Joseph Rudyard Kipling เกิดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2408 ที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดียเขาเกิดในบริติชอินเดียช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า พ่อแม่ของเขาตั้งชื่อเขาตาม Rudyard Lake ใน Staffordshire ซึ่งพวกเขาได้พบกันครั้งแรก
คิปลิงเป็นกวีชาวอังกฤษ นักเขียนเรื่องสั้นและนักประพันธ์โดยผลงานส่วนใหญ่ของเขาล้วนสนับสนุนลัทธิจักรวรรดินิยมของอังกฤษ หนึ่งในผลงานสำคัญของเขานั่นก็คือ The White Man's burden ภาระของคนผิวขาว กวีของเขาถูกตีความว่าชาวอังกฤษนั้นเป็นผู้รับภาระจากพระเจ้าให้ขยายอาณาจักรของพระองค์บนโลก เป็นการกระทำเพื่อนำส่ง “ความศิวิไลซ์” ไปให้ประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนของประเทศนั้นๆ และอีกหนึ่งเรื่องที่เราได้ยกมากล่าวถึงในวันนี้ คือ คอลเล็กชั่นเรื่องสั้นของเขา 'The Jungle Book' ประกอบด้วยเจ็ดเรื่องสั้นของ เมาตลี ลูกคนที่ถูกเลี้ยงเลี้ยงโดยหมาป่า
The Jungle Book ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารช่วงปี ค.ศ.1893-1894 และถูกนำมาพิมพ์รวมเล่มในภายหลัง โดยภายในหนังสือจะเป็นเรื่องสั้นที่เป็นลักษณะนิทานสัตว์ สัตว์ต่างๆสามารถทำท่าทาง หรือพูดคุยได้เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ มีพฤคิกรรมเป็นแบบอย่างเพื่อเป็นบทเรียนสั่งสอนกฏของการอยู่ร่วมกัน
เรื่องเล่าของเมาคลีนั้นประกอบด้วยเรื่องสั้นๆ ทั้งหมด 9 ตอน แต่ละตอนมีตอนจบในตัวเอง โดยเรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่องนี้มีเมาคลีเป็นผู้ดำเนินเรื่อง เชื่อมโยงเหตุการณ์ โดยทั้ง 9 เรื่องนั้น ได้แก่ พี่น้องของเมาคลี, การล่าของคา, อาณาจักรแห่งความกลัว, เสือ! เสือ!, ทำลายหมู่บ้าน, พระแสงขอช้างของมหาราชา, หมาแดง, การวิ่งในฤดูใบไม้ผลิ, และ ในไพรพฤกษ์
แม้ว่าเรื่อง เมาคลีลูกหมาป่า จะสามารถเล่าและตีความหมายออกมาได้หลายมุมมอง ทั้งในเชิงมิตรภาพ หรือเชิงระบบอุปถัมภ์ แต่แก่นเรื่องโดยแท้ของเรื่องเล่าโดยรวม เป็นประเด็นความเชื่อทางสังคมด้วยมุมมองของเจ้าอาณานิคม โดยมองได้สองระดับ
ระดับแรก เป็นทัศนะต่อของเจ้าอาณานิคมที่เหยีดชาวอินเดียพื้นเมืองให้ต่ำกว่าสัตว์ เห็นจากสังคมหมาป่าในเรื่องนี้ที่ดีกว่าสังคมของชาวพื้นเมือง คิปลิงสร้างเรื่องราวให้สังคมหมาป่าอยู่ร่วมกันอย่างมีวัฒนธรรม ที่สำคัญ หมาป่ายังสามารถเลี้ยงดูลูกคน สอนให้รู้จักกฏเกณฑ์ ระเบียบวินัย มีความกล้าหาญ แตกต่างจากในหมู่บ้านที่มีวัฒนธรรม ความเชื่อ ที่ล้าหลังและงมงาย จนสุดท้ายต้องถูกทำลายไปโดยสัตว์ที่มี ความศิวิไลซ์ กว่า
ระดับที่สอง เป็นทัศนะที่แสดงให้เห็นถึงความฉลาดของเจ้าอาณานิคมในการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรบุคคล โดยในเรื่อง นายฝรั่งใช้เมาคลีซึ่งเป็นผู้ที่มีความคุ้นชินกับผืนป่ามากกว่าใครนั้นมาเป็นผู้ดูแลป่า นอกจากจะได้ผู้คุ้นชินมาเป็นลูกจ้างแล้ว ยังได้สัตว์ต่างๆที่สนิทสนมกับเมาคลีมาเป็นบริวารอีกด้วย ขณะที่ผู้คนพื้นเมืองต่างขับไล่เมาคลี จนเมาคลีต้องหนีกลับเข้าป่า
ทั้งสองมุมมองต่างทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า เจ้าอาณานิคมอังกฤษในดินแดนบริติชอินเดีย มีความฉลาดที่สุด เก่งที่สุด ต่อมาเป็นสัตว์ป่า เพราะในความรู้สึกของเจ้าอาณานิคมสัตว์ป่านั้นมีประโยชน์ และดีกว่า และชนพื้นเมืองอินเดียตามลำดับ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in