ชีวิตของเด็กมหาวิทยาลัยหลาย ๆ คน รวมถึงเด็กมํธยมบางคนที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นนักศึกษา สิ่งหนึ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิตเด็กมหา'ลัยหลาย ๆ คน คือเรื่องการเรียนที่จะมีวิชาต่าง ๆ เกิดขึ้นมามากมาย กลุ่มวิชาหนึ่งที่เราต้องเผชิญ คือ กลุ่มวิชาบังคับ(วิชาศึกษาทั่วไป) ปูเรื่องมานาน เข้าเรื่องกันโต้ง ๆ เลยแล้วกัน วันนี้จะมาแนะนำวิชา TU10X วิชาบังคับแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี่เอง โดยในตอนนี้เราจะมาแนะนำวิชาที่เกี่ยวกับศิลปะ และภาษากันก่อนเลย
วิชาศึกษาทั่วไป (Gen-Ed: General Education) คือวิชาที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดให้นักศึกษาได้เรียน ซึ่งออกแบบให้ผู้เรียนมีลักษณะเป็นผู้นำ ก้าวทันโลกยุคปัจจุบัน ฝึกทักษะด้านการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 ภายใต้ 3 เสาหลัก คือ
ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับเรา ๆ ทุกคน ก่อนที่จะเรียนจบออกไปรับใช้สังคมต่อไป
ก่อนที่เราจะลงลึกกันในแต่ละรายวิชา ต้องบอกก่อนนะครับว่า ที่ มธ. เรามีวิชาศึกษาทั่วไปให้ได้เรียนถึง 2 รูปแบบเลย และเราไม่ได้เป็นคนกำหนดเองนะครับ ทางคณะจะกำหนดมาให้ว่าเราต้องเรียนวิชาบังคับในรูปแบบไหน อย่างคณะที่ผมเรียน (คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์) กำหนดให้เรียนในรูปแบบที่ 2 ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่และมีการนำมาใช้เมื่อ พ.ศ. 2558 นี่เอง สำหรับใครที่อยากดูว่าเราเรียนรูปแบบไหนอยู่ เข้าไปดูได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้เลยครับ
เริ่มด้วยวิชาแรกของหมวดนี้ คือวิชา "TU102 ทักษะชีวิตทางสังคม" วิชาที่ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเราเอง ซึ่งเราจะได้เรียนทั้งด้านสุนทรียศาสตร์ และเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของเรา
ในด้านสุนทรียศาสตร์ เราจะเจอกับอะไรบ้าง ? ในด้านนี้จะได้เจอเรื่องราวของการเสพความบันเทิงที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพลง หนัง การแสดง ชมศิลปกรรม และชมสถาปัตยกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ และเราจะได้มีโอกาสในการวิพากษ์งานสถาปัตยกรรม มีโอกาสบอกเล่างานศิลปกรรมที่เราชื่นชอบ มีโอกาสแสดงความเป็นตัวเองออกมาผ่านการแสดง 3 โอกาสที่บอกกันเมื่อสักครู่ นี่คืองานที่จะได้เจอกันในวิชานี้
ส่วนของสุขภาพร่างกาย จะอยู่ในการดูแลของคณะแพทยศาสตร์นี่เองครับ ซึ่งในส่วนนี้เราจะได้เรียนแทบจะครบในเรื่องการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเรื่องอาหารการกิน การบริหารความเครียด การออกกำลังกาย เรียกได้ว่าส่วนนี้สามารถนำความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในการดูแลตัวเองได้นะครับ ถือว่าเรียนแล้วนำไปใช้ได้แทบจะเต็มร้อยเลย แต่ต้องเตือนหนึ่งอย่างนะครับ ส่วนสุุขภาพนี้ กินสัดส่วนคะแนนวิชานี้เยอะ ฉะนั้นแล้วไม่ควรขาดเลยแม้แต่ครั้งเดียวนะครับ
สำหรับวิชานี้ จะคล้าย ๆ กับการเรียนภาษาไทยตอนมัธยม แต่จะแตกต่างกันที่เราไม่ได้เรียนเรื่องของหลักไวยากรณ์อะไรกันแล้ว แต่จะเน้นเรื่องการอ่าน คิด เขียนอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งอย่างที่รู้กันครับว่าในปัจจุบัน หลาย ๆ คนก็แชร์บางเรื่องราวออกไปในทันที โดยที่เราเองก็ไม่ได้คิดและลองชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือเหมือนกัน โดยในวิชานี้ งานทุกชิ้นที่เกิดขึ้นต้องถูกเขียนออกมา โดยที่ต้องไม่เกิดจากการมโนขึ้นมาเอง ทุกสิ่งทุกอย่างในงาน ต้องมีการแสดงถึงเหตุผล ต้องมีการหาข้อสนับสนุนมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการติดอาวุธในการรู้เท่าทันสื่อที่อยู่รอบตัว เพราะเวลาที่เราอ่าน เขียน หรือจะแชร์เรื่องราวสักเรื่องหนึ่ง อาจจะทำให้เราหันกลับมาฉุกคิดว่า เรื่องนี้เรื่องจริงหรือเปล่า ? ควรจะแชร์ต่อหรือไม่ ?
วิชาต่อมา คือ กลุ่มวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งที่ มธ. มีการจัดการเรียนไว้ 2 วิชา
วิชาแรกคือ TU050 ซึ่งวิชานี้จะเป็นการปูพื้นฐานภาษาอังกฤษใหม่ ตั้งแต่เรื่องของคำ โครงสร้างประโยค รวมถึง Tenses
วิชาต่อมา คือ TU105 วิชานี้จะเน้นหนักและเข้มข้นกับการอ่าน การเขียนภาษาอังกฤษ แต่ไม่ใช่การเขียนพยัญชนะนะ อันนั้นเด็กไป๊ อันนี้จะเป็นการเขียนทั้งเรียงความ รายงานผลสำรวจ
แต่การที่จะได้เรียนวิชากลุ่มนี้ เราไม่ใช่คนกำหนดเองนะครับ ทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบวัดสมรรถนะทางด้านภาษากันก่อน โดยจะสอบทั้งทางด้านภาษาอังกฤษ(ฟัง พูด อ่าน เขียน) และด้านภาษาไทย(การอ่านจับใจความ) ซึ่งถ้าผ่านเกณฑ์ที่กำหนด คือ 85 คะแนน ทั้ง 2 ด้าน จะได้รับการยกเว้นการเรียนวิชานี้ และได้หน่วยกิตวิชาเหล่านี้ทันที (วิชาที่ต้องผ่านการวัดสมรรถนะเพื่อจัดการเรียนได้แก่ TU050, TU105 และ TU104)
Tips: วิชา TU050 จะไม่มีการนับหน่วยกิตให้นะครับ จะมีแค่ผ่านกับไม่ผ่านเท่านั้น ถ้าโดนให้เรียนวิชานี้ ก็อาจจะรู้สึกเสียดายเวลาไปสักนิดนะครับ
มาถึงวิชาสุดท้ายของ EP นี้ คือวิชา TU106: ความคิดสร้างสรรค์และการสื่อสาร ซึ่งวิชานี้ถือว่าบันเทิงเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะถ้าได้เรียน Section ในวันศุกร์ จะเช้าหรือบ่ายก็ตาม เพราะในวิชานี้เราจะได้ใช้ความคิดในการสร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะชุดแต่งกาย ละคร หนังสั้น นอกจากนี้เราจะได้มีโอกาสในการรู้จักเพื่อนใหม่มากขึ้นอีกด้วย รวมถึงได้มีโอกาสพบกับเหล่าวิทยากรคนดังถึง 3 ท่าน ไม่ว่าจะเป็น คุณโจ้ Surface(Fashion Designer) อาจารย์ขวด-มนตรี วัดละเอียด(ฺBody Paint) และผู้กำกับหนังชื่อดัง คุณเอส-คมกฤษ ตรีวิมล ได้ความรู้จากการบรรยายจากอาจารย์แล้ว เราจะยังได้ความรู้จากเหล่าอาจารย์พิเศษที่มาให้ความรู้เพิ่มเติมอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นวิชาที่เราจะได้สนุกกับความคิดสร้างสรรค์ของเราเป็นการทิ้งท้ายสัปดาห์กัน
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับการแนะนำวิชาบังคับแห่งบ้านมธ. ในตอนแรกนี้ สำหรับตอนหน้าเราจะมาพูดถึงวิชาที่เหลืออีก 3 ตัวกัน สำหรับใครที่มีคำถามหรืออยากติชม อยากเสนอแนะอะไรเพิ่มเติม สามารถทิ้งคำถามไว้ในคอมเม้นท์ได้เลยนะครับ เดี๋ยวผมจะมาตอบทุกคอมเม้นท์แน่นอน แล้วพบกันใหม่ใน EP.2 ครับ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in