เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
JJ’s Cambodian Culture Diaryjjjaypc
[บันทึกหน้า 11] นครวัดเป็นพุทธได้ยังไง? บาปวน-นครวัด-บายน
  • หน้านี้ดูไม่เป็นไปตามสายธารของวัฒนธรรมเขมรเลย แต่เป็นหน้าที่ต้องใส่มา เพราะว่า 1) จะพูดถึงวัฒนธรรมเขมรโดยไม่พูดถึงนครวัดได้ยังไง 2) เราเพิ่งรู้ว่านครวัดไม่ใช่ศาสนสถานฮินดูแต่เป็นศาสนสถานของพุทธซะงั้น เรื่องนี้ต้องอธิบาย คือถ้าพูดถึงวัฒนธรรมเขมรก็ต้องคิดถึงการรับวัฒนธรรมอินเดียถูกมะ ปราสาทเขมรเนี่ยก็พราหมณ์-ฮินดูแบบไม่ต้องสืบสาวมาก รูปปั้น รูปเคารพ หน้าบัน ทับหลัง ไม่พระนารายณ์ก็พระอิศวรแหละ ไม่ไวษณพนิกายก็ไศวนิกาย ศิวลึงค์ ฐานโยนี คิดว่าทุกคนน่าจะรู้กัน 


    แต่ว่า พอไปค้นหาเกี่ยวกับปราสาทนครวัดกลับขึ้นว่าเป็นปราสาทพุทธ! เอ๊ะ ไปไงมาไง หน้าตาเป็นฮินดูมาก ไหงเป็นพุทธ


    ต้องย้อนไปก่อนว่า นครวัดเนี่ยมันยิ่งใหญ่ สร้างเสร็จไม่ได้ในรุ่นเดียว โบราณสถานหลายแห่งก็ไม่สร้างเสร็จในรุ่นเดียว เช่น พีระมิด กำแพงเมืองจีน เป็นต้น ความเชื่อที่มากำหนดศาสนาของสถานที่ใดก็ต้องเป็นความเชื่อที่กษัตริย์นับถือ 


    นครวัดสร้างเริ่มในสมัย พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (กราบไหว้วอนขอพ่อสุริยวรมัน - สาวกันตรึม อ้ายไผ่ พงศธร มาอีกแล้ว) ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ มีการก่อสร้างเพิ่มเติมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งนับถือศาสนาพุทธมหายาน ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 นครวัดได้ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากศูนย์กลางด้านจิตใจในศาสนาฮินดูไปเป็นศาสนาพุทธซึ่งก็ได้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ปราสาทบายนตั้งอยู่ใจกลางนครธนม เมืองหลวงใหม่ เป็นวัดประจำสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เราคงเคยเห็นลักษณะปราสาทบายนที่มีใบหน้าใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของปราสาทเขมรแบบพุทธมหายาน


    เราลองเรียงลำดับ ปราสาท (ศิลปะ) -> ศาสนาแรกเริ่ม -> กษัตริย์ -> เมืองหลวง -> ปราสาทในไทย ซึ่งปราสาทในเมืองหลวงย่อมเป็นต้นแบบของศิลปะที่ปรากฏในที่อื่นนอกเหนือจากปราสาทนั้น ประวัติศาสตร์การเมืองสะท้อนผ่านประวัติศาสตร์ศิลปะ ดังเช่นเหล่าปราสาทเขมรหรือปราสาทขอมในประเทศไทย


    • ปราสาทบาปวน (ศิลปะแบบบาปวน ราว พ.ศ. 1560 - 1630) ไศวนิกาย พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 เมืองพระนคร ปราสาทในไทย เช่น ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ พระธาตุนารายณ์เจงเวง จ.สกลนคร บ้านเราเอง เป็นไศวนิกายก่อนเป็นไวษณพนิกาย
    • ปราสาทนครวัด (ศิลปะแบบนครวัด ราว พ.ศ. 1650 - 1720) ไวษณพนิกาย พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เมืองพระนคร ปราสาทในไทย เช่น ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา ปราสาทศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์
    • ปราสาทบายน (ศิลปะแบบบายน ราว พ.ศ. 1720 - 1780) พุทธศาสนามหายาน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมืองนครธม ปราสาทไทย เช่น ปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี ปราสาทปรางค์สามยอด จ.ลพบุรี วัดกำแพงแลง จ.เพชรบุรี ทริปเพชรบุรีที่เราไป (ทริปเดียวกับบันทึกหน้า 3) ก็ได้ไปวัดกำแพงแลงด้วย เพื่อนคนเพชรบุรี (ที่ต้องรับบทไกด์) บอกว่าเป็นปราสาทแบบบายน แต่ตรงที่เป็นหน้าพระโพธิสัตว์เนี่ยกร่อนไปแล้ว ต้องเพ่งดูประมาณนึง

    วัดกำแพงแลง จ.เพชรบุรี


    ช่วงนี้เราหาข้อมูลเกี่ยวกับอิทธิพลเขมรในจังหวัดสกลนครเพื่อทำรายงานวิชาภาษาเขมรที่สัมพันธ์กับภาษาไทย เลยได้ขุดคุ้ยอิทธิพลเขมรที่ปรากฏเด่นชัดผ่านสถาปัตยกรรม ได้เข้าใจอิทธิพลเขมรยุคต่าง ๆ ตามยุคของศิลปะเขมร ผ่านปราสาทหินที่พบอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน โดยเฉพาะช่วงบาปวน-พระนคร-บายน เพราะเป็นช่วงที่อาณาจักรพระนครยิ่งใหญ่แผ่อิทธิพลไกล จนตอนนี้เริ่มแยกยุคของศิลปะเขมรได้นิดหน่อยแล้ว


    แต่ก่อนเราแยกแค่ฮินดูหรือพุทธ อันไหนที่ไม่ใช่บายนเราก็ให้เป็นฮินดูหมด ที่ไหนได้มีซับซ้อนกว่านั้น มีนิกาย มีพัฒนาการ นอกจากนครวัดที่แปรไปเป็นพุทธแล้ว ปราสาทขอมในไทยแทบทั้งหมดก็กลายเป็นศาสนาสถานของพุทธแล้วเช่นกัน เราจะเห็นพระพุทธรูปในปราสาทเหล่านี้เสมอ บางที่ก็มีพระสงฆ์จำวัดได้ อย่างเช่นวัดกำแพงแลง กล่าวได้ว่า ศาสนาของปราสาทเขมรเป็นไปตามอำนาจรัฐ ศาสนาหลักที่รัฐหรือกษัตริย์นับถือนั่นเอง เรามาลองสิืบค้นปราสาทขอมหรืออิทธิพลเขมรในจังหวัดของตัวเองกันเถอะ


    แหล่งอ้างอิง

    ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. “ปราสาทขอมในประเทศไทย”, https://db.sac.or.th/archaeology/terminology/305.

    โอเชี่ยนสไมล์. “ศิลปะสถาปัตยกรรมขอมโบราณ”, http://www.oceansmile.com/KHM/AngkorArt.htm.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in