ชีวิตคืออะไร..
..ชีวิตคือการเดินทาง..
..ชีวิตคือการต่อสู้..
..ชีวิตคือการเรียนรู้..
..ชีวิตคือการซึมซับประสบการณ์..
เราลองนั่งนิ่งๆ ถอยใจออกมา
จากวังวนของความรู้สึกนึกคิด
เพื่อมองเข้าไปในใจตัวเองสักนิด
ดูซิว่า "ชีวิต" ที่คุณเป็นเจ้าของอยู่นี้คืออะไร...
สำหรับการใช้ชีวิตนั้น Vivian Greene
ภรรยา Graham Greene
นักเขียนชาวอังกฤษ
ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในต้นศตวรรษที่ 20
บอกว่า ..
“ชีวิตไม่ใช่เรื่องของการรอ
ให้พายุฝนผ่านพ้น
แต่เป็นเรื่องของการเรียนรู้
ที่จะเริงระบำในสายฝน”
Life isn’t about waiting for
the storm to pass.
It’s about learning to
dance in the rain.
เมื่อสามีทอดทิ้งเธอและลูกทั้งสอง
ไปลุ่มหลงผู้หญิงในสังคมระดับสูง
หลายต่อหลายคนอย่างเปิดเผย
ความเจ็บช้ำได้ทำให้เธอเรียนรู้ที่จะ
"เริงระบำในสายฝน"
ด้วยการแยกตัวออกมาสนุกสนาน
กับการเดินทางไปเสาะหา
บ้านตุ๊กตาโบราณจากประเทศต่างๆ
และเอามาตกแต่งให้สอดคล้อง
กับประวัติความเป็นมาทางวัฒนธรรม
ที่เธอได้ค้นคว้าศึกษาอย่างละเอียด
บ้านตุ๊กตาของเธอซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 1,500 หลัง
กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวที่ลือชื่อ
เมื่อเธออายุได้ 90 ปี
เธอก็ประมูลขายมันได้เป็นเงินมหาศาล
เธอมีชีวิตยืนยาวถึง 99 ปี
.
.
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2559
ข้าพเจ้าได้เดินทางไปอังกฤษร่วมกับ
แพทย์พยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เพื่อดูงานด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่
St Christopher's Hospice
ค่ำวันหนึ่งก็ได้ไปร่วมกิจกรรมชื่อ
"Death Talk"
ผู้จัดกิจกรรมนี้ คือบาทหลวงของฮอสพีซ
ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ
ด้านความเจ็บป่วยและการพลัดพราก
เป็นกิจกรรมที่จัดเดือนละครั้ง
โดยเปิดรับผู้ที่ยังโศกเศร้าจาก
การสูญเสียคนที่รักและใกล้ชิด
ให้มารวมกลุ่มพูดคุยกับคนที่หัวอกเดียวกัน
ท่านบาทหลวงเป็นชายวัยประมาณสี่สิบเศษ
ท่าทางเฉียบแหลมสงบเย็น
ท่านเรียนจบปริญญาด้านจิตวิทยา
และศาสนาศึกษา
หลักการของบาทหลวงคือ
การฟังและกำกับให้การสนทนากระชับ
และมีคุณภาพในการเยียวยาทางใจ
ท่านเอ่ยปากอนุญาตให้ข้าพเจ้า
เข้าไปสังเกตการณ์
และมีส่วนร่วมในการพูดคุยถ้าต้องการ
ค่ำวันนั้นมีคนมาเข้าร่วมวงประมาณ 10 คน
ไม่มีใครรู้จักใครมาก่อน
ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เพิ่งสูญเสียคู่ชีวิต
มีคนเดียวที่พ่อหรือแม่เพิ่งจะตายไป
ข้าพเจ้าเริ่มจากการนั่งฟังด้วยใจที่เปิด
ได้ฟังเขาเล่าเรื่องราวและปรับทุกข์กัน
ปลอบใจกันอย่างเข้าอกเข้าใจ
เห็นได้ชัดว่าคนแปลกหน้า
กลายเป็นคนคุ้นเคยกันอย่างรวดเร็ว
.
.
ผู้หญิงคนหนึ่งอายุสัก 50 ปี
บอกว่ารู้สึกเจ็บลึกที่สุด
เมื่อต้องบิดเกลียวเปิดขวดอะไรก็ตาม
เพราะจะคิดถึงสามีที่จะคว้าขวดเธอ
ไปบิดเกลียวเปิดให้เสมอ
ตอนนี้คนที่รักเธอจนไม่เคยยอม
ให้ออกแรงเปิดขวดอยู่ที่ไหน ..
เขาหายไปพร้อมลมหายใจสุดท้ายของเขา
ทิ้งไว้แต่ความว่างเปล่า..
เธอไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่า
การเปิดขวดให้..จะช่างจารึกรอยรักลึก
ในความทรงจำของเธอ..ได้จนถึงขนาดนี้
ไม่มีคนฟังคนไหนในที่นั้น
ที่ไม่ซึ้งถึงความโหยหาอาดูรของคนพูด
.
.
คนที่อาการเศร้าโศกหนักหนาที่สุด
คือผู้ชายอายุประมาณ 50 ปี
ที่ภรรยาสุดที่รักตายไปได้สักเดือนหนึ่ง
เขาเป็นผู้ชายที่รูปร่างดี หน้าตาหล่อเหลา
แต่ดูห่อเหี่ยว ค่อนข้างอยู่ในภาวะซึมเศร้า
เขาพร่ำเศร้ารำพันถึง
"The best wife, best mother,
best friend, best companion,
best lover"
ที่เขารู้ว่าเขาจะไม่มีวันได้พบเจออีก
เขาเริ่มจากความรู้สึกผิด
ที่ได้ทรมานเธออยู่ปีเต็ม ๆ
ด้วยการยื้อชีวิตเธอจากโรคมะเร็ง
ที่ได้กระจายไปทั่วแล้ว
ทั้งๆที่รู้ว่าเธอทุกข์ทรมานมาก..จากการยื้อนั้น
เขาพาเธอไปหาหมอที่โน่นที่นี่ไม่รู้กี่แห่ง
รับการรักษาไม่รู้กี่อย่าง
ซึ่งเธอก็ยอมด้วยความรัก
และรู้ว่าเขาขาดเธอไม่ได้
ในที่สุดเขากับเธอก็จำเป็นต้อง
พูดถึงความตายที่จ่ออยู่ข้างหน้า
เขาบอกว่าเขาจะสู้
"I want to fight"
แต่เธอมองเขาและบอกเรียบๆว่า
แต่ฉันยอมรับ
"But I Accept"
นั่นแหละ เขาจึงจำใจยอมพาเธอมาที่
St. Christopher's Hospice
เธอเสียชีวิตที่นั่นอย่างสงบ
ภายเวลา 1 สัปดาห์
เขาบอกกลุ่มสนทนาว่า
สัปดาห์นั้นเป็นช่วงที่เธอ
มีความสุขที่สุดในเวลานับปี
จากนั้นพ่อหม้ายก็ทุรนทุรายทุกวัน
ตั้งแต่ตื่นเช้าลืมตาขึ้นมา
ก็เห็นห้องที่เคยนอนด้วยกัน
เปิดประตูตู้ก็เห็นเสื้อผ้าของเธอแขวนอยู่
ความเจ็บปวดร้าวถึงใจ
จะเดินไปทางไหน
ก็มีความทรงจำดีๆ ที่บีบคั้นอารมณ์
จะเดินทางไปไหน
ก็หวนคิดว่าเคยอย่างนั้นเคยอย่างนี้
ว่าอาหารรสมือเธอเคยอร่อยเพียงใด
ใจเขาหมกไหม้อยู่ในนรก
ที่ดูเหมือนไม่มีประตูทางออก
รังสีแห่งความเศร้าที่ห่อหุ้มเขาอยู่นั้น
เข้มข้นจนข้าพเจ้าซึ่งนั่งถัดมาสัมผัสได้
เขาเหมือนคนที่กำลังสำลักทุกข์
อยู่กลางพายุฝนของชีวิต
พอได้ช่องข้าพเจ้าก็ถามเขาเบาๆว่า
"ความเศร้าโศกของคุณ
มันผูกติดอยู่กับความทรงจำใช่ไหม
มันมาเป็นก้อนเดียวกันใช่ไหม"
อาการเขาเหมือนคนที่ถูกฉุดให้หยุดกึก
เขาหันมามองข้าพเจ้า
เหมือนเพิ่งจะเห็นว่ามีคนนี้นั่งอยู่ข้างๆ
นิ่งนึกสักพักแล้วพูดอย่างแปลกใจว่า
"ใช่...จริงด้วย"
ชั่วขณะนั้นเขาถอยออกจาก
อารมณ์รู้สึกนึกคิด
มามีสติรู้สึกตัว
ตามความเป็นจริงของปัจจุบัน
การพูดคุยแลกเปลี่ยนในกลุ่ม
เพื่อนร่วมทุกข์ดำเนินไปอีกระยะหนึ่ง
คุณพ่อหม้ายก็...เอาอีกแล้ว...
กลับไปพูดถึงสุดที่รักที่จากไปแล้ว
อย่างระทมทุกข์อีกยืดยาว
ข้าพเจ้ารอช่องเงียบเพื่อแทรกถามว่า
"คุณอยากเก็บความทรงจำไว้
โดยไม่มีความทุกข์ติดหนึบมาด้วย ใช่ไหม
ต้องการจะแยกมันออกจากกัน ใช่ไหม"
เขาชะงักกึ๊กอีกครั้ง
คราวนี้นานกว่าเดิม
เห็นได้ว่าเขามองเข้าไปในใจตัวเอง นิ่งนาน
แล้วหันมาตอบอย่างแปลกใจ
อีกนั่นแหละว่า
"ใช่ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆด้วย"
คำถามต่อไปของเขาคือ
"แล้วจะแยกมัน ออกจากกันยังไง"
เค้าเริ่มแล้วที่จะ
"learn to dance in the rain"
อย่างที่ Vivian Greene ว่าไว้
เขาเริ่มเห็นลางๆแล้วว่า
มันมีประตูทางออก
ที่เขาจะต้องมีสติค้นหาเอง
เพราะพายุฝนในชีวิตของใครของมัน
เขาเริ่มเห็นแล้วว่าการมีสติ
กลับมาที่ปัจจุบันขณะ
ทำให้เขามีความห่างพอที่จะเห็นว่า
ความทรงจำกับทุกข์นั้น
มันคนละอย่างกัน
ความคิดนั่นแหละ
เป็นที่โยงและคลุกเคล้าปั้นแต่ง
มันจนแยกไม่ออก
ถ้าเขาหมั่นมีสติถอยใจออกมามองมัน
ก็จะรู้เท่าทันการคลุกเคล้าปั้นแต่ง
ของเจ้าความคิดนี้อย่างชัดเจน
และรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ
.
.
พระพุทธองค์ตรัสถึง "อริยสัจ 4"
อันเริ่มจากการเห็นทุกข์
สู่การตั้งจิตวินิจมองใจตนเอง
เพื่อหาสาเหตุของทุกข์ตามจริงที่เห็นได้
เมื่ออยู่ในปัจจุบันขณะอย่างต่อเนื่องพอ
เมื่อเห็นแล้วก็ประจักษ์กับใจว่า
ทุกข์ดับได้ที่ตัวเหตุ
ดังนั้นจึงเดินตามเส้นทาง
ที่จะนำสู่การดับของทุกข์ที่ต้นเหตุนั้นแล
Cr : บทความ "พายุฝนบนเส้นทาง"
ผู้เขียน: คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in