- anna กับ beth เป็นสองสาวเพื่อนสนิทตัดสินใจไปเที่ยวกัน ณ ที่แห่งหนึ่งห่างไกลจากตัวเมือง ก่อนจะเริ่มความสัมพันธ์ที่แสนจะอันตราย
- ไม่เพียงแต่จะทำให้หวนคิดถึงงานของ bergman เรื่อง persona ยังวิพากษ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ซึ่งอุดมด้วยอคติทางเพศจนส่งผลให้ผู้หญิงหันมาขับเคี่ยวเดียดฉันท์กันเอง
พอผู้กำกับ sophia takal ใส่ใจเรื่องเพศลงไปในหนังมากกว่าจะเป็นงานระทึกขวัญเหนือจริงธรรมดาดาษดื่น ทำให้ไม่เพียงจะทำให้งาน drama-mystery เรื่องนี้เข้าอกเข้าใจผู้หญิงมากขึ้น แต่ยังสามารถเล่าถึงประเด็นเพศหญิงในวงการบันเทิงโดยเฉพาะภาพยนตร์ได้อย่างขึงขังเกรี้ยวกราด
beth คือหญิงสาวที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการแสดงเพราะเธอยอมที่จะเปลื้องผ้าต่อหน้ากล้อง ขณะที่ anna เป็นเพียงนักแสดงสาวที่รับงานแสดงฟรีให้กับเหล่านักศึกษาภาพยนตร์เท่านั้น ความไม่เทียมเท่าของหน้าที่การงานนี้เองที่เป็นชนวนให้เกิดความพิพักพิพ่วนจนนำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรง
หนังเล่นงานกับการรับรู้ของคนดูตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เล่นงานซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้คนดูตั้งคำถามว่าเรากำลังยืนอยู่ในจุดไหนของหนัง ทุกอย่างในเรื่องโดยเฉพาะการตัดต่อมีลูกเล่นเยอะเพื่อบิดเบือนการรับรู้ นี่คือพลังของภาพยนตร์ที่ takal ผู้กำกับและ levine ผู้ตัดต่อกำลังสำแดงให้คนดูตระหนัก ความคลุมเครือและความอึดอัดถูกเคลือบไปตลอดการดำเนินเรื่อง หนังผลักคนดูออกจาก reality เพื่อให้ได้ครุ่นคิดด้วยกลวิธีหลากสิ่ง ตั้งแต่การจ้องมองมาที่กล้อง (ที่ถูกอนุมานว่ามองสิ่งอื่น) หรือที่โดดเด่นที่สุดคือการลำดับภาพที่ต่อต้านกับขนบการเล่าเรื่องแบบปกติวิสัย
อย่างที่บอกไปว่าชวนให้นึกถึงงานของ ingmar bergman เรื่อง persona เพราะ always shine ทั้งเกี่ยวกับผู้หญิงสองคนที่สร้างความสัมพันธ์ที่น่าอึดอัดใจในพื้นที่น้อยคน, ดนตรีประกอบหลอกหลอน, ตัวละครเพศชายมีพื้นที่บนจอไม่มาก ที่สำคัญคือการล้อกับแบบและอำนาจของภาพยนตร์ หนำซ้ำยังทำให้เห็นว่าความชั่วร้ายของวงการภาพยนตร์อันเต็มไปด้วยความเกลียดชังต่อเพศหญิง (misogyny) ก็ส่งผลร้ายมหันต์ให้ผู้หญิงด้วยกันหันมาชิงชังกันเองเพื่อจะได้เป็น "ดารา"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in