เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ความไม่เรียงrainbowflick17☂️
กล้วย เผด็จการ สังหารหมู่
  • กองกำลังติดอาวุธปฎิวัติโคลอมเบีย หรือ ฟาร์ก (FARC) การรัฐประหารและการตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการรวมกว่า 40 ปีของประเทศกัวเตมาลา หนึ่งในการสังหารหมู่อันไร้มนุษยธรรมที่อยู่ในนิยาย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ทั้งหมดมีความเหมือนกันตรงที่สามารถเล่าผ่าน "กล้วยหอม" ผลไม้ยอดนิยมได้

    ทั้งหมดนี้เล่าย่อ ๆ นะคะ

    บริบททางประวัติศาสตร์

    แน่นอนว่ากล้วยจะกลายเป็นตัวกลางเรื่องราวหลากหลายได้ผ่านการถูกนำไปค้าขายระหว่างประเทศ บริบททางประวัติศาสตร์ในยุคที่เรากำลังจะพูด มีการเปิดการค้าให้เสรีมากขึ้น มีการคมนาคม เช่น รถไฟ มีนวัตกรรมเช่น ตู้เย็น ที่ช่วยให้ผลผลิตทางอาหารหลายประเภทสดใหม่และเก็บได้นานขึ้น มีการนำเข้า-ส่งออกเกิดขึ้นแล้ว

    ขณะนั้นอเมริกาได้ก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจเบียดยุโรป นายทุน (หลายคนเกี่ยวข้องและมีอำนาจในด้านการเมือง เพราะเศรษฐกิจกับการเมืองนั้นสัมพันธ์แน่นแฟ้น) มองหาประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรเพื่อเข้าไปลงทุน 

    บริษัทอเมริกันหลายบริษัทเข้าไปมีบทบาทในประเทศบริเวณอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในที่นี้เราจะพูดถึงบริษัทผลไม้ที่เข้าไปมีบทบาทในอเมริกากลาง ซึ่งก็มีหลายบริษัท และบริษัทที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ ยูไนเต็ด ฟรุ๊ต คอมปานี (United Fruit Company)

    กำเนิดยูไนเต็ดฟรุ๊ต

    เดิมทีเจ้าของยูไoเต็ดฟรุ๊ตชื่อ ไมเนอร์ คีีต (Minor Keith)เป็นเจ้าของกิจการคมนาคมใหญ่ เขาเซ็นสัญญาทำธุรกิจกับประเทศกอสตาริก้า โดยจะสร้างรางรถไฟเชื่อมเมืองหลวงกับเมืองท่าให้ ในกระบวนการการตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น รัฐบาลเสนอผลตอบแทนเป็นที่ดินปลอดภาษีข้างทางรถไฟ แลกกับการให้สหรัฐอเมริกาพิจารณาเรื่องหนี้สาธารณะของประเทศกอสตาริก้าใหม่

    ไมเนอร์ คีีต  (public domain)

    ที่ดินข้างทางรถไฟที่เขาได้มานั้นเขาเอาไปทดลองปลูกกล้วย ด้วยหวังว่ากล้วยจะเป็นแหล่งอาหารราคาถูกให้คนงานของเขาในยามข้าวยากหมากแพง

    ในเวลาต่อมาเมื่อเขาประสบปัญหาด้านการเงินและมีหนี้จากการกู้มาลงทุนทำธุรกิจ เขาก็เริ่มมองหาแหล่งเงินทุนใหม่ ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า กล้วยที่เขาทดลองปลูกนั้นสามารถเป็นแหล่งรายได้ชั้นดีผ่านการส่งออก โดยเฉพาะหากเขาทำให้มันเป็นผลไม้ราคาถูกที่สุดในสหรัฐอเมริกา

    แม้ว่าจะเริ่มต้นที่คอสตาริก้า แต่ไม่นานต่อมาพื้นที่ที่คีตใช้ปลูกกล้วยก็กระจายไปทั่วอเมริกากลาง ด้วยวิสัยทัศน์ที่อยากจะทำให้กล้วยเป็นผลไม้ที่ถูกที่สุดในสหรัฐอเมริกา ยูไนเต็ดฟรุ๊ตจึงยึดมั่นในการติดสินบน จ่ายใต้โต๊ะ เลี่ยงภาษี ลดภาษี และใช้งานแรงงานมนุษย์ให้คุ้มค่าที่สุด 

    ยูไนเต็ดฟรุ๊ตคอมปานีขยายอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่หลายส่วน ทั้งเดิมทีเป็นเจ้าของคมนาคม แล้วก็ยังเป็นเจ้าของที่ดินรวมถึงมีอำนาจในการคุมเมืองท่าอีกด้วย 

    อิทธิพลมหาศาลเป็นที่มาของฉายา El pulpo ที่แปลว่า ปลาหมึก 


    สังหารหมู่


    คนงานของยูไนเต็ด ฟรุ๊ต คอมปานี ปี 1913 (public domain)

    การใช้งานแรงงานมนุษย์ให้คุ้มค่าในสายตานายทุนอาศัยการให้แรงงานทำงานวันละหลายชั่วโมง ทำงานหนัก และให้ค่าตอบแทนต่ำกว่าที่ควรได้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านต้นทุน แรงงานบางกลุ่มได้รายได้ต่ำสุดน้อยกว่า 100 เปโซต่อเดือน ซึ่งน้อยมากจริง ๆ

    แน่นอนว่าการใช้งานอย่างขาดมนุษยธรรมนี้นำมาซึ่งความไมพอใจในกลุ่มแรงงาน มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในอเมริกากลาง หนึ่งในนั้นคือกรณีการสังหารหมู่ที่โคลอมเบีย

    ที่โคลอมเบีย กลุ่มแรงงานผลิตกล้วยที่ถูกกดขี่ตัดสินใจออกมาประท้วง โดยมีข้อเรียกร้องเก้าข้อ สรุปคร่าว ๆ คือขอเวลาทำงาน ค่าแรง และสวัสดิการที่เป็นธรรม รวมไปถึงสัญญาจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษร 

    แกนนำประท้วง (public domain)

    เนื่องจากอิทธิพลของบริษัทใหญ่ของอเมริกาสัมพันธ์โดยตรงกับการเมืองอเมริกา หลังจากเกิดการประท้วงขึ้นได้มีการเจรจาระหว่างประธานาธิปดีของสหรัฐกับรัฐบาลโคลอมเบีย ผลจากการเจรจาทำให้รัฐบาลโคลอมเบียส่งทหารไปยังที่ประท้วง 

    ทหารพร้อมปืนกลขึ้นไปเตรียมพร้อมบนหลังคาอาคารบริเวณใกล้เคียง และภายในเวลาไม่เกินสิบนาทีหลังจากทหารไปถึงที่ก็เกิดการยิงผู้ประท้วง   

    จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจนปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ในขณะนั้นรายงานตัวเลขไม่เท่ากัน อีกทั้งเมื่อเวลาผ่านไปตัวเลขก็เพิ่มขึ้นด้วย ตัวเลขที่สูงที่สุดอยู่ในหลักพัน


    เสียชีวิต 100 คน บาดเจ็บอีก 238 คนจากความขัดแย้งในภูมิภาคปลูกกล้วย
    หนังสือพิมพ์วันที่ 14 ธันวาคม 1928 (ภาพเข้าถึงจากLa FM  ต้นฉบับของ Archivo Casa Museo Gabriel García Márquez)


    เหตุการณ์ครั้งนี้บันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์โคลอมเบียในชื่อ La masacre de las bananeras หรือ The Banana Massacre. (Massacre = การสังหารหมู่) วันที่ 6 ธันวาคม 1928 

    Cien años de soledad, One Hundred Years of Solitude 


    หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวมีการกล่าวถึงการสังหารหมู่ครั้งนี้ (ในตัวนิยายเอง หนึ่งร้อยปีอ้างว่าเมืองเป็นเมืองแต่ง และเรื่องเป็นเรื่องแต่ง แต่สัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับเมืองที่มีอยู่จริง และสงครามพันวัน สงครามกลางเมืองของโคลอมเบีย) 

    Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia (FARC)
    Revolutionary Armed Forces of Colombia

    กองกำลังติดอาวุธโคลอมเบีย หรือ ฟาร์ก เริ่มต้นมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน อ้างอิงจากสารคดี Banana Land: Blood, Bullets & Poison ปี 2014  เหตุการณ์การสังหารหมู่ของกลุ่มคนชนชั้นแรงงานในครั้งนี้ และความเป็นจริงข้อที่ว่าชนชั้นแรงงานถูกกดขี่มาโดยตลอดเป็นหนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่ทำให้ฟาร์กกำเนิดขึ้นมาในปี 1964 จุดประสงค์ของฟาร์กคือเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนจนและต่อต้านสหรัฐอเมริกา ต่อมากลายเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดในโคลอมเบีย 

    ทั้งนี้ เงินทุนของฟาร์กพึ่งพาขบวนการยาเสพติด เวลาผ่านไปวิธีการต่อสู้ก็รุนแรงขึ้นประกอบกับมันเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยอยู่แล้ว ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งหมด 52 ปี มีผู้เสียชีวิตนับ 2 แสนรายและผู้พลัดถิ่นกว่า 7 ล้านคน

    เดือนพฤศจิกายน 2016 ฟาร์กเซ็นต์ข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งในการใช้กำลัง โดยในข้อตกลงจะมีการจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้สมาชิกเพื่อให้มีทุนหาอาชีพกลับคืนสู่สังคม ประธานาธิบดีได้โนเบลสันติภาพไปเลยตอนนั้น



    27 มิถุนายน 2017 สมาชิกฟาร์กหลายพันคนวางอาวุธโดยการส่งอาวุธของตนให้สหประชาชาติ (U.N.)  และเดือนสิงหาคมได้ก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อว่า El Partido Fuerza Alternativa Revolucionaria del Común หรือ El Partido Farc, พรรคฟาร์ก 

    อย่างไรก็ตาม หลายสำนักข่าวรายงานว่าขบวนการยาเสพติดยังอยู่ต่อไปแม้ฟาร์กจะปิดตัวไปแล้วเนื่องจากยังมีสมาชิกที่มีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ราว 2,000 กว่าคนที่ยังยึดถือวิถีเดิม

    (ต้องเข้าใจกันก่อนว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีขาวดำหรอกค่ะ เรื่องจริง ๆ ก็มีความซับซ้อนมีเรื่องภายในภายนอก เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก ๆ ไหนจะต้องคิดว่าเรารับสารจากไหน สื่อเบื้องหลังใครสนับสนุนอีก ที่แน่ ๆ คือเป็น 50 ปีที่ทุกข์ทรมานของประเทศเขาค่ะ)

    Las Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia - Ejército del Pueblo (FARC-EP)
    Revolutionary Armed Forces of Colombia—People's Army

    MrPenguin20 / CC BY-SA (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)

    ปี 2019 ที่ผ่านมา หัวหน้ากองกำลังออกมาประกาศว่าจะกลับมาเนื่องจากรัฐบาลผิดข้อตกลงเรื่องสันติภาพ 

    อ้างอิงจากสถาบันเพื่อการพัฒนาและสันติศึกษา องค์กรเอกชน Indepaz ตั้งแต่เซ็นสัญญา อดีตสมาชิกฟาร์กเสียชีวิตไปแล้ว 150 คนและมีนักกิจกรรมท้องถิ่น 627 คนถูกฆ่า 

    หัวหน้ากองกำลังกล่าวว่ารัฐบาลปกป้องพวกเขาเหล่านั้นไม่ดีพอ 

    ทั้งนี้รัฐบาลก็อกมาตอบโต้ว่าจะไม่ยินยอมเช่นกัน 


    หนังยาว

    อีกด้านหนึ่งในสารคดีเดียวกัน มีการเล่าถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นแม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว 80 กว่าปี นักกิจกรรมจัดงานรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่พร้อมให้สัมภาษณ์ว่าในปัจจุบันก็ยังมีบริษัทข้ามชาติอยู่เบื้องหลังความรุนแรงในพื้นที่ มีการสนับสนุนทุนจัดตั้งกองกำลังที่ใช้กดขี่คนงาน นักกิจกรรมที่ออกมาเรียกร้องถูกข่มขู่ คุกคาม อุ้มฆ่า จำนวนคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากใช้กำลังกับผู้ต่อต้านแล้ว บางครั้งก็ยึดพื้นที่มาถือครองโดยใช้กำลังด้วย

  • เผด็จการ

    ในภาพรวมใหญ่ ๆ เผด็จการเกี่ยวข้องกับยูไนเต็ดฟรุ๊ตโดยตรงในแง่ที่ว่า 
    • เมื่อเจรจากับรัฐบาลเผด็จการได้แล้วการอยู่กินใช้ทรัพยากรในประเทศนั้นมักจะยั่งยืนเพราะรัฐบาลอยู่ในอำนาจนานหลายปี ต่างกับรัฐบาลประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งใหม่ และได้พรรคการเมืองใหม่จะต้องมีการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าใหม่เนื่องด้วยนโยบายอาจมีการปรับเปลี่ยน และไม่ใช่ทุกรัฐบาลจะโปรดปรานนายทุนต่างประเทศ 
    • สร้างมิตรภาพกันผ่านแสนยานุภาพทางอาวุธที่คู่ค้าจากอเมริกาพร้อมจะยื่นให้ เพื่อให้รัฐเผด็จการรัฐบาลเผด็จการนั้นอยู่ต่อไป ซึ่งก็เป็นผลประโยชน์แก่ตนเองด้วย
    ในแต่ละประเทศก็มีเหตุการณ์ต่างกันออกไป แต่สำหรับกรณีศึกษาที่เห็นได้ชัด ขอยกเรื่องการรัฐประหารที่กัวเตมาลาปี 1954 มาเล่าย่อ ๆ ค่ะ


    Jorge Ubico (public domain)

    ท้าวความไปถึงช่วงปี 1944 กัวเตมาลายังอยู่ในรัฐบาลเผด็จการของฆอรเค อูบิโก (Jorge Ubico) ผู้ซึ่งชนะเลือกตั้งเข้ามาด้วยนโยบายว่าจะช่วยเหลือชนชั้นแรงงาน แต่พอชนะแล้วก็ปกครองแบบเผด็จการแท้ ๆ มีสปายเต็มบ้านเต็มเมือง ขณะนั้นยูไนเต็ดฟรุ๊ตมีที่ดินมหาศาล มีสิทธิ์เข้าถึงทั้งคมนาคม เมืองท่า ไปจนกระทั่งที่ผลิตไฟฟ้า แน่นอนว่าเป็นผลประโยชน์ที่ผ่านการเจรจา อูบิโกเองก็เรียกได้ว่าเป็นUS-backed dictator หรือเผด็จการที่มีสหรัฐหนุนหลังอีกคนหนึ่ง


    ภาพที่เขียนถึงเหตุการการปฎิวัติ คนในภาพคือจาโคโบ อารเบน หนึ่งในผู้ร่วมริเริ่มการปฎิวัติ
    Soman / CC BY-SA (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0/)

    ในที่สุดผู้คนที่ไม่พอใจก็ก่อการปฎิวัติขึ้นมา การปฎิวัติประชาธิปไตยของกัวเตมาลาเริ่มปี 1944 ล้มอูบิโกลงจากอำนาจ ดึงการเลือกตั้งกลับมา ประธานาธิบดีที่ได้มาจากการเลือกตั้งของกัวเตมาลานั้นมุ่งมั่นที่จะพาประเทศไปในทิศทางใหม่ มองเห็นความทรมานของชนชั้นแรงงาน และเริ่มปฎิรูปโดยการปรับค่าแรงขั้นต่ำ

    หลังจากผ่านไปอีกสมัย ประธานาธิปดีคนใหม่ จาโคโบ อารเบน (Jacobo Arbenz) ก็สานต่อนโยบายค่าแรงขั้นต่ำพร้อมทั้งเพิ่มนโยบาย Land Reform เข้าไปด้วย นโยบายดังกล่าวคือการเวนคืนที่ดินที่ไม่ได้ใช้สอยกลับมาแล้วแจกจ่ายให้คนจน เนื่องจากในขณะนั้นที่ดิน 75% ในกัวเตมาลา ถูกถือครองโดยคนเพียง 2% เท่านั้น ตัวบริษัทเองก็มีพื้นดินที่ไม่ได้ใช้สอย รัฐเสนอข้อตอบแทนเป็นเงิน แต่จำนวนเงินนั้นเทียบไม่ได้กับการถือครองที่ดิน เพราะที่ดินย่อมสร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัทในระยะยาวมากกว่า ความไม่ลงรอยกันจึงเริ่มชัดเจนขึ้น จากที่เริ่มไม่พอใจตั้งแต่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำอยู่ก่อนแล้ว


    เนื่องจากในปีที่ทำ Land Reform นั้นอยู่คาบเกี่ยวกับสงครามเย็น ซึ่งการกระจายที่ดินลักษณะดังกล่าวถูกมองว่าเป็นแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ ตัวบริษัทยูไนเต็ดฟรุ๊ตจึงเริ่มทำแคมเปญชี้ว่ารัฐบาลกัวเตมาลาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวคิดคอมมิวนิสต์ และต่อมาอเมริกาก็ใช้ข้ออ้างนี้ในการส่ง CIA เข้ามาแทรกแทรงและเตรียมพร้อมจะล้มรัฐบาล (และก็ไม่ใช่แค่อุดมการณ์ทางการเมือง แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมด้วย)

    ความพยายามจะโค่นรัฐบาลพลาดไปหนึ่งครั้งก่อนที่การรัฐประหารรัฐบาลประชาธิปไตยของกัวเตมาลาโดยมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังจะสำเร็จในปี 1954 (1954 Guatemalan coup d'état) ทหารขึ้นมาแทนที่ มีความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์และเปลี่ยนตัวผู้นำ ขึ้น ๆ ลง ๆ ไปมา 

    กัวเตมาลาตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการเป็นเวลา 40 กว่าปี อีกทั้งความขัดแย้งในระหว่างนั้นทำใหเกิดสงครามกลางเมืองกินระยะเวลา 36 ปี 


    La Gloriosa Victoria, en. Gloriosa victoria - Diego Rivera (public domain)

    ภาพวาดของศิลปินดัง ดิเอโก้ ริเบรา (Diego Rivera) ภาพนี้ชื่อว่า หรือ The Glorious Victory เป็นภาพแสดงความสำเร็จของการรัฐประหารปี 1954 จะเห็นส่วนประกอบหลายอย่างในภาพ เช่น ธงชาติสหรัฐอเมริกามุมซ้ายบน กระสอบมีคำว่า Made in USA เครือกล้วย


    ทั้งนี้ การให้บริษัทต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไปจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจนลง เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลายประเทศต้องเผชิญ
  • Still In เรื่องที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน

    - United Fruit Company
    จริงๆ บริษัทนี้ก็ยังอยู่ แต่เปลี่ยนชื่อแล้วค่ะ ใบ้ให้ว่าเคยมีซีอีโอกระโดดลงหน้าต่างเป็นข่าวดัง  ส่วนจริยธรรมการทำงานเป็นอย่างไรเราไม่ได้ตามหาข้อมูล ถ้าใครสนใจก็ลองหาดูนะคะ  (แต่เคยเห็นโพสต์ปี2017บอกว่ามีปัญหาเรื่องการสเปรย์ยาฆ่าแมลงลงไร่ด้วยเครื่องบินโดยไม่ได้สนใจว่าคนงานจะได้รับผลกระทบไหม และปัญหาอื่น ๆ)



    - การขูดรีดแรงงาน (Exploitation of labor) 
    สกู๊ป Banana Republic: the ugly story behind New Zealand’s most popular fruit ของช่อง RNZ ออกอากาศปี 2016 ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คนทำงานในสวยกล้วยที่ฟิลิปปินส์ ไม่ได้บอกว่าบริษัทไหน แต่กล้วยส่วนนี้ส่งออกไปนิวซีแลนด์ 

    คนงานทำงานหนัก และทำถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงมีความเสี่ยงจะสัมผัสกับสารเคมีด้วย แต่ค่าแรงที่ได้น้อยมาก ไม่พอใช้ชีวิตด้วยซ้ำ 

    คนที่รณรงณ์เรื่องแรงงานถูกทำร้ายหรือมีอันตรายถึงชีวิต หัวหน้าสมาคมแรงงานเล่าให้ฟังเลยว่าตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมก็โดนลอบทำร้าย มีทั้งบุกมาถึงบ้าน ดักตีตรงถนน ตั้งแต่ปี 2010 มีคนงานในสมาคมและนักกิจกรรมเสียชีวิตจากการถูกเจาะจงฆ่า 318 คน ซึ่งคาดว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้

    ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดคนละสถานที่แต่ลักษณะเหมือนกันมากก็เลยเอามาเล่าค่ะ จะเห็นว่าศตวรรษแล้วกับศตวรรษนี้ก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่

    - การกระจายสิทธิการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม (The unjust land distribution/land distribution policy)
    ปัจจุบันก็เป็นปัญหาที่พบได้ในหลายประเทศนะคะ หลัก ๆ เลยคือเกษตรกรไม่มีที่ดินของตัวเอง คนที่ถือครองที่ดินในประเทศมีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็น เป็นต้น 

    - โรคในกล้วย 
    อิงจากสกู๊ป Bananas As We Know Them Are Doomed ของ VICE NEWS เผยแพร่เดือนมีนาคม ปีนี้(2020) อีกปัญหาที่ค่อนข้างเป็นปัจจุบันคือโรคในกล้วย เนื่องจากกล้วยที่ขายนิยมปลูกเป็นเป็นพันธ์เดียวคือ กล้วยหอมเขียวคาเวนดิช (Canvendish) เพราะการปลูกไปเลยสายพันธ์เดียวทำให้ควบคุมง่ายกว่ามาก ๆ แต่ปัญหาคือเมื่อมีโรคก็จะแพร่กระจายแบบเร็วไม่หยุดฉุดไม่อยู่เช่นกัน โรคที่ภูมิภาคปลูกกล้วยเคยพบมาแล้วคือโรคเหี่ยวฟิวซาเรียม หรือ โรคปานามาซึ่งแพร่ไวมาก ๆ ปัจจุบันโรคนี้กลับมาระบาดอยู่ ทำให้สวนกล้วยบางที่จะเล็กหรือใหญ่ก็อาจจะต้องเลย์ออฟคนงานออกไปด้วย



    แนะนำสารคดีและหนังสือเพิ่มเติม

    หมายเหตุ : ชุดนี้มีเรื่องราวความรุนแรงแทบจะทุกรูปแบบ รวมไปถึงความรุนแรงทางเพศด้วย
    Banana Land: Blood, Bullets & Poison Documentary: 


    Banana Republic: the ugly story behind New Zealand’s most popular fruit 
    *ไม่เชิงสารคดีแต่น่าสนใจเช่นกัน เรื่องที่ฟิลิปปินส์ค่ะ

    Destiny of Debts: The struggle of banana farmers in the Philippines
    ที่ฟิลิปปินส์เหมือนกันค่ะ คราวนี้เล่าเรื่องว่าคนที่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของพื้นที่ดินส่วนเล็ก ๆ แล้วทำสวนกล้ว แต่ประสบปัญหาเรื่องโดนกดราคาจนชีวิตลำบากมากเหมือนกัน 



    Banana: The Fate of the Fruit That Changed the World - Dan Koeppel 

    เราไม่เคยอ่านหรอกค่ะ แต่คนเขียนหนังสือเล่มนี้ปรากฎตัวหรือถูกอ้างถึงในสารคดีหลายเรื่อง แล้วบางคนก็บอกว่าเป็นที่รู้จักในชื่อ the banana man ไรงี้ด้วย เขาก็น่าจะอุทิศตนอยู่ค่ะ หนังสือน่าจะดีมั้ง

    มีฉบับแปลไทยด้วยนะ

    นอกจากนั้นแล้วหนังสือเรื่องกล้วยมีเยอะมากกกกกกกกกกก เล่มที่เจาะจงเรื่อง United Fruit Co. โดยเฉพาะก็มีค่ะ 

    สำหรับใครที่สนใจเรื่องสมาคมแรงงานเอย นักกิจกรรมท้องถิ่นถูกทำร้ายเอย อยากจะวนกลับมาหาสถานการณ์ที่ไทยและแนะนำเว็บไซต์หน่อยค่ะ 
    •  http://www.maiiam.com/forthosewhodiedtrying/  --- น่าจะเคยเห็นกันแล้ว นิทรรศการออนไลน์ที่จัดทำเพื่อรำลึกถึงนักรณรงค์และนักกิจกรรมท้องถิ่นที่เสียชีวิตจากการถูกฝ่ายที่เสียผลประโยชน์ฆาตรกรรม 
    • https://transbordernews.in.th/home/ -- สำนักข่าวชายขอบ อัพเดทสถานการณ์ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ส่วนใหญ่จะเป็นปุญหาระดับท้องถิ่นที่เราไม่มีโอกาสได้ยินมากขนาดนั้นในสื่อหลัก 


  • โยงเก่ง (พื้นที่โฆษณานานา)

    - คนที่มาช่วยทำแคมเปญว่ารัฐบาลกัวเตมาลาเป็นคอมมิวนิสต์ก็คือ เอ็ดเวิร์ด บาร์นีย์ เจ้าพ่อพีอาร์เจ้าเก่าเจ้าเดิมที่เราเคยเล่าผลงานไปแล้วในบุหรี่มวนนั้นเคยเป็นควันไฟแห่งอิสรภาพ และ การตลาดของมื้อเช้า

    - อันนี้พยายามมากเลยอะ เอ่อ 555 ดิเอโก ริเบร่านะคะเป็นสามีของฟรีด้า กาห์โล คนส่วนใหญ่จะอ๋อกับชื่อฟรีดามากกว่าซึ่งเป็นเรื่องแปลกนะที่สามีภรรยาเป็นศิลปินทั้งคู่แล้วคนจำผู้หญิงได้มากกว่า ทั้งนี้เราเคยเล่าประวัติชีวิตรักฟรีดา กาโล นิดหน่อย ๆ ใน Frida Kahlo มรสุม-หลากรักในรูปวาด ค่ะ



    คราวหน้าจะมาเล่าเรื่องส้มกับไสยศาสตร์ค่ะ

  • แหล่งอ้างอิง

    Banana Land: Blood, Bullets & Poison Documentary: https://www.youtube.com/watch?v=MoRmtQht8-E 
    DOCUMENTAL: Sobre las Bananas y las Repúblicas : https://www.youtube.com/watch?v=KgybSZxb38A
    La masacre de las bananeras (Canal trece Colombia): https://www.youtube.com/watch?v=xNfIivmUFXY 
    Telesur : 

    Sector de las FARC-EP acusa al Estado colombiano de traicionar la paz

     : https://www.youtube.com/watch?v=z7U_K80P_Ug
    Colombia’s Former FARC Guerrilla Leader Calls for Return to War By Nicholas Casey and Lara Jakes (Aug. 29, 2019) : https://www.nytimes.com/2019/08/29/world/americas/colombia-farc-rebel-war.html
    Vice News 2020, Bananas As We Know Them Are Doomed : https://www.youtube.com/watch?v=2Bm5NWCMlPo

    ที่จริงตอนนี้ทำเป็นเสียงพูดค่ะ เนื่องจากว่าอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่เขียนบ้าง แต่ก็ลงเอยด้วยการกลับมาเขียนประกอบด้วยอยู่ดี  ไปๆมา ๆ เนื้อหาที่เขียนละเอียดกว่านิดหน่อย แล้วก็คิดว่าออดิโอ้ที่พูดมันไม่ค่อยดี ก็เลยตัดสินใจว่าลงฉบับเขียนอย่างเดียวแล้วกัน 5555 


    พบข้อมูลผิดพลาด/ติดต่อ
    Twitter DM @rainbowflick17
    Email rainbowflick37@gmail.com

    ขอบคุณค่า

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in