เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไปอ่าน-คิด-เขียน
รักเราไม่เท่ากัน : สำรวจโศกนาฏกรรมความรักในเรื่องสั้น “แพร”
  • บทวิจารณ์ลำดับที่ 2 ในคอลัมน์ "การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไป"


    มหรสพยังไม่ลาโรง เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน 10 เรื่อง ซึ่งตีพิมพ์ในปีพ.ศ.2557 เขียนโดย “นทธี ศศิวิมล” นักเขียนหญิงผู้ปรารถนาจะร้อยเรียงเรื่องราวของแต่ละตัวละครที่สัมพันธ์สอดคล้องกับความทรงจำและกาลเวลา  ในหนังสือเรื่องนี้ มีเรื่องสั้นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งชื่อเรื่องว่า  “แพร” ซึ่งเล่าถึงอดีตอันหอมหวานที่ห้อมล้อมไปด้วยอารมณ์อัดแน่นและนำพาให้ชีวิตของทุกตัวละครมีจุดจบอันน่าสลดใจ


    ADVERTISEMENT


    เรื่องสั้นเริ่มต้นขึ้นด้วยฉากสนทนาของผู้หญิงสองคน หรืออันที่จริงควรจะกล่าวว่าเป็นบทพูดจากหญิงคนหนึ่งที่กำลังเคว้งคว้างล่องลอยเสมือนจิตใจของเธอไม่ได้อยู่บนโลกนี้อีกแล้ว แต่ยังถูกดึงรั้งไว้ด้วยความผิดหวังกับประโยคคำถามที่ว่า  “นานแค่ไหนแล้ว…”  เธอเอ่ยถามหญิงอีกคนที่กำลังบอบช้ำทางจิตใจ ดวงตาแดงก่ำ นั่งเปล่งเสียงสะอื้นอยู่ที่มุมห้อง พร้อมดวงตาที่จ้องกลับผู้ถามอย่างว่างเปล่า ไร้ซึ่งเสียงตอบรับ  ฉันทราบดีในตอนนั้นว่าเหตุการณ์นี้ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นและย่อมไม่ใช่บทสรุป เรื่องสั้นเรื่องนี้กำลังนำพาฉันให้กลับไป ณ ห้วงเวลาหนึ่ง ฉันเองก็ยังไม่อาจทราบได้ว่า ตัวอักษรที่กำลังร้อยเรียงเหตุการณ์อันน่าสับสนเช่นนี้จะดึงตัวฉันให้เข้าไปซึมซับกับมันได้อย่างไร  จนกระทั่งคำว่า "รัก" ถูกเปล่งออกมาจากปากตัวละครหญิงชื่อ "เจน"  ถึงตัวละครหญิงอีกคนที่ชื่อของหล่อนปรากฏอยู่บนชื่อเรื่องสั้นนี้ “แพร”  


    ในบริบทของยุคสมัย ปีคริสต์ศักราช 2020 ฉันไม่ได้รู้สึกตกใจกับความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงที่ปรากฏเลยสักนิด แต่ความรู้สึกประหลาดใจที่เกิดขึ้นเมื่ออ่านเพียงหน้าแรกของเรื่องสั้นนั้นมาจากคำว่า "รัก" และ "รักมาก" ที่ดูจะขัดแย้งกับภาพของตัวละครสองตัวที่คล้ายจะกำลังแตกหัก หม่นหมองและอ่อนล้าเต็มทีนี้ต่างหาก ไม่ว่าตอนนั้นฉันจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม  แต่ นทธี ศศิวิมล ได้ดึงฉันเข้าสู่เรื่องราวนี้แล้วเมื่อเครื่องหมายคำถามในหัวที่เร่งให้ฉันรีบเปิดหน้าถัดไปเพราะอยากทราบเหลือเกินว่า เกิดอะไรขึ้นกับหญิงสองคนนี้ ?


    “แพรรักเจนมากที่สุด ที่สุดในโลกเลย” (น.142)  


    เรื่องพาฉันย้อนกลับไปยังวันวานของคนทั้งคู่ด้วยประโยคบอกรักของตัวละครแพรในวัยเยาว์ ซึ่งแม้จะทำให้ฉันรู้สึกสะเทือนใจไปบ้างเพราะก่อนหน้านี้ฉันเพิ่งเห็นภาพของตัวละครแพรในปัจจุบันตาบวมแดงก่ำ ผ่านการร้องไห้จนน้ำตาแห้งเหือดมาหมาด ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้นำเสนอองค์ประกอบที่สอดคล้องกับชีวิตจริงเสียจนคนอ่านหลายคนอาจรู้สึกถึงประสบการณ์ร่วมระหว่างตนเองกับตัวละครได้เลย  เมื่อความสัมพันธ์ของเจนและแพรเกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนสตรี  ในเรื่องปรากฏภาพเด็กนักเรียนหญิงสองคนที่สนิทชิดเชื้อกัน ดูเผินๆ ราวกับเป็นเพื่อนกัน หากแต่สองคนนี้สัมพันธ์กันลึกซึ้งกว่านั้น ดังจะเห็นได้จากมีการสัมผัสจับต้องทางกายที่อาจทำเพื่อสนองความอยากรู้อยากลอง หรือความสนใจใคร่รู้ในร่างกายของอีกฝ่าย หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกบันดาลให้เกิดขึ้นด้วยแรงขับเคลื่อนที่เรียกว่า “ฮอร์โมนวัยรุ่น”  ที่กระตุ้นรุนแรงเสียเกินกว่า  “มนุษย์ตัวเล็ก ๆ ที่โง่เขลาเยาว์วัย” จะต้านทานได้  ฉันเห็นว่าเจนตกหลุมรักแพรเหลือเกินตั้งแต่ตอนนั้น  ภาพของแพรที่สะท้อนในความทรงจำของเจนนั้นช่างงดงาม แต่ฉันคิดว่าคำว่า “รัก” จากปากแพรนั่นเองที่แจ่มชัดในความคิดของเจนที่สุด และคำว่า “รักที่สุดในโลก” นั่นได้กลายเป็นการผูกมัดทั้งคู่ไว้ด้วยกันแล้วไม่ว่าแพรจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม


    เมื่อคนสองคนรักกันก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว นั่นเป็นความคิดแรกของฉันก่อนจะต้องชะงักพลันเมื่อจู่ ๆ ห้องที่ทั้งคู่อาศัยอยู่ร่วมกันถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่ก่อเหตุฆาตกรรม มีรอยเลือด มีด และร่างที่นอนคว่ำแน่นิ่งบนเตียง ซึ่งไม่ใช่ร่างของทั้งแพรและเจน  ทำให้ฉันรู้ว่ามีบุคคลที่สามเข้ามาเป็นตัวเร่งแห่งความแปรเปลี่ยนนี้เสียแล้ว  "ทิพย์" เป็นตัวละครที่เข้ามาในความสัมพันธ์ระหว่างแพรและเจน ทำให้เจนรู้สึกไม่พอใจ หึงหวง หรืออาจกลัวว่าความสนิทสนมของแพรและทิพย์จะทำให้เธอถูกลดความสำคัญลงจากการเป็นคนที่ถูกรัก “ที่สุด” และแล้วความรู้สึกไม่มั่นคงเหล่านั้นก็ทำให้เลือดหยดแรกหลั่งจากการสังเวยร่างของทิพย์



    ที่มา pixabay

    ฉันคิดว่าเพราะมีการนอกใจจึงเกิดโศกนาฏกรรม หากแพรไม่ปล่อยให้ทิพย์เข้ามาเป็นมือที่สาม ก็คงไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น หากทิพย์ไม่เข้ามาแทรกกลางคนที่มีแฟนแล้วแบบนี้ก็คงไม่ต้องโดนฆ่าตาย คล้ายว่าฉันกำลังกล่าวตำหนิทั้งทิพย์ที่นอนเป็นศพอยู่ และแพรที่กำลังร้องไห้  แต่ทว่าอันที่จริง ฉันอาจเข้าใจผิดมาตั้งแต่ต้น ฉันอาจถูกความลุ่มหลงที่บรรยายผ่านมุมของตัวละครเจนชักนำให้ฉันคิดเข้าข้างเจนไปเองจนกล่าวโทษทั้งแพรและทิพย์ เพราะในตอนที่แพรบอกว่า “เราเป็นเพื่อนกัน เจน แพรคิดอย่างนั้นมาตลอด… ระหว่างเรา เจนคือเพื่อนที่ดีที่สุดของแพร” (น.147) มันหยุดฉันไว้จากการคล้อยตามตัวละครเจนแล้วเริ่มมองย้อนเรื่องราวใหม่ไปพร้อม ๆ กับการพยายามหาคำอธิบายว่า ทั้งเจนและฉันเข้าใจผิดไปตอนไหนกัน


    ความสัมพันธ์ของเจนและแพรนั้นประกอบไปด้วยความใกล้ชิด ความสนิท การแสดงความรักอย่างการจูบ หอมแก้ม กอด เล้าโลมร่างกายไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์ อาจกล่าวได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นมากกว่าเพียง “เพื่อน” อย่างที่แพรบอกแน่นอน แต่กระนั้น ก็ไม่ยุติธรรมกับตัวละครแพรหากจะเหมารวมว่าการกระทำเช่นนี้ทำให้ทั้งแพรและเจนถูกผูกมัดเข้าด้วยกันในสถานะแฟน เพราะอันที่จริงการ กระทำเช่นนี้ดูคล้ายความสัมพันธ์แง่หนึ่งที่สามารถหาคำอธิบายได้ในเชิงจิตวิทยา ค่อนข้างแพร่หลายและสมเหตุสมผลหากเกิดขึ้นในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว หรือที่เรียกว่า Friends with benefits


    Friends with benefits หรืออาจเรียกว่า “เพื่อนนอน” เป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งเกินเพื่อน แต่ไม่ได้ผูกพันกันในเชิงคู่รัก ซึ่งต่างจากความสัมพันธ์แบบ One night stand  ที่คนทั้งคู่อาจเป็นคนแปลกหน้าต่อกันหรือรู้จักกันเพียงผิวเผินแล้วมาลงเอยกันบนเตียง  กล่าวคือความสัมพันธ์แบบเพื่อนนอนต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจที่มากกว่าและเกี่ยวพันกันยาวนานกว่าการมีเพศสัมพันธ์แค่คืนเดียว  คนส่วนใหญ่จึงเลือก “เพื่อนนอน” จากคนที่ตัวเองรู้จักดีอยู่แล้ว  ดังนั้น คนที่เป็นเพื่อนสนิทกันอย่างเจนและแพรก็สามารถมีเพศสัมพันธ์กันได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องของสถานะคู่รักมาเกี่ยวข้อง และเมื่อพิจารณาว่าวัยของทั้งคู่อยู่ในช่วงกำลังอยากรู้อยากลองและสนใจในเรื่องเพศ จึงมีความเป็นไปได้ว่าตัวละครแพรนั้นกระทำการใด ๆ เพื่อสนองความปรารถนาทางเพศชั่วคราวเท่านั้น โดยให้เพื่อนสนิทที่ตนเองไว้ใจเป็นผู้สนองให้ โดยที่แพรปราศจากความคิดที่จะพัฒนาเป็นมากกว่าเพื่อน


    แต่เมื่ออธิบายเช่นนี้ ก็ดูจะไม่มีน้ำหนักมากพอว่าไม่เคยมีสักครั้งที่แพรคิดเกินกว่าเพื่อน เพราะถึงอย่างไรก็ตาม คำว่า “แพรรักเจนมากที่สุด ที่สุดในโลกเลย” (น.142) มันฝังลึกในความคิดของฉันเหลือเกิน และคาดว่าคงฝังลึกยิ่งกว่าในหัวใจของเจน ซึ่งคนที่เป็นเพียง “เพื่อนนอน” กันคงไม่บอกรักกันเช่นนี้ ดังนั้นหากแพรไม่คิดจะสานสัมพันธ์กันในเชิงคู่รักทั้งที่มีความสัมพันธ์ทางกายกันแล้ว เหตุใดจึงบอกรักให้อีกฝ่ายดีใจ 


    แต่ก่อนจะกล่าวโทษตัดสินตัวละครแพรว่ากำลังโกหกหลอกลวงหรือไม่ ฉันอยากพยายามหาคำอธิบายให้การกระทำของตัวละครผู้น่าสงสารของฉันเสียก่อน เพราะหล่อนร้องไห้ยาวนานเหลือเกินในเรื่องสั้นนี้ 


    อันที่จริงคำว่า “รัก” นั้นค่อนข้างนามธรรม หาขอบเขตที่จะกำหนดได้ยาก สำหรับฉันแล้วการกระทำที่จะลงความเห็นว่าเป็นความรักเท่านั้น ไม่สามารถเป็นอย่างอื่นได้อีกนั้นอาจไม่มีเลย เพราะคำว่า “รัก” ค่อนข้างจะเกี่ยวโยงกับสภาวะจิตใจเป็นสำคัญ กล่าวคือไม่ว่าจะแสดงออกอย่างไรแต่หากรู้สึกว่ารัก ก็คงเป็นรัก พอเป็นเช่นนี้จึงอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า แม้จะแสดงออกมาแบบเดียวกันแต่ “รัก” ของเจนและแพรไม่เหมือนกันมาตั้งแต่ต้นและขอบเขตของความรักของทั้งคู่ก็ไม่เหมือนกันเช่นกัน คำว่า “รัก” ที่ผูกมัดทั้งคู่อยู่จึงมีแรงดึงที่ไม่เท่ากันและดูเหมือนว่าเมื่อเวลาผ่านไป แรงที่ดึงรั้งแพรอยู่ค่อย ๆ คลายออกตามวัยวุฒิที่โตขึ้น


    ข้อสงสัยนี้ดูจะหาคำอธิบายได้เมื่อลองเปรียบกับทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรักของนักจิตวิทยา Robert Sternberg  ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ประกอบ คือ  ความผูกพัน ( Intimacy)  ความหลงใหล (Passion) และพันธะสัญญา (Commitment)  หมายความว่า “รัก” ย่อมเกี่ยวเนื่องกับองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งหรือมากกว่า และอาจเกี่ยวเนื่องกับทั้งสามองค์ประกอบเลยก็ได้ หรือหากไม่ประกอบด้วยองค์ประกอบใดเลยก็คือ “ไม่รัก” นั่นเอง  จะเห็นว่า แพรและเจนที่เรียนอยู่ในรั้วโรงเรียนเดียวกัน ใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นสนุกสนานด้วยกัน  ย่อมมีความผูกพันเป็นองค์ประกอบหนึ่งอย่างแน่แท้  ดังนั้น การที่แพรบอกว่า “รัก” เจนจึงไม่ใช่การโกหกแต่ต้องพิจารณาเพิ่มมากกว่าว่า เป็น “รัก” ในเชิงไหนกันแน่ โดยส่วนตัว ฉันมองว่าแพรมีทั้งความผูกพันจากการเป็นเพื่อนและมีความหลงใหลทางเพศต่อเจน แต่ปราศจากพันธะสัญญา เพราะไม่ต้องการจะตกลงคบหากับเจนในสถานะแฟน ดังนั้น จึงถูกจัดว่ามี romantic love หมายถึงมีความรักที่หอมหวานก็จริง แต่ไม่ถึงขั้นยอมอุทิศตนเพื่ออีกฝ่าย กลับกันเมื่อมองฝ่ายตัวละครเจนจะพบว่า เห็นทั้งความหลงใหล ความสเน่หา และความปรารถนาทางเพศที่มีต่อแพร และยังมีความผูกพันอันปรากฏจากความทรงจำของตัวละครเจนว่าในวัยเยาว์นั้น  ทั้งคู่มีความสุขกันแค่ไหน  รวมไปถึงปรารถนาพันธะมาผูกมัดแพรไว้กับตัวเองและผูกมัดตัวเองไว้กับแพร เราสามารถเรียกรักในลักษณะนี้ว่า consummate love หรือรักที่สมบูรณ์แบบเพราะมีทุกองค์ประกอบรวมกัน 


    ความรักของเจนอาจเรียกได้ว่าเป็นความรักที่ “ทุ่มสุดตัว” ซึ่งก็มักจะส่งผลกระทบกับจิตใจมากเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าตอนที่เจนลงมือฆ่าทิพย์ผู้เป็นศัตรูหัวใจไปแล้ว เธอกลับรู้สึกว่ามันยังเจ็บปวดอยู่ “มันควรจะจบแล้วนี่ ความน่าอึดอัด ความลำบากใจตั้งแต่วันที่ทิพย์ก้าวเข้ามา ที่จริงน่าจะจบลงได้แล้ว…”  (น.146)  หากทิพย์เป็นสิ่งรบกวนใจเธอ การกำจัดทิพย์ทิ้งไปก็ควรจะทำให้เธอสบายใจ แต่เจนกลับยังไม่รู้สึกเช่นนั้น อาจเพราะอันที่จริงแล้วแพรต่างหากที่เป็นสิ่งรบกวนใจเจน ความรู้สึกว่ากำลังถูกหักหลังจากคนรักต่างหากที่ทำให้เจนเจ็บปวด ฉันคาดว่าตอนนั้น เจนก็ยังไม่รู้ จนกระทั่งในตอนที่แพรปฏิเสธความรักของเธออย่างชัดเจน  ภาพของแพรในสายตาเจนจึงเปลี่ยนไป  “มันว่างเปล่าจนน่าใจหาย ใบหน้าสวยหวานเหมือนตุ๊กตากระเบื้องเคลือบของแพรดูแก่เกินวัยจนไม่น่าเชื่อ” (น.149)  ฉันคิดว่าแท้จริงแล้วภาพของแพรไม่ได้ดูอ่อนเยาว์ลงหรือแก่ขึ้นฉับพลัน  นั่นอาจจะเป็นแพรคนเดิม เพียงแต่ความสับสนในคำว่า “รัก” ได้ทำให้เจนมองชัดขึ้นเสียทีว่า แพรคนนี้ไม่ใช่แพรคนเดียวกับเด็กผู้หญิงวัยมัธยมที่อ่อนไหวไปกับความหวือหวาในความสัมพันธ์นี้อีกแล้ว


    นั่นคงเป็นสิ่งที่ยิ่งสะเทือนใจเจนเสียยิ่งกว่าเพราะคำว่า “เพื่อน” จากปากแพรในมุมมองของเจนอาจไม่ได้หมายถึง “รัก” และคงคิดไปว่าสิ่งที่ไม่ได้หมายถึง “รัก” อาจแปลว่า “ไม่รัก” ไปเลยจึงทำให้ตอนนั้นเจนเลือกจะรั้งแพรเอาไว้ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณโดยการปลิดชีพหล่อนเสีย



    ที่มา : pixabay


    แต่ฉันทราบดีว่าคนอ่านที่เข้าข้างเจนที่ถูกหักอกคงจะต้องไม่เห็นด้วยกับฉัน หากจะตัดจบง่าย ๆ ว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่เจนคิดเกินเลยกว่าการเป็น Friends with benefits ซ้ำยังหุนหันใจร้อนและอารมณ์รุนแรงเกินไป ฉันจึงอยากพยายามทำความเข้าใจกับเจนด้วยเหมือนกัน จากคำถามว่าเหตุใด เจนที่ดูเหมือนว่ารักแพรมาก ๆ ถึงฆ่าแพรได้ลง


    ในคราแรกฉันคิดว่ามันถูกบันดาลด้วยโทสะ ความโกรธที่ถูกปฏิเสธ แต่เมื่อลองพิจารณาดูแล้วหากเรารักใครสักคนมาก ๆ การโกรธเพียงครั้งเดียวจะทำให้เราทำร้ายกันถึงชีวิตได้เลยหรือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าเจนรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคง ไม่ใช่เพียงแค่หลังจากการปรากฎตัวของทิพย์ แต่เป็นก่อนหน้านั้นอยู่แล้วตั้งแต่จุดเริ่มต้น ด้วยความที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองในเชิงหญิงรักหญิงนี้ไม่ได้ประกาศสู่สาธารณะ แต่เป็นดั่งความสัมพันธ์ใน  “ปราสาทลับที่ปรากฎขึ้นในตอนกลางคืน” เท่านั้น ทำให้ความสัมพันธ์นี้แฝงความไม่มั่นคงและไม่มั่นใจมาตลอด  นัยนี้ อาจกล่าวย้อนไปถึงขอบเขตความรักของสองคนนี้ที่ไม่เท่ากัน ตัวละครแพรต้องการให้ความรักครั้งนี้เป็นไปแบบหนึ่ง  ในขณะที่ตัวละครเจนต้องการให้ความรักครั้งนี้ของตนดำเนินไปฉันท์คนรัก  การผิดหวังครั้งนี้ทำให้เจนต้องหาทางแก้ไขและจัดการกับความสัมพันธ์  เมื่อเจนทราบว่าความรักของตัวเองมีมากกว่าและแพรไม่ได้ตอบสนองรักนั้นทำให้เกิด "ความไม่สมมาตรทางความรู้สึก" ขึ้น  เมื่อเจนเห็นว่าความรู้สึกของเธอนั้นกำลังไม่ปลอดภัยจึงมีแนวโน้มว่าเธอจะต้องทำให้แพรรู้สึกเช่นนั้นด้วยเพื่อให้เกิดความสมมาตร  ดังนั้นเจนจึงไม่สามารถใช้วิธีประนีประนอมได้อีก  การที่จะทำให้องค์ประกอบความรักของเธอสมบูรณ์นั้นจำเป็นจะต้องมีแพรอยู่ตรงนี้ด้วย  ฉันคิดว่าเพราะเหตุนั้นภาพความทรงจำของเธอถึงผุดขึ้นมา อดีตที่เธอและแพรสนิทสนมรักใคร่กัน  ซ้อมละครด้วยกัน  ละครที่ตอนจบของมันทำให้เธอและแพรต้องพรากจาก คราวนี้เจนจึงเปลี่ยนตอนจบเสียเลยเพื่อไม่ให้เสียแพรไป  เจนฆ่าแพรและจัดวางไว้อย่างดี เปรียบหล่อนเป็นนางเงือกในละครเรื่องนั้น  กล่าวคือเจนต้องการแพรที่อยู่ในความทรงจำของเธอ แพรที่ถูกกักขังไว้กับเธอได้  หากแพรในปัจจุบันต้องการเดินออกจากประตูไป  เธอก็จะทำอะไรก็ตามที่จะทำให้หล่อนยังอยู่ตรงนี้  นั่นก็คือฆาตกรรม การกระทำของเจนนั้นอาจไม่ใช่เพราะอารมณ์ชั่ววูบ หรือใจร้อนเกินไปอย่างที่คิด แต่อาจเกิดขึ้นจากการไตร่ตรองมาแล้วโดยมีเรื่องราวในอดีตมากมายที่กักเก็บไว้มานานเป็นตัวผลักดันให้เจนต้องเลือกตอนจบแบบนี้


    ข้อถกเถียงเหล่านี้อาจจะดูเป็นคำอธิบายในเชิงจิตวิทยา หรืออาจจะเป็นปรัชญา แต่ทั้งหมดที่ฉันจะกล่าวคือ ด้วยการดำเนินเรื่องที่ตัดสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบันทำให้ผู้อ่านอาจสังเกตความแปรเปลี่ยนของแพรได้ว่า ใจของแพรไม่ได้รักเจนเหมือนเดิม ในขณะเดียวกันการฆาตกรรมคนสองคนภายในเรื่องสั้นความยาวแค่สิบหน้า ก็ดูจะหุนหันมากไปหน่อยสำหรับเจน หากสาเหตุเป็นเพียงความหึงหวง ฉันจึงพยายามหาคำอธิบายเสียมากกว่า ว่ามันเกิดอะไรขึ้น? สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจนอกเหนือจากแค่ที่ตัวละครกระทำอยู่คืออะไร?  เพราะฉันเห็นว่าทั้งหมดทั้งมวลนั้นคือความไม่เข้าใจกันของเจนกับแพร หากพวกเขาเข้าใจว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร คิดเห็นอย่างไรกับความสัมพันธ์และบอกอีกฝ่ายถึงความคิดนั้นก็อาจจะทำให้โศกนาฏกรรมความรักครั้งนี้ถูกเยียวยาได้  ในฐานะผู้เฝ้ามองเหตุการณ์ สิ่งที่ฉันพอจะทำได้นั่นก็คือการทำความเข้าใจกับตัวละครแทนพวกเขาเองที่คงไม่มีวันได้เข้าใจกันและกันอีกตลอดกาล.





    บรรณานุกรม


    Parent Map. (2009). The truth behind 'Friends with Benefits'. สืบค้นจาก https://www.parentmap.com/article/the-truth-behind-friends-with-benefits


    Psychology CU. (2016). ทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก (Triangular theory of love). สืบค้นจาก https://th-th.facebook.com/PsychologyChula/posts/1016938971753849:0


    Smarter Life by Psychology. (2019). “เหตุผลทางจิตวิทยาที่ทำให้ความรักจบด้วยการทำลาย”. สืบค้นจาก https://smarterlifebypsychology.com/2019/04/02/เหตุผลทางจิตวิทยาที่ทำ/


    Vanat Putnark. (2017). ความร้ายของความรัก: ทำไมเราจึงทำร้าย (และโดนทำร้าย) จากคนที่ใกล้ที่สุด. สืบค้นจาก https://thematter.co/social/love-at-hurtside/20867





    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
    ผู้เขียน: ภัทราภรณ์ ยังยุบล นิสิตเอกภาษาไทย
    บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา “วรรณกรรมวิจารณ์” ปีการศึกษา 2563 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น  ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in