เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บทความKrittipong Thitithanakul
‘การศึกษาไทย’ เครื่องมือฆ่าฝัน
  •   “เรียนอยู่สายศิลป์ แต่พอครูสอนวิชาวิทย์คณิตก็ชอบพูดว่า สอนสายวิทย์-คณิตแปบเดียวเขาก็เก็ทแล้ว พวกสายวิทย์ขยันกว่าอีก”

                “ครูชอบคิดว่าเด็กก็เหมือนกันหมด ไม่เข้าใจว่าความยากง่ายบางวิชาสำหรับเด็กแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน”

                “อาจารย์ชอบพูดเรื่องเลขยาก ๆ แล้วตบท้ายว่า พวกเธอคงไม่เข้าใจสินะ เขาให้พวกเด็กวิทย์คณิตเรียนกันน่ะ”

                ความคิดเห็นจากการเปิดให้คนบนอินเทอร์เน็ตแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ หลั่งไหลเข้ามา นักเรียนมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างระบายความบอบช้ำจากการถูกทำร้ายโดยระบบการศึกษาที่ถึงแม้อายุจะห่างกัน 4-5 ปี ก็ยังเคยพบเจอกับสถานการณ์เดียวกัน ใช่ตัวแผนการเรียนจริง ๆ หรือ ที่ทำร้ายเด็กไทย เพราะหากมองอย่างละเอียดแล้ว ระบบแผนการเรียนในต่างประเทศก็มีสิ่งที่คล้ายกันอยู่ อะไรกันที่เป็นต้นตอที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติในโรงเรียนและสร้างวาทกรรมดูถูกเพื่อนต่างอาชีพอย่าง “ศิลปินทำได้แค่เต้นกินรำกิน” หรือ “นักเขียนไส้แห้ง” และทำร้ายสภาพจิตใจเด็กไทยสร้างแผลลึกได้ขนาดนี้

     

    • ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

                ระบบการศึกษาไทยที่ไร้ประสิทธิภาพถูกใช้สร้างชนชั้นทางการศึกษาจนดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ ก่อเกิดสภาพความเหลื่อมล้ำที่เด็กไทยต้องทนใช้ชีวิตมาอย่างยาวนาน

                “เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมครูยังมีความคิดกดดันเราแบบนั้นอยู่ แล้วไม่อย่างนั้นจะมาเรียนสายศิลป์ทำไม แล้วสายวิทย์ถนัดสิ่งที่เราถนัดรึเปล่า”

                ครีม รัชฎาวรรณ บันเจิดพงศ์ชัย นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายศิลป์-ฝรั่งเศส โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้คาบเกี่ยวกับการเรียนต่อมหาวิทยาลัยพูดเชิงตัดพ้อกับผม เธอเล่าว่าตอนมัธยมต้นเธอก็เรียนสายวิทย์-คณิตที่อุตรดิตถ์มาก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่าโรงเรียนประจำจังหวัดของเธอนั้นมีห้องพิเศษเพียง 1 ห้อง ซึ่งเป็นห้องวิทย์-คณิต โดยหลังจากห้องนี้ลงไปจะเป็นห้องธรรมดาที่ครูและคนในจังหวัดของเธอนั้นจะให้ค่าน้อยกว่าห้องเรียนสายวิทย์-คณิตมาก เธอเลยจำเป็นต้องเรียน หลังจากนั้นพอย้ายมาเตรียมอุดม เธอก็ได้มีโอกาสเลือกในสิ่งที่ตัวเองสนใจ

                “แบบทรมานกับ วิทย์-คณิตมาก ๆ พอ ม.ปลายคือคิดว่าไม่ไหวละต้องเรียนศิลป์ แต่ต้องเข้าโรงเรียนที่ศิลป์ดีอะ ไม่ใช่แบบจังหวัดเรา ที่ห้องศิลป์จะอยู่ห้อง 9,10,11 มันไม่ได้ เพราะเค้าไม่ให้ความสำคัญเลย แล้วถูกมองเป็นเด็กร้ายด้วย”

                ความไร้ความสามารถในการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ ในการสร้างมาตรฐานคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศในทุก ๆ แผนการเรียน ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลไทยเก็บไว้ซุกไว้ใต้พรมมาอย่างยาวนาน พวกเขามุ่งแต่การวัดผลในภาพรวมเสียมากกว่า โดยไม่ได้สนใจความถนัดของเด็กที่แท้จริง  ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาค่อย ๆ เผยออกมาในระบบ โรงเรียนในสังกัดมุ่งเน้นแต่ชื่อเสียง อย่างในการสอบ โอเน็ตที่คะแนนสามารถนำมาใช้เป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียนได้โดยการขึ้นป้ายไวนิลใหญ่โต พร้อมทั้งมีเงินรางวัลให้คนที่สอบได้คะแนนเต็มในวิชาต่าง ๆ สัปดาห์ใกล้สอบก็จะจัดการติวให้อย่างเข้มข้น ลองคิดดูว่าถ้ามาตรฐานในการสอนของโรงเรียนในไทยมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและทำให้คุณภาพการสอนในแต่ละแผนการเรียนถูกสร้างอย่างเท่าเทียม การติวเพื่อสอบหรือแม้กระทั่งการสอบวัดผลที่ไม่ตอบสนองต่อความถนัดของเด็กยังจำเป็นจริงหรือ

                “การสอบเรียนต่อของเรามีความเครียดจากการกดดันตัวเองอยู่บ้าง ส่วนตัวคิดว่าผลที่ออกมาจะไม่ได้แย่ แต่ถ้าหากพูดถึงความเท่าเทียมการสอบในไทยยังคิดว่าเนื้อหายากเกินที่สอนในโรงเรียน ต้องพึ่งการเรียนพิเศษซึ่งเถียงไม่ได้ว่าไม่จำเป็น และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสแบบนั้น”

                การศึกษาไทยถูกออกแบบมาอย่างพิกลพิการโดยรัฐ ให้นักเรียนสอบเข้าด้วยเนื้อหาที่ไม่เคยสอนในห้องเรียนนั่นเป็นเหตุให้พวกเขาต้องขวนขวายออกไปเรียนพิเศษ แต่ไม่เคยมองเห็นเด็กที่ไม่มีกำลังทรัพย์ ทำให้เห็นได้ว่าระบบการศึกษาไทยถูกออกแบบมาโดยชนชั้นสูงที่มองไม่เห็นปัญหาอย่างแท้จริง อย่างล่าสุดระบบการสอบเข้าของไทยในปี 2566 จะมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้วิชาสอบแบบ TGAT และ TPAT เป็นกลุ่มวิชาความถนัดแทน GAT PAT แบบเดิม ๆ (อ้างอิงจากเอกสารประกอบการทำประชาพิจารณ์ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2564 - 2566 (TCAS64 - TCAS66) ของ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) แต่ถึงอย่างไรวิชาโอเน็ต หรือการสอบ 9 วิชาสามัญก็ยังคงอยู่ เป็นการเพิ่มภาระให้เด็กอย่างไม่จำเป็นและการเตรียมความพร้อมของเด็กในระยะเวลาสั้น ๆ กับระบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงแทบทุกปี เด็กทุกคนในประเทศไทยจะปรับตัวทันได้อย่างไร จะมีสักกี่คนที่การเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ทันตั้งตัวทำให้โอกาสหลุดลอย

                 “จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ปี 2554 พบว่า ครัวเรือนไทยถึง 50% มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน และมีสัดส่วนการถือครองรายได้รวม 19% ของประเทศ ขณะที่ครัวเรือน 10% ที่มีรายได้สูงสุดมีรายได้เฉลี่ย 90,000 บาท/เดือน ถือครองรายได้รวมถึง 38% ของประเทศ ประชากรกลุ่มรายได้สูงสุดของประเทศ 10% แรกนี้ ถือครองรายได้ถึง 2 เท่าของประชากรครึ่งประเทศ” อ้างอิงจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาชน (สสค.)

                นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสสค. กล่าวอีกว่า “ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษากลายเป็นกลุ่มคนที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ซ้อนทับกันอยู่ หรือเรียกว่าเป็น คู่แฝดความเหลื่อมล้ำทั้งคุณภาพการศึกษาและเศรษฐกิจ” ชี้ให้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทยกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนในสังคมมีความเกี่ยวโยงกัน อีกทั้งรัฐยังไม่ได้เข้ามาช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากพอ

     

    • ครอบครัวกับทัศนคติ

                “เรียนคณะสายศิลป์ มันจะเป็นศิลปินไส้แห้งเอานะสิ ไปเป็นแอร์ดีกว่ามั้ย รวยกว่าจบมาจะไม่ได้อดตาย”

                “คนรู้จักเคยบอกว่าเด็ก ๆ ก็เก่ง เข้าทำไมนิเทศเสียดายสมอง”

                “เพื่อนลังเลอยากเข้าคณะสายศิลป์ แต่พ่อปัดตกเพราะยกข้อดีคณะสายวิทย์มาจนต้องยอม”

                ครอบครัวกลายมาเป็นสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิผลต่ออนาคตเด็กไทยอย่างมีนัยสำคัญ เด็กไทยหลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตของตนเองว่า ใครควรเป็นคนกำหนดทิศทางกันแน่ เช่นเดียวกับ กิ๊บ ณิชาดา ตันติบวรสกุล นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ชั้นปีที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กว่าเธอจะได้เข้าเรียนในคณะนี้ ต้องถูกครอบครัวของเธอพยายามวางกรอบอนาคตมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนและถึงแม้เธอจะเข้าคณะที่เธอหวัง ฝ่าฟันการยกข้อดีของคณะสายวิทย์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จนปัจจุบันถึงแม้จะเบาบางลงไปแล้วแต่ก็ยังคงมีเสียงแผ่วเบาหลุดมาจากครอบครัว

                “เวลาเห็นคนเรียนนิติ อักษร ได้ดีก็จะบอกว่าเสียดายนะที่ลูกไม่เรียน พูดอ้อม ๆ เพราะเขาอยากให้เราเข้านิติ อักษรอะไรพวกนี้มากกว่าเพราะเป็นสายที่ดูมีจะกินมากกว่า”

                นี่คือสิ่งที่เด็กไทยต้องแบกรับมาโดยตลอด จากสังคมที่ผู้ใหญ่เป็นห่วงไปยังอนาคตของพวกเขา มากกว่าตัวพวกเขาเองเสียอีก ไม่ใช่ว่าความเป็นห่วงเป็นสิ่งไม่ดี แต่บางครั้งความห่วงใยก็มากเสียจนปิดกั้นอิสระของเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตไปในทิศทางที่เขาได้เป็นคนเลือกและสนใจเอง กลับต้องมาใช้อนาคตร่วมกับความหวังของครอบครัวเสียอย่างนั้น ถ้ามันไปด้วยกันได้ก็คงเป็นผลดีกับเด็ก แต่ถ้าไม่ มันคงทำให้เขาทุกข์ทรมานในทุก ๆ วันที่ตื่นไปเรียน กิ๊บยังพูดทิ้งท้ายอีกว่า

     

                "พ่อแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกจบมามีอาชีพที่ดีทั้งนั้นแหละ แต่มันจะไม่ดีกว่าเหรอถ้าอาชีพนั้นดีและลูกมีความสุขกับสิ่งที่เรียนที่ทำที่อยู่กับอาชีพนั้นไปตลอดชีวิต เพราะอาชีพมันไม่ได้อยู่แค่ห้าปีสิบปี มันอยู่ไปตลอดชีวิต ให้ลูกมาตอบโจทย์ชีวิตพ่อแม่ที่แบบอีก 30 ปีตาย เเต่ลูกอยู่ไปอีก 50 60 ปี รักลูกก็อย่าให้ลูกใช้ชีวิตที่เหลือกับสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่มีความสุขเลย"

     

     

    • จิตใจกับการศึกษา

                “มีเด็กนักเรียนมาปรึกษาค่อนข้างเยอะเกี่ยวกับปัญหาทางด้านการเรียน ส่วนใหญ่จะมาด้วยปัญหาของการเครียดนอนไม่หลับ ก้าวร้าวกับพ่อแม่ ไม่อยากไปโรงเรียน หรือพยายามทำร้ายตนเองเพื่อจบชีวิตลง ไม่ได้ว่าเดินเข้ามาขอคำปรึกษาด้านการเรียน  แต่พอซักประวัติพูดคุย ทำจิตบำบัดกับเด็กก็จะเจอปัญหาว่าอาการทางกายที่แสดงออกเกิดจากความเครียด ปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นประเภทที่ว่ามาจากครอบครัว เช่นพ่อแม่กดดันเรื่องเรียน พ่อแม่เปรียบเทียบกับลูกคนอื่น ๆ ในครอบครัว พ่อแม่พยายามหลอกตัวเองโดยโยนความรับผิดชอบให้เด็ก พ่อแม่ตั้งความหวังไว้สูงมาก”

                ศันสนีย์ พูลผล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ (ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช) กล่าว

     

                "สังคมไทยยังยึดติดค่านิยมในเรื่องวุฒิการศึกษา ผู้ปกครองจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือตรงนี้ได้มาก แต่บอกเลยว่ายาก เพราะสังคมส่วนใหญ่ยังมองได้แค่ว่า จบสายวิทย์ไปได้กว้าง ได้ค่าตอบแทนสูงกว่า มองว่าเด็กสายศิลป์จบมาตกงานเยอะมาก ถ้าจะช่วยก็ต้องใช้พลังสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เสนอภาพบวกของอาชีพทางสายศิลป์เยอะๆ ลงบ่อย ๆ ลงซ้ำ ๆ จะช่วยได้ เพราะค่านิยมเดิมถูกปลูกฝังมานาน การเปลี่ยนแปลงค่านิยมต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง"

     

                ความร่วมมือของผู้ใหญ่ในสังคมไทยจึงเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยปลดแอกการศึกษาไทยที่ตีกรอบเด็กไทยจนอึดอัด ยากที่จะใช้ชีวิตเลือกในสิ่งที่เขาสนใจได้อย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใหญ่นั้นยังคงยึดติดกับ “ค่านิยมเดิมถูกปลูกฝังมานาน” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ดูเหมือนจะหยั่งรากลึกที่สุดในปัจจัยที่สร้างความบอบช้ำให้แก่นักเรียนไทย

     

    • ค่านิยมที่ฝังลึก

             ค่านิยมเดิมที่เราพูดถึงคือค่านิยมที่ผู้ใหญ่ในสังคมถูกปลูกฝังมาอย่างไม่รู้ตัว จนทำให้เกิดเป็นแนวความคิดที่ว่าอาชีพสายวิทย์-คณิต มีความสำคัญและมั่นคงกว่าอาชีพในสายศิลป์ เมื่อได้พูดคุยกับ ทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูโรงเรียนมัธยมศึกษาและอดีตครูแลกเปลี่ยนโครงการ BRIDGE partnership school ที่ประเทศออสเตรเลีย อีกทั้งเขายังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางการศึกษา พบว่าระบบแผนการเรียนนั้นในหลาย ๆ ประเทศ ก็มีส่วนคล้ายกับไทย เพราะฉะนั้นแผนการเรียนไม่ใช่สิ่งที่ผิด ที่สิ่งที่สร้างแนวคิดที่ตีกรอบเด็กในไทยให้มองเห็นความสำคัญของอาชีพสายวิทย์-คณิตในไทยนั้น กลับเป็นการรับเอานโยบายของรัฐในอดีตมาสร้างค่านิยมในสังคมต่างหา


      บรรยากาศการเรียนในออสเตรเลีย ภาพโดย ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล
              “จุดเริ่มต้นของแผนการเรียนในไทยเริ่มหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่วางแผนการศึกษาเพื่อรองรับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่จะแบ่งเฉพาะทาง เป็นสายวิทยาศาสตร์หรือสาย liberal arts พวกมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สุดท้ายมันก็เลยต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ ส่งผลต่อค่านิยมในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาได้มี ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ’ จากการที่อุตสาหกรรมมันเติบโตขึ้นมา ทำให้จำเป็นต้องใช้บุคลากรสายวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงวิทย์สุขภาพที่ต้องไปรองรับกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ค่านิยมที่คนชื่นชมอาชีพเหล่านี้ในไทยจึงเกิดขึ้นมาเพราะการมีอยู่ของเศรษฐกิจและสังคมแบบนั้น”

                อ้างอิงจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบสอง พ.ศ. 2560-2564 พบว่า แผนยุทธศาสตร์เน้นย้ำเรื่องความจำเป็นของบุคลากรแผนวิทย์อยู่เสมอ อย่างยุทธศาสตร์ที่ 4 เกี่ยวกับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็ต้องการอาชีพในสายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือยุทธศาสตร์ที่ 8 เกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ก็ต้องการนักวิจัยและบุคลากรทางสายวิทย์ด้วยกันทั้งนั้น แต่ไม่มีแผนยุทธศาสตร์ไหนที่ดูจะให้ความสำคัญกับอาชีพทางสายศิลปะ ภาษาหรือสายสังคมศาสตร์เลยด้วยซ้ำ ซึ่งไม่แปลกถ้าอาชีพเหล่านั้นจะถูกปลูกฝังความรู้สึกที่ไม่มั่นคงไว้ เพราะพวกเขาไม่เคยได้รับการสนับสนุนโดยรัฐไทยในวงกว้างแม้แต่น้อย

     

                "ค่านิยมที่ผ่านมาแล้วมันเกิดเป็นภาพ ทำให้เกิดการเหมารวม (stereotype) ว่าเด็กสายศิลป์จะเป็นเด็กแบบนี้และเด็กสายวิทย์จะเป็นแบบนี้ แล้วความคาดหวังของครูก็จะมองว่าเด็กสายวิทย์สอนง่ายกว่า เด็กสายศิลป์เป็นเด็กที่อ่อน ถ้าจะมีคนเก่งก็จะมีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ทั้ง ๆ ที่ในแผนเศรษกิจและพัฒนาสังคมแห่งชาติ มันต้องการคนจากสายศิลป์จากทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ ภูมิสาระสนเทศ หรือเศรษฐศาสตร์หรือสาขาอื่น ๆ แม้แต่เรื่องของปรัชญาที่เป็นรากฐานของคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันบนสังคม เป็นรากฐานของการก่อร่างสร้างตัวของสังคมมนุษย์เหมือนกัน แต่กลับกลายเป็นว่าไม่ได้รับความสำคัญหรือวิชาสายศิลป์อย่างการแสดงก็ถูกมองว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน อาจจะเป็นเพราะเรื่องภาพจำที่สังคมสร้างมา จนเกิดเป็นคุณค่าที่มันจับต้องได้จนทำให้อาชีพอย่างหมอและวิศวกรดูน่าชื่นชม"

     

                ค่านิยมของคนไทยหลายกลุ่มติดอยู่กับภาพจำของภาครัฐที่ ทำให้เห็นความสำคัญทางอาชีพไม่เท่ากัน เกิดเป็นสิ่งที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นแนวคิดที่คนไทยอาจจะบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าความรู้สึกแบบนี้มันเริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนไหน เพียงแต่ภาพจำในสังคมปลูกฝังให้เราต้องเชื่ออย่างนั้น อย่างนี้ จากที่คุณศันสนีย์บอก ในฐานะผู้ใหญ่ในสังคม การทำซ้ำชุดความคิดใหม่ที่ให้ค่าทุกสายอาชีพอย่างเท่าเทียมโดยการทำอย่างต่อเนื่องจะช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ อีกทั้งหากผู้ใหญ่ในสังคมช่วยเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนอาชีพที่ถูกมองไม่เห็นค่าทั้ง ๆ ที่ทุกอาชีพควรมีคุณค่าเท่ากันก็จะช่วยเด็กไทยในอนาคตเติบโตมาในสังคมที่บุคลากรในทุกสายอาชีพเป็นอิสระและมั่นคง ได้มากกว่าสังคมแห่งการตีกรอบที่เราเติบโตกันขึ้นมา

     

    • มุมมองจากต่างแดน

                เพื่อที่จะได้ทราบมุมมองการศึกษาจากหลาย ๆ มุมโลก ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ พอลลีน พร วัฒโนดม เจ้าของผลงานเพลง “โรงเรียนเขาว่าน่าอยู่” บทเพลงวิพากษ์สังคมการศึกษาอย่างเจ็บแสบและขณะนี้เธอใช้ชีวิตในฐานะศิลปินอิสระในไทย หลังจากจบการศึกษาจากคอมดี (Communication Design) ภาควิชาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

              พอลลีน เธอเริ่มจากการเรียนโรงเรียนประถมในไทย หลังจากนั้นเธอจบชั้นมัธยมศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ และเมื่อผมลองเล่ารูปแบบการสอบเข้าของไทยให้เธอฟัง เกี่ยวกับการที่เด็กไทยต้องสอบในสิ่งที่ไม่ได้เรียนด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น วิชา gat เชื่อมโยง ที่ไม่มีแม้แต่ในหลักสูตร หรือเด็กต้องเอาคะแนนต่าง ๆ มายื่นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ใช้วิชานั้นในการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

     

                "มันไม่เมคเซนส์ปะวะ ทำไมคณะไม่สอบแค่วิชาที่ต้องใช้จริง ๆ แล้วสอบทุกคนเหมือนกันไปเลยวะอย่างที่สิงคโปร์สอบแค่ไอคิว, เลข และภาษาอังกฤษ เพื่อดูระดับมหาวิทยาลัยที่เราจะสามารถยื่นได้แค่นั้น ถึงระบบเขาก็เข้มงวดไม่แพ้ไทย แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้เด็กเลือก ระบบการศึกษาไทยมันแปลก ๆ อะ เขามองว่า เด็กที่ยิ่งรู้เยอะเป็นสิ่งที่ดี ไม่จริงเว้ย เด็กแต่ละคนมันก็เก่งกันคนละแบบ คุณจะให้มามองว่าเด็กที่เก่งทุกอย่างเป็นเด็กที่ดีที่สุด มันไม่ใช่"

     

                แสดงให้เห็นว่าระบบการสอบในไทยกลับไม่สัมพันธ์ไม่กับระบบการศึกษา ทำให้เด็กที่เลือกแผนการเรียนที่ตนเองสนใจในระดับมหาวิทยาลัยยังต้องทนทุกข์กับวิชาที่ตนเองพยายามหนีหรือไม่ได้เลือกที่จะเรียนต่อ บางคนก็จำเป็นต้องขวนขวายในการเรียนพิเศษ แต่บางคนที่ไม่ได้มีต้นทุนในชีวิตแบบนั้นล่ะ จุดนี้เองจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยขยายตัวขึ้น อีกทั้งตัวเด็กเองก็ไม่สามารถเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจได้อย่างเต็มที่

                “เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าอาชีพที่ดีคือหมอ อาชีพที่ดีคือครู พวกอาชีพที่มีพระคุณ มันเป็นเรื่องที่ใหญ่หลวง แล้วมองว่าอาชีพสายอาร์ตเป็นแค่เรื่องความคิดสร้างสรรค์ มันแค่มาทำให้ชีวิตสวยขึ้นดูดีขึ้นแค่นั้น” พอลลีนกล่าว

                ทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ยังพูดถึงการศึกษาในฐานะครูแลกเปลี่ยนที่ประเทศออสเตรเลียอีกว่า

                “ในออสเตรเลียวิชาเรียนบังคับจะมีถึงเกรด 10 หรือม.4 บ้านเรา หลังจากนั้นเขาจะให้จับคู่วิชาเรียนเอง ถ้าคุณเลือกชุดวิชานี้คุณก็จะไปต่อ ตัวที่ 1,2,3 ซีรีส์ของมัน หรือคุณอาจเลือกชุดวิชาในอีกแขนงนึงด้วยก็ได้ ถ้าหน่วยกิตของคุณยังเหลืออารมณ์คล้าย ๆ มหาลัยเราที่มีวิชาเลือกวิชาเอก รวมไปถึงบางโรงเรียนมี สายอาชีพ (vocational) อย่างเช่น ตัดผม ทำอาหาร การโรงแรม ค้าปลีก และเมื่อไปเรียนหลักสูตรนั้นจบ จะได้)ประกาศนียบัตร (HSC – High School Certificate) เพื่อนำไปยื่นเรียนต่อได้ พูดง่าย ๆ มันก็ดูเหมือนแบ่งสายแต่มีความยืดหยุ่นมากกว่าแล้ววิชาเรียนมันน้อยกว่า วิชาอื่นก็คืออิสระ ไม่ได้มีวิชาแกนหลักเยอะเหมือนกับของเรา”

                อ้างอิงจากนักวิจัยจากเว็บไซต์ CEOWORLD ได้รวบรวมข้อมูลจากหลากหลายองค์กรเพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นค่าสถิติทางคุณภาพการศึกษาพบว่า ระบบการศึกษาของออสเตรเลียอยู่ที่ 3 ของโลกในปี 2020 ในขณะที่ไทยอยู่ลำดับที่ 52 โดยอ้างอิงจากหลาย ๆ ด้าน อย่างคุณภาพของบุคลากรทางการศึกษา, อัตราการจบมหาวิทยาลัย, ประสิทธิภาพของการสอนรวมไปถึงงบประมาณที่รัฐลงทุนกับระบบการศึกษา เพราะฉะนั้นแล้วระบบการสอนเด็กให้เรียนรู้ทุกอย่างอย่างไทย ๆ อาจจะไม่ได้เป็นทางออกที่ดีที่สุดต่ออนาคตเด็กเสมอไป อีกทั้งอาจจะไม่ได้ช่วยในเรื่องการได้หน้าได้ตาในเวทีการศึกษาโลกอย่างที่รัฐหวังอีกต่างหากเพราะภาพรวมของระบบการศึกษาที่ดี ย่อมมาจากผู้เรียนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

     

    • ทางออกการศึกษาไทย

             หลังจากพุดคุยกับครูทิว ผมได้มีโอกาสสอบถามถึงความต้องการในการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่อยากให้เกิดขึ้นกับการศึกษาไทยโดยครูทิวได้ให้คำแนะนำมา 3 ข้อ

     

             "หนึ่ง เรียนน้อยลงเหอะ คือทุกวันนี้เราพยายามยัดเยียดสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นให้กับเด็ก ครูก็ต้องพยายามยัดเนื้อหาที่คิดว่ามันจำเป็นต้องเอาไปสอบ แทนที่จะฝึกเรื่องวิธีการคิด การเขียน ควรจัดแกนการเรียนไว้หลวม ๆ แล้วมีตัวเลือกหลากหลายให้เขาได้ลองทำ มีพื้นที่ (space) มากขึ้น บ้านเรากิจกรรมหรือโปรเจคมันเป็นพระรอง ไม่ได้ขึ้นมามีบทบาทเทียบเท่ากับวิชาเรียนในหลักสูตร สอง ระบบการสอบ ให้การสอบมันน้อยลง และเป็นการสอบที่วัดความสามารถที่แท้จริงของเด็กได้หรือความสนใจที่แท้จริงของเด็กได้ แต่ปัจจุบันมันแทบวัดอะไรไม่ได้ พอครูจะสอนแบบเน้นกิจกรรม (activities based) ครูก็ต้องมาพะวงเนื้อหาว่าเด็กจะไปทำข้อสอบได้ไหมถ้าไม่ได้สอน มันก็จะเป็นความผิดครู สาม ให้แคร์คุณภาพชีวิตครูและคุณภาพชีวิตเด็กมากกว่าผลงาน (productivity) บ้านเราดูเหมือนบ้าการทำงานหนัก บ้าการเสียสละ บ้าการเรียนหนัก ๆ แต่ไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพ (well-being) ทั้งครูและเด็ก แล้วมันทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเราไม่มีความสุข เราก็ไม่มีเวลาไปรีเฟรชตัวเองเพื่อมีประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานได้อย่างเต็มที่ คนไทยทำงานหนักและเรียนหนักจนเกินไป"

     

                การจัดการศึกษาแบบให้เด็กมีสิทธิ์เลือกย่อมนำผลดีมาสู่ตัวเด็กอยู่เสมอ อย่างตัวเด็กเองไม่ต้องแบกรับความเครียดจากการเรียนในสิ่งที่ตนไม่ได้สนใจและยังมีเวลาไปพัฒนาศักยภาพในตนเอง การศึกษาในฟินแลนด์ประเทศที่ระบบการศึกษาถูกวางไว้ดีที่สุดในโลกก็เป็นเช่นนั้น ฟินแลนด์วางระบบการศึกษาโดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนและช่วยเหลือทางด้านการเงินเด็กเป็นสำคัญ ไม่มีคำว่า เด็กพิเศษ (gifted) มาแบ่งแยกห้องเรียน ทำให้การศึกษาของฟินแลนด์เป็นไปเรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพจากการใช้บุคลากรคุณภาพ เน้นสนับสนุนกิจกรรมที่เด็กสนใจ รวมไปถึงรัฐช่วยออกค่าการศึกษาทำให้พวกเขาไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเรียนช่วยลดทอนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและมอบโอกาสให้เด็กอย่างเท่าเทียม


                ท้ายที่สุด ผลผลิตของการออกแบบการศึกษาที่ตีกรอบเด็กอย่างไทย ๆ เกิดขึ้นได้เพราะค่านิยมที่แพร่กระจายไปในสังคมไทยแล้วยึดแน่นเสมือนเป็นปรสิตทางความคิด หากผู้ใหญ่ในสังคมและตัวเด็กออกมาส่งเสียงที่ถูกปิดเงียบมาอย่างยาวนาน พร้อมทั้งปลูกฝังค่านิยมเพื่อนำไปหักล้างค่านิยมคร่ำครึเดิม ไม่เพียงแต่เด็กไทยจะได้ปลดแอกคุกทางการศึกษาแล้ว คุกทางค่านิยมที่สร้างความทรมานต่อผู้ใหญ่ไทยหลาย ๆ คนใน แต่ละสายอาชีพคงถูกปลดปล่อยด้วยเช่นเดียวกัน...

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in