เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
วันละเรื่องChaitawat Marc Seephongsai
วรรณคดีไทยหายไปไหน(วะ)

  •                       วรรณคดีไทยหายไปไหนวะ             ตราพระราชลัญจกรรูปพระคเณศร์

              ตั้งแต่จำความได้จนถึงบัดนี้ จำได้ว่าเคยอ่านงานวรรณคดีไทยไปแค่ไม่กี่เล่ม และที่น่าสนใจคือทำไม วรรณคดีถึงมีแต่เรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เก่า ๆ เล่าแล้วเล่าอีกอย่างขุนช้างขุนแผน ไกรทอง พระอภัย ทำไมไม่มีวรรณคดีใหม่ ๆ ออกมาให้เราได้อ่านสักที เบื่อนางทองประสี กับชะนีวันทองจะแย่แล้ว

              เหตุที่วรรณคดีไทย ไม่มีของใหม่ หรือไม่มีการเกิดขึ้นใหม่ของงานวรรณคดี นั่นเป็นเพราะเหล่าผู้บัญญัติ หรือผู้ที่มอบรางวัลให้กับงานประพันธ์ที่จะถูกเลื่อนขั้นให้เป็นวรรณคดี อย่างกลุ่มวรรณคดีสโมสรนั้นไม่มีอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีใครยกระดับงานประพันธ์ยุคหลังให้เป็นงานวรรณคดีอีกแล้ว

              เรียกง่าย ๆ การที่งานประพันธ์ถูกยกให้เป็นวรรณคดี ก็คงไม่ต่างกันกับปัจจุบันที่เรามีสิ่งที่เรียกว่ารางวัลซีไรต์ หรือชื่อเต็ม ๆ คือ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (Southeast Asian Writers Award) หากเทียบกันตรง ๆ การติดป้ายให้กับงานประพันธ์เป็นวรรณคดีนั้นคงไม่ต่างกับ การติดป้ายให้กับงานประพันธ์ที่ได้รางวัลซีไรต์

              โดยงานวรรณคดีไทยนั้นเริ่มต้นขึ้นแบบจริง ๆ จัง ๆ ก็เมื่อในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ ทรงตราพระราชกฤษฎีกา ตั้งวรรณคดีสโมสร ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการส่งเสริมการแต่งหนังสือให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย และได้สาระประโยชน์ เนื่องจากในยุคนั้นการแต่งหนังสือมักเลียนแบบการแต่งหนังสือภาษาต่างประเทศ ทำให้หลักไวยากรณ์ผิดเพี้ยนไป

              คำว่า "วรรณคดี" ก็ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกพร้อมกับพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เพื่อให้มีความหมายสอดคล้องกับคำว่า "literature" ในภาษาอังกฤษ

              คณะกรรมการของวรรณคดีสโมสรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ทรงแต่งตั้งขึ้นทำหน้าที่คัดเลือกหนังสือดี หนังสือที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับพระราชทานรางวัล และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประทับตราพระราชลัญจกรรูปพระคเณศร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการมอบรางวัลทางวรรณกรรมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย

              ตามพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นนั้น สามารถแบ่งประเภทของงานที่สามารถยกระดับให้เป็นวรรณคดีได้ เอาไว้ 5 ประเภท ดังนี้

    1) กวีนิพนธ์ : โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน
    2) ละครไทย : เนื้อเรื่องที่ประพันธ์เป็นกลอนแปด
    3) นิทาน เนื้อเรื่องที่ประพันธ์เป็นร้อยแก้ว
    4) ละครพูด เนื้อเรื่องที่เขียนขึ้นสำหรับแสดงบนเวที
    5) ความอธิบาย การแสดงศิลปะด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ที่ไม่ใช่แบบเรียน ตำรา หนังสือโบราณคดี หรือพงศาวดาร

              โดยวรรณคดีสโมสร ยุติบทบาทลงในปี พ.ศ. 2468 ทำให้หลังจากนั้น เราถึงไม่ทีงานวรรณคดีอ่านกันอีกต่อไป ทำให้ต้องอ่านเรื่องเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นนี้แล


    ข้อมูลเพิ่มเติมจาก : วิกิ เรื่อง วรรณคดีสโมสร

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in