เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สมคบคิด(เอาเอง)I-love-thee
Drama Addiction Theory ชอบเสพดราม่าเพราะชีวิตจริงก็ดราม่าไม่แพ้กัน
  • *คำเตือน :ข้อความต่างๆในบทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นจึงไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือให้เหตุผลตามหลักวิชาการได้ 

    ในหลายครั้งที่เราใช้ทวิตเตอร์แล้วพบว่าจู่ๆเวลาก็หายไปเป็นชั่วโมงโดยที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยสักนิดเพียงแค่เผลอกดเข้าไปในแท็กที่กำลังติดเทรนด์ในขณะนั้นทั้งๆที่ในตอนแรกก็ไม่รู้ว่ามันมีประเด็นเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้างแต่ก็ไถไปเรื่อยๆจนกระทั่งรู้ที่มาที่ไปในที่สุด

    เราไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้ก็ได้ เพราะการที่เราจะรู้หรือไม่รู้เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนความจริงหลายๆอย่างในชีวิตเรา ถ้าพรุ่งนี้เป็นวันจันทร์เรายังคงต้องไปเรียนหรือไปทำงานเหมือนเดิม ต้องจ่ายค่า น้ำค่าไฟค่าที่พัก ค่ารถ ค่าบ้าน ค่าบัตรเครดิตตอนสิ้นเดือนอยู่ดี เชื่อว่าทุกคนต่างก็รู้ดีว่าการเสพดราม่าต่างๆที่กำลังเป็นกระแสในขณะนั้น(ในกรณีที่เรื่องนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเราโดยตรง)ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกสักเท่าไหร่ และถ้ายิ่งอินเท่าไหร่ก็ยิ่งสร้างความตึงเครียดให้ตัวเองโดยเปล่าประโยชน์

    เรื่องบางเรื่องเราก็ทำทั้งๆที่รู้ รู้ว่าทำแล้วไม่เกิดประโยชน์แต่ก็ยังทำเราจึงขอสรุปเหตุผลของการกระทำลักษณะนี้ตามความรู้สึกและสมมติฐานส่วนตัวไว้ดังนี้

    1. ความเชื่อมโยงกับชีวิตจริง เชื่อว่าการที่คนเราจะสนใจใส่ใจกับเรื่องอะไรมากๆอาจจะเป็นเพราะสตอรี่นั้นๆมีบางสิ่งที่เป็นจุดเชื่อมโยงกับชีวิตเราไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นข่าวเรื่องมือที่สามทำรักร้าว แท็กซี่ไม่รับ ค่ามอไซแพง และอื่นๆอีกมากมาย หากมันเป็นเหตุการณ์จริงที่เราเคยประสบพบเจอก็จะยิ่งทำให้เรามีอารมณ์ร่วมกับประเด็นเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

    2. ตอนนี้ชีวิตแย่ บางทีการที่เราต้องเสพดราม่าอยู่ร่ำไปอาจเป็นเพราะในตอนนี้ชีวิตอยู่ในจุดที่เราไม่ค่อยพอใจ ชีวิตอาจจะเนือยเกินไปจนไม่น่าตื่นเต้น หรือแย่มากจนไม่อยากนึกถึง การเสพดราม่าของคนอื่นจึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจออกไปจากโลกปัจจุบันเข้าสู่โลกที่เราไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบใดๆ

    3. การเสพดราม่ามอบอำนาจในการตัดสินให้กับเรา เหตุผลในข้อนี้มีความเชื่อมโยงสืบเนื่องกับในข้อที่แล้ว เพราะในชีวิตจริงนั้นเราอาจจะไม่มีสิทธิ์ที่จะไปออกความเห็นหรือวิจารณ์ใครต่อหน้าตรงๆ ทั้งที่เราอยากจะทำ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถทำได้ เช่น เราไม่พอใจกับการกระทำของหัวหน้างานมากๆ แต่ก็ไม่สามารถโพล่งออกไปได้ เพราะจะกระทบกับหน้าที่การงานของเราเราจึงเก็บกดสิ่งเหล่านี้ไว้ แล้วระบายออกกับการสวมบทบาทเสมือนเป็นผู้พิพากษาที่ตัดสินและกล่าวหาบุคคลในประเด็นดราม่าเหล่านั้น

    ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดก็ตามที่ทำให้เราหลายๆคนชื่นชอบในการเสพดราม่า และการวิพากษ์วิจารณ์ ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าสิ่งที่เราได้เห็นได้รับรู้นั้นเป็นเพียงข้อมูลจากประสบการณ์ของเราเพียงด้านเดียว จึงไม่ควรทึกทักเหมารวม และตัดสินเอาโดยไม่คำนึงว่ายังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่เคยได้รับรู้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in