เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
JJ’s Cambodian Culture Diaryjjjaypc
[บันทึกหน้า 13] กระแสเลือกตั้งทั่วไป: จับตาการเลือกตั้งกัมพูชาและพม่า '66
  • ส่งท้าย JJ’s Cambodian Culture Diary กันด้วยกระแสเลือกตั้งทั่วไปในภาคพื้นทวีปอาเซียน ของประเทศไทยเพิ่งมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. 66 และของกัมพูชาจะมีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 23 ก.ค. 66 มาดูกันว่า ฮุน เซ็น จะยังเป็นนายกรัฐมนตรีตลอดกาลของกัมพูชาต่อไปหรือไม่


    บอกเลยว่าก่อนมาเรียนวิชาปริทัศน์วัฒณธรรมเขมรนี้ เราไม่รู้เรื่องการเมืองของกัมพูชามาก่อนเท่าไร ไม่ว่าจะพรรคการเมืองหรือการเลือกตั้ง ไม่ค่อยได้ยินในข่าว แต่เคยได้ยินชื่อ ฮุน เซ็น ในฐานะประธานอาเซียน จนกระทั่งได้ดูหนังสารคดีเรื่อง Angkor Awakens (2017) ทำได้เปิดหูเปิดตารู้เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองของกัมพูชามากขึ้น ทำให้เห็นการตื่นตัวทางการเมืองของคนกัมพูชา มีการชุมนุมประท้วงเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านผลการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม


    กัมพูชามีพรรคการเมืองพรรคเดียวเป็นใหญ่มาตลอด นั่นก็คือ พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของฮุน เซ็น นั่นเอง ฮุน เซ็นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 38 ปีจวบจนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2566 จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น “ระบอบฮุน เซ็น” เป็นการยากที่จะออกจากระบอบที่อยู่มานานขนาดนี้ได้


    เราขอแนะนำ 2 บทความดี ๆ ของสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ซึ่งจับตาการเลือกตั้งทั้งในกัมพูชาและในพม่า เพราะปี พ.ศ. 2566 ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีการเลือกตั้งทั่วไป กัมพูชาจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ก.ค. 66 พม่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2566 นี้ ถือว่าเวลาช่วงครึ่งปีหลัง 2566 เป็นช่วงแห่งการเลือกตั้งของอาเซียนภาคพื้นทวีป


    กตต.กัมพูชาเพิ่งตัดสิทธิ์พรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคมนี้ การดำเนินการตัดคู่แข่งในการเลือกตั้งเป็นวิธีการที่ที่พวกเราคุ้นเคยกันดี ประเทศไทยก็ใช้ เมื่อมองย้อนกลับไปกรณียุบพรรคอนาคตใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562


    พรรคการเมืองฝ่ายค้านในกัมพูชาคงไม่มีโอกาสชนะเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะคณะกรรมการเลือกตั้งของกัมพูชา เพิ่งประกาศตัดสิทธิพรรคแสงเทียน (Candlelight Party) ไม่ให้ร่วมลงแข่งขันในการเลือกตั้งในวันที่ 23 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ด้วยเหตุผลทางเทคนิคว่าไม่สามารถส่งเอกสารได้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนด เพราะไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือรับรองการจดทะเบียนพรรคในปี 1998 มาแสดงได้  (สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, “การเลือกตั้งในประเทศไทย บอกอะไรกับกัมพูชาและพม่า”)


    ในบทความ “การเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจในกัมพูชาและพม่า” ของ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นำเสนอและเปรียบการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในปีเดียวกับทั้งไทย กัมพูชา และพม่า และท่าที่ของการสืบทอดอำนาจ โดยมีกำลังทหารและความชอบธรรมจากการเลือกตั้งเป็นสำคัญ


    คล้ายๆ กับกรณีนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย ทั้งนายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาและนายกรัฐมนตรีมิน อ่อง หล่าย ของพม่า ใช้เทคนิคในการขึ้นสู่อำนาจและการรักษาอำนาจแบบเดียวกันคือ เริ่มต้นจากการใช้กำลังทางทหารทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนมาเป็นของตัวเอง จากนั้นก็ใช้ทั้งอำนาจดิบและตัวบทกฎหมายในการข่มขู่ คุกคามและกำจัดฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อทำให้พรรคที่กองทัพหนุนหลังหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งพรรคการเมืองที่เป็นหน้าฉากให้กับกองทัพสามารถชนะการเลือกตั้งได้โดยง่าย (สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, “การเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจในกัมพูชาและพม่า”)


    ต้องบอกว่าการเมืองประเทศเพื่อนบ้านมันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน อย่างที่เรารู้ว่าเผด็จการมักจับมือกันนั่นแหละ ดังนั้น เราอยากส่งเสริมให้ติดตามข่าวการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านไว้ หรือท่าทีของไทยต่อประเด็นต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะมนุษยสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศเราเองและในประเทศเพื่อนบ้าน


    การเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมาของไทย ฝ่ายประชาธิปไตยได้ 2 อันดับแรก พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย แสดงว่าคนไทยก็ตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย และนโยบายการต่างประเทศ การปฏิรูปกองทัพ ท่าทีของประเทศไทย จะเปลี่ยนไปอย่างไรต่อประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไป


    เห็นไหมว่ามองกัมพูชาเชื่อมโยงอาเซียน อ่านดูแล้วจะรู้ว่าวัฒนธรรมเขมรใกล้ตัวกว่าที่คิด ก็ขอจบบันทึกวัฒนธรรมของเราไปด้วยการมีความหวังกับอนาคต หวังว่าภูมิภาคอาเซียนของเราจะมีการพัฒนาไปสู่จุดที่ดีขึ้น ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีการทำรัฐประหาร ไม่มีการสืบทอดอำนาจ ไม่มีการฆ่าล้างชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย ไม่มีสถาบันใดที่มีอำนาจเหนือประชาชน รับฟังความเห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครอง-ระบบเศรษฐกิจแบบใดก็ตาม


    แหล่งอ้างอิง

    สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี. “การเลือกตั้งในประเทศไทย บอกอะไรกับกัมพูชาและพม่า”, 2566, https://plus.thairath.co.th/topic/spark/103199

    _______. “การเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจในกัมพูชาและพม่า”, 2566, https://www.the101.world/myanmar-and-cambodia-elections/.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in