ให้ข้อมูลคร่าว ๆ ก่อนคือ Readery Podcast เป็น Podcast แนะนำหนังสือค่ะ จะเป็นเหมือนการมาเล่าให้ฟังคร่าว ๆ เกี่ยวกับหนังสือตามหัวข้อต่าง ๆ สำหรับคนที่ไม่มีเวลาหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือ ทาง Readery Podcast เลยคัดและสรุปหนังสือออกมาให้ค่ะ ถ้าฟัง ๆ ไปแล้วรู้สึกถูกใจเล่มไหน หรือรู้สึกว่าเหมาะกับตัวเอง ก็สามารถไปตามซื้อต่อได้ทีหลังค่ะ
ข้อมูลเบื้องต้น
- RDR26 อยู่กับบาดแผลในชีวิตด้วยความเข้าใจ อ่านเล่มไหนดี
- ความยาว : 44.29 นาที
- ลงวันที่ : 25 เมษายน 2562
เราเชื่อว่าทุกคนคงเคยผ่านความรู้สึกดาวน์ ๆ กันมาบ้าง ไม่ว่าจะเศร้าเสียใจ อกหัก สูญเสียคนรัก ล้มเหลว ผิดหวัง และเมื่อพบเจอเหตุการณ์แบบนี้ หลาย ๆ คนก็ยังคงยึดติดอยู่กับความรู้สึกนั้น ๆ หรือที่คนพูดกันว่า "มูฟออนไม่ได้"
เราเองก็เป็นคนนึงที่เพิ่งผ่านหนึ่งในความรู้สึกที่กล่าวไปมาอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ค่ะ และยังไม่สามารถมูฟออนจากมันได้เหมือนกัน เรียกได้ว่าเป็นบาดแผลที่ลึกที่สุดตั้งแต่เคยเจอมาทั้งชีวิตค่ะ ก็ตรงกับหัวข้อหลักสำหรับ Podcast นี้เลย คือจะอยู่กับบาดแผลที่มันเกิดขึ้นมาแล้วได้ยังไง ต้องอ่านหนังสือเล่มไหน
ในตอนแรกเราก็มาฟัง Podcast นี้เผื่อว่าจะเจอหนังสือที่ถูกใจด้วยแหละค่ะ นั่นคือความคิดแรกที่ทำให้กดเข้ามาฟัง แต่หลังจากที่ฟังจบ เราคิดว่า Podcast นี้ไม่ได้แนะนำหนังสืออย่างเดียว แต่มันเหมือนช่วยปรับวิธีคิด ให้คำแนะนำดี ๆ และสามารถช่วยเยียวยาคนที่เคยเจอความรู้สึกดาวน์ ๆ ได้ด้วยเหมือนกัน
"เป็นมากกว่า Podcast แนะนำหนังสือ" คือความคิดแรกที่แล่นเข้ามาในหัวทันทีที่ฟังจบเลยค่ะ
ข้อคิดที่ได้จาก Podcast นี้
1) เวลาจะช่วยเยียวยาบาดแผล แต่คุณสามารถล่นระยะเวลานั้นได้
: คำพูดที่ว่าเวลาจะช่วยเยียวยาทุกสิ่งมันเป็นคำพูดที่จริงค่ะ แต่ถ้าเราปล่อยเวลาให้ผ่านไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ตัวเราก็ยังคงจมกับความรู้สึกดาวน์ ๆ ทั้งหลายนี้ ต่อให้เวลาผ่านไปนานแค่ไหน มันก็คงจะไม่ดีขึ้นมากหรอก จริงไหมคะ? ทางโฮสต์ของ Podcast นี้ได้ให้ข้อคิดกับเราว่า ถ้าเราลองปรับวิธีคิดของเราดู อยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ใช้เหตุผลมากขึ้น ลองวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดู มันจะทำให้เราเข้าใจบาดแผลของตัวเองมากขึ้น ไม่จมอยู่กับความรู้สึกพวกนั้นนานจนเกินไป และสามารถอยู่กับมันอย่างภาคภูมิใจได้ค่ะ
2) ความเจ็บปวดภายในมีความรุนแรงพอกับความเจ็บปวดภายนอก ถึงแม้จะมองไม่เห็นก็ตาม
: ได้มีการทดลองหนึ่งให้คนที่เพิ่งสูญเสียคนรักดูรูปคนที่เพิ่งจากไป (ความเจ็บปวดภายใน) กับคนทั่วไปมาลองเจอความร้อนมาก ๆ (ความเจ็บปวดภายนอก) และระหว่างทำการทดลองก็ได้สแกนสมองของพวกเขาดูค่ะ ปรากฏว่าความเจ็บปวดทั้งสองแบบมีผลออกมาเหมือนกัน คือถึงแม้จะเป็นความเจ็บปวดภายในที่มาจากความรู้สึก ไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องได้ แต่ก็มีความรุนแรงพอ ๆ กับความเจ็บปวดภายนอกที่สามารถเห็นรอยหรือแผลได้เช่นเดียวกัน
3) รู้สึกเศร้าเสียใจก็ควรแสดงออกมา
: ทางโฮสต์ได้พูดถึงการที่คนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุ มีบาดแผลให้เห็นอย่างชัดเจน ถ้าไปทำงาน เพื่อนร่วมงานก็จะเข้ามาหา เข้ามาทักและบอกให้หายไว ๆ หรือเจ้านายอาจจะบอกให้ลาไปพักรักษาตัวก่อนก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามีอีกคนหนึ่งที่เพิ่งสูญเสียสัตว์เลี้ยงหรือใครสักคนไป เขาอาจจะรู้สึกเสียใจมาก ๆ แต่คนรอบข้างคงไม่เข้าใจ เพราะมันเป็นความรู้สึกข้างใน มันไม่เหมือนบาดแผลที่สามารถมองเห็นได้จากข้างนอกถ้าเราไม่ยอมแสดงออกมาค่ะ ซึ่งอันนี้เราก็ว่าแล้วแต่บริบทและบุคคลด้วยเหมือนกันว่าเหมาะสมไหม
จริง ๆ ข้อคิดที่ได้จากเอพิโสดนี้มีอีกมากมายเลยค่ะ แต่ที่เขียนไปข้างบนคือสิ่งที่เรารู้สึกว่าสามารถนำมา relate กับตัวเองได้มากที่สุด
หลังจากฟังจบเรารู้สึกดีขึ้นเยอะเลยนะคะ เหมือนกับว่ามีคนเข้าใจเรา และวิธีที่จะออกจากความรู้สึกพวกนี้ให้ได้ก็มีอยู่จริง ๆ มีเป็นขั้นเป็นตอนที่สามารถทำตามได้เลยด้วย คิดว่าคงต้องไปซื้อหนังสือบางเล่มที่ถูกพูดถึงใน Podcast มาอ่านเพิ่มด้วยล่ะค่ะ
ถ้าใครอยากฟังเต็ม ๆ ก็ลองไปฟังกันได้นะคะ เราแนะนำมาก ๆ เลยค่ะ เป็น Podcast ที่ให้ทั้งหนังสือที่ควรอ่าน ข้อคิดดี ๆ วิธีการมูฟออน รวมไปถึงความรู้สึกผ่อนคลายด้วยจริง ๆ
หวังว่าทุกคนที่แวะเข้ามาอ่านคงได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ
— themoonograph
friday.
may 3, 2019.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in