เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
อีสานที่ฉันอยู่argentumnm
สำรวจชีวิตการศึกษาของเด็กอีสาน ในวันที่ความเหลื่อมล้ำยังอยู่
  • การศึกษา เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้และนำไปต่อยอดอนาคตของชีวิต เรียนรู้ความรู้พื้นฐานไม่ว่าจะที่การศึกษาภาคบังคับ ที่ต้องเรียนรู้วิชาที่ควรเรียน หรือศึกษาตามที่ใจเลือก การตอบสนองต่อความใฝ่รู้ของเด็กแล้วนั้นอาจไม่จำกัดที่ห้องเรียน อาจเป็นการประสบนอกห้องเรียน การสร้างประสบการณ์จากข้างนอก 
    แต่กว่าที่เด็กคนนึงจะเข้าสู่การศึกษาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย การศึกษาสำหรับครอบครัวในอีสาน เป็นเรื่องที่ต้องลงทุนสูง การศึกษาคือสะพานที่เป็นโอกาสในการเลื่อนชนชั้น ฐานะจากที่เป็นอยู่ จึงไม่แปลกอะไรจะมีคำพูดติดปากว่า "ให้ไปเรียนหนังสือ เป็นเจ้าคนนายคน" คำพูดนี้ฉันก็ได้ยินบ่อยๆช่วงชีวิตที่ฉันอยู่อีสานมา ในครอบครัว)ันนั้นเจนจัดในการศึกษามาก ยายของฉันไม่มีโอกาสเรียนจนถึง ม.6 ทั้งๆที่ใจอยากจะเรียนถึงที่สุดเพราะมันคือใบเบิกทางโอกาสในการสร้างอาชีพ อนาคตที่ใหม่ออกไป แต่ฐานะทางบ้านไม่ได้เอื้ออำนวยมากนัก ก็ต้องประกอบอาชีพชาวนา เกษตร เลี้ยงชีพให้รอดแต่ละวัน  จนเมื่อยายได้มีลูก หลาน ความหวังสูงสุดคือลูกหลานทุกคนต้องเรียนหนังสือ แล้วเข้าสู่ระบบราชการเพื่อเลื่อนชั้นทางสังคมในครอบครัว

    สำหรับบางครอบครัวที่ประกอบอาชีพชาวนา เกษตร แต่ต้องประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ขาดความมั่นคงและหลักประกันชีวิตทั้งปวง รายได้ทั้งปีค่อนข้างลำบากในการส่งลูกหลานเข้าเรียนแต่ละเทอม ทุนส่งเสริมการศึกษา แม้แต่ทุนอาหารกลางวันเองก็ไม่อาจเพียงพอ ชีวิตการเรียนของเด็กๆในอีสาน ขึ้นอยู่กับผลผลิตทางการเกษตรที่จะแปรเปลี่ยนเป็นทุนอย่างไร ถ้าปีนั้นเกิดประสบปัญหาทางธรรมชาติ น้ำแล้งเกินไป น้ำท่วมเกินไป ส่งผลต่อค่าเทอมมาก จำได้ว่าช่วงนึงเพื่อนฉันต้องรู้นโยบายราคาข้าว ราคายางพารา อยู่ตลอดเพราะมันคือทุนที่จะช้อนเขาสู่ระบบการศึกษา ช่วงไหนขายข้าวได้หลังจากที่เกี่ยวข้าวเสร็จ แต่การขายข้าวอาจไม่เป็นผล เพราะอาจจะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางได้ หรือแม้แต่การปลูกอ้อย ตัดอ้อยหลายกำกว่าจะได้เงินหลักร้อย การประสบปัญหาของพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรที่ไม่มีหลักค้ำประกันเลี้ยงดูสุขภาพ ความมั่นคงทางชีวิต มันพลอยทำให้พ่อแม่ที่ประกอบอาชีพชาวนามองว่าไม่อยากให้ลูกหลานต้องลำบาก จึง
     เล็งเอาไว้ว่าถ้ามีลูกมีหลานนั้น จะส่งลูกเข้าสู่ระบบการศึกษาและคาดหวังให้ลูกได้เข้าสู่การเลื่อนชนชั้นทางสังคมให้จงได้ (Social Mobility) เช่น ระบบราชการที่เป็นปลายทางที่พ่อแม่มักจะให้เป็น แต่ผู้เขียนก็กลับเห็นอกเห็นใจ บางครอบครัวอาจจะดำเนินชีวิตการเกษตรต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่เลี้ยงชีพมาตลอดในตระกูล บางครอบครัวอาจจะไม่มีใครสานต่ออาชีพกระดูกสันหลังของชาติแล้ว หลายๆครอบครัวเองมักอยากให้ลูกหลาน ไปได้ดีกว่าที่ตนเป็น ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนไม่ได้มองว่าอาชีพชาวนา เกษตรนั้น ไม่ดี ผู้เขียนคิดว่าสังคมยังจำเป็นที่จะต้องใส่ใจในภาคเกษตรอยู่ นโยบายภาครัฐควรจะสร้างสวัสดิการเพื่อค้ำจุนชีวิตเกษตรกร ไม่ให้ลำบากอยู่ข้างหลัง 

    จากสิ่งที่เกิดขึ้น การศึกษาในสำหรับบางบ้านดูเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับครอบครัวในอีสานมาก เด็กบางคนมีโอกาสได้ไปเรียนหนังสือในโรงเรียน แต่เด็กบางคนก็ไม่อาจได้มีโอกาสเข้าเรียนในการศึกษาภาคบังคับแต่อย่างใด เพราะผู้ปกครองทางบ้านไม่อาจมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะส่งเสียเลี้ยงดูให้จนจบต้องออกมาช่วยที่บ้านทำมาหากิน 

    เมื่อพูดถึงคำว่าค่าเทอม สิ่งที่เกิดขึ้นมาในหัวของเขาคือ ราคาข้าว ราคายาง การรับจ้างหาหอยปูปลา หรือการอพยพไปทำงานยังเมืองใหญ่ในอีสานอย่าง ขอนแก่น อุดรธานี เป็นต้น พ่อแม่เด็กบางคนตัวอยู่ไกลลูกหลานเพราะอาจอยู่ กทม หรืออยู่ต่างแดน อาจจะส่งค่าเทอมมาให้ ลูกหลานซึ่งอยู่กับตายาย นานๆทีพ่อแม่ถึงจะขึ้นอีสานกลับมาหา ช่วง มีนาคม-เมษายน จะเป็นช่วงที่พ่อแม่หาโรงเรียนให้ลูกๆเข้าเรียนต่อในโรงเรียน และตระเตรียมเสื้อนักเรียน อุปกรณ์การเรียนให้ พบว่ามันก็มีราคาที่ต้องจ่าย ชุดนักเรียนก็สร้างปัญหาทางการเงินให้พ่อแม่ไม่รู้กี่บ้าน วิธีแก้ปัญหาก็ต้องรับบริจาคชุดนักเรียนจากรุ่นพี่ จากญาติตนเองมาใส่ 
    เวลาที่เราเห็นตามโทรทัศน์เกี่ยวกับรายการสะท้อนสังคมเด็กนักเรียนว่า ชุดนักเรียนเก่า ปอนๆขาดๆ อยากจะบอกให้รู้ว่านี่คือปัญหาจริงๆจังๆ บางโรงเรียนที่ครู ผอ ไม่ได้เคร่งเครียดในระเบียบมากก็อนุโลมให้ใส่ชุดอื่นมาเรียน

    สำหรับการศึกษาในเด็กอีสานนั้น ถ้าเป็นเด็กเล็ก-เด็กไม่เกิน 12 ปี ก็มักจะเลือกเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน เพราะสะดวก ค่าบำรุงการศึกษาอยู่ในอัตราที่พอรับได้ แต่เมื่อเข้ามัธยมจนถึง ม3 มักจะมีค่านิยมในการส่งลูกไปเรียนโรงเรียนใหญ่ๆ พ่อแม่บางคนอาจจะต้องลงทุนในการกวดขันให้ลูกสอบให้ติด ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นสูง 
    บางบ้านลูกหลานก็เลือกเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน เพราะสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายได้มากที่สุด แต่ตลอดช่วงชีวิตการศึกษาที่จ่ายไป บางครั้งเด็กหลายคนรู้สึกว่าตนนั้นไม่ได้ความรู้เท่าที่ควร ต้องเจอปัญหาอาจารย์ไม่เอาใจใส่ในการสอน การเรียนเนื้อหาที่ยากตามไม่ทัน การขวนขายหาความรู้ในห้องสมุดบางโรงเรียนนั้นไม่พอ เพราะหนังสือดีๆในห้องสมุดมันมีน้อยกว่าที่คิด กระบวนการการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ไม่รู้สึกว่าคุ้มทุนใดๆ ทำให้เด็กบางคนอาจเบนสายสามัญไปสู่สายวิชาชีพมากขึ้น ผู้ชายมักไปสายอาชีพ เพื่อจะต่อยอดทักษะเรื่องของช่าง บางบ้านมีกิจการอาจจะต่อยอดการเรียนมาช่วยที่บ้าน ก่อนอื่นเวลาเราพูดคำว่าสายอาชีพมา เรามักมีภาพในหัวว่า สายอาชีพคือที่ไปสำหรับคนไม่สามารถเรียนในสายสามัญต่อ อันนี้มันต้องดูรายคนไป สำหรับเด็กผู้หญิงที่เรียนสายอาชีพ ก็มีความคาดหวังในเรื่องบัญชี คหกรรม ต่อ

    กลับมาที่เด็กบางคนเมื่อจบ ม3 อาจจะไม่มีโอกาสได้เรียนต่อจนถึง ม6 เพราะอย่างที่เคยกล่าวไปข้างต้น ค่าใช้จ่ายอาจไม่เพียงพอในการไปเรียน บางบ้านที่พ่อแม่ทุลักทุเลแต่ก็ส่งลูกเรียนจนจบ ม6 ค่อนข้างฉุกละหุก เพราะแต่ละเทอมค่าใช้จ่ายมีหลายอย่าง ค่าเดินทางในกรณีบางบ้านไม่มีโรงเรียนใกล้บ้าน นี่ก็เป็นภาระอย่างนึก ผู้เขียนนึกไม่ออกเลยถ้าโรงเรียนใกล้บ้านบางโรงถูกยุบจะผลักภาระเพิ่มไปถึงไหน การเดินทางในโรงเรียนเด็กอีสาน มักเจอความเสี่ยงทางถนน เพราะระยะทางมันไกลมากกว่า 10 กิโลเมตร บางบ้านเคยได้ยินว่ามาเรียนไกลมาก 40 กิโลยังเคยได้ยิน ก็ต้องมาอยู่หอพักกับเพื่อนเพื่อที่จะใกล้โรงเรียน นี่คือภาพรวมขีวิตการศึกษาของเด็กในอีสาน

    สำหรับทางเลือกของนักเรียนในอีสานอีกอย่างนึง คือ กศน. บางคนอาจจะเข้าสู่ร่มธรรม บวชเรียนเป็นสามเณรตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะนี่คือโอกาสที่จะได้เล่าเรียนเช่นกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in