วางแผนลดหย่อนเพื่อยื่นภาษีปี 2564
ค่าลดหย่อน คือ รายการต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ สามารถนำไปหักออกจากเงินได้ หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราเสียภาษีน้อยลง ซึ่งมาจากการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งแน่นอนว่าภาษีเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่รายจ่ายบางอย่างก็สามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน โดยรายการใช้จ่ายที่สามารถนำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ก็มีดังต่อไปนี้
ตัวเลือกลดหย่อนภาษีกลุ่มส่วนตัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท สำหรับผู้ที่มีเงินได้ที่ยื่นแสดงรายการ
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้ที่ยื่นแสดงรายการรวมกันในการคำนวณภาษี
- ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท ซึ่งคนที่ 2 เป็นต้นไป จะเพิ่มอีก 30,000 บาท สำหรับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่สำหรับบุตรบุญธรรม หรือในกรณีที่มีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักได้ไม่เกิน 3 คน (นับเฉพาะที่มีชีวิตอยู่)
- ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ตนเองและพ่อแม่คู่สมรส คนละ 30,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูผู้พิการหรือทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
ตัวเลือกลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิต (ธุรกิจที่มีเครื่องรูดบัตร) เฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี
ตัวเลือกลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันและการลงทุน
- เงินประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 7,200 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท *รวมกับประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ / กบข. / สงเคราะห์ครูเอกชน ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท สามารถสะสมเพิ่มได้โดยขอเปลี่ยน % ที่กำหนดไว้กับนายจ้าง
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท *ข้อ 7 - 10 รวมแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ตัวเลือกลดหย่อนภาษีกลุ่มบริจาค
- เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ สามารถลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
ตัวเลือกลดหย่อนภาษีกลุ่มติดค้างจากปีก่อน
- โครงการบ้านหลังแรกปี 59 สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท
ซึ่งยังมีหลายคนเข้าใจผิดว่า ลดหย่อนภาษีไปเท่าไหร่ จะเสียภาษีน้อยลงเท่านั้น แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะการที่เราจะเสียภาษีน้อยลงหรือได้ภาษีคืนเพิ่มขึ้น จะขึ้นอยู่กับเงินได้และอัตราภาษีของแต่ละคนด้วย การลดหย่อนเป็นเพียงตัวช่วยที่ทำให้ฐานภาษีของเราต่ำลง เพราะประเทศไทยมีการเสียภาษีแบบขั้นบันได
และสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ก่อนจะยื่นภาษี คือ ต้องคำนวณภาษีของตนเองให้เป็น ต้องรู้ว่ารายได้เป็นเงินได้ประเภทไหนตามที่กฎหมายกำหนด เราสามารถหักค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง และสุดท้ายค่อยมองหาสิ่งที่จะมาลดหย่อนภาษี ซึ่งถ้าเราวางแผนภาษีเป็น อาจจะช่วยให้เราเสียภาษีได้น้อยลง และมีเงินที่เพิ่มมากขึ้นนะครับ ซึ่งถ้าใครอยากอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี ก็สามารถมาหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ GoBear Thailand โดยคลิกปุ่มเขียวด้านล่างเลยครับ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in