มื้อค่ำร้อน ๆ เตียงนอนนุ่ม ๆ และน้ำสะอาดชำระร่างกาย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแค่นึกถึงสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าที่สั่งสมจากการดำเนินชีวิตตลอดทั้งวันแล้ว ชีวิตในศตวรรษที่ 21 นั้นล้วนเต็มไปด้วยอารยธรรม วัฒนธรรม และศีลธรรม (?) ที่บรรพบุรุษเรากอปรขึ้นมาศตวรรษแล้ว ศตวรรษเล่า จากสังคมตีหัวลากเข้าถ้ำในยุคหิน เกลียดขี้หน้าใครก็ใส่ร้ายว่าเป็นแม่มดในยุคกลาง สู่ยุคโลกาภิวัตน์อันโอ่อ่าที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ทุกอย่างสามารถเข้าถึงได้หากทุนทรัพย์ยังคงมีติดกระเป๋า
แต่หากอารยธรรมอันฟู่ฟ่าเหล่านี้ถูกทำลายในชั่วข้ามคืนล่ะ?
การสูญสิ้นของมนุษยชาตินั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ดังจะได้เห็นจากการสูญพันธุ์ของสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างไดโนเสาร์มาแล้ว ทฤษฎีเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการสูญพันธุ์ถูกวิเคราะห์ออกมามากมาย ทั้งอุกกาบาตพุ่งชนโลกหรือการระเบิดของภูเขาไฟ แต่โดยสรุปแล้ว ธรรมชาตินั่นแหละคือสาเหตุการกวาดล้างครั้งใหญ่ ณ ตอนนั้น ตัดมาที่ปัจจุบัน นอกจากภัยพิบัติธรรมชาติที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว มนุษย์ก็เป็นหนึ่งในความเสี่ยงต่อการทำลายมนุษยชาติของเราเอง แถมความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นดันมีมากกว่าภัยพิบัติจากธรรมชาติอีกต่างหาก การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศมหาอำนาจซึ่งถ้าเกิดมีตาลุงอ้วน ๆ สัก 1-2 ประเทศเกิดอารมณ์ร้อนกดยิงจรวดในครอบครองใส่กันขึ้นมา ผลลัพธ์น่ะหรือ ประชากรบางประเทศจะหายไปอย่างฮวบฮาบจากแรงระเบิดและรังสีความร้อนที่แผ่ออกมา ชั้นบรรยากาศของโลกจะถูกปกคลุมด้วยก้อนเมฆที่เกิดจากกัมมันตภาพรังสีที่สอดไส้มาในอาวุธเหล่านั้น ยังไม่รวมถึงระบบการสื่อสาร และการคมนาคมที่สำคัญ ๆ จะหยุดชะงักลง เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว บางทีการตายไปพร้อมแรงระเบิดอาจจะเป็นทางเลือกที่สบายสุดแล้วก็ได้
แล้วถ้าหากเราดันไม่ตายขึ้นมาล่ะ?
คนไม่ถึงคราวตายวายชีวาตม์ ระเบิดพิฆาตหล่นใส่ ไม่อาสัญ วันสิ้นโลกควรตาย วายชีวัน แต่ตัวฉันเสือกไม่ตาย น่าอายจริง ไม่ว่าจะด้วยแรงบุญที่ไม่ได้อยู่ใกล้รัศมีแรงระเบิด หรือโชคดีมากพอที่เกิดในอีกซีกโลก ผู้ที่มีชีวิตรอดย่อมต้องเผชิญกับผลกระทบที่เหลือทิ้งไว้หลังจากนั้น กัมมันตภาพรังสี การถูกตัดขาดจากโทรคมนาคม/คมนาคมที่สำคัญ ๆ และการขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิต ความสิ้นหวังและความต้องการที่จะมีชีวิตจะผลักดันผู้ที่เหลืออยู่ให้สร้างอารยธรรมขึ้นมาใหม่ การศึกษาวิธีเอาตัวรอดในโลกที่แหลกสลายและปนเปื้อนนี้จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้หากคุณยังหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ ซึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการมีชีวิตอยู่ในภาวะเช่นนี้นั้น มีดังนี้
1.อาหารและยารักษาโรค
ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน เรื่องกินก็ยังคงเป็นเรื่องใหญ่เสมอ แม้ในโลกที่ล่มสลายแล้วก็ตาม ทว่า คงไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่ที่จะเดินเก็บผลหมากรากไม้ในโลกภายนอกที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีกินหลังจากระเบิดนิวเคลียร์พึ่งปะทุใหม่ ๆ นั่นรวมถึงการล่าสัตว์บกและสัตว์น้ำตามแหล่งธรรมชาติด้วยเช่นกัน วิธีที่สะดวกที่สุดจึงตกมาเป็นการตระเวณหาของกินตามร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เพราะนอกจากอาหารทุกอย่างจะถูกห่อหุ้มในแพ็คเกจแล้ว อาหารในร้านเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ปราศจากการเน่าเสีย จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องการออกล่าอาหารบ่อย ๆ เช่นเดียวกับยารักษาโรคที่เป็น a must ที่ต้องเอามากักตุนไว้ เพราะการหาแพทย์หรือบุคลากรที่สามารถวินิจฉัยโรคในสภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เราจึงต้องพึ่งการกินยารักษาด้วยตนเองและภาวนาว่าอย่าให้เป็นโรคอะไรที่ยุ่งยากขึ้นมาตอนนี้เลย แต่! แต่! แต่! อย่าลืมว่าไม่ใช่คุณคนเดียวที่มีไอเดียนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณต้องแก่งแย่งเครื่องอุปโภค/บริโภคกับคนอื่น ๆ ในละแวกที่ตกที่นั่งเดียวกันกับคุณ จึงเป็นที่มาของข้อถัดไปในเรื่องของการรวมกลุ่ม
2.การรวมกลุ่มและที่อยู่อาศัย
"If you want to go fast, go alone. If you want to go far, go together." คำกล่าวนี้ยังคงใช้ได้ดีเสมอโดยเฉพาะเมื่อทุกอย่างรอบตัวคุณดูไม่เป็นมิตรไปหมด การตกลงร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันจึงเป็นการเอาตัวรอดที่ดีเยี่ยมในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การป้องกันผู้ประสบภัยรายอื่นที่ต้องการมาแย่งทรัพยากรของคุณ การก่อสร้างที่หลบภัยที่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก หรือการใช้ทักษะทางวิชาชีพของแต่ละบุคคลให้เป็นประโยชน์ เช่น แพทย์ หรือวิศวกร ทั้งนี้ เมื่อมีเพิ่มขึ้นมาหลายปากท้อง การแบ่งเสบียงที่มากขึ้นจึงเพิ่มตามมา ดังนั้น การบริหารทรัพยากรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน กระนั้นแล้ว ในสถานการณ์ที่ทุกคนนึกถึงแต่ตัวเองแล้ว ทุกคนย่อมซ่อนเขี้ยวเล็บเอาไว้ ความระแวดระวังจึงยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่พึงมีไว้ป้องกันตัวในยามที่ทุกอย่างไม่เป็นไปดังที่คิด
3.น้ำสะอาด
"เอ้า ก็เอาจากในซุปเปอร์มาเก็ตก็ได้นี่ จะกังวลไปทำไม" แต่ในความเป็นจริงแล้ว น้ำจะเป็นทรัพยากรอันดับต้น ๆ ที่จะขาดแคลนเมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ และคุณเองก็คงไม่อยากจะดื่มน้ำฝนที่กลั่นมาจากก้อนเมฆกัมมันตภาพรังสีเสียเท่าไหร่ นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ แล้วจะให้แ*กอะไรวะ!? ในกรณีที่ทุกอย่างปนเปื้อนไปหมด น้ำสะอาดที่สามารถหาได้แล้วมีเพียงพอต่อการดำรงชีวิตนั้น คือ น้ำบาดาล นั่นเอง ตาน้ำบาดาลใต้ดินนั้นสามารถขุดเจาะได้ตั้งแต่ความลึก 1-10 เมตร ลงไป โดยวิธีการตรวจหาตาน้ำนั้นมีหลายวิธี ทั้งการใช้ลวดดาวซิ่ง (Dowsing Rod) ซึ่งเป็นที่นิยม หรือการใช้กะลามะพร้าวผ่าครึ่งหรือภาชนะทึบไปคว่ำไว้ตามจุดต่าง ๆ ในตอนกลางคืนแล้วออกมาเปิดดูในตอนย่ำรุ่งว่าภาชนะไหนมีไอน้ำเกาะด้านในมากที่สุด ซึ่งบริเวณนั้นเองคือจุดตาน้ำ
4.การติดต่อสื่อสาร
ถึงบทความนี้จะว่าด้วยเรื่องการมีชีวิตอยู่ในภาวะสงคราม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราอยากให้ผู้อ่านดำเนินชีวิตอยู่แบบปลีกวิเวก เลี้ยงไก่ ปลูกผักตามรั้ว และสร้างบ้านดินอยู่อย่างสมถะแบบในโฆษณาของโรงภาพยนต์ชื่อดัง ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้ที่ระบบจ่ายไฟจะถูกตัดขาดลงในภาวะเช่นนี้ ส่งผลให้เครื่องมือที่ใช้แรงไฟฟ้าหยุดการทำงานลง เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รวมถึงเซิฟเวอร์โทรคมนาคมที่ให้บริการด้านเครือข่ายด้วย กระนั้น เราก็ยังสามารถติดต่อกับโลกภายนอกด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้ เช่น การใช้วิทยุสมัครเล่น (Ham radio) ที่ใช้แบตเตอรี่ในการใช้งานแทนไฟฟ้า หรือการเปิดโคมไฟเตือนการบิน (Obstruction Light) หรือการสุมไฟให้เกิดความสว่างในตอนกลางคืน เพื่อที่จะส่งสัญญาณให้ผู้ที่อยู่ในรัศมีการมองเห็นทราบว่ามีผู้ประสบภัยอยู่ในบริเวณนี้
โลกในภาวะล่มสลายในความเป็นจริงนั้นไม่เหมือนกับที่สื่อบันเทิงในหลายแขนงตีความออกมาให้เราดู ไม่มีการไล่ยิงผีซอมบี้แบบในซีรีย์อเมริกัน ไม่มีกองทัพหุ่นเหล็กไล่กวาดล้างมนุษยชาติ มีเพียงความน่ากลัวจากมนุษย์ด้วยกันในยามที่ชีวิตคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างความเป็นและความตาย ที่จะกลบความเป็นคนและเผยความเป็นสัตว์ป่าออกมาเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด เป็นโลกแห่ง Dog-eat-dog world โดยสมบูรณ์ การที่จะเป็นผู้รอดชีวิตในโลกเช่นนั้น หาได้สำเร็จด้วยการร้องขอความช่วยเหลือเพื่อมีชีวิตรอดไม่ แต่เป็นการเอาตัวรอดจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึงนั่นเอง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in