21 April 2018
วันนี้เรายกทีมไปหอภาพยนตร์กัน
แต่จุดรวมพลของเราคือที่
บ้านพิพิธภัณฑ์ (ที่นั่นแหละที่เคยไป อยู่ตรงพุทธมณฑล สาย 2) แล้วก็เดินทางต่อไปยังหอภาพยนตร์ (พุทธมณฑล สาย 5)
ถ้าเกิดจะเดินทางมาเอง ก็นั่ง 515 จากเส้นอนุสาวรีย์มาได้เลย คิดว่าน่าจะสุดสายนะ หรือถ้าเกิดใครมาจากเส้นอื่นๆ ลองดูตาม
แผนที่การเดินทางนี้ดูนะ ทางหอภาพยนตร์เขาเขียนบอกเอาไว้ให้
หอภาพยนตร์
94 หมู่ 3 ถนนพุทธมณฑล สาย 5 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล นครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-4822013-14, 02-4821087-88
โทรสาร 02-48221015
ห้องสมุด วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น.
พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยและเมืองมายา วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันละ 5 รอบ เวลา 10.00 น., 11.00 น., 13.00 น., 14.00 น. และ 15.00 น. ต้องมีวิทยากรบรรยาย ใช้เวลาชมประมาณ 1 ชั่วโมง ลงทะเบียนที่หน้าทางเข้า (บริเวณที่รับบัตร)
โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 13.00 น., 15.00 น., และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 13.00 น.
WEBSITE | Facebook | Twitter | YouTube | E-mail
กว่าเราจะไปถึงก็ 11 โมงเกือบเที่ยงกันแล้ว แถมแดดยังร้อนมากด้วย พอเอารถไปจอดเสร็จ (ที่นี่ไม่มีที่จอดรถนะ ต้องหาที่จอดเอง) ก็เดินไปรับบัตรเข้าชมที่ด้านหน้า (บริเวณร้านมายาพาณิชย์ คือมันมีจุดจำหน่ายตั๋วที่เป็นจุดถ่ายรูปเฉยๆ ด้วยนะ เผื่อสับสน)
พอเข้าไปรับบัตรเข้าชม ก็จะมีเจ้าหน้าที่อธิบายคร่าวๆ ให้เราทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นี้ และมีตั๋วที่จะต้องออกเพิ่มด้วย คือ ตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย (เพราะตรงนี้เข้าชมเองไม่ได้ ไม่มีป้ายบอกต้องให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้พาเข้าชม จำกัดรอบละ 12 คน และใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการเข้าชม) พวกเราก็เลยลงทะเบียนและให้เจ้าหน้าที่ออกตั๋วให้ เป็นรอบ 13.00 น.
ภายในหอภาพยนตร์แบ่งออกเป็นหลายตึกให้เข้าชม ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องมีบัตรถึงจะเข้าชมได้ (เขาจะแสกนบัตรแล้วคืนให้เราทุกครั้งที่เราเข้าตึกต่างๆ)
พอออกตั๋วเสร็จ เหลือเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนเข้าพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ก็ไปหาที่กินข้าวกันภายในหอภาพยนตร์นี่แหละ จากที่บอกไปคือเขามีหลายตึก แล้วร้านอาหารเนี่ย ก็จะอยู่ตรงข้างๆ รถไฟสายภาพยนตร์ เป็นร้านอาหารใต้ มีทั้งเผ็ดและไม่เผ็ด ที่สำคัญคือมีน้ำพริกผักลวกให้กินด้วย! รสชาติอร่อยถูกปาก ราคาไม่แพง อิ่มมากด้วยล่ะ
หลังจากกินข้าวเสร็จ ก็เหลือเวลาเดินเล่นอยู่อีกเยอะ เราก็พากันไปเลาะด้านหลังไปทางห้องน้ำ (ห้องน้ำที่นี่มีรูปสวยๆ เกี่ยวกับโรงหนังแปะเอาไว้อยู่ด้วยล่ะ) แล้วก็มีเครื่องจำหน่ายสินค้าอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มและขนมกรุบกรอบ (เราแอบคิดว่า ถ้าเกิดมีเครื่องจำหน่ายหนังสืออยู่ด้วยก็คงจะดีไม่น้อย)
เสร็จแล้วก็เดินต่อไปอีกนิดถึงโรงภาพยนตร์ศรีศาลา จำลองมา บริเวณนั้นจะเป็นลานดารา มีการปั้มมือ-เท้า พร้อมลงชื่อดารานักแสดง นักร้อง ผู้กำกับ เอาไว้ด้วย
อย่างอันนี้เป็นของพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ ผู้กำกับหนังชาวไทย ที่ได้รางวัลปาล์มทองคำ
ล่าสุด (14 มีนาคม 2018) ก็มีข่าวว่าพี่เจ้ยได้ตัว Tilda Swinton นักแสดงฝีมือเยี่ยมมาร่วมงานกันในหนังเรื่อง Memoria
เมื่อถ่ายรูปเล่นกลางแดดร้อนๆ กันเสร็จแล้วนั้น เราจึงเดินต่อไปทางร่มเงาไม้ริมรั้ว เดินไปจนถึงโดมใหญ่ๆ สีดำ แต่ตรงจุดที่เรายืนอยู่มันเป็นบริเวณด้านหลัง ก็เลยจะอ้อมไปข้างหน้า บริเวณนั้นมันมีรูปปั้นอยู่คู่หนึ่งยืนดูกล้องบันทึกฟิล์มอยู่ พอไปอ่านป้ายก็พบว่า นี่คือ George Eastman ผู้นำการผลิตฟิล์มภาพยนตร์ และ Thomas Alva Edison หนึ่งในผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์ (ก็ Thomas Alva Edison คนผลิตหลอดไฟนั่นแหละครับ)
ยืนอ่านป้ายจนหนำใจ ก็เดินเลาะไปด้านหน้า และที่นี่คือ Black Maria โรงถ่ายหนังหรือสตูดิโอแห่งแรกของโลก เอกลักษณ์ของโรงถ่าย Black Maria คือจะต้องเปิดหลังคาได้และหมุนรอบตัวเองได้ เพื่อให้แสงธรรมชาติส่องลงมายังโรงถ่ายตามจุดที่ต้องการ โดยทางหอภาพยนตร์ได้จำลองมันเอาไว้
ภายในโรงถ่ายนั้นไม่อนุญาตให้มีการบันทึกภาพใดๆ แล้วก็จะมีกิจกรรมให้เข้าร่วมด้วย คือ ถ่ายหนังเงียบตามบทที่เขาจัดเอาไว้ให้ เสียค่าใช้จ่าย 100 บาทต่อครั้ง (รวมกลุ่มกันถ่ายนั่นแหละ)
และแล้วก็ใกล้ถึงเวลา 13.00 น. พวกเราก็เลยมายืนถ่ายรูปเล่นรอเจ้าหน้าที่เรียกเพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ตึกพิพิธภัณฑ์นั้นเรียกว่า ภาพยนต์เสียงศรีกรุง เขาบอกว่าที่ใช้ชื่อว่า "ภาพยนต์เสียงศรีกรุง" เพราะภาพยนต์เสียงศรีกรุงนั้น ถือเป็นบริษัททำภาพยนตร์แห่งแรกในประเทศ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยตระกูลวสุวัต ทางหอภาพยนตร์ก็เลยเอามาตั้งชื่อเพื่อระลึกถึงสถานที่แห่งนั้น
แต่ด้านในเขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปนะจ๊ะ สิ่งแรกที่จะเห็นเลยก็คือสเลท ทั้งสเลทที่เป็นเอกลักษณ์ของภาพยนต์เสียงศรีกรุง คือเป็นสเลทวงกลม อันอื่นๆ ก็จะเป็นสเลทสี่เหลี่ยมจากหนังไทยดังๆ หลายเรื่อง มีทั้งอันที่ใช้งานจริงในกองถ่าย กับอันที่ใช้เฉพาะตอนเปิดกล้องเท่านั้น เดินเข้าไปอีกนิด จะเป็นโซนพร็อพประกอบหนังผีจากเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องนางนาค (เวอร์ชั่นทราย / ใหม่ ดาวิกา) ชุดจากบ้านผีปอป หนังผีที่มีหนังภาคต่อมากที่สุด ถัดไปเป็นบันไดขึ้นไปชั้นสอง ตรงบันไดจะมีโล่ห์รางวัลต่างๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์เอาไว้เยอะแยะ
พอขึ้นมาชั้นสอง เขาจัดเป็นโซนเกี่ยวกับความเป็นมาของโลกภาพยนตร์ ตั้งแต่ยุคแรกๆ ของโลก และของไทย ตั้งแต่เป็นหนังเงียบขาวดำ จนถึงหนังที่ใส่เสียงเข้าไปได้
เสร็จแล้วก็กลับลงมาที่ชั้นหนึ่ง แล้วก็พาเข้าไปในห้องที่เขาจัดเอาไว้ ตรงกลางห้องเป็นรูปปั้นของคุณรัตน์ เปสตันยี ถือเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทย เป็นคนแรกๆ ของวงการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ และได้รับกล้อง Mitchell BNC หนึ่งในกล้องที่ผู้กำกับหลายๆ คนใฝ่ฝัน (อ่านประวัติเพิ่มเติมได้ที่ Thai Film Foundation) ถัดไปก็เป็นห้องเล็กๆ ที่จะอธิบายขั้นตอนของการผลิตภาพยนตร์ออกมาสักเรื่องหนึ่ง ตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดง ออกแบบเสื้อผ้าและพร็อพประกอบ กล้องที่ใช้ในการถ่ายทำ การล้างฟิล์ม ตัดต่อฟิล์ม ทำ Subtitle และส่งต่อหนังให้สายหนังนำไปฉายตามสถานที่ต่างๆ สุดท้ายคือห้องฉายหนัง
ออกมาจากตึกก็ประมาณบ่ายสองนิดๆ ก็ว่าจะเดินไปที่ร้านกาแฟ Grand Cafe แต่เขาจะเปิดให้เข้าชมรอบละครึ่งชั่วโมง แลัวยังไม่ถึงเวลา ก็เลยไปซื้อบัตรเข้าชมราคา 10 บาท แล้วเดินไปที่ร้าน Kinetoscope Parlor หรือร้านดูหนังจากกล้องถ้ำมองของ Thomas Alva Edison อันนี้จะเสียค่าดูหนังเรื่องละ 10 บาท เจ้าหน้าที่บอกว่าถือเป็นธรรมเนียมของการดูหนัง โดยหนังที่ได้ดูจะเป็นหนังเงียบ ดูวนลูปได้ 2 ครั้ง แล้วก็จบ
พอออกจากร้านมา ก็เตรียมตัวเข้าร้าน Grand Cafe ต่อ ภายในจะจำลองมาจากโรงแรม Hotel Scribe ในฝรั่งเศส ที่ Louis และ Auguste สองพี่น้อง Lumiere เคยเช่าห้องใต้ดินเป็นที่ฉายหนัง เรียกได้ว่าทั้งสองคนนั้นเป็นบิดาแห่งภาพยนตร์ยุคใหม่เลยล่ะ (เจ้าหน้าที่อธิบายว่าครอบครัวของสองคนนี้ทำงานเกี่ยวกับกล้องถ่ายภาพอยู่แล้ว ก็เลยทำให้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้าง) แต่ก่อนจะเข้าชมก็จะเสียค่าเข้าแค่ 10 บาท
พวกเขาประดิษฐ์เครื่องถ่ายภาพยนตร์และเครื่องฉายที่รวมอยู่ในเครื่องเดียวกัน และยังสามารถเคลื่อนย้ายถือหิ้วได้และยังมีน้ำหนักเบา แถมยังฉายให้ผู้ชมดูได้ครั้งละจำนวนมากๆ ด้วย เรียกได้ว่า 3 in 1 ไปเลย เจ้าเครื่องนั้นเรียกว่า Cinematographe จดสิทธิบัตรในเดือนกุมภาพันธ์ 1895 และฉายครั้งแรกในวันที่ 22 มีนาคม 1895 หนังเรื่องแรกของเขามีชื่อว่า Workers Leaving the Lumiere Factory (La Sortie des Ouviers de L’Usine Lumiere a Lyon)
เจ้าหน้าที่อธิบายต่อว่า หลังจากที่สองพี่น้อง Lumiere ฉายหนังเรื่องแรกแล้วนั้น ก็ทำให้ผู้ชมบอกต่อปากต่อปาก ทำให้กลายเป็นที่นิยม และ Georges Méliès นักมายากลที่มีชื่อเสียงมากในตอนนั้น ประทับใจและติดต่อพี่น้อง Lumiere เพื่อขอซื้อกล้องจากเขา แต่ทางนั้นไม่ขายให้ เขาก็เลยทำเองซะเลย Georges Méliès สร้างหนังออกมาเอง โดยใช้เอฟเฟกต์ต่างๆ มาประกอบ หนังที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับเรื่องหนึ่ง คือ A Trip to the Moon (อยากรู้ประวัติเพิ่มเติม แต่ขี้เกียจหา แนะนำหนังเรื่อง Hugo ที่ Asa Butterfield และ Chloe Grace Moretz นำแสดง)
ภายในมีรูปถ่ายและของที่ระลึกเกี่ยวกับสองพี่น้อง Lumiere และ Georges Méliès ด้วย เราชอบห้องนี้มากเลย
Nickelodeon หรือโรงหนังสตางค์แดง
Nickelodeon เป็นโรงหนังที่ตั้งสแตนอโลนที่ตั้งอยู่ในตึกทั่วไป มีอยู่มากมายหลายแห่งในนิวยอร์กจ่ายเงิน เพียง 5 cent เพื่อเข้าไปดูหนัง ข้างในก็จะฉายหนังเงียบ 6 เรื่องให้ดู (โซนนี้แนะนำให้ดูช่วงเช้าๆ หรือช่วงแรกๆ เมื่อไปถึง) มันง่วง เพราะว่าเราเหนื่อยกันมาทั้งวันที่ไป เรารอดูแค่เรื่อง A Trip to the Moon นี่แหละ
หลังจากออกมาจาก Nickelodeon เราก็เดินไปนั่งคาเฟ่กันแป๊บนึง แล้วเดินไปโซนสถานีรถไฟศีนิมา จุดนี้เขาจำลองสถานีและรถไฟเอาไว้ ข้างในจะจัดแสดงนิทรรศการหนังที่เกี่ยวกับรถไฟ
สุดท้ายเราก็เข้าร้านมายาพาณิชย์ (ร้านขายของฝาก จุดแรกที่เราไปกันยังไงล่ะ) ได้เสื้อกลับมาตัวนึง แล้วเจ้าหน้าที่น่ารักมาก เชียร์ให้ซื้อหลายอย่างเลย
อยากบอกว่าของฝากแต่ละอย่างก็ราคาไม่แพงเลย ทั้งเสื้อยืด กระเป๋าผ้า ร่ม กระเป๋าใส่ดินสอ สมุด ปากกา ฯลฯ แล้วลายก็สวยด้วยนะ ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว อีกโซนก็จะเป็นโซนขายแผ่นหนังไทย หรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับหนังหลายเรื่องเลย ทั้งหนังใหม่ หนังเก่า หนังสือเล่มใหม่เล่มเก่า ใครชอบนี่เหมาะมากที่จะเข้าไปฝังตัวอยู่ในนั้น
กว่าเราจะได้ออกจากหอภาพยนตร์ก็เกือบห้าโมงเย็น บอกได้เลยนะว่าเป็นวันที่แฮปปี้มากๆ วันนึง ได้ความรู้เยอะมากเลย แล้วได้ดูหนังที่อยากดูด้วยล่ะ ถือได้ว่าเหนื่อยแต่สนุก ประทับใจมากๆ แล้วมันก็ไม่ได้เก่า ไม่ได้โทรม หรือว่าไม่น่าสนใจเลยนะ มันโคตรน่าสนใจเลยล่ะ อยากให้ทุกคนได้มากัน
สำหรับคนที่ชอบถ่ายรูป ที่นี่มีมุมต่างๆ ที่เหมาะกับการชักภาพมากๆ เลยนะ ทั้งกำแพงตึกของพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยที่เป็นสีเหลืองสดใส หรือตึก Grand Cafe ที่ให้บรรยากาศต่างประเทศ (แม้อากาศจะไม่เป็นใจก็ตาม) ฯลฯ ถ้าใครว่างๆ เราก็อยากจะแนะนำให้ลองมาหอภาพยนตร์ดู รับรองเลยว่าประทับใจแน่นอน
เก็บตกรูปเพิ่มเติม
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in