกันดี ตั้งแต่ EP.1 มาจนถึง EP.8 ตัวละคร 'นับสิบ' เป็นตัวละครที่เข้าหา 'จีน' ด้วยจุดประสงค์บางอย่างตั้งแต่แรก ทั้งการตามมาแคสเป็นพระเอกซีรีส์ที่จีนเป็นเจ้าของผลงาน ทั้งการอ้างว่าไม่มีที่พักเพื่อจะได้ขอแชร์ห้องกับจีน ทั้งการตามซื้อคอนโดห้องข้าง ๆ หวังจะใกล้ชิดกับจีน ทุกอย่างล้วนแต่เป็นแผนที่นับสิบวางมาไว้หมดเลย ถ้าให้พูดกันตามตรงเราว่านับสิบเป็นตัวละครที่เข้าข่ายการเป็นสตอล์คเกอร์กันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น พอหลังจากที่ EP.7 ออนแอร์ไปคนดูก็เลยตั้งคำถามกันเป็นจำนวนมากว่าทำไมไม่ปรับบทล่ะ ทำไมถึงปล่อยให้นับสิบมันดูน่ากลัวขนาดนี้?
ในมุมมองของเรานั้น การเข้ามาของนับสิบ "เป็นตัวแปรที่ก่อให้เกิดเส้นเรื่องหลักทั้งหมดของซีรีส์เรื่องนี้" ที่เรามองว่ามันแตะต้องและปรับเปลี่ยนอะไรลำบากมาก เพราะว่าเหตุการณ์ทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ มันเกิดขึ้นได้จากการพยายามที่จะเข้าหาคุณจีนของนับสิบนั่นเอง ฉะนั้นแล้ว หากเราปรับเปลี่ยนเหตุผลในการเข้าหาคุณจีนของนับสิบให้ดูซอฟท์ลง เพิ่มน้ำหนักให้กับเหตุผลของนับสิบ หรือปรับให้การเข้าหาของนับสิบไม่ได้ผิดอะไร ถ้าเป็นแบบนั้นเราคิดว่ามันจะกลายเป็น "การฟอกขาวให้ตัวละคร"
เพราะแบบนี้เราถึงยอมให้กับทีมเขียนบทเลย ที่กล้าจะตีแผ่ความไม่ถูกต้องของตัวละครนับสิบออกมาให้ทุกคนวิจารณ์กันอย่างเต็มที่ กล้าจะนำเสนอตัวละครนับสิบให้ออกมาดูไม่ค่อยดีในสายตาคนดูแม้นับสิบจะอธิบายเหตุผลกับจีนไปแล้วก็ตาม แต่คนดูก็ยังคงรู้สึกแย่กับตัวละครนับสิบอยู่ดี จากนั้นก็ใช้ตัวละครจีนเป็นเครื่องมือสื่อสารไปยังคนดูโดยตรงว่า "สิ่งที่นับสิบทำมันไม่ถูกต้องนะ" กันถึงสองครั้ง เพื่อเป็นการทิ้งแง่คิดให้คนดูไปขบคิดกันต่อเอง
แต่ว่า! เรายังแอบรู้สึกว่าการขยี้ความไม่ถูกต้องรวมถึงซีนสั่งสอนนับสิบของคุณจีนมันยังดูอ่อนไป ส่วนการขอโทษของนับสิบมันก็แค่ดูเหมือนกับขอโทษเพื่อให้ผ่านไปเฉย ๆ คำขอโทษของนับสิบใน EP.8 สำหรับเรามันถูกนำเสนอออกมาได้ไม่ค่อยอิมแพคเท่าไหร่ เหมือนกับแค่ ขอโทษเพื่อเป็นการกันคนดูด่าเฉย ๆ แถมตัวนับสิบเองก็ยังไม่ได้แสดงออกว่ารู้สึกสำนึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองทำลงไปมากเท่าที่ควร ถ้าใครที่ดูแบบไม่ได้อะไร หรือดูแบบผิวเผิน ก็อาจจะมองผ่านไปแบบไม่ทันได้ขบคิดอะไรตามเลย แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าทีมงานก็คงพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ยังไงแล้วก็ต้องมีกลุ่มคนดูที่คิดได้ว่าสิ่งที่นับสิบทำลงไปมันไม่ถูกต้องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เพราะจะมาหวังให้สร้างความตระหนักรู้ให้คนดูทุกคนกันได้แบบ 100% ก็คงเป็นไปไม่ได้
และการที่เราตัดสินใจหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูด ก็เพียงแต่ต้องการฝากคำติชมเพื่อทีมผู้ผลิตได้นำไปพิจารณาปรับปรุงตัวบทละครให้ดีขึ้นอีกต่อไปในอนาคต ไม่ได้มีเจตนาไม่ดีอื่น ๆ แต่อย่างใด
ส่งท้ายกันสักเล็กน้อย ??
หวังว่าจากเนื้อหาทั้งหมดที่เราได้หยิบยกออกมาจากในแต่ละซีน พร้อมทั้งนำมาเรียบเรียงเป็นฉบับคร่าว ๆ ให้ทุกคนได้อ่านกันนั้น จะช่วยเปิดโอกาสและทำให้หลาย ๆ คนได้ทำความรู้จักกับซีรีส์เรื่องนี้มากยิ่งขึ้นว่าเหตุใด นับสิบจะจูบ ถึงมีดีมากกว่าแค่จูบ และเป็นซีรีส์ที่ควรค่าแก่การเปิดใจดูสักครั้ง ตามที่เราได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น
และหากใครที่กำลังมองหาซีรีส์วายที่หลุดออกมาจากกรอบเดิม ๆ ซีรีส์วายที่ขับเคลื่อนสังคมและสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นต่าง ๆ ตามที่หลายคนเรียกร้องกันแล้วละก็
นับสิบจะจูบ คือเรื่องนั้นที่คุณกำลังตามหาอยู่อย่างแน่นอนค่ะ เพราะนับสิบจะจูบจะช่วยลบภาพจำเดิม ๆ เกี่ยวกับซีรีส์วายที่เคยมีมาทั้งหมด ซีรีส์เรื่องนี้จะรวมเอาไว้แต่ความสดใหม่ พร้อมด้วยความกล้าที่จะหยิบยกประเด็นต่าง ๆ ในสังคมมาตีแผ่เพื่อสะกิดใจและทิ้งแง่คิดไว้ให้กับคนดูในแบบที่ไม่เคยมีเรื่องไหนกล้าทำมาก่อน
รู้แบบนี้แล้วจะยังรอช้าอยู่ไย !
นับสิบจะจูบ ดูย้อนหลังฟรีทั้ง 12 ตอนได้ที่
WeTV Thailand เท่านั้น!!! ย้ำ WeTV Thailand
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in