เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
InvestmentRamhandsomeandcool
การเงินส่วนบุคคล 101 (การวางแผนการเงินและลงทุน)
  • หลายคนที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงานมักจะมีปัญหาเรื่องการวางแผนด้านการเงิน แม้ว่าจะเห็นความสำคัญก็ตาม แต่เนื่องจากระบบการเรียนที่ผ่านมาตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัยไม่ได้สอนให้เรารู้วิธีการวางแผนการเงินเลย (นอกจากคณะบัญชี) ทำให้เราขาดความรู้และทักษะด้านการเงินซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้น ดังนั้นเราจึงสรุปเนื้อหาจากหนังสือ Money Lecture เฉพาะส่วนที่คิดว่าคนเริ่มวัยทำงานน่าจะใช้กันรวมกับ Excel จาก A-academy เพื่อเป็นตัวช่วยในการวางแผนการเงินให้ดีขึ้น 

    สิ่งที่เราต้องคำนวณเพื่อใช้ในการวางแผนการเงินมี 9 หัวข้อหลักๆ ซึ่งสามารถทำตามเนื้อหาเรียงจาก 1 ไปจนถึง 9 ได้เลย

    1. คิดรายได้รวม
    เริ่มต้นควรคำนวณก่อนว่าปัจจุบันเรามีรายได้ต่อเดือนเป็นจำนวนเท่าใด ให้รวมทุกอย่างที่เป็นรายได้
    ตัวอย่าง เรามีรายได้ทั้งหมดจากเงินเดือนพนักงานเท่านั้น = 40,000 บาทต่อเดือน
    หากใครมีขายของออนไลน์ก็เพิ่มเข้ามารวมด้วย

    รายได้ = ค่าใช้จ่ายจำเป็น + เงินออม/เงินลงทุน + ค่าใช้จ่ายตามที่ต้องการ

    2. คิดค่าใช้จ่ายจำเป็น
    ต่อมาเมื่อมีรายได้แล้วก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดิินทาง ค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำ ค่า Internet ค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัว เป็นต้น
    ให้เราทำรายการว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้นำเงินส่วนที่เหลือไปสู่การออมเงินต่อไป 

    3. คิดเงินออมฉุกเฉิน
    เพื่อเตรียมไว้พร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หากเราถูกเลิกจ้างหรือธุรกิจที่เราทำไม่สามารถไปต่อ
    ดังนั้นเราต้องมีเงินสำรองในช่วงที่ไม่มีรายได้

    เราจึงต้องมีเงินสำรองเป็นจำนวน = ค่าใช้จ่ายจำเป็น 6-12 เดือน

    หากอาชีพที่เราทำอยู่มีความมั่นคงก็ให้เก็บเพียง 6 เดือนก็พอแล้ว แต่หากมีความไม่แน่นอน เช่นทำธุรกิจส่วนตัวก็ควรมีเผื่อค่าใช้จ่ายไว้ 12 เดือน

    4. คำนวณเงินที่ต้องการใช้ยามเกษียณ

    เงินเดือนที่ต้องการในอนาคต = เงินเดือนที่ต้องการในปัจจุบัน x (1+อัตราเงินเฟ้อ)^ปี

    เช่น เราอยากได้เงินเดือนในการใช้ตอนเกษียณ เดือนละ 30,000 บาท
    เงินเดือนที่ต้องการในอนาคต = 30,000 x (1+0.02)^37
    = 62,420 บาท/เดือน

    ปี = อายุที่เกษียณ - อายุปัจจุบันของเรา

    5. คำนวณเงินบำนาญจากประกันสังคม
    เงินบำนาญจะช่วยเราลดในการเก็บเงินส่วนที่ต้องลงทุน เราจึงต้องคำนวณเงินบำนาญที่จะได้หลังจากเกษียณไว้ด้วย

    เงินบำนาญ = (20% + อัตราปรับเพิ่ม) x ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

    = (20% + 33%) x 15,000 บาท/เดือน
    = 7,950 บาท/เดือน

    สูตร อัตราปรับเพิ่ม = 1.5% x (จำนวนปีที่ทำงานจนถึงเกษียณ - 15)
    หมายเหตุ เลขของค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดได้ไม่เกิน 15,000 บาท

    6. คำนวณเงินเดือนเกษียณที่ต้องเก็บเพิ่ม

    เงินเดือนที่ต้องเก็บเพิ่ม = (4) - (5)

    = 62,420 - 7,950 บาท/เดือน
    = 54,470 บาท/เดือน

    7. คำนวณเงินก้อนที่ต้องเก็บยามเกษียณ
    ในส่วนนี้จะเป็นการสรุปว่าเราควรต้องเก็บเงินให้ได้กี่บาทในวัยที่เกษียณ

    เงินก้อนเกษียณ = ( (6) x 12 ) / (ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ - อัตราเงินเฟ้อ) 

    = (54,470 x 12) / (0.05-0.02)
    = 21,788,000 บาท

    หมายเหตุ ที่เราให้อัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ = 5% เพราะคิดว่าตอนแก่แล้วจะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำลง ซึ่งอัตราผลตอบแทนที่ 5 % จากหุ้นเน้นปันผลก็ค่อนข้าง Make sense
     
    8. คำนวณเงินลงทุนต่อเดือน
    ใช้ Excel ที่แนบมาเพื่อหาเงินลงทุนต่อเดือนที่เหมาะสม โดยการใส่ข้อมูลในช่องสีส้ม ปรับเลขที่เก็บลงทุนไปมาว่าจำนวนเท่าใดที่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเก็บที่ตรงกับเลขในหัวข้อที่ 7 ในส่วนของผลตอบแทนที่คาดการณ์สำหรับคนเพิ่งเริ่มลงทุนไม่ควรสูงกว่า 12 % เนื่องจากเป็นตัวเลขจากอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจากตลาดหุ้นแล้ว 

    https://drive.google.com/drive/folders/1zeFyXpOGQcEYKa16EjV23gboc5cneRro?usp=sharing  

    9. ค่าใช้จ่ายสำหรับอื่นๆ
    เมื่อเราหักเงินสำหรับส่วนออมและลงทุนเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้จ่ายในอย่างอื่นได้ตามสบายเลย

    ค่าใช้จ่ายสำหรับอื่นๆ = รายได้ - ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น - เงินออม/เงินลงทุน


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in